ย้อนประวัติศาสตร์ไทย เมื่อพัฒนาการของ ‘สุโขทัย’ อาจไกลกว่า ‘พ่อขุนศรีอินทราทิตย์’ โดย เด็ก ม.2 เขียน เด็ก ม.3 ทำภาพ
(31 ต.ค. 65) เมื่อไม่นานมานี้ เพจ ‘ฤๅ - Leu History’ ได้โพสต์บทความเกี่ยวกับอีกมุมของประวัติศาสตร์ไทยที่อาจไม่ได้มี ‘อาณาจักรสุโขทัย’ เป็นจุดเริ่มต้น และผู้ก่อตั้งอาณาจักรอาจจะไม่ใช่ ‘พ่อขุนศรีอินทราทิตย์’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า…
แต่เดิม เรามักจะพบเนื้อหาในเว็บไซต์ หรือ หนังสือ สำหรับเด็กในช่วงวัยประถมฯ หรือ มัธยมฯ และมีการท่องจำกันต่อ ๆ มาว่า อาณาจักรแรก หรือ จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทยมีจุดเริ่มต้นที่ ‘อาณาจักรสุโขทัย’ โดยมีผู้ก่อตั้งอาณาจักรคือ ‘พ่อขุนศรีอินทราทิตย์’
โดยให้รายละเอียดว่า คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไตบ้าง มาจากน่านเจ้าบ้าง อพยพลงมาทางใต้แล้วมารบกับขอม และค่อยมีการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในที่สุด (แต่ปัจจุบันอาจมีการเพิ่มประวัติศาสตร์ในยุคสมัยรัฐโบราณ - ยุคสมัยก่อนสุโขทัย ลงไปในหนังสือเรียนในบางส่วน)
แต่บทความนี้เราจะมาเสนออีกมุมของประวัติศาสตร์ยุคสุโขทัยว่าจริง ๆ แล้ว ประชากรคนพื้นเมืองของรัฐสุโขทัยอาจไม่ได้มาจากทาง น่านเจ้า หรือ อัลไตแต่อย่างใด รัฐสุโขทัยอาจไม่ได้ก่อตั้งขึ้นมาแล้วเจริญรุ่งเรืองในทันทีทันใด จนเป็นอาณาจักรแรกของคนไท ดั่งในหนังสือที่เราเคยอ่านกันตอนประถมฯ หากแต่อาจจะมีพัฒนาการมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา
ก่อนอื่นเราต้องมาทราบกันก่อนว่าในจังหวัดสุโขทัยนั้นมีแหล่งโบราณคดีก่อนยุคประวัติศาสตร์ไหม จึงค่อยไปเจาะลึกลงรายละเอียดในด้านของศิลาจารึก
เราพบว่าในจังหวัดสุโขทัยนั้นมีแหล่งโบราณคดีที่สามารถช่วยบ่งบอกได้ว่าในบริเวณจังหวัดสุโขทัยในอดีตมีชุมชนอาศัยอยู่แล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เป็นการก่อตัวรวมกันอยู่ในลักษณะของชุมชน เช่น แหล่งโบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด ที่ตั้งอยู่ภายในวัดจอมศรีรัตนมงคล (บ้านวังหาด) ที่มีการจัดแสดงโบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม เข้าไปศึกษากัน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องประดับที่ทำจากทองคำหรือเงิน ลูกปัดที่ทำจากแร่หิน carnelian ขวานหินขัด เครื่องปั้นดินเผา กลองมโหระทึก ฯลฯ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ช่วยยืนยันได้ว่าบริเวณจังหวัดสุโขทัยเคยมีชุมชนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2,500 ปี มาแล้ว ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่าอาจมีชุมชนอื่น ๆ ไม่ว่าจากทางเหนือ หรือทางบริเวณชุมชนใกล้เคียงที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก ที่เข้ามาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนที่อยู่บริเวณบ้านวังหาดและชุมชนใกล้เคียง
อีกทั้งยังมีอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่อาจทำให้เราสามารถยืนยันได้ว่าจังหวัดสุโขทัยนั้นเคยมีชุมชนโบราณก่อนยุคประวัติศาสตร์นั่นก็คือ บริเวณวัดตะพานหิน หรือ วัดสะพานหิน ซึ่งอยู่นอกเมืองสุโขทัยทางทิศตะวันตก มีการพบแหล่งหินธรรมชาติทอดยาวไปเหมือนกับเป็นสะพาน ซึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม (นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาชาวไทย) อธิบายเพิ่มเติมว่า แหล่งหินนี้คือวัฒนธรรมสืบเนื่องหินตั้งมาตั้งแต่ราว 2,500 ปีก่อน เมื่อครั้งตั้งแต่ชุมชนในบริเวณนี้ยังนับถือศาสนาผีอยู่
อย่างไรก็ดีหลักฐานต่าง ๆ ที่พูดมานี้อาจทำให้เราทราบว่าประชากรของรัฐสุโขทัยอาจไม่ได้มาจากไหน แต่อาจอยู่ที่นี้มาแต่เดิมอยู่แล้วก่อนที่จะพัฒนาจากชุมชนมาเป็นเมือง และ รัฐ โดยแต่ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นรัฐนั้น อาจจะมีประชากรเคลื่อนย้ายอพยพจากหลากหลายสารทิศ จากบริเวณชุมชนบริเวณ ละโว้ (ลพบุรี) บ้าง ชุมชนจากทางเหนือบ้าง เข้ามาผสมปนเปกับคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณสุโขทัยแต่เดิม
และในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ก็พบหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนากระจายอยู่ตามเมืองสุโขทัยและใกล้เคียง
ในช่วงระยะเวลาต่อมา มีการพบหลักฐานว่าอาจมีผู้มีอำนาจที่มาจากภายนอกเข้ามาปกครองเมืองสุโขทัย
โดยพบหลักฐานในศิลาจารึก หลักที่ ๒ หรือ จารึกวัดศรีชุม สันนิษฐานว่าผู้สร้างคือ ‘มหาเถรศรีศรัทธา’ สร้างขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๘ - ๑๐ ได้กล่าวถึงถิ่นฐานชาติกำเนิดของมหาเถรศรีศรัทธา และ ‘พ่อขุนศรีนาวนำถุม’ ที่เข้ามาเป็นกษัตริย์ของสุโขทัย ถอดเป็นคำอ่านเข้าใจง่าย ๆ ในปัจจุบัน จากอักษรเดิม ได้ความว่า
“… (ง) พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี เกิดในนครสรลวงสองแควสองแคว ปู่ชื่อพระยาศรีนาวนำถุม เป็นขุน เป็นพ่อ… ” (บรรทัดที่ ๘)
“… เสวยราชไนนครสองอัน อันหนึ่งชื่อ นครสุโขทัย อันหนึ่งชื่อนครศรีเส …” (บรรทัดที่ ๙)
“… -ชนาไล …” (บรรทัดที่ ๑๐ - มีต่อ หากสนใจรายละเอียดเนื้อหาเพิ่มเติม สามารถกดอ่านได้ใน Link อ้างอิง)
แสดงว่ามีผู้มีอำนาจจากแถบเมืองสรหลวงสองแคว (บริเวณจังหวัด พิษณุโลก - ปัจจุบัน) และในศิลาจารึกวัดศรีชุมยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนการเข้ามาครองเมืองสุโขทัยของ พ่อขุนศรีนาวนำถุม ในบรรทัดที่ ๑๗ - ๑๙ ความว่า
“… เขาแทงพ่อขุน…นำถุม…๐ พ่อขุนนำถุมต่อหัวช้าง ด้วย อีแดง พุะเลิง …” (บรรทัดที่ ๑๗)
“…ได้เมืองแก่พ่อขุนนำถุม…พ่อขุนนำถุมใส่อีแดงพุะเลิง ใหญ่ประมาณเท่าบาตรเวน…เมือ …” (บรรทัดที่ ๑๘)
“.. องแหงเมืองสุโขทัย ( บรรทัดที่ ๑๙ - มีต่อ หากสนใจรายละเอียดเนื้อหาเพิ่มเติม สามารถกดอ่านได้ใน Link อ้างอิง )
แสดงให้เห็นว่าก่อนที่ พ่อขุนศรีนาวนำถุม จะเข้ามามีอำนาจในดินแดนบริเวณเมืองแหง และ เมืองสุโขทัย มีผู้มีอำนาจในบริเวณนี้มาก่อนแล้ว ซึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้บันทึกนามของเขาว่า ‘อีแดงเพลิง’ (ในตัวจารึกเขียน ‘อีแดงพุะเลิง’ - ซึ่งตัวของอีแดงเพลิงในที่นี้ยังเป็นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์อยู่ว่าคือใครกันแน่ และมีบทบาทสำคัญ หรือ เป็นผู้นำของคนกลุ่มใด)
แล้วในภายหลังพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ค่อยขยายอำนาจมาในบริเวณนี้อีกที
ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า บริเวณที่เป็นจังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในลักษณะของการเป็นชุมชน
แล้วก่อตัวมีบทบาทและความสำคัญมาเรื่อย ๆ ในที่สุดก็เห็นชัดในการก่อตัวเป็นลักษณะเมืองของสุโขทัย แล้วก็มีการพบหลักฐานว่ามีนามของ ‘อีแดงเพลิง’ ที่เป็นกษัตริย์ที่มาปกครองเมืองสุโขทัย และในระยะเวลานี้เองก็มี ‘พ่อขุนศรีนาวนำถุม’ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในบริเวณใกล้เคียง ขึ้นมามีอำนาจในแถบสุโขทัย
ซึ่งหลังจากรัชสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถุม สุโขทัยก็โดนแย่งชิงจาก ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ จึงทำให้พ่อขุนผาเมือง (บุตรของพ่อขุนศรีนาวนำถุม) และ พ่อขุนบางกลางหาว จำเป็นต้องลงมาชิงสุโขทัยคืน และในภายหลังพ่อขุนผาเมืองก็ยกบัลลังค์ให้พ่อขุนบางกลางหาว (ส่วนสาเหตุก็ยังเป็นข้อถกเถียง ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้)
