Sunday, 19 May 2024
พื้นที่สีเขียว

“อลงกรณ์” ประกาศเดินหน้า!! พัฒนากรุงเทพฯ สู่ ‘มหานครสีเขียว’ มุ่งยกระดับ! สุขภาพคน - คุณภาพเมือง ตอบโจทย์อนาคต พร้อมคิกออฟ!! โครงการวัดสีเขียว - คลองสามวาสีเขียว 24 ธ.ค.นี้

“อลงกรณ์” ประกาศเดินหน้าพัฒนากรุงเทพฯ สู่ ‘มหานครสีเขียว’ มุ่งยกระดับ ‘สุขภาพคน – คุณภาพเมือง’ ตอบโจทย์อนาคตกทม. ชูแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน ตั้งกลไก 50 เขต ดีเดย์ 24 ธ.ค.คิกออฟโครงการวัดสีเขียว คลองสามวาสีเขียว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองบรรยายพิเศษในงาน Bangkok City Talk 2021  Bangkok Conference on Academic Argument  ผ่านระบบออนไลน์ zoom meeting ในหัวข้อ "เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง : อนาคตของกรุงเทพมหานคร" ผ่านระบบ Facebook live

โดยนายอลงกรณ์กล่าวว่าในปี 2562 ประเทศไทยมีประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรก สะท้อนถึงการขยายตัวของเมือง(Urbanization)ในประเทศของเรา และเป็นเหตุผลสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคปัจจุบันต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรในเมือง(Urban Farming) โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 และยุคต่อไป(Next normal) ที่ต้องให้ความสำคัญระบบนิเวศเมือง เรื่องสุขภาพคน และคุณภาพเมือง

สำหรับกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วทำให้พื้นที่เกษตรลดลงเหลือเพียงแสนกว่าไร่ เป็นเมืองที่มีความมั่นคงทางอาหาร(Food Safety)น้อยมาก และพื้นที่สีเขียวยังไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนประชากร คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงวางโครงสร้างและระบบเป็นกลไกแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project)  ตามนโยบายของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์ ”3’s” (Safety-Security-Sustainability-เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น “มหานครสีเขียวแห่งอนาคต” มีวัตถุประสงค์ 6 ประการได้แก่

1. การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง

2. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว

3. การลด PM2.5และลดก๊าซเรือนกระจก(Green House Gas)

4.การเพิ่มคุณภาพอากาศ

5.การอัปเกรดคุณภาพชีวิตของประชาชน

 6.การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว

ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ(Climate Change)ของโลก และเป้าหมายของโครงการกรุงเทพสีเขียว2030(Green Bangkok2030) ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เป็น 10 ตารางเมตรต่อคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในทุกระยะ 400 เมตร และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมืองให้เป็น 1.3 แสนไร่ พร้อมทั้งพัฒนาการเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่เมือง รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มรายได้และอาชีพในระดับชุมชนบนโมเดล BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ควบคู่ไปด้วยกัน

นายอลงกรณ์ในฐานะประธานโครงการ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนใน 3 ระดับ ทั้งคณะกรรมการบริหารโครงการระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับย่อยในพื้นที่ เป็นโครงสร้างและระบบครอบคลุมทั้งประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 2 ประเภทคือพื้นที่ของรัฐ(Public Space) เช่น บริเวณริมถนนและทางรถไฟ พื้นที่ใต้ทางด่วน เกาะกลางถนน สวนสาธารณะ สถานศึกษาของรัฐ พื้นที่ส่วนราชการ และพื้นที่สาธารณะว่างปล่า

สำหรับ พื้นที่ส่วนบุคคล (Private space) เช่น บ้าน ชุมชน โครงการจัดสรร คอนโด อาคารสำนักงาน พื้นที่ของการเคหะแห่งชาติ วัด โรงเรียน สถานศึกษา โดยส่งเสริมให้ปลูกไม้ยืนต้นไม้พุ่มไม้เลื้อยหรือไม้ในร่มโดยมีการพัฒนาเมืองสีเขียวได้หลายรูปแบบเช่น ถนนสีเขียว(Green Road) หลังคาสีเขียว(Green  Roof) ตึกสีเขียว(Green Building) สวนป่า(Forest Garden) มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ชุมชนสีเขียว (Green Community วัดสีเขียว(Green Temple) เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและการเรียนรู้กับการอยู่ร่วมกันแบบแบ่งปัน

สำหรับการทำเกษตรในเมืองตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน มี 5 ประเภท ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร และเกษตรธรรมชาติ ทั้งในรูปแบบสวนขนาดเล็กและสวนขนาดใหญ่ สำหรับชุมชนในกรุงเทพมหานคร จะได้รับการสนับสนุนในการสร้างอาชีพเกษตรกรรมในเมืองเพื่อสร้างรายได้เสริมและลดค่าครองชีพอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ จะมีตลาดเกษตร(Farm Market) เป็นตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ระดับคลัสเตอร์ และระดับเมือง เช่น ได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนกรุงเทพมหานครแล้วมีตนเป็นประธาน และจะจัดตั้งคณะทำงานให้ครบทั้ง 50 เขต เป็นกลไกขับเคลื่อนระดับพื้นที่เช่น กรีนตลิ่งชัน กรีนบางกะปิ กรีนบางนา กรีนห้วยขวาง กรีนบางแค และวันที่ 24 ธ.ค.นี้ จะคิดออฟโครงการวัดสีเขียว คลองสามวาสีเขียว ที่วัดพระยาสุเรนทร์ เป็นที่แรกบนความร่วมมือระหว่างวัด บ้านและโรงเรียน(บ.ว.ร.)ในเขตคลองสามวา

 

‘อลงกรณ์’ เร่งเครื่องพัฒนา ‘เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง’ วางกลไกขับเคลื่อนทั่วไทย! ตั้งเป้าพัฒนาเกษตรเมือง เพิ่มพื้นที่สีเขียวตอบโจทย์เศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

วันนี้ (25 ก.พ.65) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) เป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินงานโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองระดับเขต และระดับจังหวัด ทั่วประเทศผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ zoom cloud meeting พร้อมด้วย นายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการทุกท่าน และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม โดยมี นายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน (กนท.) สป.กษ. เป็นเลขานุการการประชุม ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ระดับเขต และระดับจังหวัด

โดยนายอลงกรณ์ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเล็งเห็นความสำคัญการแก้ไขปัญหาภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในเมือง เนื่องจากในปี 2562 ประเทศไทยมีประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรกสะท้อนถึงการขยายตัวของเมือง(Urbanization) และชุมชนเมืองมีการผลิตอาหารได้เองไม่ถึง 10% เป็นเหตุผลสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคปัจจุบันต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรในเมือง (Urban Agriculture) โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 และยุคต่อไป (Next normal) ที่ต้องให้ความสำคัญระบบนิเวศน์เมืองเรื่องสุขภาพคนและคุณภาพเมือง

จึงต้องขับเคลื่อนเกษตรในเมืองควบคู่กับเกษตรในชนบทจึงได้มอบนโยบายให้ดำเนินการโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์ 6 ประการ ได้แก่ 1. การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง 2. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 3. การลด PM 2.5 และลดก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) 4. การเพิ่มคุณภาพอากาศ 5. การอัพเกรดคุณภาพชีวิตของประชาชน 6. การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ(Climate Change) ของโลก

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการระดับเขตและจังหวัดยังรับผิดชอบการขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนโดยการปลูกไม้เศรษฐกิจเป็นทรัพย์สินและหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งยังนำมาคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปด้วยตามเป้าหมายCarbon Neutrality และ Carbon Zeroของประเทศไทยเพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นแรงจูงใจในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกทางหนึ่ง

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า การบริหารโครงการเชิงโครงสร้างครอบคลุมทั้งประเทศมีกลไกคณะกรรมการระดับพื้นที่แล้วยังมีคณะกรรมการระดับคลัสเตอร์ด้วยได้แก่

(1) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองทั้งในพื้นที่ที่วัด (Green Temple)

(2) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วิทยาลัย (Green College)

(3) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่โรงเรียน (Green School)

(4) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย (Green Campus)

(5) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองระดับชุมชนและท้องถิ่น (Green Community)

(6) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่อาคารชุด (Green Condo)

(7) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นการเคหะแห่งชาติ (Green Housing )

(8) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ในพื้นที่อุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม (Green Industry)

(9) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ในพื้นที่โรงแรม (Green Hotel)

(10)คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

(Green Bangkok)

 

ลุยหาเสียงสาทร!! ‘องอาจ-เดียร์-เอ้’ นำทัพ ‘ปชป.’ ประกาศสงคราม PM 2.5 ทวงคืนอากาศสะอาด ลั่น!! พร้อมสู้ทุกรูปแบบไม่ห่วงแบ่งเขตช้า

‘องอาจ-เดียร์-เอ้’ นำทีม กทม. ลุยหาเสียงสาทร ประกาศสงคราม PM 2.5 ทวงคืนพื้นที่สีเขียวให้คนกรุง ลั่นพร้อมสู้ทุกรูปแบบไม่ห่วงแบ่งเขตช้า

(11 มี.ค.66) เวลา 7.00 น. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. และทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. อาทิ น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ เขตปทุมวัน-สาทร-บางรัก นายอภิมุข ฉันทวานิช เขตยานนาวา-บางคอแหลม น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร เขตพญาไท-ราชเทวี นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย เขตบางกะปิ นายจักรวี วิสุทธิผล เขตสวนหลวง เขตหนองจอก น.ส.วณิชชา ม่วงศิริ เขตบางบอน-หนองแขม นายธีรวิทย์ ภูมิดิษฐ์ เขตจตุจักร ลงพื้นที่สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย พบปะพูดคุยและร่วมออกกำลังกายกับประชาชนที่มาออกกำลังกายในสวนสุขภาพ ทั้ง รำไท้เก๊ก แบดมินตัน ฮูลาฮูป ฯลฯ

น.ส.อรอนงค์ กล่าวว่า จุดลงพื้นที่วันนี้เป็นสุสานที่ปรับพื้นที่เป็นสวนให้ประชาชนเข้ามาดูแลสุขภาพ สำหรับผู้สูงอายุในช่วงเช้า และคนวัยรุ่นในช่วงเย็น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนที่ชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์อย่างดี

น.ส.วทันยา กล่าวว่า สวนนี้ได้รับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับรัฐเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้ามาใช้สอย แต่โดยภาพรวมแล้วพื้นที่ กทม. ยังมีความแออัดและพื้นที่สีเขียวที่ต่ำกว่ามาตรฐานโลกเฉลี่ย 6.1 ตร.ม./คน แต่ประชาชนกรใน กทม. เองยังมีประชากรแฝงที่ไม่ได้ถูกรวมไปในผลสำรวจ ทำให้ความเป็นจริงพื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐานมาก พรรคจึงมีแนวทางเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดฝุ่น ลดอุณหภูมิโลก และเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมให้ประชาชน

ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ทีมประชาธิปัตย์ กทม. ประกาศสงครามชัดเจนกับ PM 2.5 ทุกวันนี้หายใจไม่ได้แล้วจริง ๆ เราจะผลักดันอากาศกฎหมายสะอาดให้เร็วที่สุด และกำหนดเขตพื้นที่มลพิษต่ำ ซึ่งต้องได้รับพลังจากประชาชนร่วมสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค เพื่อที่จะเข้าไปสภาปกป้องประชาชนจากฝุ่น ให้คุณให้โทษกับคนที่ไม่รับผิดชอบ และดูแลภาษีให้คนที่ช่วยป้องกันการเกิดฝุ่นพิษ รวมถึงย้ายโรงงานอุตสาหกรรมออกจากเขตเมือง

‘สกลธี’ เผย ‘พปชร.’ ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. หนุน ประชาชนออกกำลังกาย ลดโรค-สร้างสุขภาพที่ดี

( 25 เม.ย. 66) นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหาร และหัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ร่วมกับ ‘อ้น’ น.ส.ณิรินทร์ เงินยวง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง เขต 15 (คันนายาว-บึงกุ่ม) หมายเลข 8 เพื่อพบปะประชาชน โดย น.ส.ณิรินทร์ กล่าวว่า สวนเสรีไทยนี้ เป็นหนึ่งในสวนตัวอย่างของ กทม.ที่ไม่ต้องมีขนาดใหญ่มาก แต่เข้าถึงง่าย ใกล้กับหมู่บ้าน แหล่งชุมชน ผู้สูงอายุสามารถเดินออกกำลังรอบสวนได้ มีความปลอดภัยเพราะมี รปภ.ดูแลตลอด ตนจึงอยากให้มีการสร้างสวนแบบนี้เพิ่มขึ้นอีกหลาย ๆ แห่งใน กทม.

นายสกลธี กล่าวว่า เป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม.โดยเฉพาะการสร้างสวนขนาดเล็ก ที่ประชาชนสามารถเดินถึงได้ภายใน 15 นาที แต่งบประมาณของท้องถิ่นอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ พรรคพลังประชารัฐจึงจะตั้งกองทุนประชารัฐ 3 แสนล้านบาทขึ้น เพื่อมาช่วยท้องถิ่นพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของพรรค

‘ปักกิ่ง’ ตั้งเป้า!! เพิ่ม ‘พื้นที่สีเขียว’ ภายในปีนี้ ลุยสร้างสวนสาธารณะ-ปลูกป่าในเมือง 15 แห่ง

เมื่อวานนี้ (30 ม.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การประชุมงานของสำนักป่าไม้และสวนสาธารณะเทศบาลกรุงปักกิ่งของจีน ซึ่งเสร็จสิ้นเมื่อไม่นานนี้ รายงานว่าปักกิ่งจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในปี 2024 โดยมีเป้าหมายว่าร้อยละ 91 ของผู้อยู่อาศัยจะเข้าถึงสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กภายในรัศมี 500 เมตร

เกาต้าเหว่ย หัวหน้าสำนักฯ เผยว่า ปักกิ่งวางแผนปลูกป่า 10,000 หมู่ (ราว 4,166 ไร่) และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองอีก 200 เฮกตาร์ (ราว 1,250 ไร่) ในปี 2024 รวมถึงมุ่งหน้าสู่การเป็น ‘เมืองแห่งสวน’ ใต้ร่มเงาป่าไม้ โดยปักกิ่งจะเพิ่มสวนสาธารณะและป่าในเมือง 15 แห่ง ควบคู่กับสวนสาธารณะขนาดย่อมและพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก 50 แห่ง

ทั้งนี้ กรุงปักกิ่งมีสวนสาธารณะรูปแบบต่างๆ รวม 1,065 แห่ง พร้อมอัตราความครอบคลุมของพื้นที่สีเขียวต่อหัวอยู่ที่ 16.9 ตารางเมตร โดยปักกิ่งมีความครอบคลุมของป่าไม้สูงแตะร้อยละ 44.9 และความครอบคลุมของป่าไม้ในเมืองสูงแตะร้อยละ 49.8 เมื่อนับถึงสิ้นปีก่อน รวมถึงการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้และพื้นที่สีเขียวในเมืองรายปีสูงแตะ 9.2 ล้านตัน

‘ปตท.’ รวมพลังผู้บริหาร-พนักงาน ‘ปรับภูมิทัศน์ @คลองเปรมประชากร’ หวังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนเมือง พร้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ ในหลวง ร.10

เมื่อวานนี้ (24 เม.ย.67) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Kick-off ‘โครงการปรับภูมิทัศน์ @ คลองเปรมประชากร’ เพื่อร่วมกันสร้างพื้นที่สีเขียว ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ปตท. กว่า 300 คน ร่วมปลูกต้นไม้ ณ ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ปตท. ได้จัดสรรพื้นที่ติดคลองเปรมประชากรจำนวน 10 ไร่ ในโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ถนนกำแพงเพชร 6 ซึ่งพื้นที่นี้มีจุดเด่นในการเข้าถึงได้ 3 เส้นทาง คือ ทางล้อ จากถนนวิภาวดีรังสิต ทางราง จากสถานีรถไฟสายสีแดง-ทุ่งสองห้อง และทางเรือ ถึงคลองเปรมประชากร โดยพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ออกแบบให้เป็นสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ที่บอกเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 10 ต่อประชาชน และเพื่อสืบสานประวัติศาสตร์พื้นที่ ภูมิทัศน์วัฒนธรรม 

นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปตท. ตั้งใจให้พื้นที่แห่งนี้สร้างความ สงบ ร่มเย็นให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสร้างการเติบโตให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมือง โดยคำนึงถึงระบบนิเวศที่ยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยวันนี้ได้จัดเตรียมต้นไม้ใหญ่และกล้าไม้ อาทิ ต้นพะยูง ต้นอโศกศรียะลา ต้นปีบ ต้นประดู่ป่า ต้นรวงผึ้ง ต้นโพธิ์ ฯลฯ รวมกว่า 300 ต้น สลับกับไม้พุ่มขนาดกลางรวมพันธุ์ไม้กว่า 54 ชนิด มาปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยแนวทางการปลูกต้นไม้จะเป็นการจัดสรรโครงสร้างของต้นไม้ตามธรรมชาติ อนุรักษ์ต้นไม้เดิมในพื้นที่ และปลูกเพิ่มเติมตามแนวคิดของการใช้ต้นไม้ในโครงการ คือ ต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ ต้นไม้พื้นถิ่นลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ต้นไม้สำหรับพื้นที่แก้มลิงชีวภาพ (Bioretention Ponds) และต้นไม้เพื่อสิ่งแวดล้อม (ไม้กรองฝุ่น - พืชกรองน้ำ)

"ตลอดระยะเวลา 45 ปี ปตท. ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินงานในทุกมิติ ควบคู่กับการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล โดยมุ่งพัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเป็นองค์กรที่ดีของสังคม พร้อมจุดพลังและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ให้เติบโตเคียงข้างกันไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน" นายอรรถพล กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top