Monday, 21 April 2025
พิธีพระบรมศพ

‘ดร.นิว’ ไขความกระจ่าง กรณีพระบรมวงศานุวงศ์ไทย ไม่ได้เข้าร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ ควีนเอลิซาเบธที่ 2

‘ดร.นิว’ โชว์เอกสารเทียบเชิญจากสหราชอาณาจักร ยืนยันไทยได้รับเชิญร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมไขข้อข้องใจ เหตุใดพระบรมวงศานุวงศ์ไทยไม่ได้เข้าร่วมพระราชพิธี

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ‘ดร.นิว’ นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงข้อถกเถียงของคนบางกลุ่มกรณีสงสัยเหตุใดสหราชอาณาจักร ไม่เชิญพระบรมวงศานุวงศ์ไทยเข้าร่วมในพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 โดยได้นำเอกสารเทียบเชิญมาเผยแพร่ พร้อมระบุว่า 

เชิญหรือไม่เชิญก็เบิกตากว้างๆ ดูเอาเองเลยครับ

มีผู้เกี่ยวข้องท่านหนึ่งที่กรุงลอนดอน รู้สึกทนไม่ได้กับการที่พวกสามนิ้วออกมาปั่นกระแสบิดเบือน ให้ร้ายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยไม่ได้รับเชิญให้มาร่วมพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 

จึงได้ส่งข้อความมาหลังไมค์บอกว่าผมเขียนวิเคราะห์ได้ค่อนข้างถูกต้องและมีความใกล้เคียงมาก พร้อมทั้งได้แนบเอกสารตัวจริงหน้านี้มาให้ดูเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์อีกด้วย พวกสามนิ้วจะได้หยุดโกหกบิดเบือนให้ร้ายแบบมั่วๆ เสียที

ในความเป็นจริงนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร หรือ Foreign, Commonwealth & Development Office (FCDO) ได้ส่งเอกสารเทียบเชิญไปยังสถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

โดยจะมีการแบ่งกลุ่มประเทศตามระดับความสัมพันธ์และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นในอดีตหรือยังอยู่ภายใต้เครือจักรภพในปัจจุบัน ก็อาจเจาะจงให้ระดับประมุขหรือผู้นำสูงสุดมาเองเท่านั้น 

สำหรับประเทศไทย ปรากฏว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับ บาห์เรน, ภูฏาน, กัมพูชา, ญี่ปุ่น, จอร์แดน, คูเวต, ลิกเตนสไตน์, ลักเซมเบิร์ก, โมนาโก, โมรอคโค, นอร์เวย์, โอมาน, กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย, สวีเดน, ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการส่งเทียบเชิญของสหราชอาณาจักรมายังประเทศในกลุ่มนี้รวมถึงประเทศไทย มีลักษณะเป็นทางเลือก โดยทางประมุขแห่งรัฐที่เป็นพระมหากษัตริย์จะเสด็จฯ มาเอง หรือส่งเอกอัครราชทูตมาร่วมแทนก็ได้ 

เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขของการเทียบเชิญในข้างต้น นับได้ว่าประเทศไทยก็ได้ปฏิบัติตามกรอบของการเทียบเชิญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยที่ไม่ได้เป็นปัญหากับทางสหราชอาณาจักรแต่อย่างใด มีแต่พวกสามนิ้วเท่านั้นที่เป็นเดือดเป็นร้อน 

ปัญหาจึงอยู่ที่พวกสามนิ้วเองต่างหาก ที่คอยจ้องหาแต่เรื่องโกหกบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยไปเรื่อยเปื่อย ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีสาระอะไรที่มากไปกว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยไปวันๆ เท่านั้นเอง

โดยก่อนหน้านี้ ดร.ศุภนัฐ ได้วิเคราะห์ว่า ทำไมสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้เสด็จฯ ไปเยือนสหราชอาณาจักร เพื่อร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ?

ถ้าลองสังเกตดูดีๆ จะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ประมุขหรือผู้นำสูงสุดของประเทศส่วนใหญ่ที่เดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักร เพื่อร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 จะเป็นประเทศจำนวนมากที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นในอดีต หรือยังอยู่ภายใต้เครือจักรภพในปัจจุบัน [1]

สำหรับการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ในยุโรปเกือบทั้งหมดได้เสด็จฯ ไปเยือนสหราชอาณาจักร เพื่อร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เป็นเพราะล้วนแต่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันมาแต่เก่าก่อน เมื่อสืบสายไล่เรียงก็จะพบว่าทรงเป็นพระญาติของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ทั้งสิ้น [2]

ส่วนการเชิญแขกอื่นๆ จากประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีงามทั่วไป ก็จะเป็นการเชิญตามมารยาทโดยผ่านสถานเอกอัครราชทูต ไม่ได้มีหนังสือเชิญโดยตรงมายังประมุขประเทศต่างๆ แต่อย่างใด ดังนั้นประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็จะส่งเอกอัครราชทูตไปเข้าร่วมโดยมารยาทตามปกติ สำหรับประเทศไทยเองก็จัดได้ว่าอยู่ในประเทศกลุ่มนี้ (ภูฏานกับญี่ปุ่นก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าประมุขจะไปเองหรือจะส่งเอกอัครราชทูตไปร่วมแทน)

แถมในสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังมีสถานการณ์ทางการเมืองโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นต้น ส่งผลให้สหราชอาณาจักรไม่อนุญาตให้บางประเทศเดินทางเข้ามาถวายความเคารพพระบรมศพในการนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ใหม่ ในการที่สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 [3]

อีกทั้งพระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญอย่างสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้เสด็จฯ เยือนสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อทรงลงพระนามาภิไธยถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 [4] 

แม้แต่องค์พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกันอย่างสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ก็ถือปฏิบัติในทำนองเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อีกทั้งส่งตัวแทนของรัฐเข้าร่วมแทนพระองค์ [5]

สำหรับประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักรในกาลก่อน อีกทั้งมีจุดยืนในการรักษาความเป็นกลางทางการเมืองโลกมาโดยตลอด การแสดงออกของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในระดับนี้จึงจัดได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติทั่วไป และเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top