Thursday, 15 May 2025
พิธีบรมราชาภิเษก

‘บุคคลลึกลับ’ ที่วิ่งผ่านมินสเตอร์แอบบีย์ระหว่างพิธี คือใคร? โลกโซเชียลขบคิดไม่หยุด!! หรือว่านี่คือ ‘ทูตล่าวิญญาณ’

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 66 เอเจนซีส์ - กลายเป็นที่โจษจันไปทั่วโลกโซเชียลมีเดียระหว่างถ่ายทอดสดทางทีวี วันพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ มีคนตาดีเห็นคนสวมชุดคลุมยาวดำเห็นอยู่แต่ไกลวิ่งตัดผ่านไป ลือไปต่างๆนานาว่าอาจเป็น รีปเปอร์ทูตล่าวิญญาณ

ดิอินดีเพนเดนท์ของอังกฤษรายงานว่า ท่ามกลางกระแสพิธีวันบรมราชาภิเษกที่ยังคงคึกคักในอังกฤษ โลกโซเชียลมีเดียแดนผู้ดีต้องมาขบคิดกันอีกครั้งเมื่อเกิดมีคนตาดีบังเอิญเห็นภาพปริศนาระหว่างกำลังพิธีอยู่ด้านในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ที่ถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ

เป็นภาพปรากฎคนลึกลับสวมชุดคลุมยาวดำเห็นอยู่แต่ไกลวิ่งผ่านประตูมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ไปอย่างน่าพิศวง เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทหารอังกฤษในชุดเครื่องแบบทางการสีแดงกำลังเดินทางเข้าสู่พิธี การปรากฎตัวของบุคคลปริศนาที่ผ่านประตูโบสถ์ไปยังเป็นเวลาเดียวกันกับที่เหล่านักร้องประสานเสียงกำลังขับขานดังไปทั่วตัวอาคารโบสถ์ที่เก่าแก่

สื่ออังกฤษรายงานว่า ชาวเน็ตที่ได้เห็นต่างพูดไปต่างๆนานา มีบางคนชี้ว่าเป็นภาพของ กริม รีปเปอร์ (grim reaper) และมีบางส่วนชี้ไปว่า บุคคลลึกลับอาจเป็นเจ้าหญิงไดอานาที่ล่วงลับไปนานแล้วกลับมาปรากฎให้เห็นก็เป็นได้

นอกจากเรื่องเงาทูตล่าวิญญาณปรากฎที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์แล้ว ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอื่นเป็นต้นว่า อ้างอิงจากสื่อ PA MEDIA รายงานว่า ดูเหมือนมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St Edward’s Crown) ที่จะต้องถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษพระองค์ใหม่ดูเหมือนจะเกิดปัญหาระหว่างพิธี

11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 155 ปี ก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก ขณะพระชนมายุเพียง 15 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

ในบั้นปลายพระชนมชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 วันแห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การสถาปนากษัตริย์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากเป็นวันที่มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ตามโบราณราชประเพณีของราชวงศ์จักรี

พระราชพิธีครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่พระองค์เสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2494 หลังสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การบรมราชาภิเษกถือเป็นการประกาศพระราชอำนาจในการครองราชย์อย่างเป็นทางการต่อประชาชนและนานาประเทศ

ในพระราชพิธี พระองค์ได้มีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งกลายเป็นหลักการสำคัญในการทรงงานตลอดรัชสมัยที่ยาวนานกว่า 70 ปี และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพสกนิกรไทย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนั้นยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชกรณียกิจนานัปการที่พระองค์ทรงริเริ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย ทั้งในด้านเกษตรกรรม น้ำ การศึกษา และเศรษฐกิจพอเพียง

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฏว่า

"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "

โดยพระองค์ ได้พระราชทาน 'พระปฐมบรมราชโองการ' ไว้ว่า “พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด”

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในฝ่ายสมณศักดิ์นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top