Tuesday, 22 April 2025
พิชัยนริพทะพันธุ์

'พิชัย' ซัด!! เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ชี้!! นโยบายเพื่อไทยช่วยได้ ไม่สร้างหายนะ

'พิชัย' ชี้ ค่าแรง 600 บาท แสดงถึงความสำเร็จของรัฐบาลในการกระจายรายได้ และ พัฒนาไทยให้หลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลาง มั่นใจ ทุกนโยบายทำได้จริง รวมถึงการลดราคาน้ำมัน, ไฟฟ้า และ ก๊าซหุงต้ม แนะ ต้องทำหลาย ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน 

(13 ธ.ค. 65) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายของพรรคเพื่อไทยหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ อยากให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทย สามารถทำได้จริงตามที่ได้ประกาศอย่างแน่นอน และเป็นการคิดใหญ่ ทำเป็น เพราะเคยทำสำเร็จมาแล้วทุกนโยบายในอดีต เรียกได้ว่าพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ประกาศนโยบายแล้วทำได้จริง ไม่เหมือนหลายพรรคที่ประกาศนโยบายแต่ทำไม่ได้ หรือทำไม่เป็น เป็นต้น

ทั้งนี้ อยากตอกย้ำนโยบายที่สำคัญเช่นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจขยายได้เฉลี่ยปีละ 5% ซึ่งสามารถทำได้จริง และเป็นศักยภาพที่ประเทศไทยควรจะขยายให้ได้อยู่แล้ว โดยทั้ง ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ ต่างก็บอกตรงกันว่าประเทศไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาโดยตลอด อีกทั้งประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยจะต้องขยายตัวปีละ 5-6% เป็นอย่างน้อยเพื่อพัฒนาให้หลุดพ้นจากกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และจะเพิ่มการจ้างงาน และการหารายได้เพื่อใช้หนี้สาธารณะอีกด้วย โดยตลอดหลายปีเศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวได้ต่ำมาก ขนาดในปีนี้ที่ประเทศต่างๆ ในอาเซียนขยายตัวได้สูง เช่น ใน 9 เดือนแรก มาเลเซียขยายได้ 9.36% เวียดนาม 8.8% ฟิลิปปินส์ 7.76% และอินโดนีเซีย 5.39% แต่ไทยกลับขยายตัวได้ต่ำมาก เพียง 3.1% เท่านั้น 

ดังนั้น การเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงเป็นความจำเป็นระดับแรก ซึ่งจะต้องมีนโยบายหลายๆด้านออกมาพร้อมๆ กัน เช่นในปี 2555 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 7.2% เป็นต้น ฉะนั้นการสร้างรายได้ใหม่ในหลายด้านและส่งเสริมให้มีการลงทุนจากในประเทศและจากต่างประเทศจะเป็นแนวทางที่จะเพิ่มจีดีพีให้ขยายตัวได้มากขึ้น รวมถึงการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของอาเซียนให้คนฉลาด ๆ และคนเก่ง ๆ มาอยู่ประเทศไทยและช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจไทย

'นักวิชาการ' แนะดูคลิปแล้วจะรู้ว่าสมควรเชื่อใคร หลัง 'รมว.พิชัย' ถาม!! "ผู้ว่าฯ ธปท.จบจากที่ไหน?"

เมื่อวานนี้ (18 ก.ย. 67) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

"ผู้ว่าเองพูดในเชิงว่า เราเองไม่ต้องไปเน้นจีดีพี ผมไม่รู้ว่าท่านจบจากที่ไหนนะฮะ ผมว่าเป็นสิ่งที่ผิด ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ผิด ท่านพูดเหมือนกับคนไม่ค่อยรู้เรื่อง"

นี้คือคำพูดของ คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ‘ท้องถิ่นที่สากล : อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism : Future of Thailand’ ในงานเสวนาที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ซึ่งมีข้อความส่วนหนึ่งว่า

"เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลข GDP แต่ตัวเลขที่ต้องล่าคือ ความมั่งคั่ง รายได้ของครัวเรือนที่สะท้อนความเป็นอยู่ของคน เพราะ GDP ไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคน”

ท่านผู้ว่าแบงก์ชาติจบมาจากที่ไหน สามารถหาข้อมูลได้จาก google ตัวคุณพิชัยเอง จบมาจากที่ไหน ก็สามารถหาได้จาก google เช่นกัน วิญญูชนลองค้นหาข้อมูลดังกล่าวแล้วนำมาเปรียบเทียบกันเอาเอง

อยากให้ทุกท่านลองย้อนกลับไปดูคลิปจาก youtube เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ที่คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ ดีเบตกับคุณหมอ วรงค์ เดชกิจวิกรม ในหัวข้อ ประกัน vs จำนำข้าว ในรายการ เจาะข่าวเด่นของคุณสรยุทธ์ สุทัศนจินดา และอยากให้ฟังจนจบ

เมื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับ ใครจบจากที่ไหน และดูคลิปดังกล่าวแล้ว ท่านก็สมควรจะตัดสินได้เองได้เองว่า สมควรเชื่อใคร

ดูคลิปข้างต้นได้จาก link ด้านล่างนะครับ
(https://www.youtube.com/watch?v=H4QQQ3M7pEo)

'พิชัย' เปิดเวทีชวนนักธุรกิจ นักลงทุนสหราชอาณาจักร ดึงเข้าอีอีซี แลนด์บริดจ์ พร้อมเจรจาปักหมุดให้ไทยอยู่ในโฟกัสชาวโลก 

เมื่อวานนี้ (19 ก.ย.67) เวลา 15:00 น ตามเวลาท้องถิ่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวปาฐกถาเปิดงานสัมมนา 'ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สหราชอาณาจักรสู่ระดับใหม่' ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน โดยได้กล่าวยินดีที่จะได้สานต่อความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร ซึ่งในปีหน้าจะครบรอบ 170 ปีแห่งความร่วมมือระหว่างสองประเทศในทุกมิติโดยเฉพาะการค้าการลงทุน

สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด ในปี 2566 การค้าทวิภาคีไทย-สหราชอาณาจักร มีมูลค่าถึง 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา การเติบโตนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่สะท้อนถึงความร่วมมืออย่างลึกซึ้งระหว่างกัน 

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลไทยมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลัง Brexit ถือเป็นเวทีอย่างเป็นทางการสำหรับการเจรจาทางเศรษฐกิจระดับสูงระหว่างสองประเทศ โดยผ่านทาง JETCO ไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาโรดแมพหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร ซึ่งให้กรอบการทำงานที่ชัดเจนสำหรับการขยายความร่วมมือในหลากหลายภาคส่วน และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการกระชับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์และเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน”

หลังจากที่ไทย-สหราชอาณาจักร ได้บรรลุอีกหนึ่งก้าวสำคัญด้วยการลงนามในความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่เพิ่มพูน (Enhanced Trade Partnership - ETP) ETP จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศ ครอบคลุมกว่า 20 ภาคส่วนสำคัญ รวมถึงการค้าดิจิทัล การเกษตร ความยั่งยืน และเทคโนโลยี แผนงานที่แนบมากับ ETP ระบุถึงกิจกรรมร่วมที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการในภาคส่วนเหล่านี้ตลอดสองปีข้างหน้า ซึ่งจะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับความร่วมมือของเรา

รัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการค้า การลงทุน และการทูตเชิงรุกอย่างเต็มที่ เป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจและให้ไทยเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก และศักยภาพของ FTA ไทย-สหราชอาณาจักรจะไม่เพียงแต่เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแต่ยังจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจในทั้งสองประเทศ ขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวสำหรับทั้งสองเศรษฐกิจ ปัจจุบันไทยได้ลงนามใน FTA แล้ว 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ รวมถึงสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย และกำลังเจรจาข้อตกลงกับพันธมิตรอย่างสหภาพยุโรป EFTA และเกาหลีใต้ 

นอกเหนือจากความพยายามของรัฐบาล ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในความเป็นหุ้นส่วนไทย-สหราชอาณาจักร สภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC) สภาธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBC) หอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธุรกิจกับธุรกิจที่แข็งแกร่ง องค์กรเหล่านี้เป็นเวทีให้ธุรกิจได้มีส่วนร่วม ร่วมมือ และสร้างนวัตกรรม ทำให้มั่นใจได้ว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยังคงมีพลวัตและมองไปข้างหน้า บทบาทของภาคธุรกิจทั้งในไทยและสหราชอาณาจักรจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย มุ่งที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านการท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ การเกษตร และนวัตกรรม และด้วยสหราชอาณาจักรเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ปลดล็อกช่องทางใหม่ๆ ผ่านการเจรจาและความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อผลประโยชน์ที่จับต้องได้สู่ภาคธุรกิจและประชาชนของสองประเทศ

'พิชัย' จับมือ 'ทูตจีน' พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ปลดล็อคความกังวลสินค้าออนไลน์จีนเข้าไทย พร้อมยกระดับ การค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยวไทย ทุกด้านเต็มที่

(26 ก.ย.67) เวลา 9.30 น. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลัง 'การประชุมหารือแนวทางการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ไทย-จีน' ณ ห้องประชุมกิติยากรณ์วรลักษณ์ ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและคณะ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนของสองประเทศ

นายพิชัย กล่าวว่า ประเด็นความกังวลเรื่องสินค้าจีนเข้าไทยตนได้อภิปรายในสภาว่าไม่อยากให้รู้สึกว่าจีนเป็นผู้ร้าย หลังอภิปรายในสภาตนได้ติดต่อกับทางสถานทูตจีน ซึ่งทางจีนรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและดีใจที่มีโอกาสได้พูดคุยกัน ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนที่ดีต่อกันมาโดยตลอด และต่อเนื่องในอนาคต จีนมีขนาดประชากรที่ใหญ่ นักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจจีนจะยิ่งโตมากขึ้น จึงต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ของสองประเทศ

ด้าน นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาจีน ขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นคนแรกที่กล้าหาญมาพูดให้จีน ซึ่งตนเชื่อว่าไม่ควรปล่อยไว้ให้กระทบความสัมพันธ์ ได้พูดคุยเรื่องการค้าการลงทุนไทย และทางไทยขอให้ทางจีนนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นเพื่อลดการขาดดุล ซึ่งในรายละเอียดการนำเข้าสินค้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนที่เราเอาไปผลิตและขายต่อ เป็นสัดส่วนหลายแสนล้าน ซึ่งเราอยากเห็นการลงทุนจากจีนใน EEC มากขึ้น ขณะนี้ทางจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดแซงญี่ปุ่น และได้เชิญชวนให้มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะสินค้าประเภท เซมิคอนดักเตอร์ และ PCB(แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) มากขึ้น จะเกิดการจ้างงานอีกเป็นจำนวนมาก ช่วยยกระดับรายได้คนไทย

และทางไทยได้หารือในการเปิดช่องทางให้สินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์ม e-Commerce จีนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการจัดงาน International Live Commerce Expo 2024 'มหกรรมไลฟ์คอมเมิร์ซนานาชาติ 2567' ที่นำอินฟลูฯจีน มาไลฟ์ขายสินค้าไทย ที่สามย่านมิตรทาวน์ 25-29 ก.ย. นี้ เมื่อวานวันเดียวขายได้ถึง 320 ล้านบาท คาดว่าจะทะลุ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงการค้าของโลก และไทยก็จะเพิ่มปริมาณอินฟลูฯในการขายสินค้ามากขึ้นเพื่อขายสินค้าไปจีน และได้หารือเรื่องการลงทุน และการท่องเที่ยวที่ผ่านมา 7-8 เดือนแรกปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยแล้วถึง 5 ล้านคน คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีปริมาณถึง 8 ล้านคน เป็นรายได้หลักของไทย 

นอกจากนี้ได้ขอให้ทางจีนช่วยรับซื้อสินค้าเกษตรจากไทยเพราะประชากรจีนเยอะสามารถรองรับสินค้าเกษตรจากไทยได้มาก ซึ่งทางจีนยินดี อยากให้ทางจีนช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลในไทยรองรับเทคโนโลยีด้วย และช่วยส่งเสริมนโยบายของรัฐเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ภาพยนตร์ ล่าสุดเรื่อง หลานม่า ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน

“ไทยและจีน มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ถ้าเรามีช่องทางที่ดีเค้ายินดีให้ความร่วมมือ อยากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และกับทุกประเทศที่เข้ามา เราจะมีมาตรฐานในการตรวจสอบสินค้า ทั้ง มอก. อย. ซึ่งจะใช้บังคับกับทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะจีน ทางจีนยินดีทำตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อดูแลสุขภาพความปลอดภัยของประชาชนคนไทย” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ เราได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ให้ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ให้มีความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น จีนจะเปิดให้ SMEs ไทยไปขายของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนมากขึ้น เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกไปยังจีน ให้ SMEs ไทยมีโอกาสเติบโตมากขึ้น  หวังว่าการพบกันครั้งนี้จะนำไปสู่ความรุ่งเรืองระหว่างไทยและจีนขยายยิ่งขึ้นในอนาคต

ด้านนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ประชาชนชาวไทยมองเห็นได้ว่าความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับไทย จะนำมาซึ่งโอกาสการพัฒนาให้กับคนไทย ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น ซึ่งจีนยินดีที่จะแบ่งปันโอกาสการพัฒนาและผลประโยชน์ให้กับคนไทย ยินดีให้ไทยใช้แพลตฟอร์มต่างๆไปจำหน่ายสินค้าไทย

ที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับไทย ทางจีนกับไทยเราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พยายามหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสม หามาตรการมาควบคุมจัดการ ไม่อยากให้ไปเหมารวมความร่วมมือการค้าการลงทุนในเชิงลบ ทำลายผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และขอชื่นชมรัฐบาลไทยและกระทรวงพาณิชย์ที่มีท่าทีถูกต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา คำนึงภาพรวมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน

เมื่อถามว่า เรื่อง TEMU เป็นอย่างไรบ้าง นายหาน จื้อเฉียง กล่าวว่า สำหรับบริษัท TEMU ได้รับทราบกฎระเบียบและข้อร้องต่างๆ ทาง TEMU กำลังประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทย และกำลังจัดตั้งบริษัทและลงทะเบียนอย่างเป็นทางการที่ไทย ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเข้มงวดในการตรวจสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศบังคับใช้ใช้กฎหมายในการควบคุมให้ถูกต้องตามมาตรฐานและกฎหมายของไทย

'พิชัย' ย้ำ ความสำเร็จ 'นายกแพทองธาร' บนเวทีผู้นำอาเซียน สร้างโอกาสทอง การค้า-การลงทุนให้ประเทศ 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า “การประชุมอาเซียนครั้งนี้ ตนถือว่าเป็นความสำเร็จของประเทศไทยบนเวทีโลกอีกครั้งหนึ่งต่อจากการประชุม ACD summit ที่กาตาร์ซึ่งตนได้มีโอกาสร่วมคณะผู้แทนไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตลอดระยะเวลา 3 วันที่ผ่านมา ในการประชุมอาเซียน ท่านนายกฯ ได้เข้าร่วมการประชุมกว่า 20 วาระ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ในวันที่ 9 ตุลาคม 67 ต่อด้วยการเปิดเวทีประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญของผู้นำประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำและทิศทางนโยบายของประเทศไทยที่ชัดเจน ในการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างกันในมิติต่างๆ ในฐานะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนล้วนเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ถือเป็นการเปิดโอกาสการเจรจาการค้าการลงทุนต่างๆ อย่างดีเยี่ยม และได้รับความสนใจจากผู้นำประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก”

รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า นอกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว นายกรัฐมนตรีแพทองธารฯ ยังได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสำคัญอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประชุมอาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ญี่ปุ่น รวมถึงอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ซึ่งการกล่าวแถลงของท่านนายกรัฐมนตรี ทำให้ในแต่ละเวทีการประชุมให้ความสำคัญในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่กระทบกับด้านเศรษฐกิจ ที่ท่านนายกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทุกประเทศเล็งเห็นถึงความตั้งใจจริงตรงนี้ และหากมีนโยบายการค้าการลงทุนที่สอดรับกัน ก็จะได้สานต่อให้สำเร็จต่อจากนี้

“ภายหลังการประชุม 3 เวทีใหญ่ มีประเทศต่างๆ ขอพบหารือทวิภาคี หรือการหารือสองฝ่าย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ กัมพูชา บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม มาเลเซีย แคนาดา เกาหลีใต้ เป็นต้น จนเกิดการประชุมทวิภาคีมากถึง 12 ประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีแพทองธารฯ ให้ความสำคัญกับทุกการประชุม แม้จะกินเวลาช่วงพักเบรกก็ตาม นอกจากประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้ว ยังมีประเทศมหาอำนาจ และประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์”

“นับว่าประเทศไทยเนื้อหอมจริงๆ ในการค้าการลงทุน เพราะมีหลายประเทศมารุมขอเข้าประชุม และประเทศอินเดียที่ให้การยอมรับท่านนายกอย่างมาก เนื่องจากเห็นถึงความมั่นคงและชัดเจนของนโยบายผู้นำประเทศไทย สำหรับญี่ปุ่นเอง ก็ยังมีการยืนยันที่จะร่วมลงทุนกับไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง และยังมีประเทศอื่นๆ ที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนในไทยและขยายโอกาสทางการค้าร่วมกันยิ่งขึ้น ซึ่งผมถือว่าเป็นข่าวดีของประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากการทำงานหนักของทีมไทยแลนด์ ของคณะผู้แทนไทยที่นำโดยท่านนายกแพทองธารฯ ซึ่งได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเจรจาด้านการค้าการลงทุนในเวทีโลก หลังกลับจากกาตาร์ เราก็ได้ยินข่าวดีคือ กลุ่มทุนในประเทศตะวันออกกลางประกาศแผนลงทุนในศูนย์ข้อมูลดาต้าเซนเตอร์ในไทยกว่า 3.2 หมื่นล้าน และจะมีมาต่อเนื่อง ดังนั้น หลังกลับจากการประชุมอาเซียนครั้งนี้ ตนก็คิดว่าจะมีข่าวดีให้คนไทยได้ยินอีกหลายเรื่อง ” นายพิชัย กล่าว

นอกจากการประชุมที่โดดเด่นแล้ว นายกรัฐมนตรียังแสดงให้เห็นถึง Soft Power ที่โดดเด่น สวยงามของไทย โดยแต่งกายผ้าไทยที่สวยงามจนเป็นที่สะดุดตาของสื่อต่างชาติทำให้ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก และยังได้รับคำชื่นชมจากสื่อและประชาชนลาวที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากมีการติดตามนายกหญิงของไทยทุกวันที่เข้ามายังสถานที่ประชุม และบางเวลาที่รอประชุมต้องมีการต่อคิวถ่ายรูปกันเลยทีเดียว ซึ่งท่านนายกฯ ก็ให้โอกาสทุกคนได้ถ่ายภาพร่วมกันอย่างเป็นกันเอง 

'นายกแพทองธาร' สั่งพาณิชย์ดึงทุกหน่วยงาน ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพและธุรกิจต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย เร่งเคาะนโยบาย-มาตรการเร่งด่วน ลดผลกระทบผู้บริโภค

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ ทำให้สังคมมีความกังวลว่าผู้บริโภคในประเทศจะได้รับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งเข้ามาขายในประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จนเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค และผู้ประกอบการ SME ของไทย โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ จะประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 

คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดเป็น 5 มาตรการหลัก 63 แผนปฏิบัติการ ได้แก่ 1.ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบ/กฎหมายอย่างเข้มข้น 2.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต 3.มาตรการด้านภาษี 4.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทย และ 5. สร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาสินค้านำเข้าสู่ตลาดที่ไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำ ในการป้องกันและกำกับดูแล ทั้งสินค้าและธุรกิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายควบคู่กับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs และ e-Commerce ไทยปรับตัวได้ในโลกการค้ายุคใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลระหว่างระเบียบการค้าโลก คำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของประชาชน

นายพิชัยกล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ห่วงใยต่อปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปช่วยแก้ปัญหา โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกภายใต้คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อดำเนินการเชิงรุกในการติดตามและเร่งรัดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และตั้งเป้าให้มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนภายใน 3 เดือนและนัดแรกจะจัดประชุมในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าภายใต้คณะกรรมการดังกล่าวเพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคการดำเนินงาน พร้อมทั้งพิจารณามาตรการทั้งในการป้องกันและส่งเสริมเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

ผู้สื่อข่าวระบุว่า เมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน ไทย-จีน และขยายความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งได้เร่งรัด TEMU จัดตั้งบริษัทในไทยโดยเร็ว และขอให้จีนช่วยกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าส่งออกที่มีให้เข้มข้นและประชาสัมพันธ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้านำเข้าของไทยให้แก่ผู้ประกอบการจีนด้วย ทั้งนี้ ทางการจีนยินดีให้ความร่วมมือกับไทยเต็มที่ เพื่อความสัมพันธ์อันดีของทั้ง 2 ประเทศ และยินดีสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และSMEs เข้าไปเปิดตลาดขายสินค้าในจีน ทั้งผ่านงานแสดงสินค้าและช่องทางออนไลน์

'พิชัย' เจรจา 'รัฐมนตรียูเออี' พร้อมคณะนักธุรกิจ ชวนลงทุน Data Center-ประกาศความพร้อมเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร พร้อมเร่งสรุปผลเจรจา CEPA ไทย - ยูเออี

'นายพิชัย นริพทะพันธุ์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ ดร.ธานี บิน อาเหม็ด อัล เซยูดี รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รับผิดชอบด้านการค้าต่างประเทศ นำคณะนักธุรกิจ UAE ที่มีศักยภาพสูงในการลงทุนเดินทางเยือนไทย เพื่อเชิญชวนมาลงทุนในประเทศ ทั้งด้านเทคโนโลยีและอาหาร สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตไปด้วยกัน

โดยนายพิชัยได้หารือกับ ดร.ธานีฯ และคณะนักธุรกิจ ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชิญชวนฝ่าย UAE เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในไทย ซึ่ง UAE ก็มองเห็นถึงศักยภาพของไทยในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งไทยยังมีระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีที่ดีมาก อาทิ ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมสูง โดยเฉพาะไฟฟ้าและน้ำที่มีความเสถียรและมีปริมาณเพียงพอ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 5G ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีในระดับที่ดี และทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน UAE จึงสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวตลอดห่วงโซ่ธุรกิจเช่น การพัฒนาซอฟท์แวร์ และการบริการ เพื่อต่อยอดให้ไทยเป็น 'Hub' ของภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลไทยช่วยสนับสนุน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนฝ่าย UAE และจะช่วยแนะนำผู้ร่วมทุนที่น่าเชื่อถือให้ UAE นอกจากนี้ UAE ยังมองหานักลงทุนเข้าไปช่วยพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานใน UAEเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระยะยาว

นายพิชัยฯ เสริมว่า ด้วยความพร้อมด้านการผลิต และแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่ส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก อาทิ ข้าว ไก่ และปลาทูน่ากระป๋อง ตนจึงได้เสนอไทยเป็นแหล่งสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารให้ UAE และเพื่อต่อยอดความร่วมมือที่ยั่งยืนที่สองฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันตนจึงได้เชิญชวน UAE เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ขณะเดียวกัน UAE ก็มีความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเห็นว่า ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ และการจัดการขยะของ UAE จะช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมของไทย ทั้งนี้ UAE ได้เชิญชวนให้ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวมายัง UAE เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด UAE อีกทั้ง ยังเสนอให้ไทยใช้ UAE ที่มีความพร้อมด้านโลจิสติกส์ เป็นจุดกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคใกล้เคียง อาทิ แอฟริกา และยุโรปด้วย โดยตนได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศหารือกับบริษัทของ UAE ในรายละเอียดต่อไป

นายพิชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า UAE มีความต้องการแรงงานคุณภาพจากไทย รวมทั้งวิศวกรจำนวนมาก เพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของ UAEโดยกระทรวงพาณิชย์ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ตนได้พูดคุยกับ ดร. ธานีฯ เกี่ยวกับแนวทางการสรุปผลการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับ UAE หรือที่เรียกว่า CEPA ซึ่งเราเห็นตรงกัน ที่จะผลักดันให้การเจรจาฯ สรุปผลได้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อภาคธุรกิจของสองฝ่ายต่อไป 

'พิชัย' เปิด Thailand Pavilion ยกทัพเอกชน โชว์เสน่ห์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ในงาน CIIE ที่จีน ชวนคนทั่วโลกเป็น ‘ลูกค้าประจำของสินค้าไทย‘ ใช้แล้วติดใจ! 

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิด Thailand Pavilion แสดงภาพลักษณ์ประเทศไทย ในฮอลล์ Country Exhibition ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน China International Import Expo หรืองาน CIIE ครั้งที่ 7 ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ จำนวน 20 บริษัท อาทิ อาหาร ไลฟ์สไตล์ แฟชั่น และธุรกิจบริการเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ บนพื้นที่กว่า 250 ตารางเมตร คาดเกิดมูลค่าเจรจาการค้าไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท และสาธิตการทำอาหาร เมนูแกงมัสมั่น บริโภคกับข้าวหอมมะลิไทย เพื่อแจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองชิม และช่วยโปรโมตซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้วย

นายพิชัย กล่าวว่า งาน CIIE เป็นงานที่ประเทศจีนจัดเพื่อเปิดกว้างสำหรับทุกประเทศให้เข้ามาขายของ ถือว่าเป็นโอกาสดีของไทยในการเข้ามา ครั้งนี้มี 80 บริษัทเข้าร่วม โดยเป็นของกระทรวงพาณิชย์ 20 บริษัท มีทั้งเรื่องอาหารไทย ซอฟต์พาวเวอร์ ฟิล์ม มวย ข้าวและปีนี้มีข่าวดี ที่พึ่งได้รับรายงานจากกรมการค้าต่างประเทศว่า ไทยส่งออกข้าวได้มากเกินเป้าจากที่คาดว่าจะได้ 8.2 ล้านตัน ตอนนี้ทะลุ 9 ล้านตันแล้ว ปลายปีต้องมากกว่านี้ ถือเป็นข่าวดีของชาวนาไทย  ขอเชิญชวนคนจากทั่วโลกให้มาช่วยซื้อของไทยเยอะๆ มาเป็นลูกค้าประจำของสินค้าไทย มาอุดหนุนเสน่ห์ซอฟพาวเวอร์ไทยกันให้มาก ถ้าท่านทดลองใช้ของไทยแล้วจะติดใจ ทั้ง อาหาร ผลไม้ นวด ชกมวย มาใช้ของไทยแล้วจะชอบ

ต่อจากนั้น รมว.พาณิชย์ยังได้เป็นประธานเปิดบูธจัดแสดงสินค้าของหน่วยงานพันธมิตร เช่น หอการค้าไทยจีน ที่ขนทัพแบรนด์สินค้าไทย เช่น มาม่า ส.ขอนแก่น ชบา มาร่วมจัดแสดง จับคู่ธุรกิจ จำหน่าย แจก รวมถึงเอกชนไทยรายใหญ่ที่มีแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เช่น CP มาร่วมแสดงศักยภาพของสินค้าและบริการไทยด้วย สำหรับสินค้าไฮไลต์ที่นำมาโชว์ในงาน เช่น ผงน้ำมะพร้าวฟรีซดราย กะทิอัดเม็ด น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ขนมครกและขนมบ้าบิ่นสำเร็จรูป น้ำจิ้มฟรีซดราย เครื่องแกง ผงปรุงรส ทูน่าสเปรดแบบวีแกน อาหารแพลนต์เบสพร้อมรับประทานและพร้อมปรุง ผลไม้ฟรีซดราย ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น

นายพิชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับการโปรโมตซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยในจีน ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ในจีน 7 แห่ง ได้ผนึกกำลังกันโปรโมตอย่างเต็มที่ โดยใช้โอกาสช่วงที่ภาพยนตร์ “หลานม่า” เข้าไปฉาย ได้ร่วมมือกับร้านอาหาร Thai SELECT 37 แห่ง ใน 13 เมือง (ปักกิ่ง ชิงต่าว หนานจิง ซูโจว เซี่ยงไฮ้ หางโจว เซี่ยเหมิน ฝูโจว กวางโจว หนานหนิง คุนหมิง ฉงชิ่ง และเฉิงตู) ในการเป็นจุดโปรโมต และบางร้านได้จัดเสิร์ฟเมนูพิเศษจากภาพยนตร์หลานม่า เช่น ปลาทอดสมุนไพร ก๋วยเตี๋ยว และโจ๊กอาม่า เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการได้ลิ้มลองรสชาติเมนูจากภาพยนตร์ดังกล่าวด้วย

“อนาคตผมเชื่อว่าประเทศจีนจะเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติสูงสุดในโลกและหวังว่าประเทศไทยจะร่วมมือกับจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยกัน ปัจจุบันประเทศจีนมีการลงทุนในประเทศไทยสูงที่สุด หวังว่าการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับจีนจะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หวังว่าทางจีนจะเห็นไทยเป็นคู่ค้าและเป็นพี่น้องกัน ขอบคุณประเทศจีนที่เปิดกว้าง เราจะขายของให้ประเทศจีนได้มากขึ้น เมื่อวานตนได้พบผู้ประกอบการ 16 ราย กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายหลักในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยค้าขายในจีนหรือประเทศต่างๆได้มากขึ้น เราอยากสนับสนุนส่งเสริม 80% อีก 20% เป็นแค่เรกูเลเตอร์กำกับดูแล เน้นส่งเสริมสินค้าไทย ผู้ประกอบการไทยออกมาขายของได้มากๆ อยากเห็นการค้าไทยขยายตัวมากๆ เห็น GDP เราทะลุเกิน 4-5% ขึ้นไป อยากตามจีนให้ทัน ในความรู้สึกของคนไทยคนจีนมีความผูกพันกันเยอะ และปีหน้าจะเป็นปีที่จะ เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-จีน ครบรอบ 50 ปี ผมว่าความรู้สึกนี้เกินกว่าการค้าหรือการลงทุน ความรู้สึกรักใคร่กันเป็นเรื่องที่สำคัญ จะนำมาซึ่งการค้าที่ดีต่อไปในอนาคต ผมเชื่อว่าไทยกับจีนจะต้องก้าวหน้าไปด้วยกันในอนาคตอย่างแน่นอน“ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

นบข.ไฟเขียวมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 67/68 ดันราคาสินเชื่อข้าวหอมมะลิ

นบข.ไฟเขียว 3 มาตรการช่วยเหลือชาวนา ที่ได้จากการหารือร่วมกับเกษตรกร โรงสี และผู้ส่งออก เชื่อราคาข้าวปีนี้ไม่ลดลง และทบทวนโครงการปุ๋ยคนละครึ่งให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2567 ว่า ที่ประขุมนบข.ไฟเขียวมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 รวม 3 มาตรการ  ประกอบด้วย (1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 8,362.76 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝาก 1,500 บาท/ตัน 

ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน เริ่มตั้งแต่ ครม. มีมติ - 28 ก.พ.2568 และเกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,500 บาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 12,000 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 10,500 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา 

เพื่อนำมาจำหน่ายได้ (2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่เป้าหมาย 1 ล้านตัน  (+0.5 ล้านตัน) วงเงิน 656.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.5% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อตั้งแต่ ครม. มีมติ -30 ก.ย.2568 และ (3) ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 4 ล้านตัน วงเงิน 585 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 3% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน ระยะเวลารับซื้อตั้งแต่ ครม. มีมติ - 31 มี.ค.2568 

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาทบทวนโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า ยังมีข้อจำกัดและข้อพิจารณาเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางการปฏิบัติ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำกลับไปทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการให้มีความเหมาะสม รัดกุม และสอดคล้องกับหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พ.ย.66 โดยให้คงมาตรการหรือโครงการในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนการเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity) ของภาคการเกษตร ผ่านการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร และให้นำเสนอ นบข. อีกครั้ง

นอกจากนั้น ในการพัฒนาการผลิตข้าวให้มีความยั่งยืนในระยะยาว ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการข้าวให้มีความสมดุลกันระหว่างอุปสงค์และอุปทาน คำนึงถึงความเพียงพอในการบริโภคภายในประเทศ และที่สำคัญต้องทำให้ชาวนามีความแข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดี โดยรัฐบาลจะเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนด้านตลาดและการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร

'พิชัย' เปิดงาน GCNT Forum 2567 ประกาศความสำเร็จ FTA ไทย-เอฟตา ดันเศรษฐกิจ เชื่อมั่น ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหม่ PCB และ AI โลก หนุนสร้าง SME รุ่นใหม่ ส่งออกสินค้าทั่วโลก

เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในงาน UN Global Compact Network Thailand Forum (GCNT Forum) 2567 และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Inclusive Business – A Catalyst for Change to an Equitable Society : ธุรกิจแบบมีส่วนร่วม – เร่งสร้างสังคมไทยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งภายในงานมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นางสาวมิเกลล่า ฟิลแบรย์-สตอเร่ ผู้ประสานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (Ms. Michaela Friberg-Storey, UN Resident Coordinator, Thailand) และสมาชิกจาก UN Global Compact Network Thailand ร่วมด้วยที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ESCAP Hall ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยนายพิชัยได้ถือโอกาสนี้ประกาศความสำเร็จของการเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมเน้นย้ำถึงทิศทางของการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของไทย อาทิ PCB Data Center และการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น 

นายพิชัย กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนมาเปิดงาน UN Global Compact Network Thailand Forum  (GCNT Forum) 2567 ในวันนี้ ซึ่งเป็นเครือข่ายของภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน วันนี้จีดีพีของประเทศเริ่มดีขึ้น เมื่อไตรมาสที่แล้วจีดีพีไทยโต 3% และการส่งออกของไทยตัวเลขล่าสุด (ต.ค.67) ขยายตัว 14.6% ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้ดีขึ้นอีก ให้เกิดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น เรื่องหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำสำเร็จแล้วคือการเจรจา FTA ไทยกับเอฟตา หรือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ที่ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งกำลังจะลงนามกันที่ดาวอส โดยมีผู้นำหลายประเทศเข้าร่วม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาเขตการค้าเสรีฉบับต่อไป ขณะนี้มีหลายประเทศที่มาเร่งเรื่องการเจรจา FTA ทั้งกับ EU และ UAE และทางภาคเอกชน อย่างหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของรัฐบาลไทยและกระทรวงพาณิชย์ ในการเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ที่จะช่วยเปิดโอกาส ทางการค้า ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

“FTA มีความสำคัญมากเพราะจะทำให้มีการลงทุนเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นอีกมาก เมื่อไม่กี่วันก่อนนักลงทุนจาก USABC (สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน) ก็สอบถามถึงความคืบหน้าการเจรจา FTA ฉบับต่างๆ ของไทย วันนี้ ต้องเรียนว่า รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์จะพยายามเจรจาให้สำเร็จให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นศักยภาพทางการแข่งขันของไทยจะสู้กับเวียดนามได้ยาก เพราะเวียดนามมี FTA ครอบคลุมแล้วถึง 56 ประเทศ ในขณะที่ไทยเพิ่งมี 19 ประเทศ เราต้องเร่งเจรจาเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นต้นทุนการผลิตสินค้าของเราจะสู้เวียดนามไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนเวียดนามถูกกว่าของเราอยู่แล้ว 10% แต่ถ้าเราไม่มีเขตการค้าเสรีจะต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 20% ทำให้ต้นทุนต่างกันถึง 40% ทำให้เราต้องเร่งเจรจา FTA เพิ่มขึ้น ดังนั้น การเดินหน้าเจรจา FTA จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ” รมว. พาณิชย์กล่าว

นายพิชัยกล่าวต่อว่า ตอนนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังไปได้ดี มีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) ที่หลายประเทศบอกว่าในอนาคตไทยจะเป็นศูนย์กลาง PCB ของโลก และเราจะเป็นศูนย์กลางของ Data Center และ AI ซึ่งเป็นทิศทางของโลก ที่เราต้องเร่งส่งเสริมในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ก็พยายามส่งเสริมให้มีเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น เมื่อวันก่อนตนไปที่เชียงใหม่ได้พบกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เข้าไปให้การสนับสนุน พาไปออกบูธในต่างประเทศ พาไปขายของ และสำหรับบริษัทหรือแบรนด์ที่มีศักยภาพ ทางกระทรวงพาณิชย์มีแนวคิดที่จะสร้าง Thailand Brand เพื่อการันตีคุณภาพ ให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าและพัฒนาต่อยอดได้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อว่าเป็นสินค้าชั้นเยี่ยม

“กระทรวงพาณิชย์ พยายามส่งเสริมให้มีเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น เน้นการขับเคลื่อนทุกภาคธุรกิจแบบมีส่วนร่วม ตามแนวทางของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าสู่ความยั่งยืน ผ่านนโยบายสำคัญ อาทิ 1.สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพเพิ่มช่องทางการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น 2.การบริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกรและผู้ประกอบการ สามารถเติบโตไปพร้อมกัน สร้างผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย 3.การขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และ 4.ส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงตลาดสินค้าสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราต้องเร่งพัฒนาให้ทันต่อต่อตลาด ใช้จุดแข็งต่างๆ ชูซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้สามารถขายสินค้าให้มากขึ้นได้ วันนี้โลกเปลี่ยนแล้วต้องกลับมาคิดใหม่ทำใหม่ คิดเหมือนเดิมไม่ได้แล้วเพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” นายพิชัยกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top