Tuesday, 22 April 2025
พานทองแท้ชินวัตร

‘เพื่อไทย’ ปัดตั้ง ‘พานทองแท้’ ปธ.ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ชี้! เป็นกระบวนการปั้นข่าวหวังทำลายความเชื่อมั่นรัฐบาล

รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยันไม่แต่งตั้ง 'พานทองแท้ ชินวัตร' ลูกชายทักษิณ เป็นประธานยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ตามที่ ‘ไพศาล พืชมงคล’ โพสต์เอาไว้ ระบุเจ้าตัวไม่ได้เข้ามาร่วมรับตำแหน่งใด ๆ โวยมีขบวนการปั้นข่าวเพื่อให้เกิดความสับสน

เมื่อวันที่ (17 ธ.ค. 67) จากกรณีที่นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ากลยุทธ์และแผนงานเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยระบุว่า เพื่อกุมบังเหียนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไทย ให้มีความเจริญรุ่งเรืองโชติช่วงชัชวาลเข้าสู่ยุคศิวิไลซ์ ได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี และอยู่ดีกินดีถ้วนหน้ากัน และเปรียบว่าขนาด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นน้องสาวยังเป็นถึงนายกรัฐมนตรีได้ ทำไมพี่ชายถึงจะเป็นประธานยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไม่ได้ ตามที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียนั้น

ล่าสุด น.ส.ชญาภา สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวในแพลตฟอร์ม X ว่า ไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง เพราะในการประชุมสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคไม่มีมติแต่งตั้งใครหรือตำแหน่งใด ๆ เหล่านี้ ซึ่งข้อเท็จจริงนายพานทองแท้ ก็ไม่ได้เข้ามาร่วมรับตำแหน่งใด ๆ ทั้งในพรรคและในรัฐบาลเลย ช่วงนี้กระบวนการแบบนี้มีให้เห็นเยอะขึ้นเรื่อย ๆ การปั้นข่าวเพื่อให้เกิดความสับสน และพยายามทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาล โชคดีว่าประเทศไทยไม่ใช่เมืองหนาว เลยไม่เหมาะกับการปั้นน้ำเป็นตัว

สำหรับนายพานทองแท้ ชินวัตร หรือโอ๊ค เกิดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2522 เป็นลูกชายคนโตของนายทักษิณ ชินวัตร กับคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เกิดที่เมืองฮันต์สวิลล์ ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เคยทำธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ชีแอทมู้ด และคาเฟ่ชื่อ Cafeinn ที่สยามสแควร์ ซอย 2 นำเข้าและจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ยี่ห้อ เวอร์ทู รวมทั้งสัมปทานพื้นที่โฆษณาอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน และทำธุรกิจสวนสนุก Amazing Fun Park บริเวณถนนรัชดาภิเษก ในนาม บริษัท ฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เมื่อปี 2548 กระทั่งปี 2552 นายพานทองแท้ ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี แต่ได้ปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2567 และอาคารสถานีย่านถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้สี่แยกสุทธิสาร กำลังรีโนเวตเป็นที่ทำการแห่งใหม่ของพรรคเพื่อไทย

ปัจจุบัน นายพานทองแท้เป็นกรรมการบริษัทที่ยังดำเนินกิจการอยู่ 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท ม็อกกิ้งเบิร์ด จำกัด ประกอบธุรกิจการจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่งานอื่นๆ ผ่านทางออนไลน์, บริษัท วอยซ์ ครีเอชั่น จำกัด ประกอบธุรกิจกิจกรรมด้านความบันเทิง บริษัท เรนด์ เพลินจิต โฮเต็ล จำกัด ประกอบธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด, บริษัท เวิร์คส์ ครีเอทีฟ จำกัด ประกอบกิจกรรมการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ธุรกิจ, บริษัท ไวฟ์ ดิจิตอล จำกัด ประกอบธุรกิจ กิจกรรมการจัดทำโปรแกรมเว็บเพจและเครือข่ายตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ และบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ประกอบธุรกิจกิจกรรมการผลิตรายการโทรทัศน์

ส่วนบริษัทที่เสร็จการชำระบัญชี มี 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท นิวโอ๊ค จำกัด ประกอบธุรกิจกิจกรรมการถ่ายภาพ, บริษัท มาสเตอร์ โฟน จำกัด ประกอบธุรกิจร้านขายปลีกอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม, บริษัท ฮาวคัม มีเดีย จำกัด ประกอบธุรกิจกิจกรรมของบริษัทโฆษณา, และบริษัท ฮาวคัม เอวี จำกัด ประกอบธุรกิจกิจกรรมด้านความบันเทิง และบริษัทที่มีสถานะเลิก ได้แก่ บริษัท โอคานิท จำกัด ประกอบธุรกิจการบริการด้านเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นหลักในร้าน

อนึ่ง เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นายพานทองแท้ นั่งรถไฟขบวนพิเศษรอยัลบอสซั่มที่ 913 เพื่อเดินทางร่วมกับ สส.พรรคเพื่อไทย ไปยังโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกับ น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นน้องสาว ก่อนที่นายทักษิณจะร่วมขึ้นขบวนรถไฟที่สถานีบางบำหรุ เพราะอยู่ใกล้บ้านจันทร์ส่องหล้า จรัญสนิทวงศ์ 69

‘หลานม่า’ หนังไทยเรื่องแรกเข้ารอบออสการ์ 15 เรื่องสุดท้าย ได้ลุ้นสาขา ‘ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม’

(18 ธ.ค. 67) เพจเฟซบุ๊กของ GDH ได้โพสต์ข้อความว่า ‘หลานม่า’ ภาพยนตร์ไทยจาก GDH สร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ฝ่าด่านหนังต่างประเทศ จำนวน 85 เรื่อง ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 15 เรื่องที่เข้ารอบรางวัลออสการ์ครั้งที่ 97 สาขา ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (ACADEMY AWARDS / BEST INTERNATIONAL FEATURE FILM SHORTLIST) ซึ่งจะมีการประกาศผลว่าภาพยนตร์ทั้ง 15 เรื่องนี้ เรื่องใดจะเข้ารอบเป็น 5 เรื่องสุดท้าย ในวันที่ 17 มกราคม 2568 ส่วนงานประกาศผลผู้ชนะเลิศ จะมีขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 2568

พร้อมทั้งได้ แสดงความยินดีกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับ, เป็ด ทศพล ผู้เขียนบท, พี่เก้ง จิระ, พี่วัน วรรณฤดี โปรดิวเซอร์, ยายแต๋ว อุษา, บิวกิ้น, ดู๋ สัญญา, เจีย สฤญรัตน์, เผือก พงศธร, ตู ต้นตะวัน ทีมนักแสดงนำ รวมไปถึงทีมงานทุกฝ่ายที่ตั้งใจและทุ่มเทสร้างสรรค์ภาพยนตร์มาด้วยกัน และขอขอบคุณผู้ชมทุกท่านที่ให้การสนับสนุน ‘หลานม่า’ มาโดยตลอด

สุดท้ายแล้ว มาร่วมลุ้นผลไปพร้อมกันว่า ‘หลานม่า’ จะสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้า ได้เข้ารอบเป็น 1 ใน 5 เรื่องสุดท้ายหรือไม่!


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top