Tuesday, 2 July 2024
พักหนี้

“นายก” เร่ง ช่วยปชช.ขยายเวลา พักหนี้กทบ.ออกไปอีก 1 ปี ชี้ สมาชิกเกือบ 14 ล้านคน คลายภาระการเงิน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม มอบนโยบายให้ทุกกลไกของรัฐบาล เร่งช่วยบรรเทาความเดือนประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(กทบ.) มีมติให้พักชำระหนี้ หรือลดภาระหนี้ เงินกองทุนฯให้กับสมาชิกที่มีความเดือดร้อนตามความเหมาะสม โดยพักชำระเงินต้นในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี  เพื่อผ่อนคลายภาระการชำระหนี้ที่มีต่อกองทุนฯบรรเทาความเดือดร้อน ลดหนี้นอกระบบ เพราะสมาชิกฯ สามารถนำเงินที่เหลือจากการส่งกองทุนฯ ไปเป็นทุนประกอบอาชีพ สร้างรายได้ในช่วงการแพร่ระบาด โดยได้มีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการกองทุนฯระดับจังหวัดตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้รับทราบและดำเนินงานตามมติต่อไป

นายธนกร กล่าวว่า สมาชิกกองทุนฯที่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาชำระหนี้ ควรสมัครใจเข้าร่วมโครงการ มีประวัติชำระหนี้ดีและต้องการเข้าร่วมโครงการเพื่อลดภาระทางการเงินที่จะต้องชำระเงินต้นกับกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง แต่ในกรณีที่มีประวัติผิดชำระหนี้ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ หากปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดโดยสุจริต คณะกรรมการกองทุนฯจะมีอำนาจพิจารณาการเข้าร่วมโครงการเป็นรายบุคคล  โดยอาจพิจารณาจากผลประกอบอาชีพของสมาชิก สภาพทางเศรษฐกิจหรือรายได้อื่นของสมาชิกและครอบครัว การค้ำประกัน รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้คืน ของสมาชิกแต่ละราย โดยเป็นการพักชำระหนี้ ควรให้พักชำระหนี้เงินต้นในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ให้ส่งเฉพาะดอกเพื่อให้กองทุนสามารถนำรายได้จากดอกเบี้ยมาใช้ในบริหารจัดการกองทุนรวมถึงสวัสดิการให้สมาชิกรวมถึงประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนต่อไป เมื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว สมาชิกจะต้องจัดทำแผนการออมเงินและแผนในการฟื้นฟูศักยภาพการประกอบอาชีพเสริม เช่น การเข้าร่วมโครงการกองทุนต้นไม่ร่วมพัฒนา การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต การพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพ ด้วย

‘ศุภชัย’ ตอกกลับ ‘ธีระชัย’ ปมพักหนี้ 3 ปี ใครแบกภาระ ชี้ เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชนอยู่แล้ว

(10 มี.ค. 66) นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งถามเรื่อง ‘ภูมิใจไทยพักหนี้ ใครแบกภาระ?’ ว่า นโยบายพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ย รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่เห็นว่าประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากคนจนที่เป็นหนี้เป็นสิน มีความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 และอุทกภัย จึงต้องการให้ประชาชนหยุดพักหายใจบ้าง ผ่อนแรง มีโอกาสในการฟื้นตัวเองเพื่อทำมาหากิน ได้อย่างสะดวกมากขึ้น ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้ประชาชน

“อันที่จริง คุณธีระชัย น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ เพราะตอนที่คุณธีระชัยเคยทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน 56 ไฟแนนซ์ล้ม ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เข้ามารับประกันผู้ฝากเงินทุกบัญชี ก็ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีอากรของประชาชน แต่นโยบายของภูมิใจไทยไม่ได้ทำแบบมักง่ายแบบนั้น กล่าวคือ เงินที่นำมาเพื่อการนี้ นำมาจากพันธบัตรรัฐบาล ที่นำออกมาจำหน่ายให้กับประชาชนผู้มีกำลัง แทนที่จะฝากกับธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำ มาซื้อพันธบัตรที่มีผลตอบแทนสูงกว่ามาก ซึ่งถ้ามองอีกมุมหนึ่งการที่มีนโยบายนี้ออกมาก็เป็นการสร้างการบริโภคของประชาชนที่มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายศุภชัย กล่าว

‘ครม.’ เคาะสั่งลุยมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เริ่ม 1 ตุลาคมนี้

(26 ก.ย.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ โดยมี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการ และพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรและบุคคลตามข้อบังคับ ธ.ก.ส. (ฉบับที่ 44 และ 45) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีต้นเงินเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติ และ/หรือเป็นหนี้คงค้างชำระ จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2566) ระยะเวลา ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 30 กันยายน 2567 (1 ปี)

ส่วนวิธีดำเนินโครงการ เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ต้องการรับสิทธิพักชำระหนี้สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 31 มกราคม 2567 งบประมาณ รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี

นายชัยกล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ

‘รมช.คลัง’ เล็งพักหนี้เอสเอ็มอีทั้งระบบ ภายใต้กรอบภาระรัฐบาล ย้ำ!! พักหนี้ครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา ป้องกันเกิด ‘Moral Hazard’

(20 พ.ย. 66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษาเรื่องการพักหนี้ของภาคเอสเอ็มอีทั้งระบบ แต่ก็ต้องดูให้อยู่ในกรอบที่รัฐบาลรับภาระไหว และยังต้องดูว่าการเข้าไปช่วยต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่ให้เกิด ‘Moral Hazard’ ด้วย

“ยอมรับว่ามีเม็ดเงินค่อนข้างสูง หนี้ของเอสเอ็มอีเฉลี่ยต่อรายไม่ใช่แค่หลักแสนบาท ถือเป็นภาระที่หนัก ซึ่งก่อนหน้านี้โจทย์ของการช่วยเหลือเรื่องการพักหนี้เอสเอ็มอี ช่วยตามรหัส 21 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคำอธิบายของกลุ่มนี้ มีแค่เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แล้ว ซึ่งรัฐบาลให้ช่วยเหลืออย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีปัญหาหนี้สิน ยังไม่ถึงขั้นเป็นเอ็นพีแอล เราจึงต้องดูส่วนนี้ด้วย”

ทั้งนี้ ยอมรับว่า จากมาตรการพักหนี้ต่างๆ นั้น กังวลเรื่อง ‘Moral Hazard’ แต่ว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ที่มีแรงกดดันทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องโยกแรงกดดันเหล่านี้ออก ให้ประชาชนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ การพักหนี้ครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่เหมือนพักหนี้ครั้งก่อน เพราะเรามีกลไกอื่นเข้าไปช่วยด้วย

“ผมไปลงพื้นที่ตรวจงาน ได้ถามชาวบ้าน เกษตรกร ว่าพักหนี้มา 13 ครั้งแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทุกคนก็บอกว่า ไม่ได้ดีขึ้น มันเป็นเพียงแค่การประวิงเวลาเท่านั้น แต่กลไกครั้งนี้ ประกอบกับนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลใส่เข้าไป มันจะสามารถให้ประชาชน พลิกฟื้นกลับมาแข็งแรงได้”

ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแถลงมาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 66 นี้ เป็นมาตรการแก้หนี้คนละส่วนกับการมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่เคยออกมาแล้ว โดยการพักชำระหนี้เป็นเพียงการต่ออายุ ต่อลมหายใจให้พี่น้องเกษตรกร

ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อยนั้น เป็นการของอีกส่วนงาน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งเมื่อ 14 พฤศจิกายน ได้มีการประชุมนัดแรก และเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไปแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top