Wednesday, 7 May 2025
พระราชทานอภัยโทษ

สถาบันทิศทางไทย ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ‘อภัยลดโทษ’ ทักษิณ ไม่ใช่ ‘อภัยโทษ’

(2 ก.ย.66) ‘สถาบันทิศทางไทย’ ได้ออกแถลงการณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อราชกิจจานุเบกษา ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้อภัย ‘ลด’ โทษ นักโทษชายเด็ดขาดทักษิณ ชินวัตร ว่า...

“สถาบันทิศทางไทย อันประกอบด้วยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในหลายแขนง ได้เห็นร่วมกันถึงพระราชอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในพระมหากรุณาธิคุณให้อภัย ‘ลด’ โทษนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณ

จึงใคร่ขอให้พสกนิกรและผู้จงรักภักดีได้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้

1.) ราชกิจจานุเบกษาเป็นประกาศพระมหากรุณาธิคุณ ‘พระราชทานอภัยลดโทษ’ กับนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณ ไม่ใช่ ‘พระราชทานอภัยโทษ’ แต่อย่างใด ดังนั้น นักโทษชายทักษิณยังมีความผิดมิใช่ได้รับนิรโทษกรรมหรือพ้นจากความผิดที่ได้เคยกระทำไว้  และหากต้องโทษในคดีอื่นๆ อีกก็ย่อมมิอาจขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะได้อีกเพราะถือเป็นที่สุดแล้ว

2.) นักวิชาการ อ.เทพมนตรี ลิมปพยอม ได้ชี้ให้เห็นว่า ราชกิจจานุเบกษาคือการ ‘ตรา’ บันทึกความผิดของนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณเอาไว้แล้วในประวัติศาสตร์ มิมีสิ่งใดมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เลยนับจากนี้

3.) คำกล่าวในอดีตของนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณที่มักอ้างว่า โดนกลั่นแกล้งทางการเมือง โดนศาลตัดสินด้วยกระบวนการที่บิดเบี้ยว รวมถึงวาทกรรมผลพวงรัฐประหาร ล้วนแล้วแต่ไม่จริง เพราะนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณได้ยอมรับผิดทั้งหมดด้วยตัวเองก่อนขอพระราชทานอภัยโทษ

4.) ขบวนการปฏิรูปสถาบันที่นำโดยพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) คณะก้าวหน้า กลุ่ม NGO ที่ได้รับเงินต่างชาติ กลุ่มราษฎร กลุ่มทะลุวัง ย่อมมิอาจอ้างวาทกรรม ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ‘นิติสงคราม’ วาทกรรมสถาบันแทรกแซงการเมืองผ่านศาลและกองทัพได้อีกต่อไป เพราะนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณได้ยอมรับเองไปแล้วว่าได้กระทำผิดจริง

5.) การพระราชทานอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ เป็นไปตามระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้ ‘ธรรมราช’ อันเป็นพระราชอำนาจโดยหลักทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยมีนายกฯรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

6) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าการใช้พระราชอำนาจเช่นนี้เป็นพระราชอัจฉริยภาพ และพระราชวินิจฉัยเพื่อดับวิกฤติที่กำลังคุกคามประเทศไทยเราอยู่ ชาติไทยเราอยู่รอดมาได้ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ สิ่งที่เราเองก็มิอยากสูญเสียหรือมิอยากเห็นยิ่งกว่านี้ ข้อเปลี่ยนแปลงใดๆย่อมมิสำคัญเท่ากับทางรอดของประเทศชาติ

7.) ครอบครัวชินวัตร พรรคเพื่อไทย รวมถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่โน้มรับในพระมหากรุณาธิคุณพึงต้องแสดงความจงรักภักดีให้เป็นรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์ คือ

7.1.) ยืนยันต่อระบอบการปกครองราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญดังที่เป็นมา
7.2.) ยืนยันอย่างเปิดเผยไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขสาระสำคัญรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2
7.3.) ไม่เร่งการแก้รัฐธรรมนูญ มุ่งแก้ปัญหาปากท้องของคนในชาติอันเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า
7.4.) ผลักดันกฎหมายควบคุม NGO ให้ออกมาได้โดยเร็ว เพราะสามารถตรวจสอบเส้นทางเงินของ NGO ที่รับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวล้มล้างสถาบันฯ
7.5.) ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด สามารถสั่งปิดกับแพลตฟอร์มต่างชาติ Facebook, X(Twitter เดิม), Tik Tok ที่ปล่อยให้กลุ่มล้มล้างโพสต์ใส่ร้ายสถาบันฯ ต่อเนื่อง

ด้วยความเคารพ
สถาบันทิศทางไทย

‘เทพไท’ จ่อขอพระราชทานอภัยโทษ พร้อมยกเหตุผลเหนือกว่า ‘ทักษิณ’

(22 ก.ย. 66) นายพงษ์สินธ์ เสนพงศ์ ในฐานะน้องชายของ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตนักการเมืองฝีปากกล้าของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประสบวิบากกรรมทางการเมือง ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกับน้องชายอีกคน คือนายมาโนช เสนพงศ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อมูลสำคัญที่สร้างความฮือฮา โดยระบุว่าเป็นการพูดคุยกับ นายเทพไท เสนพงศ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานะผู้ต้องขังของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เตรียมที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ ด้วยคุณสมบัติที่มีมากกว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีความว่า…

“เทพไท ใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ เหมือนทักษิณ ผมได้ไปเยี่ยมคุณเทพไท ที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เมื่อวันก่อน คุณเทพไทได้แจ้งให้ผมทราบว่า เขาได้ทำหนังสือทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคล เช่นเดียวกับคุณทักษิณแล้ว โดยอธิบายเหตุผลให้ฟังว่า เดิมทีตั้งแต่เข้าสู่เรือนจำวันแรก มีหลายคนแนะนำให้ทำหนังสือทูลเกล้า เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคล ซึ่งตอนนั้นคิดว่า เรามีโทษจำคุกเพียง 2 ปี ก็ควรยอมรับชะตากรรม ไม่อยากทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ ให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ นับตั้งแต่วันเริ่มเข้าสู่ประตูเรือนจำ แต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม คุณทักษิณได้เดินทางกลับประเทศไทย โดยมีข้ออ้างว่าต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อต้องการรับโทษจำคุก 10 ปี ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา”

“แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่ได้จำคุกจริง หลังจากอยู่ในเรือนจำได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 โดยอ้างเหตุผลของการเจ็บป่วย และหลังจากนั้นได้ทำหนังสือทูลเกล้าขออภัยโทษในวันที่ 31 สิงหาคม โดยเหตุผล 4 ข้อ คือ 1.) ได้ทำคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ 2.) มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 3.) เคารพและยอมรับกระบวนการยุติธรรม และ 4.) เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว”

นายพงษ์สินธ์ ระบุอีกว่า หากพิจารณาจากเหตุผลในการทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษของคุณทักษิณแล้ว คุณเทพไท กล่าวกับผมว่า เขามีคุณสมบัติในการขอพระราชทานอภัยโทษได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคุณทักษิณเลย กล่าวคือ

1.) ได้เป็นสมาชิกสภาแทนราษฎรมา 4 สมัย ทำงานรับใช้ประชาชน และทำประโยชน์ให้ประเทศชาติมากมายมาร่วม 20 ปี

2.) มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่ประจักษ์ เคยเป็นพิธีกรรายการสายล่อฟ้า ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จากการจาบจ้วงของระบอบทักษิณ (ตามเหตุผลการยึดอำนาจของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) และไม่เคยต้องคดีตามมาตรา 112 แต่อย่างใด

3.) ยอมรับกระบวนการยุติธรรมด้วยความเต็มใจ เมื่อถูกศาลฎีกาตัดสินให้รับโทษจำคุก 2 ปี ก็ไม่ได้หลบหนีคดีแต่อย่างใด

4.) ตอนนี้อายุ 62 ปี เป็นผู้สูงวัยเช่นเดียวกัน และมีโรคประจำตัวหลายโรค ระหว่างถูกจำคุกในเรือนจำ ต้องเบิกตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชจังหวัดนครศรีธรรมราช

5.) ได้รับโทษจำคุกมาเป็นเวลา 14 เดือน กำลังจะเข้าข่ายเงื่อนไขการจำคุก 2 ใน 3 ของโทษตามคำพิพากษา แต่ไม่เคยได้รับการลดโทษเลย

6.) ได้ต้องโทษจำคุกจากการกระทำผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ข้อหาจัดเลี้ยงและร่วมงานเลี้ยงกินข้าวกับกลุ่มกำนันผู้ใหญ่ ไม่ใช่การแจกเงินซื้อเสียง) แต่กรณีของคุณทักษิณ ต้องโทษคดีทุจริตต่อประเทศชาติ

ดังนั้น คุณเทพไท จึงได้สิทธิตามเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์ เหมือนกับนักโทษทั่วไป ที่ไม่ใช่นักโทษเทวดาทุกประการ สำหรับเรื่องนี้ ถ้าหากมีความคืบหน้าประการใดผมจะนำมารายงานให้ได้รับทราบในโอกาสต่อไป

‘ราเกซ สักเสนา’ พ่อมดการเงิน ได้รับพระราชทานอภัยโทษฯ เตรียมถูกส่งกลับอินเดีย หลังรับโทษคดียักยอกทรัพย์ในไทย 15 ปี

(10 ก.ย. 67) รายงานข่าวแจ้งว่า ตำรวจกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้ไปรับตัว ‘นายราเกซ สักเสนา’ (Rakesh Saxena) สัญชาติอินเดีย ผู้ต้องขังในคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (บีบีซี) ออกจากเรือนจำ เพื่อผลักดันออกนอกประเทศ

หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 28 ก.ค. 67 โดยได้ส่งตัวนายราเกซไปยังกองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (บก.สส.สตม.) เพื่อดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต่อไป

นับเป็นการปิดฉากชีวิตพ่อมดการเงินในประเทศไทย จากการปล่อยสินเชื่อให้แก่นักธุรกิจและนักการเมืองเพื่อเข้าเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีกำไรจากการซื้อมา-ขายไป จนเกิดหนี้เน่ามากกว่า 80,000 ล้านบาท และเป็นต้นเหตุที่ทำให้บีบีซีปิดกิจการ

สำหรับนายราเกซ ชาวเมืองอินดอร์ รัฐมัธยประเทศ อดีตโบรกเกอร์ค้าเงิน เป็นผู้ต้องขังคดีหมายเลขแดงที่ อ 4138/2559 ในความผิดฐานพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี ระหว่างปีพ.ศ. 2537-2539 ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งขณะนั้นคือ ‘นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์’

โดยกระทำการทุจริตอนุมัติวงเงินสินเชื่อเกินบัญชี (โอดี) กับบริษัท สมประสงค์ อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และเอกชนอื่นร่วม 10 แห่ง เกินกว่า 30 ล้านบาท โดยไม่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการสินเชื่อ หรือคณะกรรมการบริหารของธนาคารก่อน อีกทั้งไม่ได้จัดให้มีหลักประกัน ไม่มีการวิเคราะห์ฐานะของลูกหนี้ และความสามารถในการชำระหนี้คืน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ จำเลยและพวกยังได้ร่วมกันแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันเบียดบังเอาเงินของธนาคารผู้เสียหาย (บีบีซี) ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายเกริกเกียรติ ไปเป็นของจำเลยกับพวกและนายเกริกเกียรติโดยทุจริต แม้ภายหลังจำเลยกับพวกได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายบางส่วน แต่คงเหลือเงินที่ยังไม่ได้คืนผู้เสียหาย 353,363,966 บาท

คดีนี้ต่อสู้กันสามศาล ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.65 จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 500,000 บาท โดยมีสำนวนแรก 60 กระทง สำนวนที่สอง 6 กระทง และสำนวนที่สาม 1 กระทง รวม 67 กระทง รวมจำคุก 335 ปี และปรับ 33,500,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 20 ปี และสั่งคืนเงินผู้เสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้นายราเกซหลบหนีคดีไปยังประเทศแคนาดา ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ก.ค.39 แม้ทางการไทยได้ประสานงานกับแคนาดาขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่นายราเกซได้ให้ทนายความยื่นคัดค้าน ใช้ระยะเวลาพิจารณาถึง 13 ปี กระทั่งวันที่ 29 ต.ค.52 ศาลฎีกาแคนาดามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และส่งตัวมาถึงประเทศไทยด้วยเที่ยวบิน TG 615 เมื่อวันที่ 30 ต.ค.52

ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาเมื่อปี 2555 จำคุกนายราเกซ 10 ปี และต่อสู้คดีเรื่อยมา กระทั่งคดีถึงที่สุดเมื่อปี 2565 รวมระยะเวลาที่รับโทษในประเทศไทย 15 ปี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top