Friday, 5 July 2024
พรบอากาศสะอาด

‘ดร.เอ้’ ยกฝุ่นพิษ ‘เป็นวิกฤติชาติ' ฆ่าคนได้หากไม่รีบแก้ ยกเมืองใหญ่ของโลก ก็เคยเจอมาก่อน ยังสามารถแก้ได้

‘ดร.เอ้’ ยกฝุ่นพิษเป็นวิกฤติชาติ ฆ่าทุกคนได้ หากไม่รีบแก้ไข เตรียมลงพื้นที่ กทม.หลังพบค่าฝุ่นพิษเกินกว่าจุดอันตรายเพียบ

(12 ม.ค. 67) ‘ดร.เอ้’ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า “ฝุ่นพิษเป็นวิกฤตชาติ เราทุกคนต้องช่วยกัน แก้ปัญหาที่ต้นตอ อย่าปล่อยไว้ จนยากที่จะเยียวยา ปล่อยฝุ่นว่าเลวร้าย ปล่อยไว้ยิ่งโหดกว่า ตั้งคำถามทำไมกรุงเทพ จะเป็นเมืองที่อากาศสะอาดไม่ได้”

‘ดร.เอ้’ กล่าวอีกว่า “ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่มาเฉพาะฤดูหนาว บางคนยังเข้าใจผิด แต่มันอยู่กับเราทุกวัน โดยส่วนตัวเคยไปวัดฝุ่นที่ป้ายรถเมล์ หน้าโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล รวมถึงพื้นที่ที่มีรถสัญจรไปมา ปรากฏว่ามีค่ามลพิษเกินกว่ามาตรฐาน เกินกว่าจุดอันตรายทั้งสิ้นเลย แต่เรากลับไม่ทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่มันน่ากลัว สามารถฆ่าเรา ฆ่าพ่อแม่เรา ฆ่าลูกหลานเรา เพราะว่า PM2.5 มันคืออนุภาคขนาดเล็กมาก เล็กกว่า 2.5 ไมครอน ยิ่งเล็กมากเท่าไหร่ยิ่งน่ากลัว อันตรายถึงตายมากเท่านั้น เพราะเมื่อเราสูดเข้าไปแล้วมันสามารถเข้าไปถึงปอด ถึงเส้นเลือดในสมองเลย และมันไม่ได้เป็นเชื้อโรค เราฆ่ามันไม่ตาย เข้าไปแล้วเข้าไปเลย และยิ่งเข้าไปมากๆ ทุกวันๆ ตั้งแต่เด็ก มันก็สะสมๆ ทำให้เกิดโรคร้าย มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคความดันและอีกหลายโรคร้ายตามมา”

‘ดร.เอ้’ กล่าวว่า “สถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2565 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 6 ล้านคน และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง และในประเทศไทยพบมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากกว่า 70,000 คนแล้ว และถ้าเราปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป โรคมะเร็งปอดจะเป็นโรคที่อันตรายมากที่สุด โดยปัจจุบันมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่าผู้ประสบอุบัติเหตุเสียอีก เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องวิกฤตของชาติที่ต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด”

สำหรับปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพมหานครนั้น ‘ดร.เอ้’ กล่าวว่า “80-90% มาจากรถ โดยเฉพาะรถขนาดใหญ่ที่ใช้ในการขนส่ง รวมถึงเครื่องจักรในการก่อสร้างถือเป็นอันดับ 1. ส่วนอันดับ 2.มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ทุกทิศทาง ล้อมกรุงเทพไว้หมดแล้ว รวมถึงการไหม้กลางแจ้ง พวกเผาหญ้า พื้นที่การเกษตร”

อย่างไรก็ตามปัญหามลพิษทางอากาศสามารถแก้ได้ ขอแค่มีความมุ่งมั่น และเอาจริงเอาจัง ยกตัวอย่างประเทศอื่น เมืองอื่นที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกก็สามารถแก้ได้แบบเบ็ดเสร็จมาแล้ว เช่น ปักกิ่ง ลอนดอน ลอสแอนเจลิส และกรุงโซล ทุกเมืองล้วนเคยมีมลพิษทางอากาศเลวร้ายกว่ากรุงเทพยังสามารถแก้ปัญหาได้หมด เพราะเขามีความมุ่งมั่น และเอาจริงเอาจังกับปัญหาที่ก่อให้เกิดมลพิษไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ เขายุติหรือย้ายออกทันที เช่นเดียวกันกับรถยนต์ รถสิบล้อที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์นั้นเขาให้เลิกใช้เลยและริเริ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีการจำกัดเขตปลอดมลพิษ การนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา รวมไปถึงมีกฎหมายอย่างเข้มงวด เป็นต้น 

"ผมพูดเรื่องนี้มาตลอด เพราะเป็นห่วงคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข ดีใจที่วันนี้ ร่าง พรบ.อากาศสะอาด เข้าสภาฯ หลายร่าง จึงหวังว่าปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที ทำไมกรุงเทพ จะเป็นเมืองที่อากาศสะอาดไม่ได้ครับ เราทำได้ แบบอย่างจากทุกเมืองที่เคยมีมลพิษทางอากาศเลวร้าย เป็นคำตอบ เขาแก้ไขได้หมด กรุงเทพฝุ่นเกินมาตรฐานหลายพื้นที่ เราจะปล่อยไว้แบบนี้กันจริงหรือครับ” ดร.เอ้ กล่าว

ทั้งนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘เอ้ สุชัชวีร์’ ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนในการรีบแก้ปัญหาฝุ่นพิษเป็นจำนวนมาก โดยดร.เอ้ เตรียมลงสำรวจพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร หลังพบว่ามีค่าฝุ่นพิษเกินกว่าจุดอันตรายหลายจุด

‘นายกฯ’ โล่งอกหลังค่าฝุ่น PM 2.5 เชียงใหม่ดีขึ้น ชมพ่อเมืองเป็นซูเปอร์ผู้ว่าฯ ส่วน กทม.ยังหนักอยู่

(21 ม.ค. 67) ที่กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงสภาพอากาศและค่าฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้น หลังหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ว่า เช้าวันเดียวกันนี้ ได้ดูรายละเอียดตัวเลขอยู่ที่ 12 เป็นสีเขียวดี แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะถ้าเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกับปีที่แล้วดีขึ้นเยอะ

ทั้งนี้ ก่อนขึ้นเครื่องตนได้เจอกับทหาร ตำรวจ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นซูเปอร์ผู้ว่าฯ ประสานงานได้ดีหมด แต่ถ้าต้องการอะไรก็ขอให้บอกมา ขอให้ร่วมมือกันทำงาน รักกัน หนักนิดเบาหน่อยก็ให้ช่วยเหลือกันไป มีอะไรก็ขอให้บอกมา ซึ่งผลที่ออกมาดีในวันนี้ ไม่ได้บอกว่าต่อไปจะดีหรือไม่ แต่เราพยายามอย่างเต็มที่และวันนี้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ก็ลดไปถึง 4-5 เท่าแล้วในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจและจะทำกันต่อไป

“ก็เข้าใจที่กรุงเทพฯ ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งจากการที่ผมได้ไปเจอกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ได้มีการคุยกันในเรื่องนี้และมีการขอร้องกันไป” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลปกครองเชียงใหม่ขอให้นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทำแผนแก้ปัญหาฝุ่นภายใน 90 วัน นับแต่คำพิพากษาและเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … จะส่งเรื่องไปเมื่อไหร่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอนก็ต้องทำตามคำสั่งของศาลปกครอง และจะเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย เพื่อปรับปรุงแผนตามที่ศาลปกครองขอมา แน่นอนว่าก็ต้องทำตาม

กะเทาะแก่น 7 ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผ่านเลนส์ 'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' ‘เครื่องมือ-ความหวัง’ ขับเคลื่อนอากาศเมืองไทยให้บริสุทธิ์

เมื่อไม่นานมานี้ ช่องยูทูบ ‘รู้ ช่อง ส่อง กฎหมาย (สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา)’ ได้เผยแพร่วิดีโอสัมภาษณ์ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คนที่สี่ ในประเด็น ‘ความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …’ โดยได้พูดคุยกับ นายธีรพัฒน์ พิเชษฐวงศ์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานกฎหมาย 1 พร้อมด้วย นางพัชรา พุกเศรษฐี วิทยากรชำนาญการพิเศษ และ นายอมร สุวรรณโรจน์ นิติกรชำนาญการ

>> คำถามที่ 1 ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับด้านร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ฉบับที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการในทํานองเดียวกันอีกจํานวน 6 ฉบับอย่างไร?

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายทั้ง 7 ฉบับนี้ ล้วนเป็นความหวังและเป็นเครื่องมือ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับที่กล่าวมา มีสถานภาพเป็น 2 อย่าง (ความหวัง และ เครื่องมือ) หลายครั้งที่ร่างกฎหมายเข้าผ่านสภาไป หวังว่าจะเป็นแค่เครื่องมือเฉย ๆ บางครั้งบางหน่วยงานมักจะบอกว่าทําเรื่องนี้ไม่ถนัด เพราะขาดอํานาจทางกฎหมาย หรือยังไม่มีหลักการที่กําหนดเอาไว้โดยตรง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไม่ สามารถไปดำเนินการได้ เมื่อมาขอฝ่ายนิติบัญญัติ สภาก็พิจารณาให้ แบบนี้แปลว่าทํากฎหมายให้เป็นเครื่องมือ 

ส่วนแบบที่ 2 จะแตกต่างจากแบบแรก เราจะเห็นว่า 7 ร่างฯ มาจากคนทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชาชนที่เข้าชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมาย จากรัฐบาลมาในนามของร่างคณะรัฐมนตรี และร่างที่มาจากพรรคการเมือง เนื้อหาในร่างฯ ไม่ได้แตกต่างกันแบบสุดขั้ว แต่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความหวังของผู้เสนอร่างฯ นั้นๆ ว่าไม่ค้าน สังเกตว่าทั้ง 7 ร่างฯ ที่เมื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง รับหลักการโดยถ้วนหน้า แม้จะอภิปรายกันเยอะ แต่ว่ารับหลักการโดยถ้วนหน้า 

เมื่อเป็นแบบนี้ ก็แปลว่ามันแสดงถึงสัญลักษณ์ ‘เป็นความหวัง’ มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือด้วยซ้ำไป ส่วนในเรื่องของเครื่องมือ จาก 7 ร่างฯ ที่กล่าวมา หากอ่านรายละเอียดเปรียบเทียบทั้งหมด คือกฎหมายเพื่อการตั้งสมมติฐาน 4 เรื่อง ได้แก่…

🟢1.อาศัยอํานาจของหลาย ๆ กฎหมาย และหลาย ๆ คณะกรรมการที่มีอยู่แล้วก่อนมีพระราชบัญญัตินี้ นำมากองรวมกัน และคณะใดคณะหนึ่งมีอํานาจในการสื่อสารและมอบหมายให้แต่ละคณะไปมีมติสอดคล้องหรือดึงกฎหมายที่มีผูกรวมกัน แล้วนำไปดําเนินการได้ แปลว่าเป็นการรวมหลาย ๆ เครื่องมือที่ขนาดต่างกันมากองรวมกัน 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เวลาที่เกิดปัญหา ‘อากาศสะอาด’ ก็มักไปใช้ยืมอํานาจพระราชบัญญัติการสาธารณสุข หรือยืมอํานาจของป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของมหาดไทย ซึ่งไว้ใช้ประกาศเขตภัยพิบัติ เมื่อประกาศแล้วจะทําให้สามารถหยิบเงินออกมาเยียวยาผู้คนได้ แต่ก็จะมีคำถามตามมาว่า ประกาศกว้างแค่ไหน? เพราะว่าอากาศสะอาด มีปัญหาเรื่องการครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก ไม่เหมือนน้ำท่วม ที่สามารถรู้จุดเกิดเหตุได้แน่ชัด แต่พอเป็นอากาศสะอาดจะพูดยาก ส่งผลให้เขาประกาศได้น้อย 

ส่วนมากจะใช้ 2 พระราชบัญญัติที่กล่าวไป แต่ในความเป็นจริง มีกฎหมายอื่น ๆ อีก แต่ต้องไปอาศัยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ คณะกรรมการอุทยาน คณะกรรมการที่เกี่ยวกับเรื่องของการจัดการที่ดิน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ แต่ถามว่าคณะฯ เหล่านั้นมีความรู้สึกว่าเขามีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องอากาศสะอาดหรือไม่? เขาอาจจะไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าหากเชื่อมเข้ามาได้ ก็จะสามารถหยิบยืมองคาพยพที่มีมาช่วยทํา ‘อากาศสะอาด’ ได้

ส่วนเรื่องการบูรณาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ระบุไว้อย่างน้อย 3 ระดับ ได้แก่

(1) ระดับนโยบายสูงสุด นายกรัฐมนตรีเป็นประธานดูแลที่เกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด 

(2) ระดับคณะกรรมการที่เป็น วอร์รูมแห่งชาติ (ในบางร่าง) เสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นประธานฯ แต่บางร่าง ระบุว่า ไม่เอารัฐมนตรี แต่ให้อำนาจปลัดกระทรวงฯ มานั่งเป็นประธานฯ ดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็เป็นมืออาชีพด้านนี้

(3) ระดับพื้นที่ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ที่แบ่งเป็นเขตหรือจังหวัด และพื้นที่ที่กําหนดเฉพาะ เช่น ลุ่มอากาศ ร่องน้ำ ชายแดน เป็นต้น

🟢2.แทบทุกร่างจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อให้ฝ่ายตุลาการในอนาคต หากมีคดีสิ่งแวดล้อมที่ไปกระทบผู้อื่น เรื่องนี้มีการพูดถึงมานาน เรียกว่า Polluters Pay Principle: PPP แปลว่าผู้ใดก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยต่อสิ่งแวดล้อม ผู้นั้นต้องมีภาระในการจ่าย แต่ว่าภาระพิสูจน์สําหรับผู้ที่ไปก่อ ไม่อยู่กับผู้ก่อเท่าไหร่ กลับกลายเป็นว่า ‘ผู้เดือดร้อน’ ต้องไปพิสูจน์ต่อศาลเองว่าได้รับผลกระทบมาอย่างไรบ้าง ซึ่งการพิสูจน์นี้มีต้นทุนสูง แต่ถ้าผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มคน (มากกว่า 1 คน) ก็ต้องไปหาเอกสารวิชาการมายืนยัน และใช้เวลานาน

แต่สิ่งที่จะช่วยบรรเทาเรื่องตรงนี้ไปได้คือ ‘ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์’ ซึ่งจะรวมตั้งแต่เรื่องของข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา เช่น ลมพัดพาฝุ่นหรืออากาศไม่สะอาด หรือรวมถึงเรื่องกลิ่น สารเคมีในอากาศว่ามันพัดพาไปทางไหน มีจุดความร้อน มีรอยไหม้ หรือมีข้อมูลหลักฐานว่ามีจุดรั่วของสิ่งที่ทําให้อากาศไม่สะอาดมาจากตรงไหน ขอแค่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ให้สันนิษฐานได้เลยว่า ‘ไม่ต้องพิสูจน์’ แล้วว่าเสียหายหรือไม่ เหลือแค่พิสูจน์ว่าเสียหายเท่าไหร่ และหากเกิดในพื้นที่ของใครก็ต้องออกมาชี้แจง เพราะภาพจากดาวเทียมมันชี้ชัด จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

🟢3. PM 2.5 ในปัจจุบันเป็นตัวชี้ที่เห็นว่าคนไทยเสียชีวิตสูงมาก เช่น ถุงลมโป่งพอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือมะเร็งในทางเดินหายใจ สูงที่สุดอยู่ในภาคเหนือ เช่น จังหวัดลําพูน ภาคกลาง เช่น กรุงเทพมหานคร สถิติทิ้งห่างภาคอื่น ๆ เรื่องการห้ามจุดไฟเผา ก็ห้ามกันมาหลายปี แล้วแต่ไม่เกิดผล หรือจะเป็นการ ‘ชิงเผา’ เพื่อจะได้จัดการกับเชื้อไฟในช่วงก่อนที่อากาศมันจะปิด เพราะว่าพอความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาประเทศไทย ทําให้เพดานเตี้ย เมื่อเพดานเตี้ย หากมีควันมันก็จะอบอวล 

ในเรื่องการ ‘ชิงเผา’ ก็มีปัญหาและคำถามว่ากระบวนการจัดการชิงเผาได้ประสิทธิภาพหรือเปล่า และเมื่อมีคนเริ่มชิงเผาอย่างเป็นทางการ ก็จะมีคนแอบเผาต่อเนื่องกันไป เราเห็นข้อมูลจากดาวเทียมและเป็นข้อมูลยืนยันย้อนหลัง 20 ปี ทำให้เห็นเลยว่าพื้นที่ใดบ้างที่เกิดปัญหาซ้ำซาก (เผาใหญ่ 5 ครั้งต่อปี) ตัวเลขระบุเลยว่า 64% ของ 20 ปีที่ผ่านมาที่เป็นจุดความร้อนเกิดขึ้นอยู่ในเขตป่า เขตป่าอนุรักษ์ เขตห้ามล่า เขตอุทยานแห่งชาติ รองลงมาคือป่าเสื่อมโทรม ป่าเศรษฐกิจ ป่าของกรมป่าไม้ ส่วนอีก 24% เกิดอยู่ในนาข้าว เป็นการเผาเพื่อจะขจัดวัชพืช ขจัดซังต้นข้าว เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับปลูกต้นข้าวชุดใหม่ รวม ๆ แล้วอยู่ที่ 88% ถ้าบริหารจัดการได้ จะต้องดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาแน่

ดังนั้นในร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ก็จะใส่เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาด้วย เช่น การให้รางวัลสำหรับคนไม่เผา คนลดการเผา หรือคนที่ทำกิจกรรมที่ลดการเผา ควรจะมีการสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับล้วนพูดเรื่องนี้กันทั้งนั้น

สำหรับเรื่องความแตกต่างของร่างฯ ทั้ง 7 ฉบับ นายวีระศักดิ์ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ ดังนี้...

1.ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า แก้เรื่องอากาศสะอาด ต้องใช้เงิน ฉะนั้นขอให้ตั้งกองทุนส่วนล่าง ส่วนอีก 6 ร่างฯ ไม่ได้ไปแตะเรื่องกองทุนฯ

2.ร่างจากภาคประชาชน ระบุว่า หากปล่อยให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นฝ่ายเลขาของทุก ๆ คณะกรรมการไปเรื่อย ๆ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ และไม่ยกระดับให้เขาให้มีอำนาจในการจัดการ จะต้องแย่แน่  ส่งผลให้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศไม่ได้ จึงเขียนให้มีการจัดกรมเฉพาะ ดูแลเรื่องอากาศสะอาดอย่างเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ตั้งกรมขึ้นมาใหม่ เพียงแค่ให้เสริมแกร่งให้กรมเก่า

3. การแต่งตั้งประธานในคณะกรรมการระดับพื้นที่และระดับวอร์รูม สำหรับในระดับชาติทุกร่างระบุว่าให้นายกฯ ลงมานั่งเป็นประธาน เนื่องจากมีอํานาจในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง แต่ในระดับที่เป็นวอร์รูม ความต่างจาก 7 ร่างฯ จะมีร่างฯ ของก้าวไกลที่ระบุว่าอย่าให้รัฐมนตรีนั่งประธานเลย แต่ให้เป็นปลัดแทน ส่วนระดับที่เป็นคณะกรรมการดูแลรายพื้นที่หรือหลายจังหวัด ทุกร่างเสนอให้ผู้ว่าราชการเป็นประธาน ยกเว้นร่างฯ ของก้าวไกลที่เสนอให้เลือกคนที่มาจากการเลือกตั้งกัน เพราะเขาจะอยู่ได้นานกว่าเป็นซ้ำได้หลายสมัย อีกทั้งจะรู้จักพื้นที่นั้นดีกว่า แนะให้นำนายกฯ อบจ. มานั่งประธาน เพราะมีงบท้องถิ่น

>> คำถามที่ 2 การตราพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) และร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการทำนองเดียวกันอีกจำนวน 6 ฉบับ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน หรือไม่ อย่างไร

นายวีระศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ประโยชน์มีแน่นอน เพราะอย่างที่เรียนไปแล้วว่า 1. มันเป็นความหวัง การมีร่างตั้งหลายร่างนั้น มันทำให้ความรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นแย้งเลยในเป้าหมาย และทุกคนก็ร่วมวิธีการเข้ามา มีความแตกต่างในปลีกย่อยรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งอย่างน้อยมีความหวัง…และไม่เพียงแต่มีร่างกฎหมายเสนอมาคุยกัน ซึ่งการได้คุยกันเยอะ ๆ อย่างจริงจัง เอาความรู้มาพูดกัน มันทําให้รู้สึกว่าเรากําลังจะมีทางออก

2. มันเป็นเครื่องมือ อย่างน้อยบรรดากรมกองต่าง ๆ ตอนนี้ก็กําลังศึกษาร่างกฎหมายเหล่านี้ว่าถ้ามันออกมานั้นต้องไปเตรียมตัว เตรียมขั้นตอนวิธีการในการทํางานของกรม ของกอง ของหน่วย ของแผนก และของสํานักงานในต่างจังหวัดของตนกันอย่างไร โดยเริ่มสนทนากันเอาไว้ล่วงหน้า มีการสัมมนากันเล็กน้อยเพื่อจะเตรียมตัวต้อนรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็ทําให้เครื่องมือนี้มันถูกขัดสีฉวีวรรณ แม้กระทั่งในวันที่พระราชบัญญัติยังไม่ได้จบออกมาลงประกาศในราชกิจจาฯ อย่างน้อย 2 ท่อนนี้ดี

แต่ท่อนที่ 3 เวลานี้มันเกิดผลพลอยได้ที่ไม่ได้ตั้งใจกันไว้คือ ถ้าเรื่องนี้นํามาสู่การคิดว่าไล่วิธีการคณะกรรมการชุดใหญ่เต็มไปหมดนั้น มันอาจจะยิ่งทําให้ล่าช้า เรามีวิธีคิดใหม่ ๆ ที่มันแหวกแนวไหม? ซึ่งความแหวกแนวนั้นนี่เองที่ทําให้เกิดความหวังอีกด้านหนึ่งของเรื่องการปฏิรูประบบราชการ ทําให้เกิดความรู้สึกว่าเราอาจจะได้เครื่องมือใหม่ ๆ ในทางนิติบัญญัติ หรือไม่นิติบัญญัติก็ได้…

ซึ่งเรื่องนี้สามารถทําได้โดยไม่ต้องรอพระราชบัญญัติ เช่น การเอากลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ในนโยบาย ไม่ใช่ในกฎหมาย ซึ่งกรณีตัวอย่างก็มีได้ เช่นการที่บอกว่าถ้าหากแปลงนาไหนไม่เกิดรอยเผาในปีนั้น ๆ ก็จะได้รับสิทธิในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกในตอนปลาย แต่ถ้าใครมีรอยไหม้เท่าไหร่ ก็มาหักลดลงไปตามสัดส่วนของรอยไหม้นั้น ซึ่งเห็นไหมไม่ต้องมีกฎหมาย แต่ถ้าหน่วยใดก็ตามในระบบราชการไทยฝ่ายบริหาร ที่บอกว่าทําหน้าที่ในเรื่องการประกันราคาข้าวเปลือกให้อยู่นั้น เขาประกาศแบบนี้ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในสนามทันที 

หรือ BOI ประกาศบอกว่าใครที่ไปลงทุนทํากิจการในการรับซื้อฟาง ก็จะได้สิทธิประโยชน์ อย่าปล่อยให้มันอยู่ในนาเลย เพราะทิ้งไว้ในนาเดี๋ยวก็จุดไฟเผา หรือแม้กระทั่งการจิ้มลงไปจากกระทรวงพลังงาน บอกว่ากําหนดให้ต้องไม่เห็นรอยไหม้ของชีวมวลอยู่รอบโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกต่อไป โดยในเมื่อเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็ต้องไปหาชีวมวลเศษไม้ เศษหญ้า เศษผักอะไรต่าง ๆ มาเผาอยู่แล้ว ทําไมไม่ไปซื้อพวกฟาง พวกใบไม้ที่อยู่รอบ ๆ ตัวมาใช้ ทําไมมันยังปล่อยให้เกิดรอยไหม้อยู่ แล้วมันขนง่ายด้วย ซึ่งของแบบนี้ไม่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ แค่บอกนโยบายมันก็อาจจะเกิดขึ้นได้…

>> คำถามที่ 3 ท่านคิดว่ามาตรการและกลไกทางกฎหมายใด มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า กลไกที่สําคัญที่สุด ถ้านับเฉพาะเรื่องการเผาในที่โล่ง คือกลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ไม่เผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่ ‘ผู้ช่วยทําให้ไม่เกิดการเผา’ กลไกที่ให้รางวัลแก่คนที่ไปทําให้เกิด ‘กิจกรรมเชื่อมโยง’ ที่ทําให้คนทั้งนึกจะเผาเลยไม่ต้องเผา หรือที่กําลังเผาแล้วเปลี่ยนใจที่จะไม่เผา

พร้อมยกกรณีตัวอย่าง กลไกเหล่านี้มันเป็นกลไกที่ทําให้คนรู้สึกว่า ‘มีรายได้’ ซึ่งถ้าเปลี่ยนให้เขาได้รายได้ มันก็ชดเชย แลกกับการที่ไม่มีคนต้องบาดเจ็บล้มตาย หรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม คิดว่าคุ้มกัน แม้กระทั่งการที่จะกําหนดพื้นที่ที่เราเห็นแล้วในดาวเทียมมา 20 ปี ว่าตรงนี้เผาซ้ำซากเหลือเกิน พูดยังไงก็ไม่เข้าหูกัน ขีดตารางเลยไหม…ว่าใครจะรับผิดชอบตรงนั้น แล้วถ้าผ่านฤดูนั้นไปได้โดยไม่มีเผาเลย หรือมีรอยน้อยกว่า 5% 10% มารับรางวัลไปเลย

ทั้งนี้ ไม่ใช่ให้งบไปเพื่อจะไปดับไฟ เพราะเรื่องมันดับไฟให้งบไปเท่าไหร่ก็เอาไม่อยู่ เพราะว่ามันอยู่ในที่ลึกที่ไกลเดินทางยาก แต่ถ้าให้เขาไปเฝ้าเลย เฝ้าให้มันไม่เกิด…คนจุดมีอยู่น่าจะนับตัวกันได้ มีไม่ถึงแสนคนแน่ เพราะจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมันก็หลักแสน

เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราสามารถทําให้เปลี่ยน ‘พรานผู้จุด’ กลายเป็น ‘พรานผู้เฝ้า’ ไม่ให้เกิดไฟแล้วเขาได้รายรับเทียบเท่ากับที่เคยไปจุด และไม่มีคดี มีแต่ใบยกย่อง หนังสือรับรอง เขาก็น่าจะสบายใจกว่าที่จะทําอย่างนั้น

หรือการที่จะให้ความรู้ อย่างมีคนอ่านดาวเทียมเป็น แล้วเอามาอธิบายเป็นภาษาที่ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง ถ้าอ่านเป็นภาษาราชการคนก็อ่านไม่รู้อีก แต่ถ้าอ่านระดับชาติ คนในแต่ละพื้นที่บอกว่าทําไมอากาศวันนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่เธออ่าน ซึ่งถ้าอย่างงั้นก็แบ่งภาคไหม…เหนือตอนบน เหนือตอนล่าง อีสานตอนบน อีสานตอนล่าง สร้าง ‘นักอ่าน’ ขึ้นมา แล้วก็รายงานเป็นประจําทุกวัน 

รวมทั้งสามารถบอกด้วยว่าอัตราการระบายลมของแต่ละวันใน 3-4 วันข้างหน้านั้นจะเป็นยังไง การชิงเผาจะได้สามารถบริหารจัดการได้ แล้วใครจะเป็นคนจัดคิวให้การเผานั้นมันออกมาแล้วมันระบายฝุ่นไปได้ มันก็จะได้เกิดขึ้น และเรื่องนี้ยังให้ความร่วมมือไปกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะเขาก็อยากจะได้ข้อมูลแบบนี้เหมือนกัน เขาก็อยากจะระบายลมของเขา และอยากจะช่วยทําให้ลดการเผาในบ้านเขาเหมือนกัน เพราะสุขภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมของเขาก็สําคัญเช่นกัน เพียงแต่เขาอาจจะไม่มีเทคโนโลยี วิทยาการ และความเชี่ยวชาญ หรือไม่มีแม้กระทั่งกฎหมาย ตลอดจนกระทั่งผู้ที่จะอ่านดาวเทียม ซึ่งถ้าเราทําแล้วเชื่อมกับเขาด้วย คิดว่าได้ทั้งมิตร ทั้งสุขภาพ และก็ได้พลังในการทํางานร่วมมือภาคประชาสังคมที่ดี

>> คำถามที่ 4 ประเด็นอื่น ๆ ที่มีความประสงค์อยากจะแนะนำเพิ่มเติม

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเรื่อง ‘การสื่อสาร’ ซึ่งภาษาราชการในยุคน้ำท่วมปี 54 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าภาษาราชการคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง…และภาษากฎหมายยิ่งไปกันใหญ่ เพราะภาษากฎหมายยากกว่าภาษาราชการ การมีร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ยังไงก็เป็นภาษากฎหมาย และถูกใช้ด้วยระบบราชการ ต้องแปลภาษาเหล่านี้ให้ได้ มาสู่ภาษาที่เป็นทั้งความหวัง เป็นทั้งเครื่องมือในการทําให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตัดสินใจกล้าที่จะลงทุน หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเขาเอง จากการเป็นผู้สร้างมลพิษ กลายเป็นผู้ช่วยแก้มลพิษ แล้วก็ทําให้รู้สึกว่าคนเมืองต้องสนใจคนต่างจังหวัด เพราะเมื่อคนต่างจังหวัดเผา ควันมันมาถึงคนเมือง คนเมืองมีพลังมากกว่าในทางเศรษฐศาสตร์ และทางธุรกิจ ช่วยกันส่งเสริมพลังนั้นไปไหม อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของงบประมาณแผ่นดินท่าเดียว คนเมืองอยากจะได้อากาศสะอาด เพราะคนเมืองเองแม้เขาไม่เผา ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศในเมืองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนเมืองมาช่วยกันเถอะ

"เงินที่มีในระบบต่าง ๆ เช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, บริษัทขนาดใหญ่, กิจการอันเกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิง, ขยะ และสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อหรือผู้เก็บออก ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มที่มีพลังที่จะช่วยทําให้ปัญหาที่มันเคยเชื่อมโยงกันทั้งหมดนี้ มันถูกหลอมรวมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และถ้าทําเช่นนั้นได้พระราชบัญญัติอาจจะมีผลน้อยมากก็ได้ แต่การมีพระราชบัญญัติไม่ได้เป็นเครื่องมือหรือการันตีที่จะบอกว่า…แล้วมันจะดีขึ้นเองเลย" นายวีระศักดิ์ ทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top