Tuesday, 22 April 2025
ฝายธงน้อย

‘ก.พลังงาน’ แจง ฝายธงน้อย ไม่ใช่สาเหตุน้ำท่วมน่าน พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืน

พพ.ชี้แจงข้อเท็จจริง ฝายธงน้อยไม่ใช่สาเหตุของน้ำท่วมจังหวัดน่าน พร้อมเดินหน้ามาตรการบริหารจัดการน้ำ แก้น้ำท่วมช่วยภัยแล้งอย่างยั่งยืน

ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดี พพ., นายชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายมังกร ศรีเจริญกุล สมาชิกวุฒิสภา, ผู้นำส่วนปกครองท้องถิ่น, หอการค้าจังหวัดน่าน, กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาฝายธงน้อย จังหวัดน่าน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการต่อสถานการณ์ น้ำท่วมในพื้นที่ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมบุญรอด-นิธิพัฒน์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

ดร.หิมาลัย เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการศึกษาทางอุทกวิทยา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฝายธงน้อย ไม่มีผลกระทบต่อการเกิดน้ำท่วม โดยผลการจำลองสถานการณ์เปรียบเทียบระดับน้ำระหว่างกรณีที่มีฝายธงน้อยและไม่มีฝายธงน้อย พบว่าระดับน้ำแตกต่างกันเพียง 1-2 เซนติเมตร ซึ่งเป็นค่าที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการเกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองน่าน ถึงแม้ว่าผลการศึกษาจะยืนยันว่าฝายธงน้อยไม่มีผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วม แต่เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พพ.มีแผนดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อยเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพลังงานสะอาด รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการรองรับกรณีเกิดอุทกภัยในอนาคต

และจากการประชุมหารือร่วมกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปว่า โครงการฝายธงน้อยมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำและพลังงานของจังหวัดน่านและประเทศ และไม่มีผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดน่าน พพ.จะดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยจะทำการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อย ซึ่งการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ในช่วงฤดูฝน ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมและสามารถ กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของประชาชนในจังหวัดน่าน และนอกจากบทบาท  ในการบริหารจัดการน้ำ โครงการดังกล่าวนี้จะช่วยในการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ โดยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดได้ถึง 11.10 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 6,438 ตัน CO2 ต่อปี และลดการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าถึง 3.59 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าประหยัดพลังงานกว่า 98.75 ล้านบาทต่อปี 

ดร.หิมาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า "วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน และหาข้อสรุปร่วมกันได้อย่างเป็นเอกฉันท์ กระทรวงพลังงาน โดย พพ. พร้อมทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อให้โครงการฝายธงน้อยเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและช่วยลดภัยแล้งอย่างยั่งยืนต่อไป และพร้อมเข้าช่วยเหลือทันทีหากเกิดน้ำท่วมซ้ำระหว่างก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม เราไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ”

‘ดร.หิมาลัย’ ลุย!! แผนการจัดการน้ำ ฝายธงน้อย กางแผนเสริมระบบระบายน้ำ ลดผลกระทบ ‘อุทกภัย’ พร้อมพัฒนา!! โรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อยเพื่อชุมชน

(23 มี.ค. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการฝายธงน้อย จังหวัดน่าน ครั้งที่ 2 โดยมี นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน, นายทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน, นายมังกร ศรีเจริญกุล สมาชิกวุฒิสภา, นางวาสนา ยศสอน สมาชิกวุฒิสภา, นายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดี พพ. รวมถึงผู้แทนจากกรมเจ้าท่า กรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมมาลากุล 1 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568

ดร.หิมาลัย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือแนวทางบริหารจัดการน้ำจากโครงการฝายธงน้อยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อยเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน “วันนี้ทุกฝ่ายมารวมกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการน้ำ เราต้องมั่นใจว่า ประชาชนจะได้รับการดูแล และโครงการฝายธงน้อยจะสร้างประโยชน์สูงสุด เราจะทำงานเชิงรุกเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปพร้อมกัน” ดร.หิมาลัย กล่าว

โดยได้จัดทำแผนบรรเทาทุกข์โครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

แผนระยะสั้น (พ.ศ. 2568–2570) ประกอบด้วยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำหอยโข่ง การระบายน้ำผ่านทางผ่านปลา และการขุดลอกตะกอนดินทรายในลำน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เหนือฝาย ลดความเสี่ยงต่อปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะสามารถช่วยระบายน้ำในช่วงที่น้ำหลากได้ถึง 50 ลบ.ม /วินาที

แผนระยะยาว (เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป) ประกอบด้วยการก่อสร้างอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน จำนวน 2 ช่อง พร้อมพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอขอรับงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2569 โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อยมีเป้าหมายในการผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดประมาณ 11.10 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 6,438 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และมีความสามารถในการช่วยระบายในช่วงน้ำหลากได้ถึง 220 ลบ.ม/วินาที  พร้อมทั้งสามารถจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าได้อีกด้วย

ดร.หิมาลัย ได้กล่าวอีกว่า ถึงแม้จากผลการวิเคราะห์ทางอุทกวิทยา โครงการฝายธงน้อยมิใช่สาเหตุของน้ำท่วมในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองน่าน  ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจและร่วมบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน ได้บูรณาการความช่วยเหลือร่วมกับทุกภาคส่วน และขอยืนยันเจตนารมณ์ในการดำเนินโครงการภายใต้หลักความรับผิดชอบ ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจะดำเนินการควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top