Tuesday, 22 April 2025
ผู้ว่าแบงก์ชาติ

‘เศรษฐา’ ยันไม่มีความคิดปลด ‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ย้ำชัด ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน

เมื่อวานนี้ (20 ก.ย. 66) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กรณีมีข่าวจะปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า เป็นเรื่องที่น่าตลกมาก ตนไม่เคยมีความคิดและคราวนี้ไม่แน่ใจว่ามีข่าวมาได้อย่างไร ตนเคยได้เจอผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 3 ครั้ง ตั้งแต่ตนเข้ามาทำงานการเมือง ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าฯ ได้เข้าไปที่พรรคเพื่อไทย เพื่อหารือถึงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ได้ให้ข้อเสนอแนะ ตนก็น้อมรับมาปฏิบัติ และได้เจอกันที่กระทรวงการคลังในวันที่มอบนโยบาย คือทุกคนไปพูดว่านายกรัฐมนตรีไม่มีสิทธิที่จะไปไล่ผู้ว่าฯ ธปท.

“บางคนไปพูดว่านายกรัฐมนตรี ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปไล่ ผมนี่ความคิดยังไม่มีเลยครับ อย่าว่าแต่สิทธิ์เลยครับ ความคิดยังไม่มีเลย ผมว่าเรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับผมและผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เราไม่เคยมีเรื่องอะไรมาก่อน ผมให้ความเคารพ ให้เกียรติ ต่างคนต่างเคารพซึ่งกันและกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ

‘นายกฯ เศรษฐา’ ร่วมอัปเดตเศรษฐกิจ ‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ยัน!! ไม่มีความขัดแย้ง ต่างฝ่ายต่างรับฟังกันด้วยเหตุผล

(2 ต.ค. 66) ที่กระทรวงการคลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางมาเข้ากระทรวงการคลัง หลังจากก่อนหน้านี้ ได้หารือ กับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำเนียบ เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การเข้ากระทรวงการคลังนั้น นายเศรษฐา ได้มีคำสั่งเรียกหน่วยในกระทรวงการคลังมาพูดคุยเรื่องเศรษฐกิจ และนโยบายรัฐบาล รวมทั้ง เรียกพบหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน เข้าพบ เพื่อติดตามสถานการณ์เรื่องอุทกภัย และน้ำแล้งที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวัน (อีอีซี) ด้วย

โดยนายเศรษฐา กล่าวถึงกรณีที่ได้หารือ กับนายเศรษฐพุฒิ ว่าเป็นการพบกันธรรมดาในฐานะผู้บริหารสูงสุด ในฐานะนายกก็ต้องรับฟังความเห็นผู้บริหารเป็นธรรมดา โดยเน้นเรื่อง เศรษฐกิจโดยรวม ส่วนเรื่องนโยบายก็รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ส่วนรายละเอียดนั้นขอไม่เปิดเผย

“ยืนยันว่าคุยกันด้วยดี และจะมีการนัดพบกันอย่างต่อเนื่อง ไม่มีประเด็นเรื่องความขัดแย้ง ไม่มีแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจร่วมกัน ได้คุยกันในทุกเรื่อง แน่นอนว่าหลังจากนี้ ต่างฝ่ายจะนำข้อมูลกลับไปทบทวน ไม่เช่นนั้นจะเรียกมาพบทำไม ไม่ได้เรียกมาจัดฉากเพื่อทะเลาะกัน แต่เรียกมาพูดคุยกันเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งผู้ว่า ธปท. ก็ดูแลสภาพการเงินการคลังของประเทศ ถ้าผมเชิญท่านมา ก็ต้องให้ความสำคัญกับท่าน ส่วนตัวผมกังวลมีข้อกังวลทุกเรื่องที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของ นายเศรษฐพุฒิจากที่ได้รับฟัง ก็มีทั้งเรื่องที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งต่างคนต่างเป็นผู้ใหญ่ จะให้เห็นด้วยกันทุกเรื่องไม่ได้ ต้องคุยกันด้วยเหตุและผล ส่วนการคุยมีผลให้ปรับนโยบายไหมนั้น ยังไม่มี แต่ก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน และต้องพูดคุยกันต่อเนื่อง

“เดี๋ยวเย็นนี้ จะมีการโทรศัพท์คุยกันอีก ส่วนนัดหารือครั้งต่อไปคืออีก 2-3 อาทิตย์ หรือ อาจจะเร็วกว่านี้ หากมีความต้องการ แต่ก็จะมีการคุยกันให้บ่อยขึ้น และผู้ว่า ธปท. ก็ฝากนโยบายหลายเรื่อง ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดไว้เลย แต่ท่านก็ฝากมาว่า น่าจะทำส่วนนี้นะ และนโยบายอนาคตหลายเรื่อง ตนก็ได้เรียนถามท่านไปว่าผมคิดอย่างนี้ ท่านมีความเห็นอย่างไร สรุปคือ ต่อไปนี้ ถ้าผมทำอะไรจะคุยกับท่านบ่อยขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว

'นักวิชาการ' แนะดูคลิปแล้วจะรู้ว่าสมควรเชื่อใคร หลัง 'รมว.พิชัย' ถาม!! "ผู้ว่าฯ ธปท.จบจากที่ไหน?"

เมื่อวานนี้ (18 ก.ย. 67) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

"ผู้ว่าเองพูดในเชิงว่า เราเองไม่ต้องไปเน้นจีดีพี ผมไม่รู้ว่าท่านจบจากที่ไหนนะฮะ ผมว่าเป็นสิ่งที่ผิด ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ผิด ท่านพูดเหมือนกับคนไม่ค่อยรู้เรื่อง"

นี้คือคำพูดของ คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ‘ท้องถิ่นที่สากล : อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism : Future of Thailand’ ในงานเสวนาที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ซึ่งมีข้อความส่วนหนึ่งว่า

"เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลข GDP แต่ตัวเลขที่ต้องล่าคือ ความมั่งคั่ง รายได้ของครัวเรือนที่สะท้อนความเป็นอยู่ของคน เพราะ GDP ไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคน”

ท่านผู้ว่าแบงก์ชาติจบมาจากที่ไหน สามารถหาข้อมูลได้จาก google ตัวคุณพิชัยเอง จบมาจากที่ไหน ก็สามารถหาได้จาก google เช่นกัน วิญญูชนลองค้นหาข้อมูลดังกล่าวแล้วนำมาเปรียบเทียบกันเอาเอง

อยากให้ทุกท่านลองย้อนกลับไปดูคลิปจาก youtube เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ที่คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ ดีเบตกับคุณหมอ วรงค์ เดชกิจวิกรม ในหัวข้อ ประกัน vs จำนำข้าว ในรายการ เจาะข่าวเด่นของคุณสรยุทธ์ สุทัศนจินดา และอยากให้ฟังจนจบ

เมื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับ ใครจบจากที่ไหน และดูคลิปดังกล่าวแล้ว ท่านก็สมควรจะตัดสินได้เองได้เองว่า สมควรเชื่อใคร

ดูคลิปข้างต้นได้จาก link ด้านล่างนะครับ
(https://www.youtube.com/watch?v=H4QQQ3M7pEo)

4 อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติจับมือกลุ่มนักวิชาการ ออกแถลงการณ์ค้านการเมืองครอบ ปธ.แบงก์ชาติ

(31 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 277 นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม โดยมี 4 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล, นายวิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส รวมถึงนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง อาทิ  รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง (อดีตรองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.), ดร. สมชัย จิตสุชน (ในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานสังกัด), รศ. ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ (อดีตคณบดีคณะ เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง ว่า

ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง เพื่อดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม  มีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง ซึ่งโดยทั่วไปฝ่ายการเมืองมักให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในระยะสั้น เพื่อแสดงผลงานที่รวดเร็วเพราะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจดำรงตำแหน่งได้ไม่ยืนยาวนัก จึงอาจส่งผลให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจระยะยาว

ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรูปแบบของสากลประเทศที่ธนาคารกลางของประเทศที่ดีจะต้องมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์และสถานภาพของประเทศ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศที่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว

บทบาทของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมภารกิจสำคัญ ได้แก่ การกำกับดูแลการบริหารงาน การจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน  หากคณะกรรมการใช้อำนาจที่มีนี้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นของฝ่ายการเมือง ย่อมส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับได้

นอกจากนี้ หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทใกล้ชิดทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการคัดเลือก ที่จะพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันทางการเมือง เพื่อร่วมรักษาสถาบันที่สำคัญคือธนาคารแห่งประเทศไทยที่บุคคลสำคัญในอดีตได้ร่วมกันพัฒนามาอย่างดี และเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืน (โดยการร่วมลงนามข้างท้าย) เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยให้หลุดพ้นจากผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมือง และธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของนานาอารยประเทศ

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม
ปลายตุลาคม พุทธศักราช 2567


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top