Tuesday, 22 April 2025
ผู้ค้ารายย่อย

‘ธนาคารออมสิน’ มอบสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ผู้ค้ารายย่อย หนุนอาชีพอิสระมีเงินทุน ไม่ต้องใช้หลักประกัน-ผ่อนได้ถึง 8 ปี

(20 ม.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินมอบสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุด 100,000 บาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน ผ่อนชำระนานสูงสุด 96 งวด เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง, ผู้ขับขี่รถแท็กซี่, ผู้ขับขี่รถตู้สาธารณะ, พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น สำหรับเป็นเงินทุนประกอบอาชีพ โดยให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เกินรายละ 100,000 บาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ต่อเดือน (Flat Rate) แต่หากอัตราผิดนัดไม่ชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามสัญญา บวกร้อยละ 0.25 ต่อเดือน

นางรัดเกล้า กล่าวว่า โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ต้องเป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาชำระเงินกู้ ต้องไม่เกิน 70 ปี และเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่หรือสถานประกอบการที่แน่นอน สามารถติดต่อได้

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจ และมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขสามารถสมัครได้ที่ ธนาคารออมสินทุกสาขาหรือสมัครออนไลน์ที่เว็บไซต์ของธนาคาร (https://www.gsb.or.th/gsb_govs/loan4idpc/#section4) โดยนำเอกสารการสมัครไปให้ครบถ้วน

“การกู้ยืมสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยาก ธนาคารออมสินจึงได้มอบสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาลนี้เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ซึ่งสินเชื่อนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้ที่สนใจ” นางรัดเกล้า กล่าว

'ดร.สันติธาร' วิเคราะห์!! '6 แม่น้ำ + 1 ต้นน้ำ' ชนวนปัญหาสินค้าจีนราคาถูกทะลักไทย

(22 ส.ค.67) ดร.สันติธาร เสถียรไทย หรือ ต้นสน นักเศรษฐศาสตร์ การเงิน ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซชื่อดัง บุตรชาย นายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงเหตุผลที่สินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้าไทยในปัจจุบัน ว่า...

หากเปรียบปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกทะลักเข้าไทยเสมือน ‘ปัญหาน้ำท่วม’ การจะแก้ปัญหาอาจต้องเริ่มจากการเข้าใจว่าทำไม ‘น้ำ’ (สินค้าจากจีน) ถึงล้นและ น้ำเหล่านี้ไหลผ่าน ‘แม่น้ำ’ (ช่องทางการขาย) สายไหนบ้างมาที่ไทย 

ในฐานะคนที่เคยทำงานในธุรกิจแพลตฟอร์มและวิเคราะห์การค้า-การลงทุนระหว่างประเทศมานาน วันนี้ อยากชวนแกะประเด็นใหญ่ของประเทศนี้ที่ผมคิดว่ามีความซับซ้อนสูง เพราะมีหลายปัญหาถูกมัดรวมอยู่ด้วยกัน 

เริ่มจาก 6 แม่น้ำที่เป็นเส้นทางสำคัญที่สินค้าไหลเข้าประเทศ...

1) Trader คนไทย (Offline/Online) - ผู้ขายไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อขายในร้านค้าทั่วไปในไทยหรือ ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee Lazada และ Tiktok เพื่อขายให้ผู้บริโภคไทย

ผลกระทบ: อาจมีผลเสียต่อผู้ผลิตในประเทศ เพราะต้องแข่งกับสินค้านำเข้าราคาถูก แต่อย่างน้อยรายได้ยังอยู่กับคนไทยที่นำสินค้าเข้ามาขาย 

2) Crossborder sellers - ผู้ขายในต่างประเทศใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภคไทยโดยไม่ต้องจดทะเบียนในประเทศ

ผลกระทบ: เพราะผู้ขายไม่ได้อยู่ในประเทศอาจสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายและภาษีไทย ทำให้ได้เปรียบผู้ขายในประเทศ

3) Trader ต่างชาติแปลงตัวเป็นไทย - ผู้ขายต่างชาติ เปิดธุรกิจและร้านค้าออนไลน์ในไทย แต่ส่วนใหญ่ขายสินค้านำเข้าจากจีน 

ผลกระทบ: ผู้ขายต่างชาติในร่างไทยเหล่านี้ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายและมักหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้เกิดความได้เปรียบเหนือธุรกิจในท้องถิ่นในหลายมิติ (และปัญหานี้ก็ไม่ได้อยู่แต่ในภาคการค้าเท่านั้น แต่กระทบหลายอุตสาหกรรมเลย)

4) Factory2consumer โมเดล - แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเช่น Temu อาจช่วยให้โรงงานในจีนสามารถ bypass ร้านค้า ขายตรงให้กับผู้บริโภคไทย ถือเป็นรูปแบบใหม่ล่าสุด

ผลกระทบ: เพราะผู้ขายไม่ได้อยู่ในประเทศ อาจสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายและภาษีไทย ทำให้ได้เปรียบผู้ขายในประเทศ และสามารถขายได้ในราคาถูกมาก นอกจากนี้การควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการอาจยากยิ่งขึ้นเพราะไม่มี 'ผู้ขาย' ชัดเจน 

โจทย์สำคัญ: จะสังเกตได้ว่าปัญหาสำคัญของช่องทาง 2-4 คือการไม่บังคับใช้กฎกติกาที่มีของไทย ทั้งเรื่องมาตรฐานสินค้า ภาษีต่าง ๆ ฯลฯ กับคนขายต่างชาติ ทั้งที่อยู่ในประเทศและนอกประเทศ (Crossborder) กลายเป็นว่าทำให้กฎกติกาของไทยทำให้คนไทยเสียเปรียบเสียเอง 

หัวใจคือ อย่างน้อยควรสร้าง Level playing field ทางกฎกติกา ด้วยการบังคับใช้กฎหมายของไทยที่มีอยู่แล้วกับธุรกิจและคนขายต่างชาติที่อยู่ในและนอกประเทศทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค, ภาษี และพรบ.ธุรกิจต่างด้าว 

เท่าที่ผมเข้าใจบางส่วนเป็นปัญหาเรื่องช่องโหว่ทางกฎหมายที่ต้องมีการอุดรอยรั่ว แต่บางส่วนเป็นแค่เรื่องการบังคับใช้กฎที่มีอยู่แล้ว แต่ขอยังไม่ลงรายละเอียดตรงนี้

5) China +1 โมเดล - สงครามการค้า ทำให้บริษัทข้ามชาติเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากที่เคยส่งออกจากโรงงานในจีนไปอเมริกาตรง เปลี่ยนเป็นส่งจากจีนมาไทยก่อนแล้วค่อยไปอเมริกา ในกรณีนี้ไทยนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากจีน เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ 

ผลกระทบ: การนำเข้าประเภทนี้ ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้ากับจีนก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ อาจทำให้เกินดุลกับประเทศอื่น ๆ มากขึ้น (เช่น สหรัฐฯ) จึงไม่ควรดูแต่ดุลการค้าไทย-จีนเท่านั้น อาจได้ภาพไม่ครบ และหากกีดกันสินค้าประเภทนี้ อาจมีต้นทุนกับผู้ผลิตในประเทศไทยสูง

โจทย์สำคัญ: ในอนาคตต้องพยายามดึงการผลิตให้มาอยู่ในประเทศให้มากที่สุดและพัฒนาศักยภาพแรงงาน ให้สร้าง Value added ได้มากขึ้น จะได้ลดการนำเข้า, เพิ่มมูลค่าให้การส่งออก, สร้างงาน-รายได้ในประเทศ (เช่น อุตสาหกรรมนิกเกิลในอินโดนีเซีย) 

6) แพลตฟอร์มต่างชาติ - แพลตฟอร์มเป็นของคนสัญชาติใด จดทะเบียนในไทยหรือไม่?

เรื่องนี้ชอบถูกผสมเข้าไปกับประเด็นที่ว่าคนขายเป็นคนไทยหรือเปล่า และ ผู้ผลิตสินค้าอยู่ในไทยหรือเปล่า ซึ่งล้วนแต่เป็นคนละประเด็นกัน 

โจทย์สำคัญ: ความจริงประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่แพลตฟอร์มเป็นสัญชาติไหน เพราะแพลตฟอร์มไทยก็อาจนำสินค้าเข้าจากจีนหากต้นทุนถูกกว่าผลิตเอง และแพลตฟอร์มต่างชาติก็มีคนขายสัญชาติไทย 

หัวใจ คือไม่ว่าเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไหนหากมีธุรกิจในไทยก็ควร

- ปฏิบัติตามกฎหมายไทย
- จ่ายภาษีในไทย 
- และจะให้ดีต้องช่วยพัฒนา SME ไทยด้วย 

โดยเราควรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ใช้แพลตฟอร์มต่างชาติที่มีสาขาในหลายประเทศเป็นช่องทางช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทย พัฒนา SME ให้กลายเป็น Exporter ได้เจาะตลาดใหม่ ๆ อย่างที่หลายประเทศก็ทำมาแล้ว 

แต่ประเด็นที่แก้ยากที่สุดและเป็น 'ต้นน้ำ' ของปัญหาก็คือ สภาวะกำลังผลิตเกินในประเทศจีน (Oversupply/Overcapacity) - ทำให้ต้องระบายส่งออกสินค้าในราคาถูกสู่โลก ซึ่งทำให้ไปแข่งกับสินค้าส่งออกไทยในตลาดอื่นอีกด้วย

เสมือนน้ำที่ล้นเขื่อน ต่อให้เราพยายามกั้นแม่น้ำต่างๆ สุดท้ายน้ำก็จะไหลมาอยู่ดีในช่องทางใหม่ ๆ ต่อให้ปิดรูรั่วทางกฎหมายที่ไม่เท่าเทียม ก็ต้องยอมรับว่าหลายสินค้าจากจีน ก็อาจจะต้นทุนถูกกว่าไทยอยู่ดี

เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่ได้แก้ได้ง่าย ๆ หลายธุรกิจหาตลาดส่งออกใหม่, สร้างแบรนด์, และ ขยับขึ้น Value Chain เพื่อไม่ต้องแข่งกับสินค้าราคาถูกโดยตรง แต่แน่นอนไม่ใช่ทุกคนทำได้ ส่วนบางประเทศเลือกใช้กำแพงภาษีหรือมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดในบางสินค้า แต่ก็ต้องระวัง เพราะหากทำผิดพลาดอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ธุรกิจในประเทศและทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอีก

ขอส่งท้ายว่าในบทความสั้น ๆ คงไม่สามารถพูดถึงการแก้ปัญหาอย่างลงลึก แต่ที่แน่ ๆ นี่คงไม่ใช่ปัญหาที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งจะแก้ได้ แต่ต้องร่วมมือกันหลายหน่วยงานและมียุทธศาสตร์ระดับประเทศที่ชัดเจน

ปล.บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะกล่าวโทษประเทศใดเป็นพิเศษเพราะปัญหานี้อาจมาจากประเทศไหนก็ได้ และหลายข้อก็เป็นปัญหาที่ประเทศเราต้องรีบแก้ไขที่ตัวเราเอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top