Friday, 9 May 2025
ผู้การแต้ม

‘ดร.เอ้’ ควง ‘ผู้การแต้ม’ ลงพื้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กร้าว!! ไม่ทนปัญหาฝุ่น ชู ‘กม.อากาศสะอาด’ ปกป้องคนกรุง

(29 มี.ค.66) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคฯ พร้อมด้วย ‘ผู้การแต้ม’ พล.ต.ต.ดร.วิชัย สังข์ประไพ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม.เขตหลักสี่-จตุจักร พรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่บริเวณทางเข้าศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เพื่อตรวจวัดค่า PM 2.5 ซึ่งเป็นจุดที่มีการจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะในช่วงเช้าที่มีการสัญจรไปมา รวมถึงมีการก่อสร้างในบริเวณใกล้เคียง

โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ย้ำว่าปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ไม่ใช่ปัญหาของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งทุกคนในประเทศต้องพร้อมร่วมมือกันในการแก้ไขรวมถึงภาคประชาชน ที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญว่ามีอันตรายต่อชีวิต จึงพร้อมผลักดันให้มี ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะการมี ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ จะช่วยให้หน่วยงานที่ดูแลและแก้ไขปัญหา PM 2.5 มีอำนาจในการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของ PM 2.5 โดยที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ มักจะแก้ปัญหาอย่างเฉพาะหน้า สาเหตุหนึ่งมาจากการไม่มีกฎหมายมารองรับ และสนับสนุนอย่างจริงจัง ทำให้ไม่สามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากแหล่งกำเนิดได้ เลยต้องไปแก้ไขที่ปลายเหตุ สุดท้ายปัญหาคงก็อยู่

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวต่อไปว่า ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ ที่ออกมาจะช่วยเป็น ‘เครื่องมือ’ ให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาตรการและข้อบังคับไปควบคุมสาเหตุของ PM 2.5 ได้ถึงต้นตอ ไม่ว่าจะเป็น 

- การกำหนดเขตพื้นที่มลพิษต่ำ หรือ Low Emission Zone บริเวณพื้นที่ใจกลางเมือง 16 เขต  
- การควบคุมรถควันดำ ต้นตอสำคัญของ PM 2.5 
- การจัดเก็บภาษีการปล่อยมลพิษยิ่งปล่อยมากยิ่งจ่ายมาก เพื่อเป็นการบังคับให้หาทางลดการปล่อยมลพิษ 
- การลดภาษีพื้นที่สีเขียวเป็นรางวัลให้คนทำดี

“เป็นที่น่าเสียดายว่าวันนี้ประเทศไทยยังไม่มี ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ เพื่อคุ้มครองให้คนในชาติได้สูดอากาศบริสุทธิ์แม้แต่ฉบับเดียว ที่ผ่านมาแม้จะมีการผลักดันจากหลายภาคส่วน แต่ก็ยังถูกละเลย ไม่มีการนำมาประกาศบังคับใช้ บางคนอาจมองว่ามีความซ้ำซ้อน เพราะกฎหมายสิ่งแวดล้อมเดิมก็มีอยู่ แต่ที่ผ่านมาก็พิสูจน์มาแล้วว่าถ้ากฎหมายสิ่งแวดล้อมเดิมใช้ได้จริงพวกเราชาวกรุงเทพฯ คงไม่ต้องมาทนกับปัญหานี้ในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้เป็นทางรอดเพื่อให้พวกเราชาวกรุงเทพฯ ได้กลับมาสูดอากาศบริสุทธิ์กันทุกคน” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

ในขณะที่ ‘ผู้การแต้ม’ พล.ต.ต.ดร.วิชัย สังข์ประไพ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันจะเดินหน้าต่อเพื่อประกาศสงครามกับปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่การทำเพื่อหวังผลทางการเมือง แต่มองประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้มาเป็นเวลานานและยังไม่ได้รับการแก้ไขจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง

ด้านนางดรุณวรรณ ได้กล่าวด้วยว่าบรรยากาศการลงพื้นที่ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ในวันนี้ได้รับกำลังใจจากประชาชนที่เห็นความมุ่งมั่นในการทำงานของพรรค โดยบางท่านได้มาจอดรถทักทายและส่งเสียงเชียร์ ให้กับ ศ.ดร.สุชัชวีร์ และผู้การแต้ม รวมถึงขอบคุณที่พรรคประชาธิปัตย์มาลงพื้นที่ตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ทำให้ได้ตระหนักถึงอันตรายและอยากให้พรรคได้เข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ย้ำว่าฝุ่น PM 2.5 เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นนั้น มันอันตรายกว่าโควิด 19 ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ หากแต่ภัยจาก PM2.5 สามารถซึมเข้าไปในร่างกายได้อย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายอาจทำให้เกิดภาวะสมองตายได้ นอกจากจะนำเสนอ กฎหมายอากาศสะอาด แล้ว ยังตั้งทีมเพื่อวัดค่าฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอแนวทางการป้องกันและแก้ไขเบื้องต้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป
 

‘ผู้การแต้ม’ ปราศรัยตอกย้ำจุดยืน ‘3 ไม่’ ของ ‘ประชาธิปัตย์’ ย้ำ!! “ไม่แก้ม.112 ไม่เอายาเสพติด ไม่เอาทุจริตคอร์รัปชัน”

(1 พ.ค. 66) มีรายงานว่า ‘ผู้การแต้ม’ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ เขต จตุจักร-หลักสี่ ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีปราศรัยใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ โซนกรุงเทพฯเหนือ ที่สนามฟุตบอล ศูนย์เยาวชนหลักสี่ ในช่วงเย็นของวันที่ 29 เมษายน 2566 นอกจากการนำเสนอนโยบายแล้วในช่วงท้ายของการปราศรัยยังได้ตอกย้ำจุดยืน 3 ไม่ ของพรรคประชาธิปัตย์ คือ ไม่แก้มาตรา 112 ไม่เอายาเสพติด และไม่เอาทุจริตคอร์รัปชัน

โดยในเวทีดังกล่าวมีแกนนำของพรรคนำโดย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง ตัวแทนผู้สมัคร ส.ส.แบบเขตจากฝั่งกรุงเทพโซนเหนือ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคและผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงยังมีบุคคลสำคัญคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมขึ้นปราศรัยเพื่อขอเสียงสนับสนุนให้พรรคและผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคด้วย โดยมีประชาชนร่วมรับฟังจำนวนมาก

'ผู้การแต้ม' เตือน 'บิ๊กโจ๊ก' แถลงข่าวข่มขู่ผู้อื่น ระวังผิดกฎหมายเพิ่ม ชี้!! คำสั่งรักษาการ ผบ.ตร. มีอำนาจเต็ม 'บิ๊กโจ๊ก' ต้องพูดมุมนี้ด้วย

ภายหลังจากกรณีการแถลงข่าวของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. หรือ 'บิ๊กโจ๊ก' ที่บุกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร) ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็มีความคิดเห็นจาก พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือ 'ผู้การแต้ม' เกี่ยวกับเรื่องนี้ ระบุว่า...

"จากการแถลงข่าวกรณีที่บิ๊กโจ๊กใช้สํานักงานตํารวจแห่งชาติแถลงโจมตีบุคคลอื่น ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะตนเองก็เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการร่างพรบ.ตํารวจปี 2565 ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน ... ยืนยันว่าพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการ ผบ.ตร. ปฏิบัติตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ทุกประการ ส่วนกรณีบิ๊กโจ๊กออกมาแถลง ก็แค่ในมุมของตัวเองแต่ไม่ได้พูดว่ากฎหมายให้อํานาจ ผบ.ตร.อย่างไร ซึ่งสิ่งที่บิ๊กโจ๊กไม่ได้บอกกับสื่อและประชาชนก็คือ รักษาการ ผบ.ตร. มีอํานาจเต็มตาม พรบ.ตํารวจฉบับใหม่ ที่ให้อํานาจในการใช้ดุลพินิจแทน ผบ.ตร. ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏและได้รับรายงานจากกองวินัย...ผมเป็นห่วงน้องโจ๊กมันนะ เป็นห่วงว่าไอ้การที่คุณออกมาแถลงข่าวแล้วมาข่มขู่คนนั้นจะติดคุกจะอะไรอย่างงั้นอย่างงี้ ระวังจะไปโดนข้อหา 'เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนสืบสวน' นะ"

ผู้การแต้ม ยังกล่าวเตือนไปถึงบิ๊กโจ๊กอีกว่า ตนได้มีโอกาสดูการแถลงข่าว พบว่ามีนายตํารวจระดับพลตํารวจตรี น่าจะสังกัดตํารวจท่องเที่ยว ไปยืนแถลงกับบิ๊กโจ๊ก ซึ่งทําหน้าที่ช่วยถือบอร์ดหลักฐาน พฤติกรรมนี้ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ราชการ เพื่อช่วยเหลือประชาชน จนอาจมีความผิดวินัยร้ายแรงและทําให้ภาพลักษณ์ของตํารวจมัวหมองไปอีก เพราะว่าจะทําให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

"อยู่ ๆ ก็ปรากฏว่ามี พล.ต.ต.คนนึง ไม่รู้อยู่ท่องเที่ยวหรือเปล่า มาเปิดแฟ้ม ป้ายแถลงข่าว ถามว่าทําได้ไหม อาจจะบอกทำได้ แต่ควรไหม? เพราะหน้าที่ของคุณ ถ้าเป็นผู้การ คุณต้องไปดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของพี่น้องนักท่องเที่ยว คุณไม่มีหน้าที่ที่จะมาเปิดตรงนี้ ไม่ควร แล้วมาแบบเครื่องแบบเต็มยศด้วย ตรงนี้ผมบอกให้ว่าต้องระวังมีคนร้องเรียน เพราะคุณไม่ไปตรวจตาไปดูแลความปลอดภัยเชิงทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว แต่กลับมาอยู่ตรงนี้"

ทั้งนี้ผู้การแต้ม ยังได้อธิบายถึงอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) อีกด้วย ว่าเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตามพรบ.ตํารวจปี 2565 มีคณะกรรมการสองชุด โดยคณะกรรมการชุดแรก ก็จะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนต่อตํารวจมี พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติดเป็นคณะกรรมการ

ส่วนคณะกรรมการชุดที่สอง มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากตํารวจเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งบิ๊กโจ๊กร้องเรียนในคณะกรรมการชุดดังกล่าว ก.พ.ค.ตร. ก็มีหน้าที่ตามที่บิ๊กโจ๊กบอกก็คือทําหน้าที่เหมือนศาลปกครองชั้นต้นให้กับตํารวจเมื่อได้รับคําสั่งมิชอบในทางปกครองต่าง ๆ และคําสั่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนได้ เพื่อไม่ให้ตํารวจไปร้องเรียนนอกหน่วยงานตํารวจ

"กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา เช่นถูกคำสั่งให้ออก ก็มีคณะกรรมส่วนนี้เพื่อให้อุทธรณ์คําสั่ง ซึ่งบิ๊กโจ๊กก็ต้องมาอุทธรณ์ตรงนี้ เพราะคณะฯ นี้ ก็เหมือนศาลปกครองชั้นต้น แต่ถ้าคุณไม่มาอุทธรณ์ เท่ากับแสดงความยินยอมรับคําสั่ง แต่พอสุดท้ายคุณไม่พอใจ คุณกลับจะไปอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด มันไม่ได้ คุณต้องอุทธรณ์ตรงนี้ก่อน แต่อุทธรณ์นั้น ๆ ถ้าอุทธรณ์ฟังขึ้น ก็จะส่งเรื่องไปให้ ตร.พิจารณา แต่ถ้าฟังไม่ขึ้น คุณก็ค่อยไปอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป" ผู้การแต้ม ทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top