‘ไทย’ โล่ง!! ผลกระทบการโจมตีอิสราเอลน้อย เชื่อ!! ไม่สะเทือน ‘ส่งออก-ท่องเที่ยว-แรงงาน’
(9 ต.ค.66) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม หลัง ‘อิสราเอล’ และ ‘ปาเลสไตน์’ ได้เปิดฉากการโจมตีใส่กันจนเข้าสู่ภาวะสงคราม โดยระบุว่า…
ประเมินผลกระทบการโจมตีอิสราเอล
หลังจากที่ฮามาสโจมตีอิสราเอล และมีการตอบโต้จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อีกทั้งสถานการณ์ยังเสี่ยงรุนแรงและยืดเยื้อออกไป ผมมองว่าผลกระทบต่อไปมีทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยผลกระทบทางตรง ได้แก่
1.) การส่งออก
2.) การท่องเที่ยว
3.) รายได้แรงงาน
ผลกระทบทางตรงน่าจะจำกัด อิสราเอลไม่ใช่คู่ค้าหลักของไทย (ส่งออกเน้นสินค้าเกษตร/อาหาร) ไม่ใช่กลุ่มท่องเที่ยวสำคัญ แต่ให้ระวังด้านการขนส่งทางอากาศ ที่อาจต้องเปลี่ยนเส้นทางในตะวันออกกลางจนกระทบการท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ อีกทั้งแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลเพื่อส่งรายได้เข้าประเทศ ยังมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน (ตรงนี้ต้องไปเช็กต่อที่กระทรวงแรงงานกันดูครับ ไม่คอนเฟิร์ม) หรืออาจจะต้องขอดูจำนวนเทียบเกาหลีใต้ หรือประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ (และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิตด้วยครับ) ส่วนด้านการลงทุนก็ยังไม่มาก
โดยผลกระทบทางอ้อม
1.) ราคาน้ำมันพุ่ง
2.) เงินวิ่งสู่สินทรัพย์ปลอดภัย (ดอลลาร์สหรัฐฯ)
3.) ราคาทองคำขึ้น
ผมยังมองว่าผลทางอ้อมไม่น่ารุนแรง อิสราเอลไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมัน อีกทั้งประเทศรอบข้างอย่างจอร์แดนก็ไม่ได้มีน้ำมันมากนัก น่าจะห่วงการขยายวงกว้างไปอิหร่านหรือซาอุดีอาระเบียมากกว่า (ตอนนี้ยังไม่มีท่าทีไปไกล) หรือจะกระทบการขนส่งน้ำมันดิบผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยุโรป แต่ก็ทำได้หลายช่องทาง (ระวังกระทบการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านช่องแคบเช่นคลอง Suez และ Supply Chain Disruption กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์)
ผมจึงมองว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไม่น่าไปไกล เว้นแต่ประเทศอื่นเข้าร่วมสงครามนี้ ส่วนพอน้ำมันพุ่ง ทองก็ขึ้นตาม ดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาแข็ง เพราะเป็น Safe Haven
ที่ผมกังวลต่อตลาดทุน น่าจะมาจากบอนด์ยิลด์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ยังขึ้นจนเกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง บาทเลยอ่อนได้อีก และที่ยิลด์ขึ้นน่าจะมาจากข่าวเมื่อวันศุกร์ (6 ต.ค.) ที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ยังเพิ่ม แม้อัตราว่างงานจะคงที่ 3.8% และอัตราเพิ่มของค่าจ้างจะเริ่มชะลอที่ +0.2% จากเดือนก่อน
แต่ยังห่วงว่า ‘เฟด’ อาจขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ CME Fedwatch มองโอกาสขึ้นเพิ่มไปมากกว่า 20%แล้ว และหากราคาน้ำมันเพิ่มยาว ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงก็มี
สรุป ผมห่วงปัญหาสงครามในอิสราเอลจะยืดเยื้อ และลามไปกระทบประเทศอื่นในตะวันออกกลาง ที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจนไทยขาดดุลการค้า ตลาดการเงินเสียเสถียรภาพ บาทอ่อน ห่วงการคุมราคาน้ำมันยิ่งทำให้รัฐบาลขาดทุนในกองทุนน้ำมัน หนี้เพิ่มไปอีก น่าหาทางใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และอุดหนุนเฉพาะที่จำเป็น ผมยังเชื่อว่าสงครามจะจบในไม่ช้า แต่ก็ไม่มีใครรู้ อย่าง ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ที่ลากมาเป็นปีก็ยังทำได้ เราคงต้องหาทางลดผลกระทบกันดูครับ
