Wednesday, 23 April 2025
ผบ.ตร

ผบ.ตร. ส่งชุดสืบ สตม. ไปจีนแก้ปัญหาคนจีนเข้ามาก่อเหตุกับคนจีนด้วยกันโดยใช้ไทยเป็นแหล่งก่อเหตุ ส่งชุดสืบ สตม. ไปจีนแก้ปัญหาคนจีนเข้ามาก่อเหตุกับคนจีนด้วยกันโดยใช้ไทยเป็นแหล่งก่อเหตุ

จากสถานการณ์ปัจจุบัน มีเหตุชาวจีนเข้ามากระทำความผิด ต่อชาวจีนด้วยกันในประเทศไทย แล้วหลบหนีออกนอกประเทศ รวมถึงมีบางส่วนเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อหลบหนีการกระทำความผิดมาจากประเทศจีน รวมถึงประเทศต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย อีกทั้งบางส่วนมีพฤติกรรมเข้ามาก่อตั้งรกรากและประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. จึงได้สั่งการผ่าน พล.ต.ท. ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธ์ุ ผบช.สตม.ให้หาแนวทาง มาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงมอบหมายให้ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. และคณะ เดินทางไปประชุมหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจีน ระหว่างวันที่ 5-11 พฤษภาคม 2566 เพื่อประชุม แสวงหาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูล กับเจ้าหน้าที่ตำรวจมณฑลต่างๆที่สำคัญในประเทศจีน เพื่อหาแนวทางในการสกัดกั้น และป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีประวัติในการกระทำความผิด หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยผ่านตามช่องทางสนามบินและช่องทางด่านต่างๆทั่วประเทศ รวมถึงติดตามจับกุมผู้ที่มีหมายจับของประเทศจีน 
ผลการประชุมหารือได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตามมณฑลต่างๆ เป็นอย่างดี โดยทางตำรวจจีนได้ส่งข้อมูลผู้ต้องหาที่มีหมายจับที่สำคัญและมีข้อมูลว่าหลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยให้ทางสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยช่วยติดตามจับกุมให้ จำนวนหลายเป้าหมายและมีการประสานงานร่วมกันผ่าน contact person เพื่อส่งข้อมูลผู้ต้องหาที่มีหมายจับในจีนเพื่อให้ทางสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไทยลงข้อมูลในระบบเพื่อแจ้งเตือน เมื่อพบว่าผู้ต้องหาเหล่านี้เข้ามายังพรมแดนประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ในการสกัดกั้นไม่ให้คนจีนเข้ามาก่อเหตุในประเทศไทย ในลักษณะดังกล่าวได้

นอกจากนี้ทาง ตำรวจจีนได้ขอบคุณในความร่วมมือเป็นอย่างดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย รวมถึงสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในอดีตที่ผ่านมาที่ได้ช่วยจับกุมผู้ต้องหาที่มีหมายจับคดีสำคัญสำคัญในจีนมาดำเนินคดีได้เป็นจำนวนมาก

ผบ.ตร.รับรายงานผลการศึกษาอายุการกระทำผิดเด็กเยาวชน

ผบ.ตร.รับรายงานผลการศึกษาอายุการกระทำผิดเด็กเยาวชน พบแนวโน้มทำผิดสูงขึ้น เกณฑ์อายุที่ทำผิดต่ำลง เตรียมเสนอกระทรวงยุติธรรม ปรับแก้ไขกฎหมายกำหนดโทษคดีเด็กไม่ต้องรับโทษ จากอายุไม่เกิน 15 ปี เป็น 14 ปี

รวมทั้งแนวทางพิจารณาคดี ให้มุ่งเน้นพฤติการณ์กระทำผิดมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องบริบทสังคม คุ้มครองความปลอดภัยประชาชนส่วนรวม

วันนี้ (15 ก.พ.67)  พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. เปิดเผยว่า “สืบเนื่องจากกรณีที่มีข่าวปรากฏว่า มีเหตุเด็กชายวัย 14 ปี ก่อเหตุยิงบุคคลในบริเวณศูนย์การค้า และเหตุกลุ่มเยาวชนรุมทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายในพื้นที่ สภ.อรัญประเทศ ซึ่งการก่อเหตุในลักษณะดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียต่อร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความหวาดกลัวภัยให้กับประชาชน

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. จึงมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาอายุการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนในห้วงปี พ.ศ.2559 – 2566 พบว่า

1. กลุ่มคดีอุกฉกรรจ์ ห้วงอายุ 10 – 18 ปี รวมทั้งสิ้น 1,645 คดี โดยอายุที่กระทำความผิดสูงสุด ได้แก่ อายุ 17 ปี(418 คดี) อายุ 18 ปี(416 คดี) และ อายุ 16 ปี(367 คดี) ตามลำดับ โดยนับแต่ พ.ศ.2565 เป็นต้นมา เริ่มพบว่าผู้ก่อเหตุอยู่ในห้วงอายุ 10 - 18 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้น คดีที่ก่อเหตุสูงสุด ได้แก่ ฆ่าผู้อื่น (954 คดี) ปล้นทรัพย์ (109 คดี) และชิงทรัพย์ (97 คดี) ตามลำดับ

2. กลุ่มคดีความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย รวมทั้งสิ้น 4,318 คดี โดยอายุที่กระทำผิดสูงสุด ได้แก่ อายุ 18 ปี (1,398 คดี) อายุ 17 ปี (1,025 คดี) อายุ 16 ปี (805 คดี) ตามลำดับ โดยพบว่ามีผู้กระทำความผิดที่อายุต่ำกว่า 10 ปี จำนวน 20 คดี และพบว่าห้วงอายุ 10 – 18 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2560 เป็นต้นมา เริ่มสูงขึ้น โดยเป็นความผิดทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายสูงถึง 1,860 คดี

3. กลุ่มคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ รวมทั้งสิ้น 5,903 คดี  โดยอายุที่กระทำความผิดสูงสุด ได้แก่ อายุ 18 ปี(1,820 คดี) อายุ 17 ปี(1,137 คดี) และอายุ 16 ปี(960 คดี) ตามลำดับ โดยพบว่าผู้กระทำความผิดอายุต่ำกว่า 10 ปี จำนวน 29 คดี และพบว่าห้วงอายุ 10 - 18 ปี เริ่มมีการกระทำความผิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เป็นต้นมา โดยเป็นความผิดลักทรัพย์ 2972 คดี ฉ้อโกง 921 คดี และวิ่งราวทรัพย์ 57 คดี

จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนในคดีอุกฉกรรจ์ ชีวิตหรือร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ มีแนวโน้มสูงขึ้น และเกณฑ์อายุของผู้กระทำความผิดผู้อายุน้อยลง 

แม้ข้อมูลทางการวิจัยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชนยึดหลัก มุ่งคุ้มครองเด็กและเยาวชน เน้นการสงเคราะห์ บำบัดฟื้นฟู แก้ไข เยียวยา เพื่อคำนึงถึงอนาคตของเด็กและเยาวชน แต่อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาการกำหนดโทษ สามารถกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับพฤติการณ์ได้ เช่น ความผิดร้ายแรง การกระทำความผิดซ้ำ  จึงอาจกำหนดโทษจำคุก เพื่อให้หลาบจำได้สำหรับเด็กและเยาวชนในบางกรณีได้  

โดยแนวทางการดำเนินการของต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ กำหนดอายุเด็กไม่เกิน 10 ปี  ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเกณฑ์อายุน้อยกว่าประเทศไทยที่กำหนดอายุไม่เกิน 12 ปี ส่วนในประเทศเยอรมนี แคนนาดา ฝรั่งเศส จะพิจารณาเกณฑ์อายุและประเภทความผิดร้ายแรงประกอบกัน เพื่อกำหนดโทษจำคุกสำหรับเด็กและเยาวชนได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะทั่วไปสหประชาชาติ (ฉบับที่ 10) ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กำหนด “เกณฑ์อายุขั้นต่ำที่บุคคลจะมีความรับผิดอาญาไม่ควรต่ำกว่า 12 ปีและบุคคลอายุ 18 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ”

สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นคล้องตรงกันว่า สังคมไทยควรจะพิจารณากำหนดเกณฑ์อายุของเด็กหรือเยาวชน ขึ้นใหม่ เพื่อสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ   โดยอาจเสนอการแก้ไขกฎหมาย ป.อาญา มาตรา 74  จากเดิมกำหนดเด็กอายุกว่า 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ เป็น เด็กอายุกว่า 10 ปี แต่ไม่เกิน 14 ปี แทน 
 
รวมทั้งพิจารณาบังคับใช้ตามมาตรา 97 วรรคสองฯ แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 มาใช้ในการดำเนินการให้มากขึ้น ซึ่งกำหนดไว้ใจความว่า  คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว ถ้าศาลพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าในขณะกระทำความผิด หรือในระหว่างการพิจารณา  เด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดมีสภาพเช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไป ให้ศาลมีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้รวบรวมเสนอกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก เยาวชนให้ตรงกับสถาพบริบทสังคมต่อไป เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมาย เกิดประสิทธิภาพ คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนส่วนรวม

ผบ.ตร.ประชุมปราบปรามอาชญากรรมตามนโยบายสำคัญเร่งด่วน กำชับเดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติด พนันออนไลน์ ทุนจีนสีเทา และสินค้าเถื่อนตามแนวชายแดน จริงจัง ต่อเนื่อง

วานนี้ (8 กรกฎาคม 2567) เวลา 15.00 น. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมปราบปรามอาชญากรรมตามนโยบายสำคัญเร่งด่วน ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์  รอง ผบ.ตร. ,  พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยต่างๆ ได้แก่ บช.น. , ภ.1-9 , บช.ก. , บช.ปส. , บช.สอท , ตชด., สตม., สยศ.ตร. และ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. เข้าร่วมประชุม 

ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีศิลป์ นายกรัฐมนตรี สั่งการในเรื่องการแก้ไขปัญหาของประชาชน กำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเน้นหนักในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในเรื่องสำคัญเร่งด่วน 5 เรื่อง ได้แก่ การแก้ปัญหายาเสพติด การลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน พนันออนไลน์ ทุนจีนสีเทา และสินค้าเถื่อนตามแนวชายแดน ซึ่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้กำชับสั่งการหน่วยต่างๆ ดำเนินการป้องกันปราบปรามอย่างจริงจัง ต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งผลการปฏิบัติเป็นที่น่าพอใจ โดยการแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เน้นหนักไปที่การสกัดกั้นการลําเลียงยาเสพติดจากชายแดนและจากแหล่งพักลงสู่ภูมิภาคเป็นสําคัญ มีผลการจับกุมคดียาเสพติดรายสำคัญได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา สามารถสกัดกั้นรายสําคัญขนาดใหญ่ ของกลางตั้งแต่ 100,000 เม็ดขึ้นไป สูงขึ้นร้อยละ 67 ส่งผลให้การลําเลียงยาเสพติด ระหว่างชุมชนทําได้ยากขึ้น

- การปราบปรามพนันออนไลน์ ได้มีการสั่งการให้เร่งรัดสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบุคคลตามหมายจับคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทุกประเภท พบว่าห้วงวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2567 มีการปิดเว็บไซต์พนันออนไลน์ไปถึง 52,314 URL

- การปราบปรามการลักลอบนำเข้าสิ่งของผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2567 มีการลาดตระเวนและตั้งจุดตรวจจุดสกัดอย่างต่อเนื่อง สามารถจับกุมผู้ต้องหาพร้อมยึดสินค้าเถื่อนจำนวนมาก หลายรายการ

- การปราบปรามการลับลอบนำ เข้า กักตุน สุกร หรือซากสุกรโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะทำงานปราบปรามการลักลอบนำ เข้า กักตุน สุกร หรือซากสุกรโดยผิดกฎหมาย ของสำนักงานตำรวจแห่ง ขึ้น พบว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ตรวจยึดของกลางได้จำนวนมาก จำนวนกว่า 200,000 กิโลกรัม

- การปราบปรามจับกุมชาวต่างชาติที่กระทำผิดกฎหมายในประเทศไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองร่วมกับหน่วยต่างๆ ดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ในส่วนของนายทุนจีนเทานั้น ล่าสุดสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ดำเนินคดีกับกลุ่มชาวจีนสวมบัตรประชาชนไทย เปิดสถานบริการ ลักลอบจำหน่ายยาเสพติด พร้อมทำการเพิกถอนวีซ่าและขึ้นบัญชีดำ

ผบ.ตร.กล่าวว่า ได้มอบหมายให้รอง ผบ.ตร.ติดตามขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ชัดเจน , ให้มีการระดมกวาดล้าง กำหนดแผนในแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน เป็นเอกภาพ ประสานหน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด , ให้สอบสวนขยายผล ดำเนินคดีนายทุน ตัวการ เครือข่าย และดำเนินมาตรการยึดทรัพย์ และให้รายงานผลเป็นระยะ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top