Tuesday, 22 April 2025
ป่าไม้

‘คาร์บอนเครดิตป่าไม้’ อีกหนึ่งทางเลือกน่าลงทุน ช่วยสร้างเม็ดเงิน แถมได้ปลูกป่า ลดก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบัน ‘คาร์บอนเครดิต’ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งการซื้อขายจากที่ต่าง ๆ เพื่อข้อมูลการชดเชยการปล่อยคาร์บอน แต่มีอีกหนึ่งส่วนที่เป็นแหล่งลดคาร์บอนได้ไม่แพ้กันคือ การส่งเสริมคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้

(25 ม.ค. 67) พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต กล่าวงานฟอรั่มไม่มีค่า ภายใต้ Theme ‘สร้างเสน่ห์ ชุมชนสีเขียว: Enchanting Green Community’ ช่วง เสวนา ‘ชวนคุยชวนคิด ปลูก ไม้มีค่าจากต้นกล้า สู่ Carbon Neutrality คาร์บอนเครดิต’ จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า…

แนวทางภาพรวมการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยนั้น ต้องมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อย 68% ในปี พ.ศ. 2583 และ 74% ในปี พ.ศ. 2593 รวมถึงการ ยุติการใช้ถ่านหิน ในปี พ.ศ. 2593 และใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (CCUS) และการดักจับ และกักเก็บคาร์บอนเป็นกระบวนการสกัดพลังงานชีวภาพ (BECCS) รวมถึงการใช้พลังงานที่สะอาดทั้งในภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2588

ทั้งนี้ ไม่ได้มีแค่การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานแต่เพียงอย่างเดียว การปลูกต้นไม้ ตามแผนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากสาขาป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 120 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2580 - 2608

นอกจากนี้ทาง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) ได้มีสนับสนุนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) ในภาคป่าไม้ โดยดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ลดและกักเก็บได้ จากการดำเนินโครงการ T-VER หรือการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Project :T-VER) และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ อบก. และถูกบันทึกในระบบทะเบียนของ อบก. ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ Standard และ Premium โดยมีเงื่อนไขการดำเนินโครงการดังนี้ 

1.เป็นไม้ยืนต้น (ชนิดใดก็ได้) ที่มีเนื้อไม้ และอายุยืนยาว 
2.มีหลักฐานเอกสารแสดงสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเอกสารที่ยืนยันได้ว่าเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้น ๆ ยินยอมให้ดำเนินการ

โดยสถิติโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ โครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 51 โครงการ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะกักเก็บได้ 361,966 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี โครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต 8 โครงการ ปริมาณคาร์บอนเครดิต 123,708 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ เป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ประมวลรัษฎาภรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อบก. ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2570

ผลึก อาจหาญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ได้มีการตั้งธนาคารต้นไม้ โดยเริ่มจากครอบครัวละ 9 ต้น ทำให้ชุมชนเกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นในชุมชนทั่วประเทศ สร้างรายได้ไปกว่าปีละ 100 ล้านบาท และได้มีการร่วมกับ อบก. ในการให้ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตมากขึ้น และได้มีการตั้งงบสนับสนุนชุมชน 100 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในชุมชนไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันได้อีกด้วย โดยปัจจุบันมีต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 200 ชนิดที่รับเป็นหลักประกันซึ่งมีราคากลางในการประเมินต้นไม้ได้ โดยปัจจุบันนั้นมีผู้รับสินเชื่อเป็นวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาทแล้ว

ประสิทธิ์ เกิดโต รองผู้อำนวยการกรรมการผู้จัดการ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวว่า บทบาทของป่าไม้สามารถเพิ่มเป็นพื้นที่เศรษฐกิจได้ ต้องปลูกแล้วสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ อย่าง ยางพารา ไม้สัก ยูคาลิปตัส ในส่วนคาร์บอนเครดิตนั้นเป็นรายได้เสริมโดยมีค่าเฉลี่ยคือ 259 บาท และมีการประมาณรายได้ 120 ล้านบาท ในพื้นที่ 2 แสนไร่ ยิ่งมีพื้นที่มากยิ่งได้ต้นทุนการตรวจที่ลดลงอีกด้วย

จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่า ธุรกิจปลูกป่าทำรายได้ 18% ต่อปี ถือเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน ซึ่งมีการให้คาร์บอนเครดิตที่สูง โดย 70% ของคาร์บอนเครดิตมาจาก ยางพารามากถึง 120 ล้านตันคาร์บอนซึ่งเป็นการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อความยั่งยืนในการดูดซับคาร์บอนและสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนที่มีส่วนร่วมอีกด้วย

เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเป็นสองสิ่งนี้อาจสวนทางกันแต่ปัจจุบัน ‘คาร์บอนเครดิตจากป่าไม้’ อาจเป็นคำตอบของสองสิ่งให้อยู่ร่วมกันได้อย่างดีด้วย

'วิทยา' จี้!! 'ก.ทรัพย์ฯ' ฟื้นโรงเรียนป่าไม้แพร่ หลังถูกปิดมาร่วม 30 ปี หวังผลิตบุคลากรที่มีจิตวิญญาณพิทักษ์รักษาป่าไม้อย่างแท้จริง

“วิทยา แก้วภราดัย” จี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯฟื้นโรงเรียนป่าไม้แพร่ขึ้นมาใหม่ หลังถูกปิดมาร่วม30 ปี เพื่อผลิตบุคลากรที่มีจิตวิญญาณพิทักษ์รักษาป่าไม้อย่างแท้จริง

(21 มี.ค. 67) นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระที่ 2 เรียงตามรายมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยนายวิทยาอภิปรายถึงเหตุผลที่ได้แปรญัตติ ตัดงบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ 5% ว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ตั้งมากว่า 20 ปี ในสายตาประชาชนมองกระทรวงนี้เขานึกถึงอะไร มีเพื่อนสมาชิกอภิปรายถึงช้าง และปริมาณช้างที่ล้นป่า บางคนนึกถึงสิ่งแวดล้อมธรรมชาติของโลกที่เริ่มสูญเสียความสมดุล

ทั้งนี้ พระเอกจริง ๆ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็คือกรมป่าไม้เดิมเป็นกรมป่าไม้ที่ดูป่าทุกประเภทในประเทศไทย เป็นกรมที่ใหญ่มาก วันที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมโลกด้วยการสร้างป่าให้มากที่สุด เราก็ได้ยินทะเลาะกันบ่อย เรื่องเขตป่าอุทยาน เขตป่าสงวน เขตที่จะเป็นสปก. ทะเลาะกันข้ามกระทรวง วันที่กรมป่าไม้ยุบมาอยู่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กรมป่าไม้กลายเป็นกรมเล็ก ๆ ที่ดูแลป่าสงวน กรมอุทยานแห่งชาติก็เติบโตขึ้นมาดูแลเกือบทุกอย่าง กรมอุทยานชายฝั่งดูแลป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ดูแลทรัพยากรในทะเล แต่เราได้สร้างบุคลากรที่จะพิทักษ์ป่าจริง ๆ หรือไม่

นายวิทยา กล่าวว่า มีข้าราชการกี่คนในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่เรียนรู้เรื่องป่าไม้จริง ๆ มีกี่คนที่ออกไปดับไฟป่ากับเพื่อน ๆ มีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกี่คนที่ผ่านหลักสูตรป่าไม้อย่างแท้จริง โรงเรียนป่าไม้ของประเทศไทยปิดไปร่วม 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2536 โรงเรียนป่าไม้ตั้งมาในปี 2480 รักษาความเป็นโรงเรียนป่าไม้ ผลิตนักเรียนป่าไม้ส่งไปพิทักษ์ป่าทั่วประเทศ แต่วันนี้โรงเรียนป่าไม้ปิดไป กรรมาธิการฯเคยถามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯคิดจะฟื้นโรงเรียนป่าไม้ขึ้นมาบ้างหรือไม่ วันนี้เรามีนักเรียนวนศาสตร์เพียงพอหรือไม่

“วันนี้มีพนักงานป่าไม้ที่ไปดับไฟป่าอยู่ทั้งหมดเป็นลูกจ้าง ไม่ได้จบหลักสูตรการป่าไม้ ไม่ได้สวมวิญญาณคนพิทักษ์ป่าอย่างแท้จริง เป็นลูกจ้างในระบบราชการทํางานกินเบี้ยเลี้ยงไปตลอด แต่เรากลับทิ้งโรงเรียนป่าไม้แพร่ให้ล้างมา 30 กว่าปี ผมไปเยี่ยมโรงเรียนป่าไม้แพร่เมื่อ 3- 4เดือนที่แล้ว พื้นที่ยังอยู่เรียบร้อย มีป่าสําหรับโรงเรียนป่าไม้ฝึกนักเรียนอยู่ 4-5 พันไร่อยู่ในจังหวัดแพร่ โรงเรียนป่าไม้แพร่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ขอถามกรรมาธิการฯ เคยถามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่ว่า อยากสร้างนักวิชาการป่าไม้ หรือ จะสร้างนักปฏิบัติการป่าไม้” นายวิทยากล่าว

สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า อีก 2 ปีข้างหน้า คนที่จบหลักสูตรป่าไม้แพร่ทั้งหมดกําลังจะหมดไปจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ตนเคยพูดหลายครั้งทั้งในกรรมาธิการงบประมาณ เคยอภิปรายในสภาฯ ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับการสนองตอบ จึงขอถามกรรมาธิการฯ ว่า เคยไปทวงถามโรงเรียนป่าไม้แพร่เพื่อมาพิทักษ์ป่ากันหรือไม่ ถ้ามีโอกาสรมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ฟัง ควรกลับไปดูแลได้แล้ว ใช้งบประมาณคงไม่มาก บุคลากรก็พร้อมในการที่จะสร้างโรงเรียนป่าไม้แพร่ขึ้นมา

ผลงานชัด!! 'เฉลิมชัย' เพิ่งทำงาน 4 เดือน บริหารเชิงรุกทุกปัญหา ปกป้องป่าไม้ – สู้ไฟป่าสำเร็จ ลดขั้นตอนอนุญาตให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน 'อภิชาติ' ชี้คำวิจารณ์คลาดเคลื่อนข้อเท็จจริง

นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ที่ปรึกษา รมว.ทส.) กล่าวถึงกรณีมีผู้วิพากษ์วิจารณ์พาดพิงการทำงานของรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า 1 ปี 3 เดือน แล้ว ป่าสงวนถูกบุกรุกทำลาย ปล่อยไฟไหม้เป็นแสนๆ ไร่ มีปัญญาป้องกันรักษาหรือไม่ หรือจะปล่อยให้ป่าอนุรักษ์ถูกบุกรุกทำลายอย่างนี้ทุกวัน เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า เป็นการวิจารณ์ที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทส. เข้ามารับผิดชอบบริหารราชการแผ่นดิน ในรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2567 นับเวลาถึงบัดนี้เป็นเวลาเพียง 4 เดือนเศษ ได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งไม่พบว่ามีการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

โดยจากสถิติของสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ พบการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ คดีบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นข้อมูลระหว่างวันที่ 10 กันยายน 2567 ถึงปัจจุบัน (21 มกราคม 2568) มีทั้งหมด 388 คดี รวมพื้นที่บุกรุก เป็นจำนวน 3,845.52 ไร่ แยกเป็นป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เน้นการควบคุมการทำไม้หวงห้าม การควบคุมการเก็บหาของป่า และการควบคุมการบุกรุกยึดถือครอบครองป่า จำนวน 61 คดี พื้นที่ 398.52 ไร่ ป่าชุมชน จำนวน 7 คดี พื้นที่ 54.82 ไร่ ป่าถาวร จำนวน 12 คดี พื้นที่ 65.24 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 297 คดี พื้นที่ 2,944.72 ไร่ และพื้นที่นอกเขตป่า 11 คดี พื้นที่ 382.23 ไร่ ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นการบุกรุก กระทำผิดรายเล็ก รายน้อย มีเพียง 9 คดีที่เป็นการบุกรุกรายใหญ่ ซึ่งทุกคดีเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ขณะเดียวกัน ดร.เฉลิมชัย ได้เร่งรัดแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่ป่าอย่างจริงจังตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้แนวทาง “คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งอำนวยความสะดวกในการพิจารณาเห็นชอบของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าของกรมป่าไม้ตามขั้นตอนให้รวดเร็วขึ้น ในเรื่องการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ เดิมนั้นต้องยื่นคำขอกับสำนักงานทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ และให้อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้ลงนามอนุมัติ ขณะนี้ได้ปรับปรุงกระบวนการให้รวดเร็วขึ้นโดยมอบอำนาจให้ สำนักงานป่าไม้เขต 13 เขตทั่วประเทศ หรือตัวแทนป่าไม้เขตอีก 10 สาขา สามารถลงนามอนุมัติได้ ทำให้กระบวนการอนุมัติคำขอสั้นลงและมีความรวดเร็วภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เป็นเหตุทำให้พื้นที่ป่าไม้ ทั้งป่าสงวน และป่าอนุรักษ์ ถูกบุกรุกทำลายเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด 

ทั้งนี้เมื่อ ดร.เฉลิมชัย เข้ารับตำแหน่ง พบว่ามีการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ จากหน่วยงานของรัฐ รอการพิจารณาอนุมัติ มากถึง 137,000 คำขอ จึงได้เร่งรัดการพิจารณาอนุญาตจนสำเร็จไปแล้วเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท 

ประเภทที่ 1 เป็นการขออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 – ปัจจุบัน ซึ่งได้ดำเนินการอนุญาตไปแล้ว จำนวน 8,162 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 7,336,787 ไร่ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 7,486 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 7,167,801 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าตามมาตรา 4 (1) จำนวน 676 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 168,986 ไร่ 

ประเภทที่ 2 เป็นการอนุญาตตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่มีการออกหนังสืออนุญาตแล้วจำนวน 523 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 2,807,424 ไร่ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน 144 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 842,871 ไร่ 

ประเภทที่ 3 เป็นคำขอตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เพื่อให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ได้เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ โดยมีการยื่นคำขออนุญาตจำนวน 137,444 คำขอ มีการอนุญาตแล้ว จำนวน 2,582 คำขอ แบ่งเป็นคำขอที่ยื่นตามมติ ครม.ฯ จำนวน 2,430 คำขอ และเป็นคำขอที่ยื่นก่อนมติ ครม.ฯ จำนวน 152 คำขอ 

ประเภทที่ 4 คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้เห็นชอบคำขอตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 กรณีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ที่ได้เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต ในคราวประชุมฯ ครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 จำนวน 5,407 คำขอ แบ่งเป็น คำขอที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบ จำนวน 64 คำขอ และคำขอที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบในหลักการ จำนวน 5,343 คำขอ 

ที่ปรึกษา รมว. ทส. กล่าวว่า จากการดูรายละเอียดคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ พบว่าเป็นคำขอจากหน่วยงานราชการ ตั้งแต่ระดับกรม ไปจนถึงระดับ อบต. สถาบันการศึกษาของรัฐ กฟผ. และเมื่อพิจารณาที่วัตถุประสงค์ของการใช้พื้นที่พบว่า เป็นการขออนุญาตเพื่อเข้าทำประโยชน์ให้กับประชาชนในวงกว้าง ตั้งแต่ การก่อสร้างโรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุข รพ.สต. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน ทางรถไฟ ทางสาธารณประโยชน์ กิจการโทรคมนาคม ก่อสร้างโรงเรียน ขยายระบบประปาหมู่บ้าน สร้างอ่างเก็บน้ำ ขยายเขตไฟฟ้า และเป็นโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลเป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐในลักษณะแปลงรวม ดำเนินการภายใต้ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) อันจะเห็นได้ว่าเป็นการเร่งรัดคำขอทั้งหมดเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยเร็ว 

นายอภิชาต ยังเพิ่มเติมต่อไปว่า สำหรับปัญหาไฟป่า เมื่อ ดร.เฉลิมชัย  เข้ารับตำแหน่งช่วงแรก ๆ เห็นว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งมักเกิดปัญหาไฟป่า ในเดือนพฤศจิกายน 2567  จึงได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมการป้องกันและรับมือปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดจนเปิดศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อคอยเฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่า และหมอกควันที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าที่ประสบปัญหาไฟป่าซ้ำซาก 140 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 129 แห่ง และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 11 แห่ง ใน 39 จังหวัด และยังครอบคลุมพื้นที่ป่าแปลงใหญ่เสี่ยงเผาไหม้ทั้ง 14 กลุ่มป่า ในรอบ 4 เดือนเศษ พบว่า มีเพียง 1 ครั้งที่จัดว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ คือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน บริเวณ "เขาลอย" ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่เกิดเหตุไฟไหม้ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2568 สร้างความเสียหายกว่า 1,500 ไร่ สาเหตุของไฟป่าครั้งนี้อาจเกิดจากการเผาป่าเพื่อต้อนสัตว์ป่าสำหรับลักลอบล่าสัตว์ ส่วนไฟไหม้ที่บริเวณป่าอื่นๆ เจ้าหน้าที่สามารถดับไฟได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ละแห่งมีพื้นที่เสียหายไม่เกิน 30 ไร่ 

“ทุกครั้งที่เกิดไฟป่า ดร.เฉลิมชัย ได้สั่งการให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เข้าปฏิบัติการดับไฟป่าทันที พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ และงบประมาณที่จำเป็นอย่างเพียงพอ จนสามารถดับไฟป่าได้เสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสั้น และจำกัดความเสียหายในระดับต่ำสุด” นายอภิชาต กล่าวและว่า นอกจากนี้ ดร.เฉลิมชัย ยังทำงานเชิงรุก แก้ไขปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยการลงพื้นที่พร้อมสั่งการให้หน่วยปฏิบัติซักซ้อมแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือในทุกกรณีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกระทรวง ทส. ยังได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ นโยบายและการปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าวข้างต้นเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางผ่านสื่อมวลชน และยังใช้อีกหลายโอกาสตอบชี้แจงกระทู้ถามของ สส. ในสภาตลอดมา 

นายอภิชาต กล่าวด้วยว่า ในรอบ 4 เดือนเศษ ขอยืนยันว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การบริหารจัดการอย่างจริงจังและต่อเนื่องของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มีผลงานมากมาย อาทิ การช่วยน้ำท่วมภาคเหนือ ภาคใต้หลายจังหวัด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ส่งรถทำอาหารเคลื่อนที่ พร้อมน้ำดื่มช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเข้าติดตามสถานการณ์หลังน้ำลด เพื่อสนับสนุนการกำจัดขยะหลังน้ำท่วม และแหล่งน้ำขังเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย อนุรักษ์พะยูน-ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติพะยูนเกยตื้น เฝ้าติดตามการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ตั้งวอร์รูมเร่งผลักดันช้างกลับเข้าป่า เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ปรับปรุงสวัสดิการเสี่ยงภัย และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในสังกัดเพื่อรับมือเผชิญเหตุสัตว์ป่า การติดตั้งเครื่องตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดิน ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงกว่า 600 สถานีทั่วประเทศ พร้อมป้องกัน เฝ้าระวัง และเตือนภัย ในพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่ม ลดความเสี่ยงจากธรณีพิบัติภัยแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เสริมเขี้ยวเล็บ กรมอุทยานฯ โดยขอรับการสนับสนุนอาวุธปืน เสริมประสิทธิภาพการป้องกัน และดำเนินคดีอย่างจริงจังกับผู้ลักลอบตัดไม้ ล่า-ค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดได้ปฏิบัติงานอย่างเข้มข้น เพื่อปราบปรามการกระทำผิด ต่อต้านขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติอย่างเข้มข้น และนำไปสู่การส่งคืน “ลีเมอร์ - เต่า” สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์กว่า 900 ตัว กลับสู่ถิ่นกำเนิด “มาดากัสการ์” สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนในการประชุม COP29 พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ฯลฯ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top