Wednesday, 23 April 2025
ป่าทับลาน

‘อภิศักดิ์’ ลั่น!! ไม่ได้เพิกถอนที่ดินป่าชั้นใน แต่เฉือนแค่รอบนอก เหตุเขตอุทยานไปทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน เรื้อรังกว่า 40 ปี

(9 ก.ค.67) จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นทีอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งจะต้องเฉือนพื้นที่ป่า จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งกรมอุทยานฯ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม สามารถแสดงความคิดเห็นได้ผ่านเว็บไซต์ของอุทยาน ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ซึ่งกระแสโซเชียลต่างเคลื่อนไหวอย่างหนัก แห่ #saveทับลาน ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

ล่าสุด ในโลกออนไลน์เฟซบุ๊กชื่อว่า Apisak Sukkasem หรือ นายอภิศักดิ์ สุขเกษม ตำแหน่งที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรรมการบริหารสัดส่วนภาคกลาง ที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สนนท.ได้โพสต์ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวอีกแง่มุมหนึ่ง ระบุว่า…

'เรื่องป่าทับลานนั้น ไม่ได้เพิกถอนสภาพที่ดินอุทยานในป่าชั้นในที่เป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าที่สัตว์อาศัยอยู่นะครับ แต่เป็นการเพิกถอนแนวเขตที่อุทยานทับลานไปประกาศทับซ้อนกับที่ดินชาวบ้าน และที่ดินราชพัสดุครับ 260,000 กว่าไร่คือแนว ‘รอบนอก’ ที่เป็นปัญหามาตั้งแต่ปี 2524'

'เรื่องเพิกถอนป่าทับลานที่เป็นดรามาอยู่ตอนนี้ หาข้อมูลที่มาที่ไปดี ๆ ก่อนไปลงชื่อคัดค้านนะครับ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปค่อนข้างมาก เป็นปัญหาเรื่องการประกาศที่อุทยานทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้านมาตั้งแต่ปี 2524'

#SAVEทับลาน สะท้อนปัญหาที่ดินทับซ้อนในสังคมไทย รัฐต้องคำนึง ‘สิทธิชุมชน’ ควบคู่ ‘อนุรักษ์ป่าไม้’ ของชาติ

(11 ก.ค. 67) มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท.) เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ ‘ทับลาน’ โดยระบุว่า…ในช่วงสัปดาห์นี้ ในแวดวงผู้สนใจเรื่องทรัพยากรป่าไม้คงไม่มีกระแสใดแรงเท่า #SAVEทับลาน ที่ปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อต่าง ๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย การปะทะทางความคิดของกลุ่มที่ต้องการอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้กับกลุ่มที่มีความเห็นว่าชุมชนที่อยู่มาก่อนมีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติควรมีสิทธิเหนือที่ดินนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้นและเป็นที่จับตาของผู้คนในสังคม

ที่มาของแฮชแท็ก #SAVEทับลาน เกิดจากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566 เห็นชอบแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ซึ่งจะมีผลให้เนื้อที่อุทยานลดลงประมาณ 265,000 ไร่ จึงทำให้ประชาชนที่เป็นห่วงทรัพยากรป่าไม้ของประเทศออกมาแสดงความคิดเห็นและคัดค้านการใช้เส้นปรับปรุงแนวเขตดังกล่าว

ปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างพื้นที่ทำกินของชุมชน พื้นที่ป่าไม้ หรือพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นป่าอนุรักษ์เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่เฉพาะกับอุทยานแห่งชาติทับลานเท่านั้น ต้นตอของปัญหาส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน เกิดจากการที่ราษฎรเข้าไปบุกเบิกแผ้วถางทำกินในพื้นที่ซึ่งในขณะนั้นอาจเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามพรบ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 หรือพื้นที่ป่าสงวน บางพื้นที่การเกิดขึ้นของชุมชนอาจเกิดจากนโยบายของรัฐเป็นตัวกระตุ้น เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การย้ายถิ่นฐานที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น 

แต่เมื่อมีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ อาจด้วยระยะเวลาในการดำเนินงานที่จำกัด เทคโนโลยีที่ยังไม่ก้าวหน้า หรือด้วยอีกหลายปัจจัย ทำให้เกิดแนวเขตซ้อนทับกับที่ทำกินของชุมชน หรืออีกประการหนึ่งคือการที่ราษฎรบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ จนทำให้พื้นที่ไม่คงสภาพป่า จึงมีการมอบพื้นที่นั้นให้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) นำไปจัดสรรให้แก่เกษตรกรเพื่อประกอบอาชีพทางการเกษตรต่อไป และแม้ว่าเงื่อนไขของที่ดินสปก.นั้นห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือและมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่บริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน จะเห็นโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ตั้งอยู่ในพื้นที่สปก.จำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ในกรณีของอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น การยกเลิกแนวเขตเดิมและใช้แนวเขตใหม่จะทำให้พื้นที่ 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อนกับ สปก. กลุ่มที่อยู่อาศัยมาก่อนมติครม. 2541-2557 และกลุ่มนายทุนที่มีคดีความอยู่กว่า 400 คดี อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติโดยอัตโนมัติ ซึ่งเสียงจากคนในพื้นที่ระบุว่าพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าแต่อย่างใด และคนในพื้นที่เองก็ต้องการให้มีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯ เพื่อการแก้ไขปัญหาแนวเขตทับซ้อนอย่างจริงจัง

ความตั้งใจในการรักษาพื้นที่ป่าไม้ของชาติไว้เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่สิทธิของชุมชนก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพื้นที่ที่จะถูกกันออกไม่มีสภาพเป็นป่าแล้วก็ควรจะส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ในส่วนของพื้นที่ที่มีคดีความเรื่องการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และหากชุมชนสามารถพิสูจน์ได้ว่าตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ หรือก่อนมติครม. 2541-2557 ก็ควรมีสิทธิได้รับความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยเช่นกัน แต่รัฐควรส่งเสริมอาชีพ และการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บนฐานการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน โดยเร่งรีบดำเนินการพิสูจน์สิทธิในที่ดินควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นและเป็นธรรม 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top