Wednesday, 7 May 2025
ปุ๋ยคนละครึ่ง

‘พปชร.’ ชูนโยบาย ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ พร้อมตั้งกองทุนปุ๋ยประชารัฐ ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูก เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

(28 เม.ย.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ โฆษกคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคพปชร. กล่าวว่า มีนโยบายปุ๋ยคนละครึ่ง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ให้ครอบคลุมเกษตรกร จำนวน 8 ล้านครัวเรือน สามารถซื้อปุ๋ยได้ในราคาถูก โดยรัฐบาลจะช่วยอุดหนุน 50 % และจะตั้งกองทุนปุ๋ยประชารัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพ ลดต้นทุนการเพาะปลูก ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน จึงขอฝากเลือกพรรคพปชร.และผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคทุกเขตทั่วทั้งประเทศ เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง และพลิกฟื้นเศรษฐกิจ พลิกโฉมประเทศไทย เพื่อก้าวหน้าไปอย่างยั่งยืน  

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ให้ความสำคัญกับเกษตรกรทุกกลุ่ม มีนโยบายด้านการเกษตรออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ฉะนั้นเกษตรกรไทยจึงควรทำให้พืชผลทางการเกษตรมีศักยภาพในการแข่งขัน โดยรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยดูแลให้เกษตรกรมีต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำ อีกทั้ง จำหน่ายผลผลิตเกษตรให้ได้ในราคาสูง” 

'รัฐบาล' ไฟเขียว!! ช่วยเหลือค่าปุ๋ยชาวนา 3 หมื่นล้านบาท อุ้มเกษตรกร 4.48 ล้านครัวเรือน รอชง ‘ครม.’ ภายใน มิ.ย.นี้

(14 มิ.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตามที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้เสนอ

โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือเกษตรกรในการซื้อปุ๋ยครึ่งหนึ่ง และเกษตรกรออกเองอีกครึ่งหนึ่ง รวมวงเงินที่จะใช้ดำเนินการทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท มีปุ๋ยรวมทั้งหมด 14 สูตร ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อให้โครงการสามารถเริ่มได้ทันฤดูการผลิตปี 67/68

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการลดต้นทุนการปลูกข้าวให้เกษตรกร โดยรัฐบาลจะสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ ไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้กับเกษตรกร ในปีการผลิต 67/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งมีเกษตรกรปลูกข้าวทั่วไปประมาณ 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 54 ล้านไร่ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 0.20 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 120 ล้านไร่

ไขข้อข้องใจ!! ทำไมชาวนายี้ ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ ชี้!! ‘แจกไร่ละพัน’ ยุคลุงตู่ดูตอบโจทย์กว่า

(16 ก.ค. 67) นายชัชวาลย์ แพทยาไทย สส. จังหวัดร้อยเอ็ด และเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ Zoom กับรายการ ‘สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง’ ทางช่องยูทูบแนวหน้าออนไลน์ ในประเด็นโครงการ ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ ว่า เป็นเรื่องน่าดีใจที่รัฐบาลยอมถอยโครงการดังกล่าว เพราะแม้ปุ๋ยคนละครึ่งจะเป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนหลักคิดที่ดี แต่แนวปฏิบัติและห้วงเวลาที่เปิดตัวนโยบายออกมายังไม่เหมาะสม จึงทำให้เกษตรกรกังวลและส่งเสียงไปถึงรัฐบาล และยังดีที่รัฐบาลฟังและคิดทบทวน

ส่วนกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาบอกว่าโครงการมีปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการเมืองท้องถิ่นและผลประโยชน์ ตนมองว่าไม่น่าจะจริง เพราะปุ๋ยคนละครึ่งเป็นโครงการที่เริ่มต้นเป็นปีแรก จึงยังมองไม่เห็นว่าใครจะเสียผลประโยชน์ แต่หากมองย้อนไปในปีก่อน ๆ ที่รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น โครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เป็นการมอบเงินโดยตรงถึงเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช่โครงการจัดซื้อ-จัดหา จึงไม่น่าจะมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน มีแต่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์

“ทีนี้พอกลับมาถึงปีนี้ ซึ่งตอนต้นแว่วว่าโครงการไร่ละ 1,000 อาจจะไม่มีถ้ามีโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ฉะนั้นคำพูดที่บอกว่าถ้ามีปุ๋ยคนละครึ่งแล้วจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งที่ได้รับประโยชน์เสียประโยชน์ ผมว่าคงไม่มีกลุ่มการเมืองที่ไหนที่ได้หรือเสีย มีแต่ชาวนาที่ได้เต็ม ๆ” นายชัชวาลย์ กล่าว

นายชัชวาลย์ กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ชาวนาพอใจมากที่สุดในห้วงที่ผ่านมาคือโครงการไร่ละ 1,000 บาท ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้เขาเคยช่วยเหลือมาน่าจะสัก 4 หรือ 5 ปี ซึ่งการอุดหนุนไร่ละ 1,000 บาท เป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรได้มาก เพราะต้นทุนของเกษตรกรไม่ได้มีเฉพาะค่าปุ๋ย เช่น หากเป็นการทำนาหว่าน จะมีทั้งค่าไถ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเคมีภัณฑ์ ค่าเกี่ยว ค่าปุ๋ย ค่าขนส่ง ยังไม่รวมค่าแรงของเจ้าของนา ดังนั้นการทำนาหว่าน ต้นทุนต่อไร่ถือว่าสูงมาก การเน้นไปแต่เรื่องปุ๋ยอย่างเดียวจึงไม่ตอบโจทย์เท่าใดนัก

ดังนั้นการมอบเงินโดยตรงเพื่ออุดหนุนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 20 ไร่ รวมแล้วคือ 2 หมื่นบาท เกษตรกรสามารถนำเงินไปใช้จ่ายด้านต้นทุนต่าง ๆ ที่กล่าวมาได้ทั้งหมด แต่โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือรวมแล้วคือ 1 หมื่นบาท และช่วยเฉพาะค่าปุ๋ยเท่านั้น อีกทั้งเกษตรกรต้องหาเงินอีกครึ่งหนึ่งมาสมทบเข้าบัญชีและผ่านแอปพลิเคชั่น จึงจะสามารถสั่งซื้อปุ๋ยได้ นั่นทำให้เกษตรกรตั้งคำถามว่าแล้วจะไปเอาเงินจากไหนมาสมทบ

ส่วนที่บอกว่าโครงการนี้มาไม่ถูกช่วงเวลา เพราะในเดือนกรกฎาคม เกษตรกรที่นำนาปีบางคนเขาหว่านปุ๋ยไปแล้ว 2 รอบ และรอบที่ 3 ที่เรียกว่าหว่านรับรวง จะอยู่ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม แต่โครงการปุ๋ยคนละครึ่งก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ กำหนดการยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาตอนไหน ดังนั้นเกษตรกรบางส่วนจึงมองว่าต่อให้โครงการออกมาก็ไม่สามารถนำปู๋ยไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ยังมีประเด็นข้อจำกัดเรื่องยี่ห้อปุ๋ยซึ่งเกษตรกรไม่สามารถเลือกได้ หากเกษตรกรเคยใช้ยี่ห้อที่ขายในท้องตลาดแล้วไม่มี ก็ต้องใช้ยี่ห้อที่รัฐบาลกำหนด

“สูตรปุ๋ยเลือกได้ แต่บางทีก็ต้องยอมรับว่าความมั่นใจในเรื่องของแบรนด์สินค้า อย่าลืมว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินของเขา เป็นเงินของชาวบ้าน แล้วรัฐบาลให้อีกครึ่งเดียว อีกครึ่งเขาหามา เขาไม่ได้มีสิทธิ์เลือกเลย ไม่มีสิทธิ์เลือกปุ๋ยยี่ห้ออะไร ยี่ห้อที่เขาเคยใช้มา เขามาใช้ยี่ห้อที่กรมวิชาการเกษตรรับรอง กรมการข้าวรับรอง ทั้ง ๆ เป็นยี่ห้อเกิดใหม่ เขาก็ไม่มีความมั่นใจ” นายชัชวาลย์ ระบุ

นายชัชวาลย์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่รัฐบาลบอกว่ามีผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยให้เลือกมาก 40-50 เจ้า ตนอธิบายว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสูตรปุ๋ย แต่เท่าที่ถามเกษตรกร ส่วนใหญ่หากเคยใช้ยี่ห้อใดก็จะใช้ยี่ห้อนั้นต่อไป เกษตรกรจึงหนักใจว่ายี่ห้อใหม่ที่จะเข้ามาคือยี่ห้ออะไร ยี่ห้อที่ไม่เคยพบเคยเห็นหรือเปล่า อีกทั้งปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดเผยยี่ห้อของปุ๋ยต่อสาธารณะ ขณะที่อีกเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลบอกว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตด้วยการยิงตรงอย่างแม่นยำ ตนก็ต้องบอกว่า การเพิ่มผลผลิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับปุ๋ยเพียงอย่างเดียว

โดยการทำนามีปัจจัยสำคัญคือ 1.น้ำ แต่พื้นที่ที่ระบบชลประทานเข้าไม่ถึง ตนคาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 60-70 ของประเทศ อย่างบริเวณที่ตนอยู่ คือทุ่งกุลาร้องไห้ ทำเกษตรโดยใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว 2.ดิน 3.เมล็ดพันธุ์ ในขณะที่ปุ๋ยเป็นปัจจัยลำดับที่ 4 และต้องไม่ลืมว่าทางเลือกของเกษตรกรไม่ได้มีแต่ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ก็มีเกษตรกรที่ใช้อยู่แล้วเพื่อลดต้นทุน โดยนำมาใช้รองพื้น ขณะที่ปุ๋ยเคมีนำมาใช้เสริมในช่วงรับรวง 

ส่วนเรื่องเกษตรแม่นยำ ตนต้องถามรัฐบาลว่า ณ เวลานี้ หน่วยงานที่ถูกอ้างถึงบ่อย ๆ คือหมอดิน ที่เป็นอาสาสมัครในแต่ละพื้นที่ระดับหมู่บ้านหรือตำบล คนกลุ่มนี้มีความรู้และเครื่องมือเพียงพอมาก-น้อยเพียงใด อย่างเครื่องวัดค่ากรด-ด่าง (PH) ของดิน ซึ่งเป็นค่าที่เกษตรกรต้องรู้ก่อนตัดสินใจเลือกใช้ปุ๋ย เพื่อให้สูตรปุ๋ยที่ใช้เหมาะสมกับดินในแปลงของตนเอง หากอ้างเรื่องเกษตรแม่นยำ แต่คนในฟันเฟืองที่มีหน้าที่ผลักดันยังไม่มีเครื่องมือ ตนจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นการกล่าวอ้างที่เกินไป

‘สส.รัฐบาล 2 พรรค’ ร่วมค้าน ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ ลั่น!! ชาวนาขอคง ‘ไร่ละพัน’ ตอบโจทย์กว่า

(18 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ได้เปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ โดยนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย หารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ว่า… 

“เรื่องแมลงหวี่ขาว ซึ่งตอนนี้ระบาดหนักใน 7 อำเภอ ของ จ.อ่างทอง มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายนับหมื่นไร่ ปกติชาวนาจะเจอเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลหนักอยู่แล้ว ตอนนี้มาเจอแมลงหวี่ขาวอีก แม้จะฉีดยาฆ่าแมลง 2-3 รอบแล้วก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ บวกกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าปุ๋ย ค่ายา และความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิต จึงขอฝากไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาว ในการให้ความรู้กับเกษตรกร”

นายกรวีร์ กล่าวต่อว่า เรื่องโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งเป็นโครงการหลักของรัฐบาลที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวนาที่จะช่วยเหลือค่าปุ๋ย ไร่ละไม่เกิน 500 บาท สูงสุด 20 ไร่ เป็นเงิน 1 หมื่นบาท ซึ่งมีปัญหามากมาย ทั้งการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน สูตรปุ๋ยที่อาจจะไม่ตรงใจกับชาวนา ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ที่สำคัญคือ เงินที่พี่น้องเกษตรกรจะต้องนำไปซื้อปุ๋ยและต้องสำรองจ่ายก่อนครึ่งหนึ่ง

“พี่น้องชาวนาฝากให้ผมมาพูดว่าอยากให้รัฐบาลได้ทบทวน และถ้าเป็นไปได้พี่น้องเกษตรกรอยากได้การช่วยเหลือแบบไร่ละพันเหมือนเดิมที่ผ่านมา เอาปุ๋ยคนละครึ่งคืนไป เอาไร่ละพันกลับมา” นายกรวีร์ กล่าว

นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย หารือว่า ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจต่อเกษตรกร ขอให้ยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แต่โครงการเยียวยาชาวนาไร่ละ 1 พันบาทขอให้คงไว้ตามเดิม

ด้าน นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย หารือว่า ขอยืนยันว่าชาวนาในจังหวัดของตน ก็เป็นกังวลกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่งของรัฐบาลว่าจะตอบโจทย์ช่วยเหลือชาวนาจริงหรือไม่ ถ้าชาวนาไม่มีเงินสมทบเติมเพื่อซื้อปุ๋ยจะทำอย่างไร ตามปกติถ้าชาวนาไม่มีเงินก็จะเชื่อปุ๋ยมาก่อน หรือไม่ก็นำปุ๋ยจากกองทุนหมู่บ้านมาใช้ เมื่อขายผลผลิตได้แล้วจึงนำเงินไปใช้หนี้ แต่สำหรับโครงการนี้กลับต้องนำเงินไปใส่สมทบไว้เสียก่อน นี่คือข้อกังวลของชาวนา

“ซ้ำร้ายกว่านั้นได้ยินมาว่าหากมีโครงการปุ๋ยคนละครึ่งแล้ว จะไม่มีโครงการไร่ละพัน ยิ่งทำให้ชาวนาทุกข์ใจเพิ่มมากขึ้น หากรัฐบาลยังยืนยันจะทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่งอยู่ ชาวบ้านขอเรียกร้องอยากให้โครงการไร่ละพันอยู่เหมือนเดิม เพราะตอบโจทย์ชาวนามากกว่า จึงฝากไปยังรัฐบาลและรมว.เกษตรและสหกรณ์ทบทวนพร้อมชี้แจงให้ประชาชนทราบด้วย” นายทินพล กล่าว

ด้านนายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย หารือว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวนาเกี่ยวกับปุ๋ยคนละครึ่ง ที่รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการ เนื่องจากโครงการนี้แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือกลับเป็นการซ้ำเติม เพราะประชาชนจะต้องไปกู้เงินมาล่วงหน้าเพื่อมาสมทบก่อน และปุ๋ยที่ได้ไม่แน่ใจว่าจะมีคุณภาพ ถูกต้องตรงตามที่ต้องการหรือไม่ และไม่สามารถที่จะนำเงินเหล่านี้ไปใช้ช่วยลดปัจจัยการผลิตด้านอื่น ๆ ได้

และยังกล่าวต่อว่า ไม่เหมือนโครงการไร่ละ1 พันบาท ซึ่งเกษตรกรได้รับเงินโดยตรงไม่ต้องมีหนี้สิน สามารถนำเงินเหล่านั้นไปใช้ลดต้นทุนการผลิต ทั้งค่าเก็บเกี่ยว ค่าไถ ค่าหว่าน ค่าปุ๋ย ได้ทุกอย่างครบวงจร จึงขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและชาวนาได้รับประโยชน์สูงสุดตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วนนายวินัย ภัทรประสิทธิ์ สส.พิจิตร พรรคภูมิใจไทย หารือว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา พี่น้องเกษตรกร อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร ได้ทำหนังสือถึงตนไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แต่อยากได้โครงการเดิมที่รัฐบาลเคยช่วยเหลือพี่น้องชาวไร่ชาวนา ในการเพิ่มผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1 พันบาท จึงอยากฝากหนังสือดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรี ให้รับทราบด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top