Tuesday, 22 April 2025
ปิดโรงงาน

‘Volkswagen’ อาจต้องปิดโรงงานในเยอรมนีเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท หลังสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง-คู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งมากขึ้น

ทีมผู้บริหาร Volkswagen ออกมายอมรับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในวันนี้ กำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบากมาก ที่อาจทำให้หนึ่งในค่ายรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมนีแห่งนี้ ต้องตัดสินใจปิดโรงงาน 2 แห่งในบ้านเกิดตัวเองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาในปี 1937

โดยบอร์ดผู้บริหาร ที่นำโดย โอลิเวอร์ บลูม CEO คนปัจจุบันของ Volkswagen ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (2 กันยายน 67) ที่ผ่านมาว่า ทางบริษัท ไม่สามารถตัดทางเลือกในการปิดโรงงานในเยอรมันออกไปได้ และได้พิจารณามาตรการอื่น ๆ เพื่อรองรับอนาคตไว้แล้ว นั่นรวมถึงความพยายามในการเจรจายุติข้อตกลงคุ้มครองการจ้างงานกับสหภาพแรงงาน ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1994

โอลิเวอร์ บลูม กล่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรปกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตลาดมีความต้องการที่จริงจัง และ ยากลำบากมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในขณะเดียวกัน สภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง และมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดยุโรปมากขึ้น ทำให้เยอรมัน ในฐานะฐานการผลิตรถยนต์กำลังเสียเปรียบในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน  

ผู้บริหาร Volkswagen ยอมรับด้วยว่า VW กำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีนให้กับแบรนด์รถยนต์ EV เจ้าถิ่นอย่าง BYD จนทำให้ยอดขายลดลงในช่วงครึ่งปีแรก 7% ส่งผลต่อกำไรที่ลดลง 11.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และนอกจากผลประกอบการในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Volkswagen จะไม่ดีแล้ว ยังถูกแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีนข้ามมาตีตลาดในยุโรปอีกด้วย 

ปัจจัยเหล่านี้ บีบให้ทีมบริหารของ Volkswagen จำเป็นต้องลดต้นทุน และได้เริ่มกระบวนการลดต้นทุนถึง 1 หมื่นล้านยูโรไปเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา และตอนนี้กำลังจะกลายเป็นแนวทางหลักในการกอบกู้ผลประกอบการโดยรวมของบริษัท ซึ่งแผนการลดต้นทุน จะรวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านโรงงาน ห่วงโซ่อุปทาน และค่าจ้างแรงงาน 

และแน่นอนว่า แผนการลดต้นทุนของ Volkswagen ถูกต่อต้านอย่างหนักจากตัวแทนสหภาพแรงงาน ซึ่งครองที่นั่งเกือบครึ่งหนึ่งในคณะกรรมการกำกับดูแลของบริษัท 

โดยกลุ่ม IG Metall หนึ่งในสหภาพที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเยอรมนี โจมตีการบริหารจัดการที่ผิดพลาดทีมผู้บริหาร Volkswagen จนอาจนำไปสู่แผนการปิดโรงงาน และเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก ว่าเป็นการตัดสินใจที่ขาดความรับผิดชอบ ไร้วิสัยทัศน์ สั่นคลอนรากฐานของ Volkswagen ที่จะส่งผลกระทบต่อระดับการจ้างงาน และ เขตอุตสาหกรรมที่ตั้งโรงงานอย่างรุนแรง พร้อมยืนยันจะต่อสู้เพื่อปกป้องตำแหน่งงานของชาวสหภาพอย่างสุดกำลัง

Volkswagen ถือเป็นหนึ่งผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่มีพนักงานเกือบ 683,000 คนทั่วโลก เฉพาะในเยอรมนี ก็มีการจ้างงานถึง 295,000 ตำแหน่ง ซึ่งนอกเหนือจากแบรนด์ Volkswagen แล้ว ทางบริษัทยังผลิตรถยนต์แบรนด์อื่น ๆ อีก อาทิ Audi, Porsche, Seat, Škoda และอื่น ๆ 

แต่ด้วยสภาพการแข่งขันสูงในตลาดรถยนต์ และอุปสรรคหลายประการของการเปลี่ยนแปลงจากผู้ผลิตรถยนต์สันดาปแบบดั้งเดิมที่มีกำไรมากกว่า ไปสู่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดแต่กำไรน้อยกว่ามาก แถมยังต้องต่อสู้แข่งขันเรื่องราคากับรถยนต์ EV จากจีน ทำให้ Volkswagen กำลังประสบปัญหาเรื่องยอดขายและผลประกอบการที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

นั่นจึงเป็นที่มาของแผนลดต้นทุน และการประกาศจะปิดโรงงาน Audi ในเบลเยียม และล่าสุดอาจต้องถึงขั้นปิดโรงงานอย่างน้อย 1 แห่งในบ้านเกิดตนเองในเยอรมัน เป็นครั้งแรกในรอบ 87 ปี ของการก่อตั้งบริษัท 

ไม่เฉพาะแค่ Volkswagen เท่านั้น ค่ายรถยนต์ทั้งในสหรัฐอเมริกา และ ยุโรปต่างประสบปัญหาเดียวกัน จนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เช่น Ford ได้ประกาศยกเลิกแผนการพัฒนารถยนต์ SUV ไฟฟ้ารุ่นใหม่ และเลื่อนการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าออกไป รวมทั้งค่ายรถยนต์ General Motors, Mercedes-Benz และ Bentley ต่างก็เลื่อนแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกไปเช่นกัน ในขณะที่ Tesla ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้าก็กำลังเผชิญหน้ากับปัญหายอดขายตกต่ำทั้งในตลาดที่สหรัฐอเมริกา และต่างประเทศ

ถึงแม้ว่ารัฐบาลของสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ต่างออกมาร่วมด้วยช่วยกันใช้มาตรการขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า และสินค้าจากจีน สกัดการไหลบ่าของสินค้าจีนเข้าประเทศ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ทว่ามาตรการทางภาษีของรัฐบาลจะได้ผลเร็วพอที่จะยับยั้งแผนการปิดโรงงานของ Volkswagen ได้ทันหรือเปล่าเท่านั้นเอง     

‘โฟล์คสวาเกน’ เตรียมปิด 3 โรงงานในบ้านเกิดเยอรมนี หลังไม่เคยปิดโรงงานกว่า 30 ปี รับแรงกระแทก EV จีน

(29 ต.ค. 67) Volkswagen ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ของเยอรมนีมีแผนจะปิดโรงงานอย่างน้อย 3 แห่งในเยอรมนี สภาแรงงานของบริษัทกล่าวเมื่อวันจันทร์

แผนการปิดโรงงานที่รายงานนี้เป็นมาตรการที่ Volkswagen กล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่าไม่สามารถตัดทิ้งได้ท่ามกลางยอดขายที่ลดลง

สำนักข่าว Reuters อ้างคำพูดของ Daniela Cavallo หัวหน้าสภาแรงงานของ Volkswagen ที่บอกกับพนักงานหลายร้อยคนในเมือง Wolfsburg ว่า "ฝ่ายบริหารจริงจังกับเรื่องนี้มาก นี่ไม่ใช่การขู่เข็ญในการเจรจาต่อรองร่วมกัน"

"นี่คือแผนการของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีที่จะเริ่มการขายกิจการในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิด" Cavallo กล่าวเสริมโดยไม่ได้ระบุว่าโรงงานใดจะได้รับผลกระทบ หรือพนักงานของบริษัทเกือบ 300,000 คนในเยอรมนีอาจถูกเลิกจ้างกี่คน

"โรงงาน Volkswagen ในเยอรมนีทั้งหมดได้รับผลกระทบจากแผนเหล่านี้ ไม่มีแห่งใดปลอดภัย" Cavallo กล่าวขณะที่เธอพูดคุยกับพนักงานของ VW ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในเมือง Wolfsburg Cavallo กล่าวว่าฝ่ายบริหารของ VW ยังเรียกร้องให้ลดเงินเดือนร้อยละ 10 และไม่มีการขึ้นเงินเดือนอื่นๆ ในอีกสองปีข้างหน้า Cavallo และผู้นำแรงงานคนอื่นๆ ใน VW ให้คำมั่นว่าจะต่อต้านการลดเงินเดือนอย่างแข็งกร้าว โดยผู้นำแรงงานของ VW กล่าวว่าบริษัทอยู่ใน "จุดตัดสินใจ" ในประวัติศาสตร์

ในการตอบสนองต่อคำขอความคิดเห็นจาก VW บริษัทกล่าวว่า "ไม่ได้มีส่วนร่วมในการคาดเดาเกี่ยวกับการเจรจาเป็นความลับ" กับสหภาพแรงงาน IG Metall ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัท

"Volkswagen อยู่ในจุดตัดสินใจในประวัติศาสตร์องค์กร สถานการณ์ร้ายแรง และความรับผิดชอบของพันธมิตรในการเจรจาก็มหาศาล" บริษัทกล่าวเสริม

"หากไม่มีมาตรการที่ครอบคลุมเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของเรา เราจะไม่สามารถลงทุนในอนาคตที่จำเป็นได้" แถลงการณ์ดังกล่าวอ้างคำพูดของ Gunnar Kilian เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล “เหตุผลประการหนึ่งในการปรับโครงสร้างใหม่ที่จำเป็นคือข้อเท็จจริงที่ว่าตลาดรถยนต์ในยุโรปหดตัวลงสองล้านคันตั้งแต่ปี 2020 ตลาดกำลังซบเซาและจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ในอนาคตอันใกล้นี้ Volkswagen มีส่วนแบ่งประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ในตลาดนี้ นั่นหมายความว่าบริษัทขาดรถยนต์ประมาณ 500,000 คัน” VW กล่าวในแถลงการณ์ทางอีเมล
สหภาพแรงงานแสดงความไม่พอใจ

สหภาพแรงงาน IG Metall ออกมาประณามข่าวนี้

“นี่เป็นการแทงลึกเข้าไปในหัวใจของพนักงาน VW ที่ทำงานหนัก” สำนักข่าว DPA ของเยอรมนีอ้างคำพูดของ Thorsten Gröger ผู้จัดการเขต IG Metall กล่าว

“เราคาดหวังว่า Volkswagen และคณะกรรมการบริหารจะสรุปแนวคิดที่เป็นไปได้สำหรับอนาคตที่โต๊ะเจรจา แทนที่จะเพ้อฝันถึงการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจนถึงขณะนี้ฝ่ายนายจ้างเสนอเพียงคำพูดที่ว่างเปล่า”

Thomas Schäfer ซีอีโอของ VW กล่าวในแถลงการณ์ว่าต้นทุนของโรงงานในเยอรมนีสูงขึ้นเป็นพิเศษ “เราไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เหมือนอย่างเดิม” นายเชเฟอร์กล่าว “เราไม่มีผลิตภาพเพียงพอที่โรงงานของเราในเยอรมนี และต้นทุนของโรงงานของเราในปัจจุบันสูงกว่าที่เราได้วางแผนไว้ 25% ถึง 50% ซึ่งหมายความว่าโรงงานแต่ละแห่งในเยอรมนีมีราคาแพงกว่าคู่แข่งถึงสองเท่า”

ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกของจีน
VW รายงานว่ากำไรสุทธิลดลง 14% ในช่วงครึ่งแรกของปี และถูกบังคับให้ยกเลิกข้อตกลงด้านความมั่นคงในการทำงานกับสหภาพแรงงานในเยอรมนีซึ่งทำกันมาหลายสิบปี

>>>รัฐบาลเยอรมนีมีปฏิกิริยาอย่างไร

วูล์ฟกัง บึชเนอร์ โฆษกรัฐบาลเยอรมนีกล่าวว่าเบอร์ลินทราบถึงความท้าทายของ VW และได้ติดต่อสื่อสารกับบริษัทและตัวแทนคนงานอย่างใกล้ชิด

“อย่างไรก็ตาม จุดยืนของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ชัดเจน นั่นคือ การตัดสินใจที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหารที่อาจเกิดขึ้นในอดีตไม่ควรส่งผลเสียต่อพนักงาน เป้าหมายในปัจจุบันคือการรักษาและรักษาตำแหน่งงาน” โฆษกกล่าวในการบรรยายสรุปตามปกติ 

ยังไม่ชัดเจนในทันทีว่า Büchner กำลังหมายถึงเรื่องอื้อฉาวที่เรียกว่า dieselgate ที่กลายเป็นคดีอาญาหรือไม่ ซึ่ง Martin Winterkorn อดีต CEO ของ VW ถูกกล่าวหาว่าให้การเท็จ ปั่นราคาตลาด และฉ้อโกงทางการค้า

VW ดำเนินการโรงงานทั้งหมด 10 แห่งในเยอรมนี โดย 6 แห่งตั้งอยู่ใน Lower Saxony 3 แห่งอยู่ในรัฐ Saxony ทางตะวันออก และ 1 แห่งอยู่ในรัฐ Hesse ทางตะวันตก Volkswagen ไม่เคยปิดโรงงานในเยอรมนี และไม่เคยปิดโรงงานที่ใดในโลกเลยมานานกว่าสามทศวรรษ

‘เอกนัฏ’ เอาจริง ลั่น!! ปราบโรงงาน ‘เถื่อน-ผิดกฎหมาย’ ย้ำ!! เร่งบริหารจัดการ กากอุตสาหกรรม อย่างเป็นรูปธรรม

(2 พ.ย. 67) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ได้สั่งการให้ลงพื้นที่บริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกั ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นายอำเภอศรีมหาโพธิ์ เข้าร่วมตรวจสอบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ืได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม โดยบริษัทประกอบกิจการทำเชื้อเพลิงทดแทน สกัดโลหะมีค่าจากน้ำยาชุปโลหะ อบกากตะกอนที่มีโลหะมีค่า บดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นำกรดและด่างที่ใช้แล้วมาผ่านกรรมวิธีทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ทำเชื้อเพลิงผสม ซ่อมและล้างบรรจุภัณฑ์ หลอมหล่อทองแดงจากกากตะกอนของเสียที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบ คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย 

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้มีคำสั่งปิดโรงงานของบริษัทและเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว ซึ่งทางโรงงานได้ฝ่าฝืนคำสั่งและยังคงประกอบกิจการอยู่ จึงได้ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดปราจีนบุรีเข้าตรวจสอบภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมวิศวกรชาวจีนผู้ดูแลโรงงานดำเนินคดี 1 ราย และคนงานต่างด้าว 4 ราย รวมทั้งพบความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) ข้อหาตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต 2) ข้อหาประกอบกิจโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต 3) ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งปิดโรงงาน 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสิ่งของที่ยึดและอายัดไว้ในทุกอาคาร พบว่ามีการสูญหายและมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของออกไปนอกพื้นที่ จึงได้ดำเนินการเอาผิดเพิ่มเติม ดังนี้ 1) ความผิดข้อหาขัดขวางการปฏิบัติงานตามมาตรา 56 พรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 2) ความผิดข้อหาทำลายหรือเคลื่อนย้ายของกลางที่ยึดอายัดตามมาตรา 141 และมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายอาญา 3) เจ้าหน้าที่ดำเนินการนำตัวอย่างวัตถุดิบหรือสิ่งของต่าง ๆ ภายในอาคารมาทดสอบ พบเป็นวัตถุอันตรายและไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจจับได้ทันทีเป็นเหตุให้จับวิศวกรชาวจีนดำเนินคดี และดำเนินคดีกับกรรมการบริษัทและผู้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดอย่างถึงที่สุด

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้เน้นย้ำตามนโยบาย การปฏิรูปอุตสาหกรรม การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน โดยปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อคืนน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้อยู่ระหว่างดำเนินการร่าง พรบ.ว่าด้วยการจัดการกากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับการจัดการกับผู้กระทำผิดต่อไป หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีฯ ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

นิสสันปรับเกมใหญ่!! ปิดโรงงานแรกในไทย ยกเครื่องสายการผลิต เดินหน้าสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์

(14 ก.พ.68) นิสสัน มอเตอร์ ประกาศแผนปรับโครงสร้างการผลิตระดับโลก โดยเตรียมปิดโรงงานประกอบรถยนต์ 3 แห่งในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อลดต้นทุนลง 400,000 ล้านเยน ภายในปีงบประมาณ 2026

แหล่งข่าวจาก บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า โรงงานผลิตรถยนต์แห่งที่ 1 ในประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงงานแรกของนิสสันในประเทศ จะถูกปิดและเปลี่ยนเป็นศูนย์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แทน ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลงถึง 220,000 คันต่อปี

โรงงานแห่งนี้เคยเป็นฐานการผลิตของรถยนต์รุ่น เทียน่า, เอ็กซ์เทรล, ซิลฟี่, โน๊ต, มาร์ช และ อัลเมร่า (โมเดลแรก) ซึ่งหลายรุ่นได้ยุติการจำหน่ายไปแล้ว ปัจจุบันยังมีการผลิตรุ่น อัลเมร่า (โฉมปัจจุบัน) และ คิกส์ ซึ่งทั้งสองรุ่นจะถูกย้ายไปรวมสายการผลิตที่โรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งเดิมเน้นผลิตรถกระบะ นาวารา และ เทอร์ร่า

โรงงานของนิสสันในประเทศไทยตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กม. 21 จังหวัดสมุทรปราการ มีโรงงาน 2 แห่งที่ใช้ผลิตรถยนต์สำหรับตลาดในประเทศและการส่งออกไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก กำลังการผลิตรวมของทั้งสองโรงงานอยู่ที่ 370,000 คันต่อปี โดยแบ่งเป็น:

โรงงานที่ 1 กำลังการผลิต 220,000 คันต่อปี (กำลังจะปิดตัวลง)

โรงงานที่ 2 กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี ซึ่งจะรองรับการผลิตเพิ่มเติมจากโรงงานที่ 1

นอกจากนี้ นิสสันยังได้ลงทุนในโรงงาน นิสสัน พาวเวอร์เทรน ประเทศไทย (Nissan Powertrain Thailand – NPT) ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ โดยถือเป็นโรงงานแรกนอกประเทศญี่ปุ่นที่มีความสามารถในการประกอบระบบขับเคลื่อนอี-พาวเวอร์ ด้วยกำลังการผลิตเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังสูงสุดถึง 580,000 หน่วยต่อปี

หลังการประกาศครั้งนี้ ยังคงต้องติดตามว่านิสสัน ประเทศไทยจะปรับกลยุทธ์ด้านการผลิตและลดต้นทุนอย่างไรเพื่อตอบสนองต่อแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทแม่ และบทบาทของประเทศไทยในแผนธุรกิจระยะยาวของนิสสันจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top