Wednesday, 23 April 2025
ปอดอักเสบ

‘ศ.ดร.อำนวย วีรวรรณ’ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคปอดอักเสบ สิริอายุ 90 ปี

(18 เม.ย. 66) มีรายงานว่า ดร.อำนวย วีรวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เมื่อเวลา 14.30 น. ด้วยโรคปอดอักเสบ ติดเชื้อ สิริอายุ 90 ปี

สำหรับ ดร.อำนวย วีรวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2475 ที่จังหวัดพระนคร สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ (อสช 12677) ปริญญาตรี พาณิชยศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต และปริญญาเอก ด้านการบริหารธุรกิจ ทั้ง 3 ปริญญาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดร.อำนวย วีรวรรณ เคยรับราชการตำแหน่งสูงสุดเป็นปลัดกระทรวงการคลังปี 2518-2520 และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปี 2523-2524 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ปี 2535-2537 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย หลังจากนั้น ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรงการต่างประเทศ ปี 2539 ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.ชวลิต ยงใจยุทธ ช่วงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 - 21 มิถุนายน 2540

ทั้งนี้ ได้มีกำหนดสวดพระอภิธรรม ในวันที่ 19-25 เมษายน 2566 ณ ศาลาสิทธิสยามการ วัดธาตุทอง พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร

สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ จะรายงานให้ทราบต่อไป


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/725189

‘อายุรแพทย์ฯ’ แชร์เคสเด็ก 16 สูบบุหรี่ไฟฟ้าหนัก พบ ‘เจ็บหน้าอก-ปอดแฟบและรั่ว’ เตือน!! เลิกได้เลิกเถอะ

(28 ส.ค. 66) เฟซบุ๊ก ‘นายแพทย์เทวินทร์ ชาคริยานุโยค’ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โพสต์เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ระบุข้อความว่า

"วันนี้มีเรื่องมาเล่าอีกแล้ว เด็กอายุ 16 ปี เจ็บหน้าอก เสียงคุณพยาบาลเสียงใส เดินมาแจ้ง OMG เป็นไปได้ไง ซักประวัติ น้องรูปร่างผอม สูบบุหรี่ไฟฟ้าจัด บอกว่าเจ็บหน้าอกเวลาหายใจ ไม่ได้ยกของหนัก เอกซเรย์ดังรูป วินิจฉัยเป็นอะไรดี

สรุปเป็นลมรั่วในช่องปอดขวา ทำให้ปอดขวาแฟบ ปลายลูกศรคือ ขอบปอดที่แฟบไปรวมกันเป็นก้อนตรงกลาง โดยปอดขวามี 3 พู เลยยู่ไม่เท่ากัน เห็นเป็นก้อนขรุขระ คนไข้จะมาด้วยเหนื่อยหรือเจ็บหน้าอกหายใจไม่สุด ซึ่งเคสนี้มาจากการใช้ Vape หรือพอด หรือ E cigarett บุหรี่ไฟฟ้า

โดยองค์ประกอบ บุหรี่ไฟฟ้าจะมี นิโคตินปริมาณสูง (มากกว่าบุหรี่ปกติ) โพรพิลีนไกลคอล และสารแต่งกลิ่น ที่เป็นเอสเทอร์ไฮโดรคาร์บอน (ทำให้เกิดการอักเสบในระยะสั้น และส่งเสริมการเกิดมะเร็งในระยะยาว) ที่ส่งเสริมการอักเสบในปอดในระดับเซลล์ อีกทั้งการสูบแบบอัดก็มีผลด้วยครับ บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายไม่ยิ่งหย่อนกว่าบุหรี่ธรรมดานะครับ เลิกได้เลิกเถอะ

เพิ่มเติม: ในไทยและต่างประเทศมีรายงานเรื่อย ๆ ครับ เนื่องจากว่าเป็นของใหม่ งานวิจัยระยะยาวแบบ prospective น่าจะมีแต่ค่อนข้างทำยาก เพราะองค์ประกอบของสาร ไม่เหมือนกัน แต่องค์ประกอบหลัก ๆ มีดังกล่าวขั้นต้น เปรียบเทียบ เหมือน การขับรถเร็วครับ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดอุบัติเหตุ แต่ถ้าเกิดก็โทษเพราะขับรถเร็วไงครับ การสัมผัสสารต่าง ๆ พวกนี้ ไม่ได้มีงานวิจัยมารองรับว่าปลอดภัยเหมือนยา แต่มันคุ้มมั้ยที่จะเอาปอดเรา ร่างกายเราไปแลก ร่างกายเรามีค่าประเมินค่าไม่ได้นะครับ เลิกได้เลิก เลิกไม่ได้ไปต่อ หมอพร้อมดูแลรักทุกคน”

‘WHO’ จี้ ‘จีน’ เปิดเผยข้อมูลโรคทางเดินหายใจ หลังพบคลัสเตอร์เด็กป่วย ‘ปอดอักเสบ’ สูงขึ้น

(23 พ.ย. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ร้องขอข้อมูลจากทางการจีนหลังพบการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ และการพบคลัสเตอร์ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบในจีนเพิ่มสูงขึ้น

แถลงการณ์ของ WHO เผยแพร่ในวันก่อนหน้าระบุว่า WHO ได้ร้องขอข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นทางการจากจีนเกี่ยวกับอาการป่วยโรคทางเดินหายใจที่เพิ่มสูงขึ้นและการพบคลัสเตอร์เด็กที่ป่วยเป็นปอดอักเสบ หลังจากมีรายงานว่าในพื้นที่ทางตอนเหนือของจีนมีผู้ป่วยโรคที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนแถลงเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า การป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการยกเลิกมาตรการคุมเข้มโรคโควิด-19 และการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่าง ๆ รวมถึงไข้หวัดใหญ่และการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไปที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก

ด้านนายหวัง ฉวนอี้ รองผู้อำนวยการและหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของปักกิ่ง บอกกับปักกิ่งนิวส์ว่า ปักกิ่งเข้าสู่ฤดูกาลที่มีอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในระดับสูง ซึ่งกำลังแสดงให้เห็นแนวโน้มของเชื้อโรคหลายชนิดที่อยู่ร่วมกัน

ขณะที่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ProMED สื่อและระบบเฝ้าระวังโรคสาธารณะของจีน ยังรายงานว่ามีคลัสเตอร์ของโรคปอดอักเสบที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยในเด็กทางตอนเหนือของจีนด้วย ซึ่ง WHO กล่าวว่ายังไม่ชัดเจนว่ารายงานของ ProMED เกี่ยวข้องกับการแถลงข่าวของทางการจีนหรือไม่ ซึ่ง WHO ต้องการคำชี้แจง นอกจากนี้ WHO ยังร้องขอข้อมูลแนวโน้มของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่แพร่กระจายอยู่ รวมถึงเชื้อไข้หวัดใหญ่, SARS-CoV-2 (โควิด-19) RSV ที่กระทบต่อทารก และเชื้อไมโคพลาสมา ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในธรรมชาติ

‘หมอยง’ เผย สาเหตุเด็กป่วย ‘ปอดบวม-ปอดอักเสบ’ ในจีน คาด เพราะภูมิต้านทานลดลง ชี้!! เป็นการระบาดตามฤดูกาล

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 นศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Yong Poovorawan’ จากบทเรียนของการระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน ทำให้ขณะนี้มีการตระหนักถึงการระบาดของโรคทางเดินหายใจในเด็ก ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง และเมืองเหลียวหนิง โดยระบุว่า…

จากบทเรียนของการระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน ทำให้ขณะนี้มีการตระหนักถึงการระบาดของโรคทางเดินหายใจ ในเด็ก ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง และเมืองเหลียวหนิง

กลุ่มอาการดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็ก มีไข้สูงและมีการอักเสบลงปอด ทางการจีนได้แถลงตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน และจากบทเรียนโควิด 19 องค์การอนามัยโลกจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ และได้ออก Statement ให้ทางการจีนสอบสวนและให้ข้อมูล จนกระทั่ง 22 พฤศจิกายน โดยเฉพาะเรื่องรายละเอียดต่างๆ และมาตรการในการป้องกัน

เมื่อดูตามเหตุการณ์ ฤดูนี้เป็นฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ โรคทางเดินหายใจจะมีการระบาดมากตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น โควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ ‘RSV Rhinovirus Parainfluenza’ และมักจะระบาดในเด็กโดยเฉพาะเด็กนักเรียนเป็นกลุ่มก้อนได้

เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ผ่านมามีการระบาดอย่างมากของไข้หวัดใหญ่ RSV และไวรัสทางเดินหายใจ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเข้มงวด เพราะการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้โรคที่เกิดจากไวรัสอื่นๆ ก็ไม่ระบาดไปด้วย

หลังจากมีการผ่อนคลายโควิด 19 ภูมิต้านทานต่อโรคทางเดินหายใจโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กก็จะลดลง หรือไม่มีภูมิต้านทาน จึงทำให้ปีนี้มีการระบาดอย่างมาก ของ ไข้หวัดใหญ่ RSV และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ

ถ้าเป็นโรคอุบัติใหม่อย่างเช่นโควิด 19 ในการระบาดเริ่มต้น เราจะพบในผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กทั้งหมดจะไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคอุบัติใหม่ จึงทำให้เกิดมีความรุนแรงขึ้น ต่อมาไวรัสก็วิวัฒนาการลดความรุนแรงของโรค ประชากรส่วนใหญ่ก็มีภูมิต้านทานมากขึ้น ความรุนแรงโรคจึงลดลง และประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นโรคต่อไปก็จะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ทันสมัยและรวดเร็ว การเกิดโรคอุบัติใหม่ หรือ ‘ไวรัสตัวใหม่’ น่าจะวินิจฉัยได้แล้ว การตรวจ รหัสพันธุกรรมหาไวรัสตัวใหม่ ในปัจจุบันทำได้เร็วมาก เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว (มีการพูดถึงว่ามีการระบาดเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม)

จากข้อมูลทั้งหมดขณะนี้ จึงอยากจะคิดว่าการระบาดในจีนครั้งนี้ น่าจะเป็นโรคไวรัสที่รู้จักกันอยู่แล้ว มาพบมากเป็นกลุ่มก้อนหลังจากที่มีการผ่อนคลายของโควิด 19 แต่อย่างไรก็ตามคงต้องรอข้อมูลอย่างเป็นทางการจากประเทศจีน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top