Wednesday, 23 April 2025
ปลาหมอบัตเตอร์

นักวิชาการประมง ชี้!! 'หมอคางดำ' หนังม้วนเดิมแบบ 'หมอบัตเตอร์' แนะ!! ถอดบทเรียน ช่วยหยุดแพร่กระจายสัตว์น้ำต่างถิ่นในอนาคต

(17 ก.ค. 67) จากเพจ 'Theerawat Sampawamana' ซึ่งเป็นนักวิชาการประมง ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ว่า...

โหนกระแส 'หมอคางดำ'

โลกโซเชียลมีเดียหลายวันมานี้ มีแต่ข่าว สัตว์น้ำต่างถิ่น 'หมอคางดำ' ระบาดไปทั่ว สังคมแตกตื่น ทุกฝ่ายตระหนก!!!

หลายปีก่อนผมเคยเขียนเรื่อง 'ปลาหมอบัตเตอร์' สัตว์น้ำต่างถิ่นอีกตัวที่แพร่ระบาดเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ เมืองกาญจน์ จนปลาพื้นเมืองหลายชนิดลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจ

หนังม้วนเดิมครับ 'หมอบัตเตอร์กับหมอคางดำ' พล็อตเรื่องเดียวกันเดี๊ยะ ปฐมบทเหตุแห่งปัญหา ที่มา....ที่ไป!!!

จริง ๆ แล้ว สมัยยังเป็นนักวิชาการประมง ผมไม่มีประสบการณ์ใดๆ เกี่ยวข้องกับปลาหมอคางดำ คืนนี้ขอนอนดึกเสิร์ชหาข้อมูลตามความตั้งใจ เผื่อจะได้ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์บ้าง

ข้อมูลสำคัญที่ค้นคว้าหาได้ สรุปไว้ประมาณนี้ครับ...

หมอคางดำ เป็นปลาน้ำกร่อย พบทั่วไปตามพื้นที่ป่าชายเลน ถิ่นกำเนิดอยู่ทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันตก อยู่ได้ทั้งในสภาวะความเค็มสูงและความจืดสนิท โตเต็มที่รายงานพบขนาดความยาวเกือบๆ หนึ่งฟุต!!!

สืบพันธุ์วางไข่ได้รอบเร็ว โดยธรรมชาติวางไข่บริเวณชายฝั่งน้ำตื้น (ไม่มีรายงานชัดเจนว่าสามารถสืบพันธุ์ในแหล่งน้ำจืดที่ไม่มีเขตติดต่อทะเลได้หรือไม่)

ในสภาวะปกติตัวผู้จะดูแลอนุบาลไข่หลังผสมพันธุ์ในปากในช่วงระยะวัยอ่อน ลูกดก ตายยาก อึด ทน!!!

ประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศแรกที่ประสบปัญหาการรุกล้ำของสัตว์ต่างถิ่นชนิดนี้ มีรายงานพบการแพร่ระบาดหลายภูมิภาคของโลก ทั้งแถบทวีปอเมริกาเหนือ หมู่เกาะฮาวาย ประเทศฟิลิปปินส์ ฯลฯ ส่วนใหญ่หลุดรอดจากการเลี้ยง!!!

งานวิจัยบางส่วนกล่าวถึงผลกระทบเชิงลบ มีรายงานว่าการเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุของความแออัดและส่งผลให้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่

มักก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจหากหลุดรอดไปยังบ่อเลี้ยงปลา เช่น กรณีฟาร์มเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลในฟิลิปปินส์

ข้อมูลที่ได้รับจากสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้ ทำให้ผมเข้าใจว่าหมอคางดำกินปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้สัตว์น้ำอื่นๆ หมดสิ้นไปจากแหล่งน้ำนั้นๆ

จริงๆ แล้วไม่น่าจะใช่ งานวิจัยที่อ้างอิงได้ ระบุว่าหมอคางดำ ส่วนใหญ่กินซากพืชซากสัตว์ หอยสองฝาขนาดเล็ก ๆ แพลงค์ตอนสัตว์ รวมถึงแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่อยู่บริเวณพืชน้ำหรือรากไม้ ชอบหากินกลางคืนมากกว่ากลางวัน

เพราะมีจุดแข็งหลายข้อ ตามที่กล่าวข้างต้น สัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้จึงยึดครองแย่งเจ้าถิ่นเดิมพันธุ์พื้นเมืองตลอดแนวชายฝั่งหลายพื้นที่ได้แบบเบ็ดเสร็จ

เมื่อปราบไม่หมด การสนับสนุนบริโภคคือหนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐส่งเสริม

เจ็บแล้วต้องจำครับ การถอดบทเรียนกรณีหมอบัตเตอร์ หมอคางดำ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการจัดการการแพร่กระจายสัตว์น้ำต่างถิ่น…ในอนาคต!!!


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top