Wednesday, 9 July 2025
ปราสาทขอม

ทำไม? ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทรงต้องการปราสาทขอม  ประวัติศาสตร์เรื่องอาณานิคม ที่คนรุ่นใหม่เล่าไม่ครบบริบท 

เมื่อประมาณสักหลายเดือนก่อน ผมได้ลองอ่านเรื่องประวัติศาสตร์อ่านสนุก ๆ ในโลก Social Media ซึ่งเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และปราสาทนครวัดจำลองในพื้นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งปราสาทจำลององค์นี้ ซึ่งพระองค์มีพระราชบัญชาให้ขุนนางได้จำลองมาไว้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจไม่ใช่เรื่องราวของการนำเอาปราสาทนครวัดมาจำลองไว้ แต่มันเกี่ยวกับเรื่องของการรื้อถอนปราสาทหินจากเขมรเพื่อนำมาไว้ในสยาม แต่ประวัติศาสตร์อ่านสนุกนั้นไม่บอกไว้ว่าทำไม ? ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ถึงต้องรื้อปราสาทหินมาไว้ในพระนคร นอกจากพระองค์ยังทรงต้องการที่จะให้ชาวพระนครได้ชมปราสาทหินเขมร ซึ่งมันคือ 'เรื่องปลายทาง'

จากการไม่อธิบายตรงนั้น ทำให้หลายต่อหลายคนที่ได้มาอ่านก็คิดไปกันเองโดยไม่เข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ ๔ เพียงแค่ต้องการปราสาทหินมาไว้ในพระนครเพื่อแสดงความเป็นเจ้าเหนือหัวของกษัตริย์เมืองเขมรที่เป็นประเทศราช ซึ่งผมมองว่าไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก หากจะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สมควรจะเล่าบริบทให้ครบ

'เรื่องต้นทาง'

ในช่วงรัชกาลที่ ๔  สยามเริ่มเข้าสู่ความเชี่ยวกรากของนักล่าอาณานิคมโดยเฉพาะ 'นักล่าหน้าใหม่' ซึ่งมีความกระหายในการ 'ล่าเมืองขึ้น' ไม่ให้น้อยหน้าชาติในยุโรปที่ออกมาหาเมืองขึ้นก่อนหน้านั่นก็คือฝรั่งเศส ซึ่งกระโดดเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังอังกฤษ แต่ต้องการแสดงแสนยานุภาพให้โลกเห็นว่าตนเองก็ไม่ธรรมดา และการหาเมืองขึ้นเพื่อเชื่อมโยงตั้งแต่ทะเลจีนใต้ไปถึงประเทศจีนเป็นหมุดหมายสำคัญของฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น 

หลังจากผ่านพ้นช่วงการเมืองอันวุ่นวาย ฝรั่งเศสก็มีแนวความคิดที่จะออกสู่โลกอันกว้างใหญ่เพื่อหาเมืองขึ้น โดยสร้างชมรมนักสำรวจโดยสมอ้างมันคือชมรมการสำรวจอารยธรรมเพื่อความรู้ใหม่ของชาติ แต่เอาจริง ๆ ก็คือการสำรวจเพื่อประเมินทรัพยากรก่อนเข้ายึดครองนั่นเอง ซึ่งหนึ่งในการสำรวจครั้งนั้นก็มี ญวณ เขมร และลาว ซึ่งทุกประเทศล้วนเกี่ยวข้องกับสยาม ซึ่งเรื่องเล่านี้เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว 

ภายหลังจากภาพชุดแรกของนักธรรมชาติฝรั่งเศสชื่อ อองรี มูโอต์ ได้วาดและระบายสีภาพ 'อังกอร์วัด' และเมืองโบราณาอื่น ๆ กว่า ๘๐๐ ภาพ ในช่วงปี ค.ศ. ๑๘๕๙ ก่อนนำไปตีพิมพ์ในวารสารเที่ยวรอบโลก Le Tour Du Monde ในช่วง ค.ศ. ๑๘๖๓ ซึ่งขณะที่มูโอต์ได้พบอังกอร์วัด กองทัพฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองญวณภาคใต้ได้สำเร็จ จากญวณก็พุ่งเป้าไปยังกัมพูชาเพื่อต่อยอดแผนอันทะเยอทะยานในการมีอิทธิพลเหนือภูมิภาคนี้แต่เพียงผู้เดียว โดย นาวาตรีโบนาร์ด ข้าหลวงใหญ่แห่งโคชินไชน่า ได้เข้าไปในนครเสียมราฐอย่างเงียบ ๆ เพื่อศึกษาลู่ทางต่าง ๆ โดยเขาพบว่า 'นครวัด' อันรกร้างเหมาะจะเป็น 'สัญลักษณ์' ที่เหมาะสมที่สุดแห่งความชอบธรรมของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส เพราะว่าฝรั่งเศสกำลังจะพลิกฟื้นซากแห่งอารยธรรมโบราณให้แก่ประเทศที่ขาดการพัฒนา เพียงแต่อังกอร์วัดยังเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ชื่อว่า 'สยาม'

'เรื่องกลางทาง'

การที่ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาสนใจเขมรนั้น อยู่ในพระเนตรพระกรรณของในหลวงรัชกาลที่ ๔ มาตลอด พระองค์ทรงตระหนักถึงพิษภัยการคุกคามของฝรั่งเศสที่มีมากกว่าอังกฤษ แถมการทูตใด ๆ ก็ไม่สามารถระงับความอยากได้เขมรของฝรั่งเศสได้ เพราะฝรั่งเศสเดินเกมลุกอย่างหนักทั้งจากการเข้าเฝ้า 'สมเด็จพระนโรดมฯ พรหมบริรักษ์' เพื่อเสนอผลประโยชน์ที่เขมรจะได้รับหากแยกทางกับสยาม

การตอบโต้ฝรั่งเศสในครั้งนั้นของในหลวงรัชกาลที่ ๔ เพื่อตอบโต้การคุกคามของฝรั่งเศสในก็คือพระราชบัญชาให้ขุนนางไทยสำรวจปราสาทนครวัดอย่างถ้วนถี่ เพื่อรื้อถอนเข้ามายังสยาม แต่ในขณะที่สยามกำลังสำรวจนี้ ฝรั่งเศสได้ขนวัตถุโบราณออกจากเขมรไปอย่างต่อเนื่อง หลักฐานการขนสามารถดูได้จากหลักฐานของฝรั่งเศสเองซึ่งเยอะมาก ๆ 

แต่การตอบโต้แรกไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปราสาทนครวัดนั้นใหญ่โตเกินไป แผนถัดไปจึงมีพระบรมราชโองการให้รื้อถอนปราสาทหินขนาดย่อม ๆ เข้ามาสัก ๒ หลัง โดยส่งกำลังพลถึง ๑,๐๐๐ คนเข้าไปโดยมุ่งไปที่ปราสาทพระขรรค์และปราสาทตาพรหม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถูกฝรั่งเศสเพ่งเล็งและรายงานไปยังข้าหลวงใหญ่ในโคชินไชน่าแทบจะทันที

ถ้าอ่านถึงตรงนี้หลายคนที่อ่านก็คงดรามากันแล้ว เหมือนจากเหตุต้นเรื่องที่ผมได้เล่ามา แต่พระบรมราโชบายนี้มีความลึกซึ้งกว่าที่เราจะมองเผิน ๆ ได้ เพราะเรามีปราสาทขอมในสยามที่ใกล้กรุงเทพฯ เยอะแยะ ทำไม ? ถึงต้องเอาปราสาทที่ไกลจากสยามออกถึงขนาดนั้น และไม่ใช่แค่พระองค์อยากนำปราสาทมาก่อไว้เพื่อเกียรติยศแต่อย่างใด

พระองค์ดำเนินพระราโชบายการรื้อถอนปราสาทหินเขมรเข้ามาเพื่อแสดงความเป็น 'เจ้าอธิราช' เหนือเขมรอย่างถูกต้องทั้งพฤตินัยและนิตินัย เพราะฝรั่งเศสในขณะนั้นเขามาลักกินขโมยกิน ทั้ง ๆ ที่ผู้สถาปนากษัตริย์เขมรคือพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 

'เรื่องปลายทาง'

โครงการรื้อถอนปราสาทพระขรรค์และปราสาทตาพรหม ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีทหารป่าเขมรประมาณ ๓๐๐ คน เข้ามาโจมตีขุนนางสยามจนล้มตาย บาดเจ็บไปหลายคน แต่กระนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๔ ยังคงมีพระราชบัญชาให้ดำเนินการต่อ 'เอาเข้ามาให้จงได้' เพราะเดิมครั้งนั้นคือการเสียบ้านเสียงเมืองในส่วนของเขมรซึ่งอยู่กับสยามมาอย่างยาวนานนับเนื่องมาถึง ๔ รัชกาล 

แต่ในท้ายที่สุดเหล่าขุนนาง เสนาบดีได้เข้าชื่อทำเรื่องทูลเกล้าฯ ขอพระราชทาน 'ระงับ' เพราะเหลือกำลังที่จะรื้อ หรือถ้ารื้อมาแล้วการประกอบขึ้นใหม่ถ้าทำแล้วไม่เหมือน ไม่สมบูรณ์ ก็จะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศไปเสียอีก ทำให้เวลาต่อมาจึงได้ทรงมีพระราชบัญชาให้สร้างปราสาทนครวัดจำลอง ย่อส่วนลงมาไว้เป็นที่ระลึกภายในพื้นที่ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังที่เราได้เห็นกันอยู่ถึงวันนี้

นอกเหนือการนำปราสาทหินเขมรเข้าในพระนคร ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ยังคงมีสัญญาลับที่ทำกับเขมรในปี ค.ศ. ๑๘๖๓ เพื่อยังคงดำเนินการักษาอธิราชของสยามที่มีต่อเขมรไว้ แต่ฝรั่งเศสก็ขัดขวางไว้เช่นเคย โดยใช้เรือปืนมาข่มขู่สยามถึงปากน้ำเจ้าพระยาจนเราต้องยอม ส่วนทางเขมรฝรั่งเศสก็ส่งตัวแทนเข้าสู่ราชสำนักเขมรและเสนอผลประโยชน์เพื่อให้เขมรเลิกเป็นประเทศราชของสยาม และเป็นมาเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส 

สุดท้ายเขมรก็ตกลงเพราะประโยชน์ที่ได้มันค่อนข้างจะคุ้มค่ามาก ๆ ในช่วงเวลานั้น ทำให้การลักกิน ขโมยกินของฝรั่งเศสเป็นเรื่องถูกต้องทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย สัญญาลับที่เราทำกับเขมรก็เป็นโมฆะไปโดยปริยาย แล้วฝรั่งเศสก็เดินหน้ายึดพื้นที่ไปเรื่อย ๆ จนพื้นที่ญวณ เขมร และลาวเป็นพื้นที่ในอารักขาของฝรั่งเศสไปทั้งหมด 

สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงดำเนินพระราโชบายและที่ทรงได้มีพระราชบัญชา เป็นการมองการณ์ไกล เพื่อแสดงความเป็นเจ้าอธิราชให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศสที่จะเกิดขึ้น เพราะหากฝรั่งเศสได้เขมร พื้นทื่อื่น ๆ ที่ติดกับเขมรย่อมต้องเสียตามไปอีกเป็นแน่แท้ แล้วการณ์ทุกอย่างก็เป็นอย่างที่พระองค์คาดไว้ จากนโยบายเรือปืนของฝรั่งเศส ที่เราได้ผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องในอีกถึง ๒ รัชกาล

‘อารยธรรม’ ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของรัฐชาติ อย่ามาเคลม ‘ปราสาทขอมต้องเป็นของเขมร’ เท่านั้น

เมื่อใดก็ตามที่มีข้อพิพาทเรื่องโบราณสถานระหว่างไทยกับกัมพูชา มักมีคำกล่าวหนึ่งที่เขมรหยิบมาใช้เสมอ:
> “ปราสาทขอมต้องเป็นของเขมร เพราะขอมคือบรรพบุรุษของกัมพูชา”

คำพูดนี้ฟังดูหนักแน่น แต่เมื่อย้อนกลับไปดู 'กาลเวลา' และ 'ฐานรากของอารยธรรม' จะเห็นชัดว่า ไม่สามารถเอา 'ขอม' ซึ่งเป็นอารยธรรมร่วมภูมิภาค มาอ้างว่าเป็นสมบัติของรัฐชาติหนึ่งโดยเฉพาะได้

ขอม: อารยธรรมร่วมของลุ่มน้ำโขง

อารยธรรมขอม หรือ Khom Empire เริ่มต้นราว พุทธศตวรรษที่ 14–18 (ค.ศ. 800–1400) โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนคร (นครวัด–นครธม) แต่แผ่อิทธิพลไปทั่วทั้ง ลุ่มน้ำโขง–เจ้าพระยา และปริมณฑล ศิลปกรรมขอมปรากฏทั้งในกัมพูชา ไทย ลาว เวียดนาม และแม้แต่ในพม่า
> ถ้าจะพูดให้ถูกต้อง — ขอมคือ 'อารยธรรมเหนือพรมแดนรัฐชาติ' ที่เชื่อมโยงคนหลายเผ่าพันธุ์เข้าไว้ด้วยกัน

ไทยไม่ได้แยกขาดจากขอม — ไทยกลั่นกรองขอมจนกลายเป็นตนเอง

ก่อนจะมีชาติไทย ชาติสยาม หรือราชอาณาจักรสุโขทัย สิ่งที่อยู่ในพื้นที่ไทยคืออารยธรรมที่ถูกถักทอไว้แล้วหลายชั้น ได้แก่:

ศรีเทพ (พุทธศตวรรษที่ 11–14) อารยธรรมดั้งเดิมของลุ่มเจ้าพระยาตอนบน มีรากอินเดีย–ขอม

ทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12–16) ในภาคกลาง — สะท้อนการรับพุทธศาสนาแบบมหายานผสมพราหมณ์ มีวัฒนธรรมร่วมกับขอม

ละโว้–ลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 15–18) ถูกอิทธิพลขอมครอบคลุมโดยตรงจนกลายเป็นรัฐแบบขอมย่อส่วน ทั้งการวางผังเมือง ปราสาทหิน และอักษรจารึก

สิ่งเหล่านี้กลั่นกรองขึ้นมาเป็น “แก่นกลางของอารยธรรมไทยยุคแรก” ก่อนที่สุโขทัยจะดึงสิ่งเหล่านี้ไปปรุงเป็นความเป็น 'ไทย' ที่เรารู้จักในภายหลัง

> ขอมจึงไม่ใช่ 'ของนอก' สำหรับไทย แต่คือ 'เส้นเลือดสายหนึ่ง' ของร่างประวัติศาสตร์ไทย

เขมร: รัฐใหม่ ไม่ใช่เจ้าของอารยธรรม

กัมพูชาในฐานะ 'รัฐชาติ' เพิ่งเกิดขึ้นหลังปี พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953) เมื่อได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส หลังจากตกเป็นอาณานิคมมากว่า 90 ปี

แม้จะอ้างว่าเป็นทายาทอารยธรรมขอม แต่ความเป็น 'รัฐ' ของกัมพูชาไม่ได้สืบต่อโดยตรงจากจักรวรรดิขอมโบราณ หากแต่ผ่านยุคล่มสลาย–สงคราม–ลัทธิล่าอาณานิคมมาก่อน

> เพราะฉะนั้น การอ้างว่า “ขอมคือเขมร” หรือ “มรดกขอมเป็นของกัมพูชา” จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์ หากแต่เป็น “วาทกรรมชาตินิยม” ที่สร้างขึ้นภายหลัง

ถ้าเขมรมีสิทธิ — ไทย ลาว เวียดนาม ก็ควรมีสิทธิด้วย

โบราณสถานขอมในไทยมีมากกว่า 100 แห่ง เช่น พนมรุ้ง เมืองต่ำ ศีขรภูมิ ตาเมือนธม ศรีเทพ และลพบุรี ต่างมีรากทางขอมอย่างชัดเจน

ลาวก็มีปราสาทวัดพู
เวียดนามมีร่องรอยขอมทางใต้

ทุกประเทศมีสิทธิในเชิง 'มรดกร่วม' ไม่ใช่ของใครคนใดคนเดียว

> ถ้าจะถือว่า “มรดกขอม = สมบัติของรัฐกัมพูชา” ก็ต้องยอมให้ประเทศอื่นอ้างสิทธิตามหลักเดียวกันด้วย

ข้อสรุปจากกาลเวลา
อารยธรรม ช่วงเวลาโดยประมาณ ความสัมพันธ์กับไทย
ศรีเทพ พ.ศ. 1100–1400 จุดเริ่มเมืองรัฐในลุ่มเจ้าพระยา มีอิทธิพลขอม
ทวารวดี พ.ศ. 1200–1600 วัฒนธรรมอินเดีย–ขอม–พุทธ
ละโว้ พ.ศ. 1400–1800 เมืองสำคัญของขอมในลุ่มเจ้าพระยา
ขอม (นครวัด) พ.ศ. 1300–1800 ศิลปะขยายมายังสุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว ศรีสะเกษ ฯลฯ
กัมพูชา (รัฐชาติ) พ.ศ. 2496 – ปัจจุบัน รัฐใหม่หลังพ้นฝรั่งเศส ไม่ได้สืบสิทธิขอมโดยตรง

ขอมไม่ใช่ของใคร — ขอมเป็นของภูมิภาค

ถ้าจะเคารพประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ต้องยอมรับว่า “อารยธรรม” ไม่ใช่ “สมบัติส่วนตัวของรัฐชาติ”
> ไทยไม่ได้แย่งขอมจากเขมร — เพราะ ขอมก็อยู่ในร่างของความเป็นไทยตั้งแต่ต้นแล้ว

และถ้าจะพูดให้แฟร์ — เขมรก็ไม่ควรแย่งขอมจากไทยเหมือนกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top