‘บิ๊กตู่’ ชวน ‘โจ ไบเดน’ ร่วมประชุมเอเปคปีหน้า หลังโชว์วิชั่น แก้ปัญหาภูมิอากาศบนเวทีโลก
‘บิ๊กตู่’ เชิญ ปธน.โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุมเอเปคปีหน้า ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ด้านนายกฯ สหราชอาณาจักรชมเปาะ ไทยมุ่งมั่นแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลัง ‘บิ๊กตู่’ ประกาศเจตนารมณ์ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 21.00 น. ของวันที่ 1 พ.ย. ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร (ตรงกับเวลา 04.00 น.ของประเทศไทย) ระหว่างงานเลี้ยงรับรองผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสมัยที่ 26 (COP26)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พบปะพูดคุย พร้อมทั้งเชิญประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างงานเลี้ยงรับรองผู้นำ COP 26 หลังจากได้พบกันในการประชุมสุดยอดอาเซียน สัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมสอบถามถึงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งเชิญประธานาธิบดีไบเดน เยือนไทยในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565
นอกจากนี้ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้ทักทายพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกล่าวชื่นชมในความมุ่งมั่นพยายามของไทยในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 พร้อมทั้ง ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ กับบรรดาผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม
โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงเวลา 16.00 น. วันที่ 1 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองกลาสโกว์) พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม โดยยืนยันว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกเพื่ออนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน
“ผมมาร่วมประชุมวันนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลกและอนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน
ปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกในปริมาณเพียงประมาณร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมไปร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 โดยไทยอยู่ในประเทศกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีของความตกลงปารีส คำมั่นสัญญาของไทย มิใช่คำมั่นที่ว่างเปล่า ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นทุกประการที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง และมีการดำเนินการอย่างแข็งขันภายในประเทศ”
