Wednesday, 23 April 2025
ประชากร

2 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคน หลังมีทารก 10 คน คลอดในเวลา 9.48 น.

วันนี้เมื่อ 26 ปีก่อน เป็นวันที่ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคนเป็นครั้งแรก ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมอนามัยระบุว่า ประชากรคนที่ 60 ล้าน เป็นเด็กทารกเพศชาย คลอดในเวลา 09.48 น. ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคน ทางการได้มีกิจกรรมถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง 5 มีการรายงานผลการเกิดของทารกทั่วประเทศ มีหน่วยรถเคลื่อนที่ของช่อง 5 ไปถ่ายทอดสดเหตุการณ์จริงจากห้องคลอดของจังหวัดหลัก ๆ 

ทั้งนี้ มีเด็กที่เกิดในเวลา 09.48 น. ทั้งหมดจำนวน 10 คน โดยรัฐบาลในขณะนั้นได้มอบของขวัญวันเกิดสุดพิเศษให้ เช่น พระเลี่ยมทอง หรือเลสทองคำสลัก ‘อัลเลาะห์’ สำหรับเด็กที่มารดานับถือศาสนาอิสลาม, เช็กของขวัญ 10,000 บาท, บัตรประกันสุขภาพ 10 ปี, ทุนการศึกษาครบหลักสูตร เป็นต้น 

สำหรับข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ล่าสุด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66,159,679 คน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตราร้อยละ -0.2 ต่อปี โดยในปี 2583 คาดประมาณว่าจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน มีจำนวนคนแก่เพิ่มขึ้น และเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อนึ่ง ในปี 2539 ขณะนั้น ประเทศไทย มีทั้งสิ้น 73 จังหวัด

‘จีน’ กังวล!! เหตุอัตราการเสียชีวิตพุ่ง-การเกิดต่ำ หวั่นสะเทือนการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต

(18 ม.ค.67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยรายงานว่า จำนวนประชากรในจีนลดลง 2.08 ล้านคน หรือ 0.15% เป็น 1,409 ล้านคน ในปี 2566 โดยลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีประชากรลดลง 850,000 คน และเป็นการลดลงครั้งแรกนับจากปี 2504 ช่วงภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในยุคเหมาเจ๋อตง

ขณะที่ในปี 2566 มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6.6% เป็น 11.1 ล้านคน โดยอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับสูงสุดนับจากปี 2517 ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม และจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2566 ลดลง 5.7% เป็น 9.02 ล้านคน และอัตราการเกิดทำสถิติต่ำที่สุดคือ 6.39 คนต่อประชากร 1,000 คน  ลดลงจาก 6.77 คนในปี 2565 และเป็นอัตราการเกิดต่ำที่สุดนับตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 นอกจากนี้จำนวนประชากรวัยแรงงานที่อายุ 16-59 ปี ลดลง 10.75 ล้านคนจากปี 2565 และจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 16.93 ล้านคนในปี 2565

ซึ่งข้อมูลประชากรที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยนั้นสร้างความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะชะลอลง เนื่องจากมีจำนวนแรงงานและผู้บริโภคลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ และสวัสดิการหลังเกษียณจะสร้างภาระหนักยิ่งขึ้นแก่ทางการท้องถิ่นที่มีภาระหนี้สิน

ขณะเดียวกันสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโต 5.2% ในปี 2566 ซึ่งฟื้นตัวมากขึ้นกว่าปี 2565 ที่ GDP เติบโต 3% แต่ยังคงเป็นตัวเลขการเติบโตต่ำที่สุดนับจากปี 2533 ยกเว้นช่วงการระบาดของโควิด-19 และในปี 2567 จะยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจจีนเนื่องจากการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของอสังหาริมทรัพย์และความมั่นใจของผู้บริโภคที่ลดน้อยลง

จีนร้องมหาวิทยาลัยผุดวิชาความรัก สอนคนรุ่นใหม่ หวังแก้วิกฤตประชากรหดตัว

(4 ธ.ค. 67) รัฐบาลจีนเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในประเทศจัดการสอน “วิชาความรัก” (Love education) เพื่อส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อการแต่งงาน ความรัก การมีบุตร และครอบครัว โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นอัตราการเกิดที่ลดลงของประเทศ

จีนกำลังเผชิญกับการลดลงของอัตราการเกิด ซึ่งทำให้ต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อดึงดูดคู่รักวัยหนุ่มสาวให้มีบุตรมากขึ้น หลังจากที่ในปี 2023 จีนรายงานว่าประชากรลดลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน

แม้จีนจะมีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกที่ 1.4 พันล้านคน แต่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างภาระทางการเงินและกระทบเศรษฐกิจในอนาคต

เรื่องดังกล่าวส่งผลให้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สภาแห่งรัฐหรือคณะรัฐมนตรีได้รวบรวมข้อมูลจากรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อจัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของประชากรจีนและเผยแพร่ความเคารพต่อการมีบุตรและการแต่งงาน "ในวัยที่เหมาะสม" แม้ว่านักประชากรศาสตร์จะกล่าวว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่น่าจะโดนใจชาวจีนรุ่นเยาว์ก็ตาม

จากการสำรวจของไชน่า ป็อปปูเลชั่น นิวส์ พบว่า แม้นักศึกษามหาวิทยาลัยจะเป็นความหวังสำคัญในการเพิ่มอัตราการเกิด แต่พวกเขาเหล่านี้กลับมีมุมมองต่อการแต่งงานและความรักที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยประมาณ 57% ของนักศึกษามหาวิทยาลัยไม่ต้องการมีความรัก เพราะพวกเขารู้สึกไม่สามารถจัดสรรเวลาให้กับการเรียนและความรักได้อย่างลงตัว 

นอกจากนี้ สื่อทางการจีนเสริมว่า เนื่องจากขาด “การศึกษาเรื่องการแต่งงานและความรักที่เป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจที่คลุมเครือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอารมณ์”

การขาดการศึกษาเกี่ยวกับการแต่งงานและความรักที่เป็นระบบทำให้นักศึกษามีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่ไม่ชัดเจน ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรจัดการสอนนักศึกษาชั้นปีแรกเกี่ยวกับสถานการณ์ประชากรและแนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับการแต่งงานและการมีบุตร ขณะที่นักศึกษาชั้นปีสูงและนักศึกษาปริญญาโทสามารถเรียนรู้ผ่านการวิเคราะห์กรณีศึกษา การอภิปรายกลุ่มเกี่ยวกับการรักษาความสัมพันธ์ และการสื่อสารระหว่างเพศ

หลักสูตรดังกล่าวจะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องการแต่งงานและความรักอย่างถูกต้อง และสามารถจัดการความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น

รัฐบาลจีนมองว่า มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศทางวัฒนธรรมที่ดีและบวกเกี่ยวกับการแต่งงานและการมีบุตร ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างครอบครัวในวัยที่เหมาะสม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top