Tuesday, 22 April 2025
ปปง

‘ตร.’ บุกค้นบ้าน ‘รอง สสจ.โคราช’ หลังพบเอี่ยวจัดสัมมนาทิพย์ เร่งตรวจสอบเส้นทางการเงิน พร้อมยึดทรัพย์กว่า 2 ล้านบาท

เจ้าหน้าที่ ปปง.สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ ปปท.บุกค้นบ้านรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา หลังพบมีส่วนพัวพันการจัดอบรมทิพย์ 32 อำเภอ ในช่วงตั้งแต่ปี 2562 เจ้าหน้าที่ตรวจยึดหลักฐานและเส้นทางการเงินไปตรวจสอบ

(15 มี.ค. 66) นายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พร้อมด้วย พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามทุจริตในภาครัฐ 2 สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) นำหมายศาลเข้าตรวจค้นบ้านพักของรองนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดนครราชสีมาคนหนึ่งในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จุดที่เจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจค้นในครั้งนี้ โดยอีก 3 จุดที่เข้าทำการตรวจค้น ประกอบด้วยบ้านพักในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา, บ้านพักในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเมืองนครราชสีมา และบ้านพักในพื้นที่บริเวณถนนเซนต์เมรี่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา

ทั้งนี้ จากข้อมูลการตรวจสอบโครงการการจัดอบรมควบคุมป้องกันโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา พบว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2562 ได้มีโครงการจัดอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา แต่ไม่มีการจัดอบรมจริงเป็นลักษณะของการจัดอบรมสัมมนาทิพย์ มีแต่เอกสารโครงการที่เขียนระบุการจัดอบรมเพื่อเบิกเงินงบประมาณค่าสถานที่อบรม และค่าอาหาร

โดยมีรายชื่อชาวบ้านในแต่ละพื้นที่เข้าร่วมอบรม แต่ผู้มีรายชื่อเข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ลงรายมือชื่อในเอกสาร และไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในบางพื้นที่พบมีรายชื่อผู้เสียชีวิตอยู่ในผู้ร่วมอบรมด้วย และสถานที่ใช้จัดอบรมส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นสถานที่ราชการ แต่หน่วยงานเจ้าของสถานที่ยืนยันว่าไม่มีการจัดโครงการ และไม่พบว่ามีหนังสือขอใช้สถานที่ในการอบรมแต่อย่างใด

ต่อมาเวลา 13.00 น. นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ร่วมกับนายเทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. พล.ต.ต. จรูญเกียรติ  ปานแก้ว ผบก.ปปป นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายปริญญา วิกุลศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าวกรณีการเข้าตรวจค้นและยึดอายัดทรัพย์สินข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดโครงการอบรมทิพย์ จำนวน 4 จุด ในพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา ภายใต้ ‘แผนปฏิบัติการตรวจค้นคนสาธารณสุข’ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สำนักงาน ปปท. เขต 3 ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา

‘โรม’ จี้!! ‘ปปง.’ ทำหน้าที่ หลัง ‘อุปกิต’ ถูกแจ้งสมคบฟอกเงิน ชี้ หากมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ปปง. ต้องรับผิดชอบ 

(30 มี.ค. 66) นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการติดตามความความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ภายหลัง นายอุปกิต ปาจารียางกูร หรือ ‘ส.ว.ทรงเอ’ ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับขบวนการค้ายาเสพติดของ ‘ทุน มิน ลัต’ เข้าพบผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และถูกแจ้งข้อกล่าวหาสมคบฟอกเงิน เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา

‘ปปง.’ แจ้ง!! 'เหยื่อคอลเซ็นเตอร์' เริ่มยื่นคำร้องขอทรัพย์สินคืนได้ หลังยึดทรัพย์ ‘แก๊งมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน’ ได้แล้วร่วมหมื่นล้านบาท

(5 ก.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงประชาชนคนไทยโอนเงินมูลค่าเสียหายนับแสนล้านบาทนั้น ล่าสุดจากข้อมูลพบว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึดทรัพย์เป็นของกลางแล้ว ดังนี้

- เงินสดรวมได้ประมาณ 6,000,000,000 บาท

- อสังหาริมทรัพย์อีกจำนวนหนึ่งประมาณ 4,000,000,000 บาท

- รวมกันแล้วประมาณ 10,000,000,000 บาท

สำหรับทรัพย์สินยึดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต้องเฉลี่ยทรัพย์คืนให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย หลังจาก ปปง. ยึดทรัพย์มาแล้ว โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ภายใน 90 วัน เพื่อให้ประชาชนมายื่นคําร้องขอรับการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งผู้เสียหายจะได้รับเงินชดใช้คืนเมื่อศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้เสียหายได้รับเงินชดใช้คืนแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

สำหรับผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถยื่นคําร้องขอคุ้มครองสิทธิ ผ่าน 3 ช่องทาง

1.ยื่นด้วยตนเอง ณ สํานักงาน ปปง.

2.ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนส่งถึง สำนักงานป้องกันและปราบการฟอกเงิน เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โดยวงเล็บ 2 มุมซองด้านบนว่า “ส่งแบบคําร้องขอ คุ้มครองสิทธิรายคดี….”

3.ยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทาง https://khumkrongsit.amlo.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 02-219-3600 หรือ โทร 1710

นายคารม เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 มิ.ย.67 ผลการแจ้งความออนไลน์ ผ่าน https://www.thaipoliceonline.com รวม 35,379 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 3,437,689,020 บาท เฉลี่ย 114,589,643 บาทต่อวัน ผลการอายัดบัญชี 10,713 บัญชี ยอดขออายัด 1,404,539,300 บาท ยอดอายัดได้ 719,057,785 บาท

สำหรับประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้

1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) มูลค่าความเสียหาย 160,929,368 บาท

2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 583,012,851 บาท

3.หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 145,768,931 บาท

4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 1,427,157,157 บาท

5.หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น มูลค่าความเสียหาย 235,952,533 บาท

ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลดังข้างต้น ยังมีประชาชนหลงกลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ขอประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ ที่เชิญชวน ชักชวนโดยวิธีการต่างๆ หากถูกหลอก สามารถแจ้งความออนไลน์ที่ https://www.thaipoliceonline.com หรือสอบถามที่เบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top