Wednesday, 23 April 2025
บีทีเอส

'วิโรจน์' ตั้ง 8 ข้อสงสัยผู้บริหารกทม.ชุดเก่า ปมหนี้ BTS ทั้งที่เงินสะสมมีพอ แต่เหตุใดจึงปล่อยให้หนี้พอก

ภายหลังจากที่มีการฟ้องร้องข้อพิพาทรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ BTSC ฟ้องกรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม (KT) ที่ศาลปกครอง ในกรณีที่ BTSC เรียกร้องให้ กทม. จ่ายเงินที่ค้างชำระค่าเดินรถและค่าซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 เป็นเงิน 11,755 ล้านบาท ซึ่งค้างมาตั้งแต่ผู้บริหาร กทม. ชุดที่แล้ว

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่ากทม.พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่าตนและทีมงานพรรคก้าวไกลก็ได้เข้าไปสังเกตการณ์ในกรณีนี้ด้วย ซึ่งวิโรจน์ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีนี้ 8 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้...

1. ผู้บริหาร กทม. ชุดก่อน ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คสช. เคยร้องขอต่อสภา กทม. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร คสช. ให้มีการอนุมัติเงินสะสมของ กทม. มาจ่ายหนี้ค่ารถไฟฟ้า แต่สภา กทม. ในขณะนั้นกลับไม่อนุมัติให้นำเอาเงินสะสมมาจ่ายหนี้ให้แก่ BTSC ทำให้หนี้ค่าจ้างเดินรถ และค่าซ่อมบำรุง สะสมทบต้นทบดอก จนเป็นภาระหนี้สินที่หนักมากขึ้น ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสงสัยมาก เพราะ กทม. มีเงินสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อการใช้หนี้ ไม่จำเป็นต้องเบี้ยวหนี้ จนดอกเบี้ยทบต้นทบดอก

2. มีสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคม กับ BTSC อยู่ 2 ฉบับ ที่เป็นสาระสำคัญ ที่ กทม. ควรพิจารณาเปิดเผยต่อสาธารณะ ได้แก่ สัญญาจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 ที่ กทส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2555 และสัญญาจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ กทส.024/59 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2559 ซึ่งตัวเลขหนี้สินต่าง ๆ ที่ กทม. และกรุงเทพธนาคม ค้างจ่ายให้กับ BTSC ล้วนคำนวณมาจากสัญญา 2 ฉบับนี้

3. สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นหลัก ที่มีอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี จะสิ้นสุดลง ณ วันที่ 4 ธ.ค. 2572 แต่สัญญาจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง ทั้ง 2 ฉบับข้างต้น ยังคงผูกพัน กทม. และกรุงเทพธนาคม ไปจนถึงปี พ.ศ. 2585 นั่นหมายความว่าสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ มีผลกระทบอย่างมากต่อการเปิดประมูลสัมปทานใหม่ ดังนั้นการอ่านทานสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษายืน ‘ยกฟ้อง’ ปม 'บีทีเอส' เรียกค่าเสียหายประมูล 'สายสีส้ม'

ด่วน!! ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน สั่งยกฟ้องคดี BTS ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ปมเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกฯประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 

(1 มี.ค. 66) เวลา 09.30 น. ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยขอให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการดังกล่าว 

ซึ่งคดีดังกล่าวศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปรากฏ ข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯโครงการดังกล่าว ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศเชิญชวนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เหตุแห่งความเดือดร้อนหรือ ความเสียหายจากคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงหมดสิ้นไปแล้ว จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหา ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนฯที่แก้ไขเพิ่มเติม

'ชัชชาติ' เผยหลังหารือร่วม 'คีรี' อยู่ระหว่างทำเรื่องเข้าสภา กทม. ขออนุมัติจ่ายหนี้ BTS 1.1 หมื่นล้าน

(1 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังหารือกับนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ว่า ภาระหนี้มี 4 เรื่อง ที่จะต้องจ่าย โดยเรื่องแรก คือ ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้กทม.จ่ายเงินจำนวนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งกทม.ได้ทำเรื่องเข้าสภากรุงเทพมหานครเพื่อขออนุมัติใช้เงินในการจ่ายหนี้ให้กับ BTS แล้ว

ส่วนหนี้ภาระก้อนที่ 2 และ 3 คือ ส่วนที่ยังฟ้องร้องอยู่ในคดีของศาลปกครองปี 2565 และจากปี 2565 ถึงปัจจุบัน ตามหลักแล้วก็น่าจะปฏิบัติตามหลักแนวทางเดียวกับหนี้ส่วนที่ 1 แต่เพื่อให้เดินอย่างรอบคอบและรวดเร็วขึ้น การหารือวันนี้จึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อพิจารณาส่วนนี้ว่าปัจจุบันและเรื่องที่ค้างในศาลปกครองที่ยังไม่มีการตัดสินจะทำอย่างไร

ในขณะที่ ส่วนที่ 4 คือเป็นเรื่องของอนาคต ว่าส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ที่มีการเก็บเงินค่าโดยสารมาแล้ว จะมีหนี้ที่กทม.จะต้องจ่ายตาม สัญญามีหนี้การเดินรถอยู่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่จ่ายต่อให้กับทาง BTS จึงมองว่าควรจ่ายเพื่อบรรเทาภาระให้กับ BTS หรือจะพิจารณาอย่างไร เพราะเป็นเงินที่เก็บมาแล้วซึ่งแม้ว่าไม่เยอะมาก แต่ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของ BTS ได้ จึงจะรีบพิจารณาโดยเฉพาะเรื่องอนาคตซึ่งมีสัญญาระยะยาว จึงยิ่งต้องทำให้ถูกต้อง และทำงานร่วมกันได้ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

“ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน พิจารณาในส่วนภาระที่ยังค้างในส่วนที่ 2 และ 3 ส่วนที่ยังไม่ชำระ และเรื่องอนาคตว่าจะพิจารณาร่วมกันอย่างไร ซึ่งหนี้ก้อนที่ 1 จะเข้าสู่สภากทม. และได้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาอยู่ ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ ยืนยันว่าจะอยู่ในกรอบเวลาแน่นอน ส่วนตัวเชื่อว่าจะต้องพิจารณาให้เร็วกว่า 180 วันด้วยซ้ำ ส่วนนี้ไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะที่ผ่านมามีการประชุมกันหลายรอบแล้ว”

ทั้งนี้ ยิ่งภาระส่วนที่ 1 ก็จะมีผลต่อส่วนที่ 2 และ 3 ต่อไปด้วย ยอมรับว่าเห็นใจ BTS ส่วนตัวก็ขึ้น BTS มาทำงานทุกวัน เห็นพนักงานก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในขณะที่ กทม. เองก็ต้องทำตามกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย พยายามหาทางออกและเดินไปด้วยกัน

นายคีรี กล่าวว่า วันนี้มีโอกาสมาที่กทม. ก็ขอบคุณผู้ว่าฯ ที่ได้ยินจากปากผู้ว่าฯ ตนเข้าใจแล้วว่า ท่านผู้ว่าฯ เข้าใจหมดแล้ว และพยายามจะทำให้ไม่มีความเดือดร้อนเกิดขึ้นทั้งกทม.และเอกชน ก็เชื่อว่าท่านผู้ว่าฯ เข้าใจในความลำบากของบริษัทที่เดินรถทุกวันนี้ แม้ว่าจะไม่ได้รับค่าจ้าง วันนี้ศาลปกครองสูงสุดก็ได้ตัดสินไปแล้ว ในขณะที่ท่านผู้ว่าฯ ก็ได้เรียนทุกคนแล้วว่าท่านเข้าใจและพยายามทุกกระบวนการที่จะช่วยเหลือ และหวังว่าจะได้รับการชำระให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เปิดให้บริการในสถานีอื่นต่อไป

“วันนี้มีการหารือทั้ง 2 ทาง ทางกทม.เองก็อยากหารือ ทั้ง BTS เองก็ให้บริการกับกทม.มานาน ก็ต้องคุย เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันแบกรับ 2.7 ล้านบาทต่อวัน รวมราว 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องเร่งรัดก้อนที่ 2 และ 3 อีก ก็กว่า 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ก้อนที่ 4 กทม. ต้องจ่ายเงินทุกวันที่ 20 ของเดือนถัดไป”

รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงที่กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระแบ่งเป็น 4 ส่วน รวมหนี้ถึงวันที่ 25 ก.ค.2567 มีวงเงินถึง 39,402 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ถึง พ.ค.2564 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 ถึง พ.ค.2564 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ชำระ 11,755 ล้านบาท ภายใน 180 วันพร้อมดอกเบี้ยสําหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) บวก 1% ต่อปี รวมแล้วประมาณ 14,000 ล้านบาท

2.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 ถึง ต.ค.2565 วงเงิน 11,811 ล้านบาท โดยBTS ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางวันที่ 22 พ.ย.2565 และอยู่ขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครองกลาง ถ้ามีคำพิพากษาในทิศทางเดียวกับคดีแรกจะทำให้กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน

3.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพ.ย.2565 ถึง มิ.ย.2567 วงเงิน13,513 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้ายังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

4.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2567 ถึงปัจจุบัน โดยสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายจะสิ้นสุดปี 2585

สภา กทม.อนุมัติจ่ายหนี้บีทีเอส 1.4 หมื่นล้านแล้ว ‘ชัชชาติ’ ระบุจ่ายก่อนวันสุดท้าย ช่วยลดดอกเบี้ย

(29 พ.ย.67) ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เข้าร่วมประชุม

นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ. …. ได้รายงานผลการพิจารณาร่างข้อบัญญัติดังกล่าว โดยเริ่มจากชื่อร่าง หลักการ เหตุผล คําปรารภ ตัวร่างข้อบัญญัติ เรียงตามลําดับจนจบ ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดและมีมติให้ผ่านงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ…. จำนวน 14,549,503,800 บาท โดยใช้เงินสะสมจ่ายขาดของ กทม. เนื่องจาก กทม.มีความประสงค์ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ. …. จำนวนเงิน 14,549,503,800 บาท โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 43 คนเห็นชอบให้ประกาศใช้ 33 คน งดออกเสียง 10 คน ทั้งนี้ ให้หน่วยรับงบประมาณเร่งดำเนินการเบิกจ่าย เพื่อเป็นประโยชน์ในการลดภาระดอกเบี้ยของ กทม.

ด้าน นายชัชชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ภายในระยะเวลา 34 วัน หลังจากนี้ เมื่อมีการประกาศข้อบัญญัติดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา จะมีการชำระหนี้ให้กับบีทีเอส ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ หรือไม่เกินต้นเดือน ม.ค. 68 โดยจะไม่มีการตั้งคณะกรรมการก่อนชำระหนี้แล้ว เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยคิดคำนวณตามที่ศาลระบุ ซึ่งอาจจะไม่ต้องจ่ายหนี้เต็มยอดเงิน 14,549,503,800 บาท เพราะตัวเลขนี้คิดในกรณีที่ต้องจ่ายวันสุดท้าย (22 มกราคม 2568) ตามคำสั่งของศาล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top