Wednesday, 23 April 2025
บอร์ดเกม

‘รอง มทภ.4’ ย้ำชัด การ์ดเกม บิดเบือนประวัติศาสตร์ ซัด ‘คณะก้าวหน้า’ หนุนผลิต เชื่อหวังผลทางการเมือง

จากกรณีมูลนิธิคณะก้าวหน้าให้การสนับสนุนบอร์ดเกม ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี ตามที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์เพจเฟสบุ๊ค Urban Creature ได้นำเสนอบอร์ดเกม ที่มีชื่อว่า 'Patani Colonial Territory' ซึ่งเป็นการ์ดเกมสำหรับเยาวชนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี โดยได้ให้รายละเอียดว่าได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ KOP1 และได้รับทุนสนับสนุนจาก Common Schoo มูลนิธิคณะก้าวหน้า

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นถกเถียงในทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากการ์ดเกมดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่นำไปสู่ความแตกแยก โดยเฉพาะประเด็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อาทิ ภาพการ์ดในเกมที่นำมาประชาสัมพันธ์ เรื่อง 'เอ็นร้อยหวาย' ที่ปัจจุบันในวงวิชาการยอมรับว่าเป็น 'เรื่องเสริมแต่งเพิ่มในภายหลัง' ที่ไม่เป็นความจริง แต่เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างความเกลียดชัง 'รัฐสยาม' แต่ก็ยังมีการนำเรื่องราวสร้างความหวาดกลัวนี้มาใช้ในการประชาสัมพันธ์

ล่าสุด พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งข้อสังเกตถึงการทำบอร์ดเกมดังกล่าวว่า การเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล เป็นสิ่งที่หน่วยงานด้านความมั่นคงมีความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นล่าสุดที่ได้มีการนำประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาผลิตเป็นการ์ดเกม และได้ออกแคมเปญโฆษณาเพื่อดึงเยาวชนเข้ามาทำการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะการ์ดเกมเข้าถึงกลุ่มเยาวชนได้ง่าย

ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปดูประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลในหลาย ๆ เหตุการณ์ กลับพบว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการปั้นแต่งขึ้นมา เช่น การจับคนมลายู เจาะเอ็นร้อยหวาย แล้วนำไปขุดคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน แต่ทว่าในเรื่องดังกล่าวนี้ ได้มีการศึกษาอย่างละเอียด ทั้งในเชิงการแพทย์ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์การขุดคลองแสนแสบ พบว่า ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคนมลายูที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยในขณะนั้นแต่อย่างใด

โดยเฉพาะในข้อเท็จจริงเชิงการแพทย์นั้น แทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย ที่จะนำประชาชนถูกเจาะเอ็นร้อยหวายไปทำงานหนัก ขณะที่ในเชิงประวัติศาสตร์ ได้มีนักวิชาการศึกษาวิจัยมาอย่างถ่องแท้แล้วว่า การขุดคลองแสนแสบนั้นเกิดขึ้นในสมัยใด ส่วนแรงงานกว่า 90% เป็นชาวจีนโพ้นทะเล และมีแรงงานชาวลาวอีกส่วนหนึ่ง โดยไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่า ได้นำเชลยมาเจาะเอ็นร้อยหวาย มาขุดคลองแสนแสบแต่อย่างใด

น่าห่วง!! ย้อนรอยการสอดไส้ใส่ยาพิษให้เยาวชน บิดเบือนประวัติศาสตร์ผ่านเครื่องมือตามกระแสนิยม

ย้อนรอยการสอดไส้ใส่ยาพิษให้เยาวชน

ใครจะคิดว่าเกมสำหรับเด็กมีการสอดไส้ด้วยข้อมูลเท็จ เพื่อให้เยาวชนซึมซับรับรู้ผ่านการเล่นสนุก โดยที่ไม่รู้ว่าเนื้อหาสาระของเกมคือการบิดเบือนความจริง ล่าสุดมีข่าวฮือฮาเรื่องบอร์ดเกม Patani Colonial Territory ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิคณะก้าวหน้า ประเด็นความน่าเป็นห่วงอยู่ที่การบิดเบือนข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ เพื่อให้เด็กเกิดภาพจำอันเป็นเท็จ

การบิดเบือนข้อมูลในเกม เช่น เรื่องเอ็นร้อยหวาย ที่ปัจจุบันในวงวิชาการยอมรับว่าเป็นเรื่องแต่งเพิ่มในภายหลังที่ไม่เป็นความจริง แต่สร้างขึ้นเพื่อสร้างความเกลียดชังรัฐสยาม และสถาบันหลักของชาติ เกมนี้จั่วหัวอย่างน่าสนใจว่า นี่คือบอร์ดเกมที่ชวนทุกคนตามรอยประวัติศาสตร์ที่หายไปของปาตานี เป็นผลผลิตของกลุ่ม ‘Chachiluk (จะจีลุ) ร่วมกับสำนักพิมพ์ KOPI โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า 

บอร์ดเกม Patani Colonial Territory ผลิตออกมาทั้งหมด 50 ชุด โดยจะแจกบอร์ดเกมทั้งหมดให้องค์กรต่าง ๆ เน้นที่กลุ่มนักศึกษา เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวมาก หน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเกมนี้นำประวัติศาสตร์ที่เป็นประเด็นขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาออกแคมเปญโฆษณาเพื่อดึงเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ข้อมูลในเกม 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนักการเมืองกลุ่มนี้เจาะกลุ่มเป้าหมายเยาวชนมาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องเกม หากแต่พยายามเปลี่ยนแปลงข้อมูลความจริงในทุกระดับชั้น ด้วยการบิดเบือนหรือใช้ความจริงครึ่งเดียวมาบั่นทอนกร่อนเซาะสถาบันกษัตริย์ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ในระดับการล้มล้างสถาบันอันเป็นเสาหลักของชาติ

หลายครั้งที่ปรากฎข่าวว่ามีนักการเมืองบางพรรคและบางกลุ่ม เข้าไปพูดให้นักเรียนมัธยมฟังในสถานศึกษา ส่วนมากโน้มน้าวให้เกิดประเด็นขัดแย้งเรื่องสถาบันทหารหรือสถาบันกษัตริย์ แม้กระทั่งข้อมูลพื้นฐานบางอย่าง ก็มีทีมงานบิดเบือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขอยกตัวอย่างที่เห็นชัดตัวอย่างหนึ่ง คือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งก่อนหน้านั้นในวิกิพีเดียระบุว่าก่อตั้งโดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ต่อมามีการเข้าไปเปลี่ยนชื่อผู้ก่อตั้งเตรียมอุดมศึกษาเป็นจอมพลป.พิบูลสงคราม เมื่อศิษย์เก่าเข้าไปแก้ไขให้ถูกต้อง ก็มักมีการเปลี่ยนกลับมาเป็นชื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่เสมอ

นอกจากนี้ยังมีการบิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น เพื่อด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ โดยใช้ชุดความคิดที่บิดเบือนข้อเท็จจริงหรือให้ความจริงแค่ครึ่งเดียวในอดีตนำมาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อนำมาสร้างเป็นชุดความคิด ป้อนเยาวชนคนรุ่นใหม่ เช่น มีการอ้างอิงเอกสารชุดหนึ่งว่านำมาจากซีไอเอ นำมาติดแฮชแทคโจมตีในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยกล่าวหาว่าพระองค์เป็นผู้สั่งสังหารนักศึกษา

เอกสารชุดนั้นตัดมาแค่ข้อความไม่กี่บรรทัดในภาษาอังกฤษ เมื่ออ่านฉบับเต็มอย่างไม่มีอคติแล้วพบว่า รัชกาลที่ 9 ไม่มีถ้อยรับสั่งให้ฆ่านักศึกษาแต่อย่างใด แต่หมายถึงต้องการให้ระงับเหตุการณ์รุนแรงในครั้งนั้น เอกสารชุดนี้เขียนขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2517  ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการสั่งสังหารใครเลย เป็นเพียงซีไอเอรายงานให้ประธานาธิบดีรู้สถานการณ์ และการปฏิบัติงานของหน่วยงานอเมริกันในประเทศนั้น ๆ

มีการนำชุดข้อมูลดังกล่าวกลับมาวนฉายซ้ำ ปลุกเร้าให้เยาวชนเกลียดชังสถาบันอย่างถึงที่สุด ไม่เว้นแม้รัชกาลที่ 9 ซึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้ว ก็ถูกลากมาก่นด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ข้อมูลชุดนี้นำมาวนหลายครั้งหลายหน พร้อมแฮชแทคประกอบว่ารัชกาลที่ 9 สั่งฆ่านักศึกษา เมื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่เสพข้อมูลที่ถูก 'แปล' และ 'แปลง' ให้เชื่อ ก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าทุกถ้อยคำคือความจริง จนกลายเป็นเบี้ยหมากในเกมการล้มสถาบันในที่สุด

ช่วงที่ม็อบสามนิ้วออกมาม็อบตามท้องถนน มีการว่าจ้างนักเขียนนิทานคนหนึ่ง ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนม็อบให้เขียนนิยายภาพสำหรับเด็ก โดยเป็นนิทานสำหรับเด็กสี่สี แต่เนื้อหาเต็มไปด้วยการสอดไส้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเป็ดน้อย แต่เขียนเล่าเรื่องเป็ดที่ตามหาประชาธิปไตย และเติบโตมาพร้อมกับเด็ก ๆ หรือ 10 ราษฎร เป็นเรื่องเล่าถึงผู้คนบนเส้นทางประชาธิปไตย มีการวาดภาพบรรดาแกนนำม็อบให้กลายเป็นฮีโร่ แปลกที่ไม่ยักบอกว่าฮีโร่เหล่านี้กำลังเดินเข้าคุกกันทุกคน

แต่ประเด็นที่โด่งดังและชัดเจนที่สุดคือ หนังสือประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ของ ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สองเล่มคือ 'ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ' และ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี'  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top