Friday, 23 May 2025
บริษัทต่างชาติ

'ไทย-มาเลย์' อ้าแขนรับ!! บ.ต่างชาติหนีค่าเช่าออฟฟิศแพงในสิงคโปร์ พร้อมชู 'นโยบาย-ภาษี' ดึงดูดใจ ช่วยให้เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ง่ายขึ้น

(12 เม.ย. 67) ค่าเช่าอาคารสำนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ ‘สิงคโปร์’ กำลังสูญเสียแต้มต่อในการเป็นฐานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ของบรรดาบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นและยุโรป ได้เริ่มมีการโยกย้ายบางแผนกออกจากสิงคโปร์ ไปตั้งฐานปฏิบัติการในประเทศใกล้เคียง เช่น ไทย และ มาเลเซีย เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และขยายโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ 

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานว่า ไทยและมาเลเซีย น่าจะได้รับประโยชน์จากความเคลื่อนไหวนี้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม กระแสการโยกย้ายที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพียงการย้ายพนักงานจากสำนักงานใหญ่ในบางแผนก เช่น แผนกขายหรือแผนกวางแผนองค์กร ออกจากสิงคโปร์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ไม่ได้เป็นการย้ายพนักงานออกไปทั้งหมด

เนื่องจากสิงคโปร์ยังคงมีข้อได้เปรียบในเรื่องทำเลที่ตั้ง ความสามารถทางด้านภาษาของบุคลากร และบริการทางการเงิน จึงทำให้เชื่อว่า สิงคโปร์ไม่น่าจะเสียตำแหน่งศูนย์กลาง หรือ ‘ฮับ’ ของบรรดาสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบรรดาบริษัทข้ามชาติสัญชาติต่าง ๆ ไปได้ง่าย ๆ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของบริษัทที่มีแผนโยกย้ายบางแผนกหรือบางส่วนงานออกจากสิงคโปร์ ไทยและมาเลเซียถือเป็นทางเลือกในอันดับต้น ๆ โดยทั้งสองประเทศต่างมีนโยบายดึงดูดใจ ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ เช่น นโยบายให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นต้น

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (JETRO) ได้สำรวจความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่นที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในสิงคโปร์ ซึ่งผลปรากฏว่า นอกจากบริษัทเหล่านี้จะมีความต้องการย้ายพนักงานบางส่วนออกจากสิงคโปร์มากขึ้นแล้ว การสำรวจยังพบว่า ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทาง ที่บริษัทเหล่านี้เลือกมากที่สุดด้วย และที่รองลงมาคือประเทศมาเลเซีย

การสำรวจของ JETRO ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ชี้ว่า บริษัทญี่ปุ่นในสิงคโปร์ที่มีการโยกย้ายบางแผนกออกจากสิงคโปร์แล้วหรือกำลังมีแผนจะย้าย มี 19 บริษัทที่ตอบว่า ‘ประเทศไทย’ คือจุดหมายปลายทางที่อยากไปมากที่สุด ขณะที่อันดับสองคือ ประเทศมาเลเซีย มี 5 บริษัทที่ตอบว่าอยากย้ายบางแผนกไปที่นั่น 

นายเคสุเกะ อาซาคุระ รองกรรมการผู้จัดการประจำ JETRO สำนักงานสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ไทยเป็นฐานการผลิตที่บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เชื่อว่าเมื่อค่าเช่าสำนักงานและต้นทุนอื่น ๆ ในสิงคโปร์สูงขึ้น การโยกย้ายบางแผนก เช่น ฝ่ายขาย มายังประเทศไทยก็จะมีมากขึ้นด้วย แต่ยังไม่ใช่การย้ายมาทั้งหมด 

นอกเหนือจากบริษัทญี่ปุ่นแล้ว บริษัทยุโรปเองก็มีความเคลื่อนไหวในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ โดยผลสำรวจของหอการค้ายุโรปเมื่อปีที่ผ่านมา (2566) พบว่า บริษัทผู้ตอบแบบสำรวจ 69% เล็งย้ายพนักงานบางส่วนออกจากสิงคโปร์เพื่อหนีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้นเช่นกัน

'ปฐม อินทโรดม' บันทึกความจำ ความต่างระหว่าง 'บริษัทจีน-บริษัทญี่ปุ่น' 'จีน' มาดมั่น-ใจป๋า-อย่าต่อรอง 'ญี่ปุ่น' ครองความอ่อนน้อม เหมือนคุยกับญาติ

เมื่อวานนี้ (16 ก.ค. 67) จากเฟซบุ๊ก 'Pathom Indraroshom' โดย คุณปฐม อินทโรดม ได้โพสต์ความรู้สึกถึงบริษัทจีนและบริษัทญี่ปุ่นในปัจจุบันที่มีโอกาสได้พูดคุยด้วย ระบุว่า...

วันนี้มีคุยเรื่องงานกับบริษัทจีนและบริษัทญี่ปุ่นหลายบริษัทต่อเนื่องกันทั้งวัน เลยอยากขอบันทึกเอาไว้สักหน่อย 

บริษัทจีน: คนจีนรุ่นใหม่มาดมั่นเป็นผู้นำเสนอ เปิดตัวด้วยข้อมูลที่บอกว่าเป็นเบอร์ 1 ในตลาดหลัก ๆ ของโลก ภูมิใจที่นำเสนอว่าบริษัทเขามีสิทธิบัตรหลายพันรายการและมีทรัพย์สินทางปัญญาติดอันดับต้น ๆ ของโลก เน้นสินค้าที่มีลูกเล่นไฮเทคเหลือเฟือ พร้อมสถิติว่าถูกใจคนรุ่นใหม่ ย้ำว่าถ้าไม่จับมือกับเขาเราจะตกขบวน 

บริษัทญี่ปุ่น: คนญี่ปุ่นมาพร้อมคนไทยแนะนำตัวความอ่อนน้อม มีข้อมูลว่าสินค้าของเขาเป็นเบอร์ 1 ในตลาดต่างจังหวัดของไทย ภูมิใจที่นำเสนอว่าทำธุรกิจมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ผูกพันกับคนไทยมาหลายสิบปี สินค้ามีลูกเล่นใกล้เคียงของจีนแต่ดูเรียบ ๆ ไม่หวือหวา ย้ำว่าช่วยกันผลักดันตลาดให้เติบโตไปด้วยกัน

ความรู้สึกเมื่อคุยกับจีน: เขาทำสำเร็จที่จีนและตลาดโลกมาแล้ว เราไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำตามเขาแล้วเราน่าจะสำเร็จได้ไม่ยาก คนนำเสนอก็ป๋าโคตร ๆ ขออะไรให้หมดยกเว้นต่อรองราคา

ความรู้สึกเมื่อคุยกับญี่ปุ่น: สินค้าน่าจะพอขายได้ ไม่หลากหลายแต่ครบถ้วนที่ต้องการ เงื่อนไขทุกอย่างยืดหยุ่นได้หมด เหมือนคุยกับญาติที่พลัดพรากกันไปนาน คุยด้วยแล้วสบายใจ 

อันนี้มาจากบริษัทราว ๆ 1,250 เอ้ย 12 แห่งที่เข้ามานำเสนอพร้อม ๆ กันโดยมิได้นัดหมายนะครับไม่อาจใช้เป็นบรรทัดฐานได้ และไม่นับรวมบริษัทเกาหลีที่ได้คุยเหมือนกันแต่ขอไม่พูดถึงด้วยเหตุผลบางประการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top