Tuesday, 22 April 2025
น้ำท่วมแม่สาย

‘แม่สาย’ อ่วม!! น้ำป่าไหลทะลักเขตชุมชนตลอดทั้งคืน ‘น้ำ-ไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต’ ถูกตัดขาด เข้าช่วยเหลือยากลำบาก

(11 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยเฉพาะบริเวณด่านพรมแดน เทศบาล ต.แม่สาย พบว่าระดับน้ำที่ไหลมาจากลำน้ำสายที่ขุ่นคลั่ก ยังคงเพิ่มสูงขึ้นและเชี่ยวกราก ส่งผลทำให้บ้านเรือน ห้างร้าน อาคารพาณิชย์ ฯลฯ ถูกน้ำท่วมและปิดล้อมออกไปไหนไม่ได้หลายพันหลังคาเรือน

จุดวิกฤตตั้งแต่ชุมชนสายลมจอย ชุมชนหัวฝาย ชุมชนผามควาย ชุมชนไม้ลุงขน ชุมชนเกาะทราย ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเหมืองแดงใต้ ระดับน้ำสูงประมาณ 1-2 เมตรขึ้นไปและไหลเชี่ยว ทำให้การหนีน้ำออกจากอาคาร หรือการเข้าไปช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำได้ กระแสไฟฟ้า-น้ำประปาถูกตัดติดต่อกันเป็นวันที่สอง และสัญญาณโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้เป็นบางช่วง

วิกฤตน้ำสายล้นทะลักท่วมชายแดนไทย-เมียนมารอบนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนภายในเขตชุมชนหนาแน่นของเขตเทศบาล ต.แม่สายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงคืนที่ผ่านมา (10-11 ก.ย.) ระดับน้ำไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มสูงขึ้น เสียงน้ำไหลเชี่ยวกระทบบ้านเรือน อาคารและสิ่งของต่าง ๆ ดังก้องตลอดทั้งคืน

ล่าสุดเช้านี้ระดับน้ำท่วมตามชุมชนต่าง ๆ หลายแห่งลึก 2-3 เมตร ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มต้องอพยพออกมายังที่สูง ส่วนผู้ที่ติดอยู่ตามอาคารสูงต่าง ๆ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามนำอาหารและน้ำดื่มไปแจกจ่ายแต่ก็ทำได้เพียงบางส่วนเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงหลายชุมชนที่ประกาศเป็นพื้นที่สีแดงได้ คือ ชุมชนสายลมจอย ชุมชนหัวฝาย ชุมชนผามควาย ชุมชนไม้ลุงขน ชุมชนเกาะทราย ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเหมืองแดงใต้ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้

ด้านนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ช่วงกลางคืนที่ผ่านมา โดยมีการระดมกำลังทหารจากมณฑลทหารบกที่ 37 ค่ายเม็งรายมหาราช และ ฉก.ทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง ประมาณ 200 นาย เข้าไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หน่วยกู้ภัย ฯลฯ และเปิดสถานที่ให้ประชาชนได้ไปอาศัยอยู่ชั่วคราวหลายจุดและตั้งโรงครัวบริเวณที่ว่าการ อ.แม่สาย

รวมทั้งระดมเรือท้องแบน เรือยนต์ ฯลฯ เพื่อนำอาหารและน้ำดื่ม รวมทั้งเข้าไปช่วยเหลือผู้อยู่ตามจุดต่าง ๆ หลายจุด อาทิ หลังคาบ้าน ซึ่งปฏิบัติการเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากน้ำที่เข้าท่วมมีลักษณะเป็นน้ำป่าไหลหลากที่ไหลเชี่ยวทำให้รถยกสูงของทหารหรือแม้แต่เรือท้องแบนไม่มีเครื่องยนต์ ก็ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้

'สส.พรรคส้ม-แม่สาย' โพสต์สร้างความเกลียดชังเจ้าหน้าที่ ทั้งที่รู้ความยากจากกระแสน้ำแรง จนท.ต้องเตรียมการให้พร้อม

(11 ก.ย. 67) จากกรณี 'หญิง-จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม' สส.เชียงราย พรรคประชาชน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "น้ำท่วมแม่สายอ่วม พี่น้องติดอยู่ในอาคาร เจ้าหน้าที่พร้อมช่วย แต่รอคำสั่งจากผู้บัญชาการ จะสั่งการกี่โมง?"

ทั้ง ๆ ที่ต่อมา สส.คนดังกล่าว ก็ยังกล่าวเองว่า "การทำงานครั้งนี้ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากกระแสน้ำแรง การเข้าถึงจุดต่าง ๆ ต้องถูกประเมินจากทางเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญอย่างเข้มงวด มีระบบเชือกอย่างเดียวที่สามารถทำงานได้ หลายหน่วยงานกำลังระดมกำลังและยุทโธปกรณ์เข้าพื้นที่กันอยู่"

จากโพสต์ดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ในโลกโซเชียล โดยส่วนใหญ่มองว่า ทำไม สส.ไม่ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเองเสียเลย ถ้าเจ้าหน้าที่เขารอคำสั่งไม่รู้เมื่อไหร่ สส.ของประชาชนก็ลงไปช่วยเองเลย ไม่ใช่ลงไปมองตาตอนน้ำลดแล้วบอกไปร่วมทุกข์ร่วมสุข

ด้านเพจ 'วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร' ก็ได้โพสต์วิจารณ์เช่นกัน โดยระบุว่า...

#ทุกคนคะ สส.พรรคส้ม โพสต์ทำร้ายน้ำใจคนทำงานมาก ทุกหน่วยงานมีผู้บัญชาเหตุการณ์ในพื้นที่ที่ทำงานได้ทันที ไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง เพราะเป็นเหตุฉุกเฉิน 

เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเขาถูกฝึกมา ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ต้องประเมินสถานการณ์ กระแสน้ำ การลำเลียงคน ไม่ใช่เข้าพื้นที่มั่ว

สส. พรรคส้ม แต่ละคน ยิ่งกว่าลุ้นกล่องสุ่มอีก เฮ้อ 

#น้ำท่วม #น้ำท่วมเชียงราย

‘อนุทิน’ สั่ง!! 'มท.' ทุกหน่วยฯ หนุนช่วยเหตุน้ำท่วมแม่สาย ย้ำ!! ภารกิจสูงสุด เน้นช่วยเหลือชีวิตประชาชนก่อน

(11 ก.ย.67) ‘นายอนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ได้มีข้อกำชับไปยังผู้บริหารทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องของกระทรวงมหาดไทย ให้พร้อมเข้าสนับสนุนให้ความช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากน้ำท่วมหนักในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการเข้าช่วยเหลือชีวิตประชาชน

ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งเชียงใหม่ และเชียงราย ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการตามแผนป้องกันสาธารณภัย ลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้มากที่สุด หลังจากที่ได้รับรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ว่าขณะนี้มีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด โดยเฉพาะใน อ.แม่อาย, จ.เชียงใหม่, อ.แม่สาย, อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย และทราบว่าในส่วนของ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่นั้น ได้เกิดเหตุดินสไลด์ และมีรายงานว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว 1 ราย และยังสูญหายอีก 4 ราย

"ทราบว่าขณะนี้ในพื้นที่ อ.แม่สาย มีสถานการณ์น้ำที่ค่อนข้างรุนแรง มีกรณีประชาชนติดบนหลังคาเจ้าหน้าที่ใช้เรือเข้าช่วยเหลือลำบาก ผมขอให้ส่วนงานของมหาดไทย เช่น ปภ.ที่มีอุปกรณ์เครื่องจักรที่เอื้ออำนวยพิจารณาเข้าช่วยเหลือ ประชาชนอย่างเต็มที่ จากที่ได้รับรายงาน ปภ. พร้อมเข้าช่วยเหลือแต่ต้องพิจารณาความปลอดภัยของผู้เข้าช่วยเหลือด้วย และขอกำชับให้ท่านผู้ว่าเชียงใหม่ และเชียงราย ให้ติดตามข้อมูลน้ำอย่างใกล้ชิด ในสถานการณ์ที่มีภัยพิบัติขอให้ท่านอยู่ในพื้นที่ พร้อมเป็นตัวกลางในการประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อจัดการปัญหากรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ทางด้านเหตุดินสไลด์ใน อ.แม่อาย เชียงใหม่ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียจากภัยพิบัติในครั้งนี้ ขอย้ำให้พื้นที่ช่วยกันดูแลเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนระวังอันตรายอย่าให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก" นายอนุทิน กล่าว 

สำหรับรายงานผลกระทบจากน้ำท่วมล่าสุด ปภ. รายงานว่าได้เกิด สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 14,328 ครัวเรือน

'แม่สาย' เผชิญน้ำท่วมบ่อย แต่ทำไมไม่มีมีระบบเตือนภัย จากนี้ควรปรับแนว ส่งข้อมูลให้ประชาชนโดยตรง

(11 ก.ย. 67) อิทธิพลจากพายุ ‘ยางิ’ ทำให้พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเกิดฝนตกหนัก โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย ซึ่งทำให้ภาวะน้ำป่าไหลหลากลงมาท่วมอย่างหนักที่ตลาดสายลมจอย อ.แม่สาย อีกรอบ ทั้งที่ จ.เชียงรายเพิ่งถูกน้ำท่วมหนักไปช่วงในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง (2567)

ชาวแม่สายจำนวนมากยังติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูงถึงหลังคา บางคนต้องย้ายมาใช้ชีวิตอยู่บนหลังคาบ้าน ซึ่งเป็นส่วนเดียวที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม การเข้าให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบากตลอดทั้งกลางวันต่อเนื่องไปถึงกลางคืน เพราะน้ำสูง แรง ไหลเชี่ยว ในระหว่างที่ฝนยังคงตกลงมาเพิ่ม

อ.แม่สาย เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมมาถึง 8 ครั้งแล้ว ถ้านับเฉพาะในปี 2567 นี้ จึงมาพร้อมคำถามใหญ่ว่า อ.แม่สาย หรือ จ.เชียงราย มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่นี้หรือไม่ ในเมื่อเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำป่า เกิดน้ำท่วมซ้ำซากบ่อยๆ ทำไมประชาชนจึงยังคงได้รับความสูญเสียอย่างหนัก ทั้งที่มีการแจ้งเตือนพายุล่วงหน้าหลายวัน

“กรมอุตุฯ บอกว่า เราสามารถพยากรณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน ได้แม่นยำถึงประมาณ 90% แล้ว แต่ถ้าเป็นการพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วัน เราจะมีความแม่นยำถึงเกือบ 100% เต็ม ... ส่วนข้อมูลการไหลของน้ำ ความแรง เส้นทาง เราก็มีหน่วยงานที่จัดทำข้อมูลอย่างละเอียด คือ ‘สทนช.’ (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ดังนั้น เรามีทั้งข้อมูลฝนที่จะตกหนักแน่ เรารู้เส้นทางน้ำ รู้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ แต่กลับไม่มีใครบอกให้คนแม่สายทำอะไร ... คำถามคือ การเตือนภัย เป็นหน้าที่ของใครกันแน่?”

‘ไมตรี จงไกรจักร์’ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และอดีตผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ตั้งคำถามดังๆ ไปถึง ‘ระบบเตือนภัย’ ของประเทศไทย ซึ่งดูเหมือนเป็น ‘หน้าที่’ ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบอย่างชัดเจนเต็มตัว จนทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่าที่ควรทุกครั้งเมื่อเกิดภัยพิบัติ

“ในมุมผม ควรเป็นหน้าที่ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันกลายไปเป็นหน่วยงานหนึ่งในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย”

“ผมคิดว่า การเตือนภัยควรมี 2 ระบบ ระบบแรก คือ การเตือนล่วงหน้า 3 วัน ซึ่งศูนย์เตือนภัยฯ สามารถใช้ข้อมูลฝน ข้อมูลน้ำ ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ หรือขอข้อมูลจาก สทนช. มาทำการเตือนภัยได้เอง ... ระบบที่ 2 ในกรณีเร่งด่วนต้องเตือนภัยภายใน 24 ชั่วโมง ศูนย์เตือนภัยฯ ควรมีอำนาจไปขอให้ กสทช.ใช้วิธีบูรณาการความร่วมมือกับสื่อสารมวลชน และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ออกประกาศแจ้งเตือนไปยังสื่อต่างๆ ทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงต้องส่งข้อความตรงไปถึงโทรศัพท์ของคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้เลย ... แต่ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นการส่งคำเตือนไปให้กับผู้บริหารส่วนราชการที่มีอำนาจตัดสินใจเท่านั้น”

“เราต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องส่งข้อมูลให้ประชาชนโดยตรง”

ในฐานะอดีตผู้ประสบภัยสึนามิ ทำให้ไมตรี มีความสนใจต่อการแนวทางจัดการภัยพิบัติในรูปแบบที่ต้องให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงจัดการตัวเอง ก่อนหน้านี้เขาจึงได้จัดทำข้อมูลชุมชนเสี่ยงภัยพิบัติทั่วประเทศไทย และพบว่ามีมากถึง 4 หมื่นชุมชน ในขณะที่ภาครัฐจัดสรรงบประมาณมาสร้างความรู้ให้ชุมชนได้เพียงปีละ 10-20 ชุมชน ในงบประมาณแห่งละ 2 หมื่นบาทเท่านั้น

“เขามักจะอ้างว่า ที่ไม่รายงานข้อมูลภัยพิบัติตรงไปที่ประชาชน เพราะกลัวจะเกิดความตื่นตระหนก เกิดความวุ่นวายในการอพยพ แต่แท้จริงแล้วนั่นสะท้อนให้เห็นว่า เป็นเพราะรัฐเองไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้ประชาชนได้ เพราะการส่งข้อมูลภัยพิบัติที่แม่นยำ แม้จะหยุดภัยพิบัติไม่ได้ แต่จะช่วยลดมูลค่าความสูญเสียลงไปได้มาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องบอกให้ได้ด้วยว่า เมื่อประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเห็นข้อมูลแบบนี้แล้ว จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ไปหาใคร ไปที่ไหน ไม่ใช่แค่การแจ้งเตือนรวมๆ กว้างๆ ให้ไปคิดเอาเอง”

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ อ.แม่สาย ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ระบุว่า เป็นลักษณะเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในปีนี้กับหลายพื้นที่ เพราะเป็นปีที่ประเทศไทยมีฝนมาก ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรเร่งประกาศเป็นนโยบาย ซึ่งมีข้อเสนอดังนี้

(1) ข้อมูลภัยพิบัติต้องเป็นข้อมูลเปิดที่ประชาชนเข้าถึงได้ ต้องมีนโยบายบูรณาการข้อมูลของหน่วยราชการ เพื่อสร้างช่องทางสื่อสารตรงไปถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ไม่ควรส่งข้อมูลให้เฉพาะผู้มีอำนาจไม่กี่คนเท่านั้น

(2) ต้องมีนโยบายส่งเสริมให้ท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย มีความสามารถจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตัวเอง เช่น สร้างที่พักในจุดปลอดภัย สำรวจข้อมูลประชากรกลุ่มเปราะบาง อบรมหน่วยกู้ภัยชุมชน ฯลฯ

(3) เมื่อเกิดภาวะวิกฤต จะต้องมีกลไกระดมกำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐเขามาดูแลช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่จากพื้นที่ข้างเคียง ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มอาสาสมัครจากภาคเอกชนกลายเป็นกำลังหลักในการกู้ภัย และยังควรแก้ไขระเบียบเพื่อให้จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักให้กับอาสาสมัครที่มาช่วยงานได้ด้วย ซึ่งการสร้างกลไกเหล่านี้ จะทำให้หน่วยงานรัฐสามารถสถาปนา ‘ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์’ (Incident Command System - ICS) ขึ้นมาได้ง่ายขึ้น และสามารถจัดกำลังเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น
“อย่างที่บอกไปแล้ว เรามีชุมชนเสี่ยงภัย 4 หมื่นชุมชน รัฐจัดอบรมได้ปีละ 10-20 ชุมชน บางปีทำได้แค่ 6 ชุมชนด้วยซ้ำ ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 100 ปี ถึงจะอบรมได้ครบทั้งหมด ดังนั้นรัฐต้องเลิกผูกขาดการจัดการภัยพิบัติ จะต้องมีนโยบายหรือกฎหมายเพื่อกระจายอำนาจการจัดการภัยพิบัติมาให้ท้องถิ่น แนวทางที่เราเห็นว่าสามารถทำได้เลย คือ การตั้งกองทุนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติระดับตำบล โดยให้รัฐส่วนกลางสนับสนุนงบประมาณร่วมกับท้องถิ่นคนละครึ่ง สามารถนำงบประมาณไปจัดฝึกอบรม จัดทำแผนภัยพิบัติที่เหมาะกับชุมชนนั้นๆ โดยเฉพาะ หรือยังอาจใช้ตั้งโรงครัวกลางในระหว่างเกิดภัยได้ด้วย”

“ภาพที่เกิดขึ้นกับ อ.แม่สาย คือถูกน้ำท่วมซ้ำซากจนมีความเสียหายมากติดต่อกันบ่อยๆ เป็นภาพเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันแม้จะยังถูกน้ำท่วมอยู่ แต่หลายชุมชนมีแผนจัดการเป็นของตัวเอง มีกองเรือที่ต่อกันเองด้วยลักษณะที่เหมาะกับสภาพลำน้ำ และสภาพพื้นที่สำหรับใช้กันเองในช่วงประสบภัย ทำให้ช่วยลดความสูญเสียลงไปได้มาก” 

ไมตรีกล่าวทิ้งท้าย

‘บุ๋ม ปนัดดา’ แจงข้อสงสัย “เงินบริจาคของมูลนิธิฯ หายไปไหน?” วอน!! ไม่ช่วยกันไม่ว่า แต่อย่าโจมตีแบบนี้ สงสารคนลงพื้นที่

(24 ก.ย. 67) เพจ ‘ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี’ ประธานมูลนิธิองค์กรทำดี ได้โพสต์ชี้แจงกรณีมีคนตั้งข้อสงสัยถึงเงินบริจาคของมูลนิธิฯ อยู่ที่ไหน ทั้งที่มีเหล่าดารา ประชาชนโอนมาช่วยเหลือ โดยระบุว่า…

“ในกลุ่มเชียงรายมีการโจมตีมูลนิธิว่าเงินบริจาคเยอะแยะไปไหนหมด ขอโทษนะคะ รถที่มูลนิธิจัดหาไปช่วยปรับปรุงพื้นที่ ใช้น้ำมันไม่ได้ใช้น้ำโคลน…

“เราช่วยบูรณะโรงเรียน 50 โรงเรียน มีรถช่วยกันอยู่ 50 กว่าคัน ทั้งแบ็กโฮ รถขุด รถตัก รถหกล้อ สิบล้อ กระบะดัมป์ เพื่อทำให้ถนนในแม่สายดีขึ้น ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าซ่อมรถ ค่าน้ำมันรถลงพื้นที่ ค่าอาหารสด อาหารแห้ง ดูแลคนเป็นหลายพันคน ค่าอาหารจิตอาสาลงพื้นที่ทำความสะอาด ค่าอุปกรณ์ทำความสะอาด ค่าปั๊มน้ำ และเราช่วยสนับสนุนทำข้าวกล่องจริง ๆ จำนวนมากต่อวัน…

“ใครคิดอะไรไม่ออก บอกบุ๋ม ดูแลศูนย์พักพิง และมีชาวแม่สายที่ต้องการความช่วยเหลือหลายด้านจริง มารับของสดของแห้งวันหนึ่งหลายตัน ไม่มีตรงไหนโกหกเลย ไม่ช่วยไม่ว่า อย่าโจมตีกันแบบนี้เลยนะคะ สงสารคนลงพื้นที่ ไม่ได้ท้อใจนะคะ แต่บางครั้งถึงเวลาต้องอธิบายก็ต้องอธิบาย มูลนิธิเราโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ตรวจสอบได้”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top