Wednesday, 23 April 2025
น้ำตาลทราย

กระตุ้นเศรษฐกิจ!! ‘ครม.’ เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 64/65 ที่ 1,106.40 บาท/ตัน คาด สัปดาห์หน้า ยื่นราคาขั้นต้น ปี 65/66 เข้าที่ประชุม ครม.

(8 มี.ค. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2564/65 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราที่ 1,106.40 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 66.38 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 474.17 บาทต่อตันอ้อย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/65 ที่ราคา 1,070 บาท ซึ่งการที่ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น 36.40 บาท/ตันอ้อย จะสามารถเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2564/65 แล้ว หลังจากนี้ สอน.จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
 

‘รมว.ปุ้ย’ ให้ความเชื่อมั่นชาวไร่อ้อย “ทุกปัญหามีทางออก” แย้มข่าวดี!! เสนอ ครม.อนุมัติเงินหนุนตัดอ้อยสดคุณภาพดี

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ให้คำมั่นต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ทุกปัญหามีทางออก” และพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ สั่งการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หาแนวทางดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แย้มข่าวดีหากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติเห็นชอบเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 คาดว่าชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในช่วงที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้นได้  

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวไร่อ้อยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ราคาอ้อยและน้ำตาลทรายในปัจจุบัน ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 21-22 บาท จากเดิมที่กิโลกรัมละ 19-20 บาท  

โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จะใช้เป็นองค์ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/67 ได้มีการผลักดันให้มีราคาที่ 1,400 บาท/ตันอ้อย เนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อยของชาวไร่สูงขึ้นและความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งการขึ้นราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้ ส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อยโดยช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคบ้าง แต่จะทำให้น้ำตาลในประเทศมีปริมาณที่เพียงพอและมีเสถียรภาพมากขึ้นตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศอย่างไร พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือดูแลปัญหาอย่างใกล้ชิด 

“ดิฉัน เชื่อว่าทุกปัญหาจะมีทางออกหากพวกเราร่วมมือกัน โดยกระทรวงฯ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในอนาคตที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพอากาศและภาวะเศรษฐกิจโลก ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายได้ เรื่องนี้เราก็จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน” นางสาวพิมพ์ภัทราฯ กล่าว 

จากนั้น คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เยี่ยมชมนิทรรศการพันธุ์อ้อย ชมการสาธิตการใช้โดรนในการใส่ปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ชมการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร การวิเคราะห์ดิน และการผสมปุ๋ย พร้อมมอบรางวัลให้กับชาวไร่อ้อยดีเด่น และมอบเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่ยืมไว้ใช้ในการดำเนินงาน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวปิดท้ายด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (4 ธ.ค.66) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้น 

ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าว ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท โดยที่คาดว่าจะมีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย

‘รมว.ปุ้ย’ โชว์ 3 ผลงานเด่น ‘โรงงาน-กระตุ้นศก.ใต้-ขับเคลื่อนอุตฯ อีวี’ ด้าน 'บิ๊กโปรเจกต์' ช่วยชาวไร่อ้อย หนุนอุตฯ น้ำตาลทรายเป็นรูปธรรม

'รมว.พิมพ์ภัทรา' โชว์ผลงาน 90 วัน ผ่านการดำเนินงานขับเคลื่อน 3 แกนหลัก ย้ำการบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด พัฒนาระบบการรายงาน ด้านสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยมลพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรม แร่โพแทช ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

(16 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 7 กันยายน 2566 ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 3 เดือนที่สามารถทำได้ทันที เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้ มวลรวมของประเทศ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 3 แกนหลัก คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม โดยแบ่งการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เน้นบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงพัฒนาระบบการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ) จัดงาน 'อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช' เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ภายใต้แนวคิด 'ช้อป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด'

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งสร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ สมอ. ยังเร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกำหนดมาตรฐาน EV แล้วเสร็จ จำนวน 150 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมอีก 29 มาตรฐาน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์ เพื่อควบคุมการระบายมลพิษเป็น EURO 5 และ EURO 6

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทช 3 โครงการ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ภายใน 3 ปี โครงการเหมืองแร่โพแทชจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร นอกจากนี้ โครงการเหมืองแร่โพแทชยังจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เร่งจ่ายเงินตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566 โดยมีราคาเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 1,197.53 บาทต่อตัน กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยมีราคาที่ 1,420 บาทต่อตัน และแจกพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปปลูกและขยายพันธุ์ จำนวน 900,000 ต้น

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มุ่งเน้นดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจตาม Mega Trend ของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้น สศอ. ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 5 สาขา เพื่อเป็น New Growth Engine ในการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สศอ. ยังได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลและคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม นอกจากนี้ กนอ. ยังได้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ในอนาคต ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมรวม 68 แห่ง ใน 16 จังหวัด มีพื้นที่รวม 190,150 ไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมรวม 4,862 โรง มูลค่า การลงทุนรวม 10.84 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้น 984,723 ราย

“ในช่วง 90 วัน ของการทำหน้าที่ ดิฉัน ได้กำกับดูแลให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม มุ่งเน้น การบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ ส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) เร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมแร่โพแทช รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด สร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย

'รมว.ปุ้ย' เผยตัวเลขการผลิตน้ำตาลทรายของไทยปี 67 กำชับ!! 'สอน.' ดูแลปริมาณให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

(4 ก.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปี 2567 จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยในฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่ผ่านมา มีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 82.17 ล้านตัน มีผลผลิตน้ำตาลทราย 8.80 ล้านตัน โดยในครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม - มิถุนายน 2567) ไทยใช้น้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศ 1.27 ล้านตัน แบ่งออกเป็น น้ำตาลที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 0.52 ล้านตัน และน้ำตาลที่ใช้ในการบริโภคโดยตรง (รวมร้านยี่ปั๊วและห้างโมเดิร์นเทรด) 0.75 ล้านตัน 

โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ไทยมีน้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศคงเหลือ 1.77 ล้านตัน และ สอน. ได้คาดการณ์ว่าระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตถัดไป ไทยจะใช้น้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศ 0.8 ล้านตัน ซึ่งตนได้กำชับให้ สอน. ดูแลปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สอน. ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลในการดูแลปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ โดย สอน. ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงทั่วประเทศ รายงานปริมาณน้ำตาลคงเหลือส่งให้ สอน. เป็นประจำทุกวัน 

ปัจจุบัน ราคาขายหน้าโรงงานอยู่ที่ 21 - 22 บาท/กิโลกรัม (ไม่รวมค่าโลจิสติกส์และ VAT) ราคาขายปลีกตามห้างโมเดิร์นเทรดอยู่ที่ 27 - 28 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่เป็นไปตามกลไกการตลาดที่จะต้องมีการบวกเพิ่มค่าการตลาดและค่าบรรจุภัณฑ์

"ถือว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากน้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่ง สอน. จะบริหารจัดการการจำหน่ายเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำตาลทรายเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ" นายวิฤทธิ์กล่าวปิดท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top