‘อุ๊งอิ๊ง’ เปิดแคมเปญเลือกตั้ง 'คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน' ชู!! ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน
แพทองธาร เปิด 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ ปี 2570 โดยรัฐบาลเพื่อไทย ต้อง ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ ประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือน ป.ตรี 25,000 บาท
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวในการประชุมใหญ่วิสามัญ ประจำปี 2565 ว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาตนพร้อมคณะกรรมการได้ลงพื้นที่ศึกษาและทำวิจัยพบว่า ประเทศถอยหลังไปมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และไร้ที่ยืนบนเวทีโลก ประชาชนจำนวนมากมีหนี้ท่วมท้นและสะสมเป็นเวลานาน ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
จำเป็นต้อง ‘คิดใหญ่’ เพราะหากคิดเล็กจะรับมือปัญหามากมายขนาดนี้ไม่อยู่ และต้อง ‘ทำเป็น’ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ ยืนยันได้จากผลงานตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย จนถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า เราสามารถคืนความสุข ความเจริญ ความกินดีอยู่ดีให้พี่น้องประชาชนได้ หัวข้อในแคมเปญรณรงค์ต่อจากนี้ จึงเปลี่ยนจาก ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย’ เป็น ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’
และภายในปี 2570 ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย คนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง คือ
1.) นโยบายเศรษฐกิจ คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส ยังคงถูกต้องและยึดเป็นแนวทางเสมอมาและตลอดไป จากปี 2566 จนถึงปี 2570 พรรคจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศเติบโตอย่างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 5% ต่อปี ช่องว่างความเหลื่อมล้ำจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะจะใช้แนวคิด ‘รดน้ำที่ราก’ เพื่อให้ต้นไม้งอกงามได้ทั้งต้น ทั้งที่น้ำมีจำกัด
ทักษะสร้างสรรค์ Soft Power ด้านต่าง ๆ เช่น เชฟทำอาหาร นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ นักร้อง นักแต่งเพลง คนเขียนบท ยูทูบเบอร์ นักสร้างคอนเทนท์ นักออกแบบมัลติมีเดีย นักกีฬา หรือสปาเทอราปิสต์ จะทำให้มีรายได้คนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี ประเทศไทยมี 20 ล้านครอบครัว สามารถสร้างงานทักษะสูงได้ 20 ล้านตำแหน่ง และมีรายได้รวมกันถึงปีละ 4 ล้านล้านบาท และในปี 2570 คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คือ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป
2.) นโยบายด้านการเกษตร ในปี 2570 นำเทคโนโลยีทางการเกษตรหรือ Agritech มาใช้ เช่น เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยในการเกษตร มีการปรับปรุงหน้าดิน และใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น แต่เหนื่อยน้อยลง ใช้การตลาดนำการผลิต ไม่มีการทำการเกษตรแบบไร้เป้าหมาย สินค้าการเกษตรต้องขึ้นยกแผง มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) มาใช้ในการขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ให้ต่างชาติมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง ราคาพืชผลเกษตรจึงขึ้นยกแผงทุกตัว เพราะเคยทำมาแล้ว และจะทำต่อไป
3.) นโยบายด้านการท่องเที่ยว ในปี 2570 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยจำนวนมาก รายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 3 ล้านล้านบาทต่อปี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยได้รับความนิยมจากทั่วโลก เทศกาลของไทย 2 เทศกาลคือ สงกรานต์ในเดือนเมษายน และลอยกระทงในเดือนพฤศจิกายนเป็นเทศกาลระดับโลกที่นักท่องเที่ยวปักหมุดไว้ในปฏิทิน ประเทศไทยน่าอยู่สำหรับชาวต่างชาติและคนไทย
4.) นโยบายด้านนวัตกรรม สร้างโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ (Blockchain) ของไทยเอง ที่เป็นช่องทางในการขายสินค้าเกษตร รวมทั้งสินทรัพย์ที่เกิดจากซอฟต์พาวเวอร์ ตลอดจนเป็นช่องทางเงินทุนให้กับนักธุรกิจรายย่อย ไม่ว่าจะเป็น Start up หรือ SME
นอกจากนั้น จะส่งเสริมงานวิจัยอย่างจริงจัง จนทำให้ในปี 2570 ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมของ Asean มีการใช้เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC : Central Bank Digital Currency) แทนเงินสด ป้องกันการคอร์รัปชันในการเมืองแบบ ‘ลิงกินกล้วย’ ทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี ประชาชนทุกคนมีบัญชีธนาคาร และมีกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ของตนเอง
รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ การเข้าถึงบริการของรัฐทำได้ง่าย สะดวก ทุกหมู่บ้านของประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สถานที่สาธารณะทุกแห่งมี wifi ฟรี
5.) นโยบายด้านสาธารณสุข ในปี 2570 หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคถูกอัปเกรด หรือยกระดับขึ้น สามารถรักษาได้ทั่วประเทศ ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว รับการรักษาได้ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะข้อมูลสุขภาพถูกเชื่อมไว้บนศูนย์ข้อมูล หรือ Cloud เมื่อเจ็บป่วย ผู้ป่วยเพียงยื่นบัตรประชาชนแล้วอนุญาตให้แพทย์ผู้รักษาเข้าถึงข้อมูลการรักษาได้
ในปี 2570 ผู้ป่วยโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคทางกายอื่น ๆ ที่ต้องการขอคำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางได้รับการรักษาที่ศูนย์สาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล เพราะแพทย์เฉพาะทางให้คำปรึกษาผ่านระบบทางไกลหรือ Telemedicine ได้ การนัดคิวตรวจเป็นเรื่องปกติของโรงพยาบาลทุกแห่ง ผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาลแต่เช้ามืด ผู้ป่วยที่ต้องเจาะเลือดตรวจโรค ก็สามารถทำได้ที่คลินิกหรือศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้าน
ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ได้รับการดูแลจากผู้ช่วยพยาบาลทั้งที่บ้านและที่ศูนย์ชีวาภิบาล (Hospice) ของรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลูกหลานยังสามารถไปประกอบอาชีพได้ตามปกติ ไม่ต้องลางาน
การสาธารณสุขเชิงรุก เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีในเด็กหญิงอายุ 9-11 ปี และฉีดวัคซีนให้ผู้หญิงที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV : Human Papilloma Virus) อีกทั้งยังตรวจและรักษาไวรัสตับอักเสบ-ซี ซึ่งโรคดังกล่าวจะเป็นการป้องกันมะเร็งตับที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้ชาย
ปี 2570 โรงพยาบาลของรัฐถูกกระจายอำนาจในรูปแบบองค์การมหาชนที่ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงพยาบาล มีการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ตามปริมาณงาน และเกิดการลงทุนครั้งใหญ่ในการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ให้ทันสมัยในทุกระดับตั้งแต่ตำบลถึงมหานคร รวมทั้งมีการฝึก อ.ส.ม. ให้เป็นพยาบาลระดับต้น ประจำทุกหมู่บ้าน ส่วนในกรุงเทพมหานคร มีโรงพยาบาลประจำเขตทั้ง 50 เขต
6.) นโยบายด้านการศึกษา ในปี 2570 มีการกระจายอำนาจการศึกษาเหมือนในประเทศที่เจริญแล้ว มีโรงเรียน 2 ภาษาในทุกท้องถิ่น ซึ่งสอนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ตั้งแต่ ป.1 มีการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและออนไลน์ โดยใช้ครูต่างประเทศมาสอนเสริมร่วมกับครูไทย มีศูนย์การเรียนรู้แบบ TCDC และ TK Park ที่เริ่มต้นสมัยไทยรักไทย ให้ครบทุกจังหวัด
7.) นโยบายด้านยาเสพติด จะปราบปรามยาเสพติดเต็มรูปแบบ เด็กไทยตกเป็นทาสยาเสพติด ทำร้ายคนในครอบครัวและผู้อื่นอีกมากมาย และจะบำบัดผู้เสพอย่างทั่วถึงควบคู่กันไปกับการปราบปราม
