Monday, 20 May 2024
นโยบายสุขภาพ

‘อนุทิน’ ปลื้ม!! ชาวเชียงรายแห่ต้อนรับ ปล่อยสโลแกน ‘อู้แล้วยะ’ พร้อมชูนโยบายสุขภาพ ลั่น!! ขอแค่ปชช. ไว้ใจ พร้อมทำแน่นอน

ขอบคุณเจ้า ! ‘อนุทิน’ ปลื้ม ‘ชาวเชียงราย’ ต้อนรับแน่น ก่อนประกาศสโลแกน “อู้แล้วยะ” ไม่ขายฝัน พูดจริง ทำจริง ชู 3 นโยบายเด็ด เน้นเรื่องสุขภาพ เครื่องฉายรังสีทุกจังหวัด ศูนย์ไตเทียมทุกอำเภอ ประกันชีวิตผู้สูงวัย

(9 เม.ย.66) ที่ สนามกีฬาตำบลป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และคณะผู้บริหารพรรค อาทิ นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิกพรรค และผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ, นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ และนายสามารถ แก้วมีชัย ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ ไปจนถึง ผู้สมัครระบบเขต จ.เชียงราย ได้เดินทางลงพื้นที่ เพื่อปราศรัยหาเสียง ประชาชนต้อนรับอย่างเนืองแน่น โดยการปราศรัยครั้งนี้ นายอนุทิน ได้ใช้ภาษากลาง ผสมกับภาษาถิ่นภาคเหนือ เพื่อสื่อสารกับประชาชน บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน

นายอนุทิน กล่าวว่า “ขอบคุณนักนักเจ้า ขอบคุณขนาดเจ้า อากาศฮ้อนจะอี้ ก็ยังมาต้อนฮับอย่างอบอุ่น พี่น้องมาต้อนฮับ ขนาดนี้ จะไม่ได้หัวใจผมไปได้จะได๋”

จากนั้น นายอนุทิน ได้แนะนำตัวผู้สมัครรายคน ก่อนระบุว่า ที่อยู่ตรงนี้ คือ คนรับใช้ของพี่น้องทุกคน มาวันนี้ เพื่อขอโอกาสให้ท่านได้เลือกเราเข้าไปทำงานในสภา ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทย ได้ทำงาน รับใช้ท่านมาแล้ว ตอนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งนั้น มีคุณหมอท่านหนึ่งมาบอกว่า คนเชียงรายเป็นมะเร็งกันมาก ขอให้เพิ่มเครื่องฉายรังสีให้หน่อย ตั้งเป็นศูนย์มะเร็งเพิ่มเติมเลยก็ได้ เพราะเครื่องเดียวไม่พอแล้ว ประชาชนเจ็บป่วยต้องเดินทางไกล สิ่งที่คุณหมอขอมา ตนได้จัดให้แล้ว อย่างที่บอกอยู่เสมอ กับพรรคภูมิใจไทย เรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่มีคำว่าไม่ได้

นอกจากนั้น เรายังมองเห็นว่า จังหวัดท่านมีศักยภาพ เพียงแต่ต้องเติมเรื่องการคมนาคมเข้าไปหน่อย เรื่องรถไฟทางคู่เด่นชัย เชียงราย เชียงของ คาราคาซังมานาน ตอนนี้ เราก็จัดให้แล้ว ดำเนินการไปมาก เป็นอีกหนึ่งเส้นทางยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบรางของประเทศไทย เชื่อมโครงข่ายรถไฟเดิมเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว และเมียนมา

จากนั้น นายอนุทิน ได้กล่าวถึง การด้อยค่านโยบายกัญชา ว่ามาจากพวก “ขี้ฮก” พูดแต่เรื่องแย่ๆ ทั้งที่เรื่องดีก็มีมาก มันอยู่ที่การใช้ เราพรรคภูมิใจไทย ไม่ปิดกั้นโอกาสประชาชน

“สำหรับนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่อยากมานำเสนอในวันนี้ คือเรื่องของสุขภาพพี่น้องประชาชน ที่มานั่งฟังกัน ก็มีผู้สูงวัย เมื่ออายุมากเข้า เราไม่อยากให้ท่านเป็นกังวล ว่าจะเป็นภาระกับลูกหลาน เมื่อจากไป ลูกหลานจะทำอย่างไร ไม่ต้องคิดมากแล้ว พรรคภูมิใจไทย ได้ออกนโยบายสำหรับผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับสิทธิ์ เป็นสมาชิกกองทุนประกันชีวิต และมีกรมธรรม์ประกันชีวิตทันที โดยไม่ต้องสมัคร และไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต ซึ่งผู้สูงวัย มีสิทธิกู้เงินดูแลตัวเอง ในวงเงิน 20,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน แต่จะใช้กรมธรรม์ประกันชีวิตที่รัฐบาลจัดทำให้ ค้ำประกันตัวเอง และในวันที่จากไป ‘ผู้สูงวัย’ ไม่สร้างภาระให้ลูกหลาน ทุกคนจะมีมรดกให้ลูกหลาน ทายาท และครอบครัว รายละ 100,000 บาท

6 พรรคใหญ่ฉายนโยบายสุขภาพคนไทย ประสานเสียงไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้าและกัญชาเสรี

เมื่อช่วงสายวันที่ 25 เมษายน 2566 ณ ห้องฟอร์จูน ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน กรุงเทพฯ,  มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป หัวข้อ

“สื่อมวลชนพบพรรคการเมือง : ถามหา นโยบายสร้างเสริมสุขภาพคนไทย” โดยเชิญตัวแทนจาก 6 พรรคการเมืองสำคัญเข้าร่วมประชุมฯ มี นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์  สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ
ตัวแทนจากพรรคการเมือง ได้กล่าวสรุปประเด็นสำคัญของนโยบายพรรค เริ่มจากนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะยกระดับนโยบายโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่พรรคไทยรักไทยทำไว้เมื่อ 22ปีที่แล้ว ซึ่งหากได้กลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยหน้า พรรคฯจะดำเนินโครงการนี้ต่อ พร้อมกับการปฏิรูปงบประมาณทั้งระบบ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการบริหารจัดการโครงการฯอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะโอนมอบภารกิจในการเป็นหน่วยงานรับประกันด้านสุขภาพของประชาชนให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แทนที่โรงพยาบาลเหมือนในอดีต

ทั้งนี้ ยังจะเพิ่มงบประมาณในโครงการเป็น 1.6-1.7 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อให้สปสช.ดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง สามารถเลือกแพทย์และโรงพยาบาลได้ตามที่ตัวเองต้องการ นอกจากนี้ ยังจะให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเก็บข้อมูลและประวัติการรักษาพยาบาลของคนไข้ไว้ในระบบคลาวด์ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้การเรียกหาข้อมูลของคนไข้ทำได้อย่างสะดวกไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหน


"ต่อไปการนัดหมายคุณหมอ ไม่ต้องต่อคิวยาวเหมือนในอดีต คนไข้สามารถเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการได้ตามใจ จะเลือกที่ใกล้บ้าน หรือใกล้ใจก็ได้ แม้แต่การเจาะเลือด ต่อไปก็ไม่ต้องไปรอตั้งแต่เช้า รวมถึงการรับยาที่สามารถจะนำใบสั่งยาจากแพทย์ เพื่อไปรับยาได้จากร้านยาใกล้บ้าน ภายใต้การดูแลของเภสัชกร"

น.พ.สุรพงษ์ ย้ำว่า พรรคเพื่อไทยยังมีแนวคิดในการฉีดวัคซีนป้องโรคต่างๆ ให้กับคนไทย โดยเฉพาะเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกแก่เด็กหญิงอายุ 9-11 ปี และมะเร็งตับสำหรับผู้ชาย


ด้าน พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินนโยบายด้านสุขภาพให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินการต่อไปทันทีที่ได้กลับมาเป็นรัฐบาล ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20ปี (2565-2574) ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนแนวทางการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)


นอกจากนี้ พรรคฯจะขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพภายใต้กรอบแนวคิดที่จะยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในภาพแวดล้อมทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ สื่อมวลชนถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขไปสู่ประชาชนได้เป็นอย่างดี


"ต่อไปพรรคจะสร้างสถานพยาบาลนำร่อง ที่จะให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขครบวงจร เริ่มจากเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร โดยทำให้ครบทั้ง 50 เขต จากนั้นจะขยายไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป" น.พ.เหรียญทอง ย้ำ


นายนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองเพียงคนเดียวที่ไม่ใช่นายแพทย์ แต่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของพรรค กล่าวว่า ในสมัยที่ตนเป็น รมช.คมนาคม เคยมีนโยบายประมูลเลขทะเบียนรถสวย เพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุน ตามแนวคิดของสสส. เพื่อนำรายได้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยและรณรงค์การเกิดอุบัติเหตุตามท้องถนน ซึ่งหากได้เป็นรัฐบาล ก็จะดำเนินโครงการในลักษณะเช่นนี้ต่อไป ทั้งนี้ ในอดีต พรรคได้ดำเนินงานร่วมกับ สสส.มาโดยตลอด เช่น โครงการรณรงค์ "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง" เป็นต้น ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เชื่อว่าในอนาคต พรรคก็พร้อมจะทำงานร่วมกันต่อไป


"แนวคิดของพรรค คือ เน้นการป้องกันสุขภาพมากกว่าจะเน้นการรักษา เนื่องจากใช้งบประมาณที่ต่ำกว่า เพราะแต่ละปีรัฐบาลจะต้องใช้งบฯในส่วนนี้มากถึงปีละ 5 แสนล้านบาท แต่จากนี้ไป พรรคฯจะเสนอนโยบาย "สุขภาพดีมีเงินคืน" เพื่อกระตุ้นให้คนไทยหันมาใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น" นายนิกร กล่าว


นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคไม่เน้นสร้างนโยบายสาธารณสุขอย่างเป็นทางการ หรือมีรายละเอียดมากเกินไป เพราะมีประสบการณ์ที่ว่า "พูดแล้วไม่ทำ หรือทำไม่ได้" จะกลายเป็นความเสียหายตามมาได้ เนื่องจากอาจมีปัจจัยความไม่แน่นอนแทรกซ้อนขึ้นมาได้ แต่จะเน้นการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการตรวจสอบเพื่อป้องกันความเสี่ยงตั้งแต่ต้นทาง เช่น การตรวจสอบฮอร์โมนในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันปัญหาความพิการในเด็กแรกเกิด การตรวจสอบกลุ่มคนที่มีประวัติและความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ครอบครัวเคยมีประวัติการป่วยมาก่อน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเป็นต้นเหตุของปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงการใช้นโยบายด้านภาษีเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีความหวานมาบ้างแล้ว


ส่วน ร.อ.ดร.นพ.พิชาญศักดิ์ บุญมาศ ร.น. พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า พรรคฯเป็นแกนนำรัฐบาลมาตลอด 4 ปี และพร้อมจะดำเนินนโยบาย "คนไทยแข็งแกร่ง  ประเทศไทยแข็งแรง ก้าวสู่มหาอำนาจด้านสุขภาพ" ด้วยการทำให้เกิดการแพทย์ทั่วถึงและเท่าเทียม การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการนำระบบเทเลเมดิคัล เฮลท์ มาใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วยเป็นต้น
ขณะที่ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง พรรคก้าวไกล ย้ำว่า พรรคมองเห็นปัญหา 2 ประเด็นคือ ปัญหาเรื่องงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ยังน้อยเกินไป และปัญหาด้านบุคคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักชั่วโมงการทำงานของหมอและพยาบาลที่มีมากเกินไป ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสุขภาพและจิตใจอย่างมาก จนอาจกระทบต่อการปฏิบัติงานได้ ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่ลดชั่วโมงการทำงานจากเดิม 87 ชม.ต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 60 ชม.ต่อสัปดาห์ พร้อมกับลดสัดส่วนในการดูแลผู้ป่วยของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐที่มี 1:200 คน ให้เหลือน้อยลง แม้จะไม่เท่ากับแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนที่มีราว 1:20 ถึง 40 คนก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาแพทย์ย้ายไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top