Tuesday, 22 April 2025
นิวยอร์กซัน

25 สิงหาคม พ.ศ. 2375 ‘นิวยอร์กซัน’ รายงานข่าวหลอกลวง จนหนังสือพิมพ์ขายดีเทน้ำเทท่า หลังอ้างพบสิ่งมีชีวิตบน ‘ดวงจันทร์’ หนักสุด!! มนุษย์มีปีกบินได้

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2375 หนังสือพิมพ์ ‘นิวยอร์กซัน’ ที่ออกในเมืองแมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา ได้สร้างความตื่นตะลึงให้คนอ่าน โดยเริ่มลงบทความการค้นพบทางดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ อ้างว่า ‘เซอร์ จอห์น เฮอร์เซล’ นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ไปส่องกล้องโทรทัศน์ขนาดมหึมาดูดวงจันทร์ที่แหลมกู๊ดโฮป พบสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้น ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จึงลงบทความเรื่องนี้ติดต่อกันถึง 6 ตอน

ทั้งนี้ บทความดังกล่าวได้บรรยายว่า ได้พบสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ นอกจากมีมหาสมุทร ชายหาด ต้นไม้ และเทวสถาน มีอารยธรรมเกิดขึ้นแล้ว ยังมีสัตว์ อย่าง แพะ วัวไบซัน หนูยักษ์บีเวอร์ ยูนิคอร์นซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานของกรีก และสิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์ แต่มีปีกเหมือนค้างคาว สามารถบินได้ พร้อมกับเขียนภาพที่เห็นจากกล้องนี้มาประกอบเรื่อง

เมื่อมีคนตื่นเต้นข่าวนี้มาก ต่างก็สนใจติดตามหลักฐานของเรื่องมากขึ้น เดอะซันเลยต้องจบลงด้วยการอ้างว่า เนื่องจากเลนส์มหึมาที่ใช้ดูดวงจันทร์จนเห็นทะลุปรุโปร่งนี้ พอเจอแสงอาทิตย์เข้า เลนส์ก็รวมแสงทำให้เกิดไฟไหม้หอสังเกตการณ์จนมอดไปหมด

ถึงแม้ต่อมาคนจำนวนมากจะรู้ว่าข่าวนี้เป็นเรื่อง ‘แหกตา’ แต่ยอดขายของ นสพ.เดอะซันก็ยังครองอันดับสูงตลอดมาเพราะข่าวนี้ แสดงว่าคนเราแม้จะรู้ว่าเป็นข่าวปลอม ข่าวเท็จ ก็ยังสนใจมากกว่าข่าวจริง

นี่เป็นข่าวลวงหรือข่าวปลอมเมื่อ 192 ปีก่อน เดี๋ยวนี้มนุษย์ฉลาดขึ้นแต่ก่อนมาก ข่าวประเภทนี้น่าจะหมดยุคไปได้แล้ว เพราะหลอกคนฉลาดไม่ได้ แต่กลับตรงกันข้าม โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ที่สื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางในขณะนี้ กลับเกลื่อนไปด้วยข่าวลวง ข่าวปลอม ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการล้อเลียน เสียดสี หรือเพื่อสร้างอิทธิพลทางความคิดความเชื่อ และเป็นการสร้างรายได้ จนเห็นอยู่เป็นประจำและทำกันเป็นขบวนการ

ได้อ่านบทความพิเศษเรื่อง ‘Fake News ข่าวลวง ข่าวปลอม’ ของ มานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ได้กล่าวถึงข่าวลวง ข่าวปลอมที่แพร่ระบาดอยู่ในสื่อออนไลน์อย่างยากต่อการแยกแยะ ส่งผลกระทบต่อบุคคลในด้านความคิด ความเชื่อ อารมณ์ และความรู้สึก ที่น่าวิตกคือ ข่าวลวง ข่าวปลอม แพร่ได้เร็วและกว้างขวางกว่าข่าวจริงถึง 100 เท่า อาจจะเป็นเพราะน่าตื่นเต้นเร้าใจกว่า

ในบทความนี้ยังได้นำข่าวลวง ข่าวปลอมทั้งของไทยและต่างประเทศมากล่าวไว้หลายเรื่อง อย่างเช่น

ระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 31 กรกฎาคม 2563 ที่มีการเริ่มระบาดของโควิด-19 นั้น พบข่าวลวงมากกว่า 19,008 ข้อความ ทั้งช่วงก่อนและหลังมีมาตรการปิดเมือง ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาด อันอาจเป็นผลเสียต่อชีวิต

หรือภาพที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินถือพระพุทธรูป แล้วบอกว่า ประธานาธิบดีรัสเซียเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธแล้ว ความจริงเป็นภาพทหารเรือคนหนึ่งถือพระพุทธรูป แต่เปลี่ยนเอาปูตินมาแทนทหารเรือ เจตนาสร้างข่าวปลอมขึ้นอย่างชัดเจน

ข่าวที่ประเทศอิตาลีกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ความเป็นจริงแค่รับรองว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาหนึ่งในบรรดาศาสนาทั้งหลายที่มีผู้นับถือเท่านั้น

คราวที่มี ‘ข่าวเสือดำ’ โด่งดัง ก็มีภาพรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยกมือไหว้ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเศรษฐีใหญ่อย่างนอบน้อม แล้วบรรยายภาพว่า ‘งานนี้รอดแหง๋ๆ’ ทำให้มีการก่นด่าตำรวจกันอย่างถล่มทลาย แต่ต่อมาก็มีคลิปวิดีโอให้เห็นชัดเจนว่า เป็นการรับไหว้ตามปกติธรรมดาของคนไทยเท่านั้น

นอกจากนั้น ในสื่อออนไลน์ยังเนืองแน่นไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ ชวนให้เสียเงินมากมาย อย่างไฟฉายชนิดหนึ่งกระบอกสั้น ๆ แต่อธิบายสรรพคุณราวกับส่องไปถึงดาวอังคาร หรือกระทะทำอาหารจากเกาหลียี่ห้อหนึ่ง บอกว่าไม่มีขายในประเทศผู้ผลิต ส่งมาให้คนไทยใช้โดยเฉพาะ ทำอะไรก็น่ากินไปทุกอย่างเหมือนอาหารทิพย์

ส่วนในอเมริกาที่อ้างว่าเป็นแบบอย่างประชาธิปไตย พยายามจะให้ทั้งโลกเป็นแบบตัว ก็สร้างแบบอย่างที่ดีงามไว้ไม่ใช่ย่อย เป็นที่เปิดเผยว่า ในการชิงชัยระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับ นางฮิลลารี คลินตัน ทรัมป์เห็นว่าแม้จะหาเสียงด้วยการพูดจริงบ้างเท็จบ้างคะแนนก็ยังเป็นรองนางฮิลารี อีกทั้งสื่อหลักที่จ้างไว้เชียร์ คนก็ไม่ค่อยเชื่อถือแล้ว จึงใช้นักสร้างข่าวปลอมรายหนึ่ง มีชื่อว่า นายคาเมรอน แฮร์ริส เป็นบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ไปซื้อเว็บไซต์เก่า ๆ ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาสร้างข่าว fake news ปล่อยข่าวแรกว่าเป็นข่าวด่วน พบบัตรลงคะแนนปลอมให้ฮิลลารีหลายแสนใบในโกดังเก็บของที่รัฐโอไฮโอ พร้อมอุปโลกน์ช่างรับจ้างทั่วไปรายหนึ่งเป็นผู้เข้าไปพบ มีภาพประกอบคนยืนอยู่ข้างกล่องใส่บัตรเลือกตั้งด้วย แต่ความจริงเอาภาพนี้มาจากหนังสือพิมพ์ที่เมืองเบอร์มิงแฮมของอังกฤษ คนละเรื่องกันเลย สร้างข่าวเท็จกระหึ่มไปทั่ว แม้วันรุ่งขึ้น กกต.รัฐโอไฮโอจะรีบเข้าไปตรวจโกดังแล้วปฏิเสธว่าข่าวนี้ไม่มีความจริง ก็สายไปแล้ว มีคนเชื่อเป็นจำนวนมาก

แม้ในครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ แพ้ โจ ไบเดน ในวันที่ไบเดนสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ก็ไม่ยอมไปร่วมตามประเพณี ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ มีเอกสารที่ประทับตราประธานาธิบดี มีลายมือปลอมของทรัมป์แพร่ไปตามสื่อทั่วโลก มีข้อความบรรทัดเดียวว่า ‘โจ คุณก็รู้ว่าผมชนะ’ เป็นทำนองว่าแพ้เพราะถูกโกง เป็นข่าวปลอมบันลือโลกอีกชิ้นหนึ่ง

นี่คือการเมืองแบบอเมริกัน…

ข่าวปลอมได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสังคมมากขึ้นในระยะหลายปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และอินเทอร์เน็ตทำให้การสร้างข่าวปลอมทำได้ง่าย เผยแพร่ได้รวดเร็ว และมีผู้คอยรับสารอยู่ตลอดเวลา นักวิจัยจาก MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา) พบว่า ข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง 100 เท่า

ส่วนในประเทศไทย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ของ อสมท. พบว่า ตลอดปี 2559 สามารถเก็บข้อมูลได้ว่า มีข่าวปลอมกว่า 300 หัวข้อ แต่ละหัวข้อมีการไลก์และแชร์บนเฟซบุ๊กรวมกันอยู่ในหลักแสน

จากการสำรวจของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. พบว่า ในปี 2561 คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงถึงวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที และเชื่อถือข้อมูลที่ได้รับทางโซเชียลมีเดียร้อยละ 40 นับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในภูมิภาค นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้อ่านที่ค่อนข้างสูงอายุเป็นกลุ่มที่แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้เพิ่งจะเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตตอนอายุมากแล้ว ไม่ทันยุคทันสมัย ขาดความรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่คิดว่าภาพ เสียง และวิดีโอสมัยนี้ตัดต่อให้ดูเสมือนจริงได้ และเชื่อโดยสนิทใจว่าข่าวทุกข่าวที่นำเสนอได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว โดยไม่ทันคิดว่าจะมีผู้ไม่หวังดีสร้างข่าวปลอมขึ้นเพื่อหลอกลวง

ที่น่าห่วงอย่างยิ่งในเรื่องข่าวลวง ข่าวปลอมก็คือ เยาวชนของไทยเข้าถึงโลกออนไลน์เร็วเกินไป จากการสำรวจของมูลนิธิสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ร่วมกับนักวิชาการจากสถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาของไทยเปิดรับสื่อออนไลน์ถึงวันละ 6-8 ชั่วโมง ใช้เพื่อการศึกษา 61% เพื่อเล่นเกม ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น 39% และผู้ปกครองส่วนใหญ่อนุญาตให้บุตรหลานใช้โทรศัพท์มือถือตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบเท่านั้น ผลการศึกษาของ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) ได้ประเมินสมรรถภาพของนักเรียนอายุ 15 ปี จาก 77 ประเทศทั่วโลก พบว่า ความสามารถในการรับมือกับ fake news ของเด็กไทยอยู่ในลำดับที่ต่ำมาก เป็นลำดับที่ 76 โดยมีเด็กอินโดนีเซียรั้งท้าย ส่วนความสามารถเด็กในการรับมือกับ fake news ประเทศที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก

นี่คือเรื่องน่าเป็นห่วงของข่าวลวง ข่าวปลอม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top