Tuesday, 6 May 2025
นักเทนนิส

‘รวงข้าว ลัลนา’ สาวใต้จากทุ่งสง ผู้ไม่ย่อท้อต่ออาชีพ ‘นักเทนนิส’ ผงาดคว้าแชมป์ที่ออสเตรเลีย จนขึ้นแท่นมือหวด 259 ของโลก

(5 เม.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘จอน’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘น้องรวงข้าว’ ลัลนา ธาราฤดี นักเทนนิสดาวรุ่ง วัย 19 ปี ที่ได้เปิดใจเอาไว้ว่า… 

“หนูอยากขอบคุณครอบครัวที่คอยซัปพอร์ต โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งใจไปเรียนจิตวิทยา เพื่อจะได้เข้าใจหนูมากขึ้น หนูดีใจมากค่ะ ที่มีคนคอยเชียร์ ก็มีความคาดหวังลึก ๆ ว่า อยากทำให้ดีขึ้น หนูก็จะเอาความคาดหวังเนี่ยแหละ เป็นแรงผลักดันให้ตัวเองไปได้ไกลกว่านี้…ความฝันของหนู หนูอยากก้าวไปถึงท็อปเทนของโลกให้ได้ค่ะ”

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ‘น้องรวงข้าว’ ลัลนา ธาราฤดี นักเทนนิสสาวไทย จากครอบครัวสิงห์ วัย 19 ปี สร้างผลงานยอดเยี่ยม คว้าแชมป์เทนนิสอาชีพ ‘ไอทีเอฟ วีเมนส์ เวิลด์ เทนนิส ทัวร์’ รายการดับเบิ้ลยู 35 ทรารัลกอน ที่ประเทศออสเตรเลีย มาครองได้

ซึ่งคือแชมป์รายการแรกในปีนี้ และเป็นแชมป์รายการที่ 5 ของเจ้าตัว นับตั้งแต่เล่นเทนนิสอาชีพมา ส่งผลทำให้เธอมีอันดับโลกพุ่งจาก 309 เป็น 259 ในปัจจุบัน พร้อมรับเงินรางวัลประมาณ 140,000 บาทไปครอง

รวงข้าว ได้เริ่มเล่าชีวิตของเธอให้ผมฟัง หลังคว้าแชมป์รายการดังกล่าว “หนูเกิดที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชค่ะ เป็นลูกคนเดียว”

“หนูเริ่มเล่นเทนนิส ตอน 6 ขวบ ตอนนั้นหนูยังไม่มีความฝันอะไรเลย แล้วพ่อหนูชอบเล่นเทนนิส เขาชอบพาหนูไปที่คอร์ท หนูเลยลองหยิบไม้มาตี พอพ่อเห็นว่าหนูชอบและพอตีได้ เขาก็เริ่มสอนและส่งเสริมจริงจังค่ะ”

จากแค่ตามคุณพ่อไปที่สนามเทนนิส และเริ่มจับไม้ในวัย 6 ขวบ จากนั้นโชคชะตาก็พาให้ทั้งคู่ ไปอยู่ในคอร์ทด้วยกันตลอด

แต่กลายเป็นคุณพ่อที่ต้องตามไปดูแล ‘น้องรวงข้าว’ เวลาแข่งขัน เพราะนับตั้งแต่ที่เริ่มจริงจัง โดยมีคุณพ่อเป็นโค้ชคนแรก ผลงานของรวงข้าว ก็พุ่งขึ้นไปสู่ระดับมือหนึ่งของประเทศในรุ่นเยาวชน

โดย ‘รวงข้าว’ กวาดแชมป์มากมาย และได้โอกาสมาเก็บตัวกับแคมป์ของทีมชาติไทย รวมถึงได้จอยแคมป์สปอนเซอร์บ่อยครั้ง ซึ่งสปอนเซอร์หลักของสมาคมลอนเทนนิสฯ อย่าง ‘สิงห์’ ก็เริ่มเห็นแววของเธอตั้งแต่ช่วงเวลานั้น

“ตอนอายุ 8-11 ปี หนูต้องมากรุงเทพฯ บ่อย ๆ เพื่อแข่งขัน แต่สมัยนั้นหนูไม่ค่อยได้นั่งเครื่องบิน เพราะยังไม่มีรายได้เท่าตอนนี้ ที่บ้านก็ไม่ได้ร่ำรวยขนาดนั้น เซฟอะไรได้ก็ต้องเซฟ ส่วนใหญ่ก็จะนั่งรถไฟตู้นอนมากับพ่อ นอนยาว ๆ ออกกลางคืน ถึงกรุงเทพฯ ก็เกือบเที่ยง”

แม้จะต้องทำงานประจำที่นครศรีธรรมราชไปด้วย แต่ ‘ความฝันของลูก’ ก็เหมือน ‘ความฝันของพ่อ’

และในโบกี้รถไฟ ที่เทียวไปเทียวมา ระยะทางไปกลับร่วม 1,500 กิโลเมตร จาก นครศรีฯ สู่ กทม. หรือ จาก กทม. กลับ นครศรีฯ นอกจากจะพาพ่อลูกนักเทนนิสไปกลับแล้ว ภายในโบกี้นั้น ยังบรรจุ ‘ความฝันของทั้งคู่’ เดินทางไปด้วย

- รวงข้าว เข้าแข่งขันรายการระดับ ไอทีเอฟ จูเนียร์ ตั้งแต่อายุ 13 ปี
- เธอเดินทางไปแข่งขัน ทั้งใน และต่างประเทศ ตั้งแต่รุ่นเยาวชน
- เธอเคยติดท็อป 50 ของโลก ในรุ่นจูเนียร์
- เธอเคยเล่นรอบเมนดรอว์ จูเนียร์ แกรนด์สแลม มาแล้ว 2 ครั้ง (วิมเบิลดัน และ ยูเอส โอเพ่น)
- เธอเล่นรายการระดับ ไอทีเอฟ อาชีพ ตั้งแต่อายุ 18 ปี
- เธอคว้าแชมป์ ไอทีเอฟ อาชีพ ครั้งแรก ตั้งแต่วัย 18 ปี ที่ประเทศไทย
- เธอคว้าแชมป์ไอทีเอฟ อาชีพ ที่ต่างประเทศ 3 ครั้ง เริ่มต้นที่มาเลเซีย จีน และออสเตรเลีย
- เธอเคยแข่งรอบควอลิฟาย แกรนด์สแลม ออสเตรเลียน โอเพ่น มาแล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
- เธอเคยได้สิทธิ์ไวด์การ์ด แข่งขัน WTA ทัวร์ ไทยแลนด์ โอเพ่น ที่ประเทศไทย มาแล้ว 2 ครั้ง
- เธอติดทีมชาติไทย ชุดใหญ่ ตั้งแต่อายุ 17 ปี
- เธอเคยคว้าเหรียญเงิน ในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2 สมัย ในปี 2021 ที่ประเทศเวียดนาม (ประเภทหญิงคู่) และ ปี 2023 ที่ประเทศกัมพูชา (ประเภทหญิงเดี่ยว)

ตลอดเวลาที่เธอกำลังต่อสู้กับความฝัน และเข้าใกล้อันดับท็อป 200 ของโลกเข้าไปทุกที
เธอผ่านความพ่ายแพ้ นับครั้งไม่ถ้วน เธอเจอความผิดพลาด นับครั้งไม่ได้ ไม่ใช่แค่คุณพ่อเท่านั้น ที่อยู่ข้างรวงข้าว และคอยซัปพอร์ตเธอ

“หนูอยากขอบคุณตัวเอง ที่ผ่านอุปสรรคหลายอย่างมาถึงจุดนี้ เพราะปีที่ผ่านมา ถือว่าค่อนข้างหนักหน่วงเหมือนกัน มีเรื่องเครียดหลายอย่าง และหนูอยากขอบคุณครอบครัว ที่คอยซัปพอร์ตหนู โดยเฉพาะคุณแม่ที่เข้าใจหนูมากขึ้น เมื่อก่อนแม่ไม่ได้ใจเย็นขนาดนี้ เมื่อก่อนแม่ก็ใจร้อน แต่แม่ก็ไปเรียนจิตวิทยา เพื่อจะเข้าใจหนูมากขึ้น เพื่อจะได้มีวิธีพูดกับหนู เวลาที่หนูแพ้”

“กีฬาเทนนิส ในทัวร์นาเมนต์นึง จะมีคนชนะแค่คนเดียว แพ้เท่ากับตกรอบทันที เวลาตกรอบ เราก็เฟล คุณแม่ก็ไปเรียนจิตวิทยา เพื่อจะได้มีวิธีการพูดให้กำลังใจเรา”

“นอกจากนี้ หนูก็อยากขอบคุณ โค้ชปัน-ปุณณกฤศ กฤดากร (โค้ชส่วนตัว) ที่ออกแข่งกับหนู ทุกทัวร์นาเมนต์ และก็โค้ชจาก ‘ทีมภราดร’ (ภราดร ศรีชาพันธุ์) ที่ช่วยสอนหนูหลายอย่าง ทั้งระเบียบวินัย, การโฮลด์ตัวเองในคอร์ท และการจัดระเบียบความคิดระหว่างแข่งขัน ให้หนูโตขึ้น”

“และสุดท้าย หนูอยากขอบคุณ ‘สิงห์’ ค่ะ ที่สนับสนุนหนูตั้งแต่อายุ 15 ปี ตอนนั้น หนูยังไม่ได้เล่นอาชีพ ยังเล่นในรุ่นจูเนียร์ แต่ติดทีมชาติชุดเยาวชนแล้ว”

“ตอนนั้น หนูอายุ 14 ปี มีรายการแข่งที่สาธารณรัฐเช็ก ทางสิงห์ก็มาติดต่อครอบครัวหนู และหนูก็ได้เข้ามาอยู่ในครอบครัวสิงห์ ซึ่งคอยซัปพอร์ตค่าใช้จ่ายให้หนูบางส่วน ในทุกทัวร์นาเมนต์ เพราะการแข่งขันที่ต่างประเทศ ต้องใช้เงินค่อนข้างเยอะค่ะ”

ก่อนจะลากัน ผมถามเธอว่า ความฝันสูงสุดของเธอคืออะไร ‘รวงข้าว ลัลนา’ ตอบกลับมาพร้อมรอยยิ้มว่า “หนูอยากก้าวไปถึงท็อปเทนของโลกค่ะ”

สำหรับอันดับ ‘ท็อปเทนของโลก’ ในกีฬาเทนนิส ประเภทหญิงเดี่ยว ยังไม่มีนักเทนนิสหญิง ในประเทศไทยที่สามารถทำได้ โดย “แทมมี่” แทมมารีน ธนสุกาญจน์ ตำนานหญิงเดี่ยวของไทย เคยขึ้นไปสูงสุด คือ อันดับที่ 19 ของโลก

แน่นอน มันไม่ใช่เรื่องง่าย มันยากมาก ๆ และตอนนี้ รวงข้าว เพิ่งเริ่มต้นเล่นเทนนิสอาชีพมาเพียงปีเดียว ยังไม่ได้เล่นในระดับ WTA ทัวร์อย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยเข้าถึงเมนดรอว์ของรายการระดับแกรนด์สแลมสักครั้ง แต่ความฝันก็คือความฝัน ไม่มีวันหมดอายุ และน่าชื่นใจที่วงการเทนนิสไทย มีดาวดวงใหม่ให้ติดตามเพิ่มขึ้น หลังจากขาดความต่อเนื่องมายาวนาน

และต้องขอบคุณผู้สนับสนุนอย่าง ‘สิงห์’ ที่ไม่ลดความพยายาม ที่จะส่งเสริมนักกีฬาไทย ในการแข่งขันที่ต่างประเทศ จนได้เพชรเม็ดงามอย่าง รวงข้าว ลัลนา ธาราฤดี มาประดับวงการอีกคน

ซึ่งจุดเริ่มต้นความสำเร็จของ ‘น้องรวงข้าว’ คือ การได้รับแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ ที่ส่งต่อความตั้งใจ ความพยายาม ที่อยากจะก้าวขึ้นไปสู่นักกีฬาอาชีพ มือระดับท็อปของโลก ตามคำพูดของ คุณสันติ ภิรมย์ภักดี ผู้บริหารของสิงห์ ที่เคยบอกว่า การสร้างนักกีฬาหนึ่งคน ไม่ใช่แค่สร้างความสำเร็จให้นักกีฬาคนนั้น แต่คือการสร้างความสำเร็จ ที่ส่งต่อแรงบันดาลใจ ให้กับนักกีฬารุ่นใหม่ได้เดินตาม และได้พยายามทำให้ดีกว่าสิ่งที่คนรุ่นก่อนเคยทำมา

“หนูรู้สึกดีใจค่ะที่มีคนคอยเชียร์ คอยซัปพอร์ตหนู ซึ่งลึก ๆ หนูก็มีความคาดหวังอยู่แล้วว่า อยากทำให้ดีขึ้น จะพยายามไม่กดดันตัวเอง และก็จะเอาความคาดหวัง เป็นแรงผลักดันที่ดี ที่จะทำให้ตัวเองไปได้ไกลกว่านี้ค่ะ” รวงข้าว กล่าว

‘4 นักเทนนิสสาว’ เรียนรู้วัฒนธรรมไทยอันงดงาม ผ่านกิจกรรม ‘ร้อยพวงมาลัยดอกไม้สด’

(18 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวการแข่งขันเทนนิสอาชีพหญิงรายการใหญ่ที่สุดของอาเซียน ดับเบิลยูทีเอ 250 รายการ ‘แอลไลด์ ไทยแลนด์ โอเพ่น 2024 พรีเซนเต็ด บาย แคล-คอมพ์’ ชิงเงินรางวัลรวม 267,082 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบ 10 ล้านบาท ที่อารีน่า หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 

ล่าสุด ผู้จัดการแข่งขันฯ ได้จัดกิจกรรมพิเศษภายใต้การสนับสนุนของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้นักเทนนิสระดับโลกได้เรียนรู้ และสัมผัสวัฒนธรรมการร้อยพวงมาลัยดอกไม้สด

โดย 4 นักเทนนิสสาวที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ นำโดยนักหวดชาวไทย ‘แต้ว’ ทรรศพร นาคหล่อ มือ 3 ของไทย และมือ 333 ของโลก, อารีน่า โรดิโอโนวา มือ 115 ของโลก จากออสเตรเลีย, อลิเซีย พาร์ค มือ 116 ของโลก จากสหรัฐอเมริกา และ ยาน่า เฟทท์ มือ 129 ของโลก จากโครเอเชีย ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมการร้อยพวงมาลัย ที่สนามหน้าห้อง แทมมาลีน บลูพอร์ต วิง ฝั่งตรงข้ามโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมี สุวรรณา คุ้มเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดดอกไม้ ประจำโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดกิจกรรม นักเทนนิสทั้ง 4 คน ต่างสนุกและตื่นตาตื่นใจในการเรียนรู้การร้อยพวงมาลัยดอกมะลิ โดย แต้วที่แม้เป็นคนไทย ยังอดตื่นเต้นไปกับกิจกรรมนี้ไม่ได้ เพราะเจ้าตัวเองก็ไม่เคยมีโอกาสได้ร้อยพวงมาลัยมาก่อน

นอกจากนี้ ในระหว่างกิจกรรม ฯพณฯ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานที่ปรึกษาการจัดการแข่งขัน ‘แอลไลด์ ไทยแลนด์ โอเพ่น 2024 พรีเซนเต็ด บาย แคล-คอมพ์’ ได้เดินทางมาร่วมชม พร้อมพูดคุยกับนักกีฬาทั้ง 4 คนอย่างเป็นกันเองด้วย และหลังจากใช้เวลาประมาณ 20 นาที นักเทนนิสทั้ง 4 คน สามารถร้อยพวงมาลัยได้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมกับได้พวงมาลัยที่เป็นงานฝีมือของตัวเองติดมือกลับไปด้วย

สำหรับการร้อยมาลัยถือเป็นอีกเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ที่บ่งบอกถึงศิลปะและวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีคุณค่าทั้งในด้านความสวยงาม ประณีต สื่อถึงความหมายไปในทางที่ดี อีกทั้งกิจกรรมนี้ยังช่วยสืบสานวัฒนธรรมของไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณ และเป็นการฝึกสมาธิและจิตใจที่ดีอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top