Tuesday, 22 April 2025
นักวิชาการ

'หม่อมปลื้ม' แฉ!! นักวิชาการฝ่ายซ้าย ล้างสมองนักศึกษาจนคลั่งเสรีภาพ

(8 ก.ค. 66)  หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ ‘คุณปลื้ม’ พิธีกร และผู้ดำเนินรายการข่าว ได้เผยแพร่บทความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า...

นักวิชาการฝ่ายซ้ายล้างสมองนักศึกษาไปซ้ายสุดโต่งจนล้นเกิน คลั่งสิทธิเสรีภาพอย่างไม่รอบด้าน คิดทุกอย่างในมิติของการถูกกดขี่จึงต้องปลุกตนเองให้ลุกขึ้นสู้ตลอดเวลา ทำอย่างนี้ในสถาบันการศึกษาชั้นนำ ทั้งในสหรัฐฯ เเคนาดา ยุโรป เเละในประเทศไทยของเรา

อุดมการณ์ทางสังคม จริยธรรม การเมือง เศรษฐกิจ อุดมการณ์ต่างๆ เปรียบเสมือนน้ำในตู้ปลา คุณและผมคือปลาในตู้ปลา คุณจะมีอุดมการณ์อะไรมันขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้เทน้ำนั้นเข้าไปในตู้ปลา เราคิดว่า เราได้เลือกว่าเราจะมีอุดมการณ์ชุดใด ในความเป็นจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เเท้ที่จริงเเล้วมันอยู่ที่ว่า คุณถูกบ่มเพาะจากใคร ที่ไหน อย่างไร เเละเมื่อไรต่างหาก

บางคนได้อุดมการณ์หลักมาจากพ่อแม่ บางคนได้มาจากช่วงวัยเรียน ช่วงมัธยม ช่วงที่ถูกสั่งสอนโดยครูตั้งเเต่สมัยวัยหนุ่มสาว หรือบางครั้งก็จากการคบเพื่อนเเละพวกพ้องในสมัยวัยเรียน คบคนอย่างไรที่มีอิทธิพลต่อเราก็อาจได้การหล่อหลอมเช่นนั้นมา ประสบการณ์เป็นส่วนหนึ่งในการในสร้างอุดมกาณ์ด้วยเช่นกัน บางคนไม่ได้ใกล้ชิดกับใครในสมัยเรียนตอนเด็กแต่เมื่อเริ่มเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็เริ่มสนใจ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่มันสมองเริ่มเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการซึมซับมากที่สุด

ดังนั้น คนที่มีโอกาสไปแนวซ้ายมากที่สุด อาจจะเป็นคนซึ่งอยู่ในตู้ปลาที่ขาดการเติมเต็มจากมุมมองด้านอื่นจากผู้ปกครองเเละจากโรงเรียนในสมัยวัยเด็ก เสร็จเเล้วในช่วงที่สมองเปิดรับข้อมูลเเละชุดความคิดในวัยที่เรียนระดับอุดมศึกษา เมื่อเข้าเรียนในสถาบันระดับอุดมศึกษาไม่ว่าในประเทศใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับชั้นนำในทุกทุกประเทศ นั่นนะเเหละตัวดี

เพราะองค์กรเหล่านี้ ถ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสาย Liberal Arts ถ้าบังเอิญเรียนรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สังคมวิทยา หรือ เรียนประวัติศาสตร์ ก็จะเต็มไปด้วยนักวิชาการทั้งระดับอาวุโสเเละที่เพิ่งบรรจุใหม่ที่ล้วนแล้วเเต่หัวเอียงซ้าย ถึงเเม้ว่าจะไม่ทั้งหมด เชื่อในรัฐสวัสดิการเสมอ เเถมมักจะมีเสริมการสอนเรื่องการย่อยสลายวัฒนธรรมอำนาจนิยม ปั่นวาทกรรมว่าทุกคนโดนกดขี่

เริ่มกระบวนการในการล้างสมองเด็กเข้ามา (บ่อยครั้งทำโดยไม่รู้ตัวเพราะตนเองก็ถูกล้างสมองมาอีกทีจากครูบาอาจารย์ชื่อดังในต่างประเทศเเละในประเทศที่เป็น Leftists อีกรอบหนึ่ง) เมื่อเข้าไปเรียนในระดับอุดมศึกษา ปลาตัวน้อย ๆ โดยเฉพาะที่ไม่เคยรับน้ำก็จะขาดภูมิคุ้มกันจากการหว่านล้อมอุดมการณ์ Keynesian สุดขั้ว Social Democracy สเเกนดิเนเวียนสุดทาง หรือไม่ก็นีโอมาร์กซิสต์ตามสูตรโรงเรียนเเกรมเชี่ยนจนสติเเตก

กลุ่มเดียวที่อาจจะรอดจากการถูกล้างสมองเช่นนี้ในโปรเเกรม Liberal Arts ต่าง ๆ ก็คงจะเป็นนักศึกษาที่สามารถเจียดเวลาไปเรียนวิชาปรัชญาอย่างรอบด้านหรือไม่ก็พวกซึ่งเรียนสายเศรษฐศาสตร์ที่มีโอกาสดีพอที่จะได้ศึกษาจากอาจารย์ที่เน้นหลักการณ์ด้านกลไกตลาดเสรีในเเบบที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์สำนักสังคมนิยม ที่วัน ๆ เอาแต่คิดจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการ ทำอย่างไรให้ไม่รู้สึกผิดต่อคนยากคนจน ทำจนเศรษฐกิจพัง นักธุรกิจไม่ต้องเหลือเงินกัน เก็บภาษีให้เยอะ อย่างนี้เป็นต้น

ในโลกเเห่งการเเข่งกันออกนโยบายทางการเมืองเเละในโลกเเห่งการเขียนรายงานในมหาวิทยาลัยยุคปัจจุบัน วัน ๆ เอาแต่นั่งคิดเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สร้าง Living Wage ที่เป็นจริง ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการใช้เงินผู้อื่น จะเปลี่ยนประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ ทำยังไงให้ไม่รู้สึกผิดต่อคนยากไร้ เอาแต่คิดแบบเนี้ยจนเศรษฐกิจพังไปหมด มีเเต่การสอนให้บิดเบือนกลไกตลาดตลอดเวลาโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจเเละนายจ้างที่เดือดร้อนต้องลดส่วนเเบ่งกำไรไม่รู้จักจบ

นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ในที่สุดก็จะนำไปสู่การลดการจ้างงานผู้ซึ่งมีทักษะเเรงงานน้อยกว่าผู้อื่นก่อนเพื่อน สังคมเราจึงเต็มไปด้วยบัณฑิตที่ควรจะรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์เเต่ดันคิดเเบบนักสังคมนิยมที่ต้องการตัดต่อพันธุกรรมระบบเศรษฐกิจที่เวิร์คดีอยู่เเล้ว

คนที่มีโอกาสไปซ้ายมากที่สุดคือคนที่อยู่ในตู้ปลาที่เป็นปลา แล้วบังเอิญในสมัยวัยเด็ก ผู้ปกครองไม่ได้เทน้ำเข้ามา หรือไม่ก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง ที่พ่อเเม่พี่น้องปู่ย่าตายายอุตส่าห์เทน้ำเข้ามาเเต่ก็ถูกสลัดทิ้ง เป็นคนที่ไม่สามารถซึมซับข้อมูลจากผู้ปกครองได้ เสร็จแล้วพอเรียนช่วงมัธยมก็มัวแต่คิดว่าเรียนยากจัง อ่านหนังสือก็ง่วง จึงโดดเรียนไปเดินตามห้าง ไปเที่ยวเตร่ ในตู้ปลาที่ปลาว่ายน้ำกันอยู่ มันจึงขาดน้ำ

กลุ่มนี้เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี โอ้โห! ก็จะมีโอกาสเจอบรรดานักวิชาการตัวพ่อที่เป็นประเภท Left-wing Liberal Democratic Socialists เทน้ำเข้ามาเต็มเปี่ยมเลย ที่นี้พอจบมา เลยล้นเลย คือเกิน คือล้นเลย มันเเปลว่าล้นวิชาการเกิน ล้นซีกซ้ายอย่างเดียวเเต่ไม่รอบด้าน ขาดประสบการณ์จริงกับเรื่องที่เรียนมา เฉกเช่นเดียวกันกับปฏิกิริยาปลาดิ้นพลิกไปพลิกมาเวลามีคนเทน้ำเข้าไปในตู้ปลานั้น ๆ อย่างเเรงเเรงเร็วเร็ว

กลุ่มนี้ก็จะมีความกระตือรือร้นที่จะชุมนุมต่อต้านทุกอย่างตามที่อุดมการณ์สั่งสมบ่มเพาะมา กลายมาเป็น Activists ที่เพิ่งโดนกดปุ่ม Activated

ผู้ซึ่งผลักดันนโยบายเศรษฐกิจสิ้นคิดเช่นนี้ในที่สุดถ้าได้ก็จะพยายามนำเสนอ Redistribution of Income ในรูปเเบบที่เอาเปรียบเจ้าของเงิน เมื่อปล่อยไปก็จะค่อยๆ คล้อยไปเป็นเสมือนรูปเเบบ French-Scandinavian Style Progressive Taxation ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในไทยตอนนี้ ยิ่งฐานะรายได้ดีก็จะยิ่งมีการเสนอให้ตัดฐานะรายได้นั้นเเละทำลาย Dominant Market Positioning ของทุกบริษัทชั้นนำให้มันเหี้ยน

เเนวคิดซ้ายทางเศรษฐกิจนี้คือต้องการให้คนรวยกลายเป็นคนจนลง จนไม่มีใครอยากลงทุนเหมือนในเเถบสแกนดิเนเวีย ให้คนที่ไม่ต้องทำงานสามารถมีบ้านอยู่ได้โดยที่วันๆ ไม่ต้องออกไปทำอะไรเลย ให้มี Universal Basic Income อย่างขาดวินัยการเงินการคลัง สิ่งนี้คือความฝันอันเกือบสูงสุดของฝ่ายซ้ายด้านเศรษฐกิจ

บ่อยครั้งในมหาวิทยาลัยอาจารย์จะมีโอกาสเติมเต็มมากๆ เพราะในช่วงเข้าไปศึกษาใหม่ๆ ปรากฎว่าในตู้ปลานั้น เป็นตู้ปลาซึ่งไม่เคยมีใครเคยเติมน้ำเข้าไปได้สำเร็จ หรือบางทีผู้ปกครองหรืออาจารย์แนะแนวและครูประจำชั้นในสมัยมัธยมเคยพยายามเติมน้ำ แต่เป็นพวกประเภทไม่ยอมซึมซับน้ำเลย แต่เมื่อถึงวัยมหาวิทยาลัย ได้บังเอิญพบเจอกับอาจารย์ที่เป็น Socialist-Liberal เทน้ำลงมา…โอ้โหว ล้นเต็มเปี่ยม

อุดมการณ์ที่คุณและผมมีอยู่ มันเป็นอุดมการณ์ที่ผ่านการบ่มเพาะมา คำถามที่คุณต้องถามตนเองคือ คุณเติมเต็มหรือยังเเละที่ผ่านมาใครคือผู้ซึ่งบ่มเพาะคุณเเละผู้นั้นหวังดีต่อคุณเเละสังคมจริงหรือ? หรือเป็นไปได้ไหมว่าผู้ซึ่งบ่มเพาะคุณมาทางด้านการเมืองในสถาบันการศึกษาต่างๆ ล้วนเเล้วเเต่เคยได้รับการเทน้ำมาอีกทีหนึ่งจนล้นเกินจากซ้ายอกหักจากยุคสมัยสงครามเย็นที่ในวันนี้ต้องการเอาคืน เเก้มือ หรือเเก้เเค้นอดีตที่ได้เคยพ่ายเเพ้เเละเจ็บปวดไปเมื่อ 47 ปีที่เเล้ว

'หมอธีระวัฒน์' ฉะแรง!! นักวิชาการรับเงินต่างชาติ ทำทุกอย่างตามที่สั่ง ถอดรหัสพันธุกรรม สร้างไวรัสใหม่ พอระบาดแล้ว ค่อยสร้างวัคซีน-ยา

(19 มี.ค.67) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า…

“ถึงเวลาต้องเปิดโปงนักวิชาการโสเภณี รับเงินต่างชาติ ทำทุกอย่าง...ตามที่มันสั่ง เช่น ได้ 3.7 ล้านเหรียญ ตอนแรกได้ 399,743 เหรียญ

ยังมีอีกในห่วงโซ่ธุรกิจข้ามชาติรับใช้ คนให้เงิน หาไวรัส ถอดรหัสพันธุกรรม สร้างไวรัสใหม่ ระบาด แล้วสร้างวัคซีน ยา และยารักษามะเร็งที่สร้างขึ้นแล้วสร้างโรคระบาดใหม่

เป็นคนไทย หรือมาจากนรก?”

4 อาจารย์แลกเปลี่ยนชาวอเมริกัน ถูกไล่แทงในจี๋หลิน ด้าน ‘จีน’ ยืนยัน!! ไม่กระทบความสัมพันธ์ด้านวิชาการ

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุชายชาวจีนรายหนึ่ง ใช้มีดไล่แทงชาวต่างชาติ 4 คนกลางสวนสาธารณะในมณฑลจี๋หลิน โดยทราบภายหลังว่า ทั้ง 4 คน เป็นอาจารย์ชาวอเมริกัน และกำลังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเป่ยหัว หนึ่งในสถาบันที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในมณฑลจี๋หลิน 

อาจารย์อเมริกันทั้ง 4 คน เข้าร่วมโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างวิทยาลัยคอร์แนล ในรัฐไอโอวา ของสหรัฐอเมริกา และ มหาวิทยาลัยเป่ยหัว โดยได้เดินทางมาเป็นอาจารย์สอนในสถาบันของจีน ซึ่งในวันเกิดเหตุ ผู้ดูแลชาวจีนได้พาอาจารย์อเมริกันทั้ง 4 คนมาเที่ยววัดโบราณ ที่ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะเป่ยชาน หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมประจำมณฑลจี๋หลิน 

ต่อมาปรากฏชายจีนคนหนึ่ง ใช้มีดทำร้ายกลุ่มอาจารย์ชาวอเมริกันทั้ง 4 คน เมื่อผู้ติดตามชาวจีนวิ่งเข้ามาช่วย ก็โดนคนร้ายแทงได้รับบาดเจ็บเช่นกัน และกลายเป็นภาพข่าวที่สร้างความตกใจให้กับทั้งชาวจีนในประเทศ และ ชาวต่างชาติ เนื่องจากการก่อเหตุไล่แทงเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประเทศจีน 

อาจารย์อเมริกันทั้ง 4 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนคนร้ายชาวจีนถูกจับตัวได้แล้ว เป็นชายวัย 55 ปี ชื่อว่า นาย ชุย แต่ไม่มีรายงานถึงมูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุ

ข่าวนี้ได้สร้างปฏิกิริยาอย่างมากมายในฝั่งสหรัฐฯ เริ่มจาก ‘คิม เรย์โนลด์’ ผู้ว่าการรัฐไอโอวา ได้โพสต์ข้อความผ่าน X ว่าได้พูดคุยกับผู้แทนของรัฐบาลกลางถึงเหตุการณ์ที่น่าสยดสยองในครั้งนี้ และหวังว่าพลเมืองอเมริกันทั้ง 4 คนจะหายดีและได้เดินทางกลับสู่ครอบครัวในสหรัฐฯ เร็ว ๆ นี้ 

ด้าน ‘เจค ซัลลิแวน’ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐ ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความกังวลอย่างมากต่อเหตุไล่แทงคนอเมริกันในจีน

ส่วนชาวจีนก็ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นี้ผ่านโลกโซเชียลไม่น้อย หลายคนแปลกใจ เพราะชาวจีนส่วนใหญ่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

แต่บางคนก็ได้เหตุการณ์นี้ไปเปรียบเทียบกับกบฏนักมวย ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1899 - 1901 เมื่อมีกลุ่มชาวจีนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก และ ต้องการขับไล่ชาวต่างชาติออกนอกประเทศ แต่ภาพข่าว และ ความเห็นต่าง ๆ ถูกลบออกจากสื่อจีนอย่างรวดเร็วตามมาตรการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีน

ด้าน ‘หลิน เจี้ยน’ โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศจีนได้แถลงว่า จากรายงานของตำรวจเบื้องต้นพบว่าเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุสุดวิสัย โดยไม่ได้มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงถึงผู้เคราะห์ร้ายคนใด ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน และยืนยันว่าจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความปลอดภัยสูงที่สุดในโลก จีนมีมาตรการจำกัดการครอบครองอาวุธปืนที่เข้มงวด และระบบสอดแนมแทบทุกจุดในเมือง 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะไม่กระทบความสัมพันธ์ด้านวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง โดย วิทยาลัยคอร์แนล และ มหาวิทยาลัยเป่ยหัว ได้เซ็นข้อตกลงพันธมิตรด้านวิชาการร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งทางสถาบันจีนมีทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับอาจารย์จากวิทยาลัยคอร์แนล เดินทางมาใช้ชีวิต และสอนหลักสูตรระยะสั้น 2 สัปดาห์ในสาขาคอมพิวเตอร์, คณิตศาสตร์ และ ฟิสิกส์  ให้กับนักศึกษาจีนในจี๋หลิน 

และโครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างจีน และ สหรัฐอเมริกา หลังจากความบาดหมางในประเด็นการระบาด Covid-19 ที่มีส่วนทำให้นักศึกษาอเมริกันในจีนลดลงอย่างมาก

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ‘นิโคลัส เบิร์น’ เอกอัคราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศจีน ระบุว่า เคยมีนักศึกษาอเมริกันเดินทางไปศึกษาในจีนราวปีละ 11,000 คนก่อนช่วงวิกฤติ Covid-19 ลดลงเหลือเพียง 880 คนในปัจจุบันเท่านั้น 

ดังนั้น ‘สี จิ้นผิง’ ผู้นำจีน จึงวางแผนที่จะทำแผนส่งเสริมให้นักศึกษาอเมริกันเดินทางมาเรียนต่อในจีนมากขึ้นให้ได้ 5 หมื่นคนภายใน 5 ปีข้างหน้า ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และ ความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันในสหรัฐอเมริกา แม้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ยังคงออกเอกสารเตือนพลเมืองอเมริกันในการเดินทางมาประเทศจีนอยู่ก็ตาม

‘ดร.อาร์ม’ ชี้ ยุคโลกาภิวัตน์ไม่หวนกลับมาแล้ว นี่คือโจทย์ใหม่ของไทยบนการเมืองโลก

เมื่อวานนี้ (9 ก.ย. 67) สำนักข่าว TNN ได้มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ ‘ปลดล็อกกับดัก: การปรับจุดยืนไทย ในโลกที่แบ่งขั้ว’ ซึ่งการจัดงานสัมมนาที่ได้มีการเชิญนักวิชาการไทยจากหลากหลายสาขาและภูมิภาคมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ประเทศไทยควรมีการดำเนินนโยบายอย่างไรเพื่อสร้างความเข้มแข็งและให้ผลประโยชน์กับเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศชาติได้

โดย ‘ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร’ ผ.อ. ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความคิดเห็นว่า ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ทั่วโลกอยู่ในช่วงโลกาภิวัตน์ หรือ โลกที่ไร้พรมแดน ทว่าไม่กี่ปีมานี้ โลกเหมือนจะเข้าสู่ Deglobalization และกำลังถูกตอกฝาโลงด้วยสงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบ Supply Chain ที่กำลังปั่นป่วนอยู่ในขณะนี้ 

“ก็จริง ๆ แล้วเนี่ย สมัยก่อนพูดกันนะครับว่าเป็นเทรนด์ของโลกว่าเป็นยุคที่ไม่มีสงคราม ยุคของความซิงลี้ ผู้คนค้าขาย ผู้คนที่เรียกกันว่า… เป็นมิตรต่อกันและกัน แต่ตั้งแต่สงครามการค้าของทรัมป์ตั้งแต่ปี 2017 ตามมาด้วยวิกฤตโควิด 19 ซึ่งทำให้เกิดความปั่นป่วนของ Supply Chain ทั่วโลก แล้วก็มา ‘ตอกฝาโลง’ โลกาภิวัตน์ด้วยสงครามยูเครน ซึ่งเราบอกว่าทำให้ความไม่ไว้วางใจระหว่างมหาอำนาจเนี่ยสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ตอนนี้ผมคิดว่าบรรดานักวิชาการในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่าเป็นยุค Deglobalization คือเป็นยุคที่โลกาภิวัตน์ไม่หวนกลับมาแล้ว”

“แต่ว่าจริงๆ แล้ว หลายคนบอกว่า มันกำลังเกิดห่วงโซ่การค้าโลกแตกเป็น 2 ห่วงโซ่ ก็คือ ห่วงโซ่สหรัฐฯ เชื่อมโลก แล้วก็พยายามที่จะสกัดขัดขวางจีน และห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก ซึ่งก็พยายามสกัดขัดขวางสหรัฐฯ อันนี้เลยเป็นโจทย์ใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะว่าในอดีต เราถามตลอดว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain อย่างไร แต่วันนี้ต้องพูดกันตามตรงนะครับว่า Global Supply Chain กำลังปั่นป่วนมากครับ”

อย่างไรก็ตาม ศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ยุคแห่งสงครามเย็น แต่เป็นยุคสงครามร้อนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลก พร้อมกันนั้น ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบมากมายต่อการขับเคี่ยวกันทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจ ดังนั้นงานสัมมนาครั้งนี้จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างจุดยืนที่เป็นประโยชน์ท่ามกลางความร้อนระอุของโลกยุคนี้

‘สุรัชนี’ ชี้ ควรยึดประโยชน์ของไทยเป็นที่ตั้ง แนะ ไทยสามารถร่วมมือกับประเทศอื่นนอกจากมหาอำนาจ

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าว TNN ได้มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ ‘ปลดล็อกกับดัก: การปรับจุดยืนไทย ในโลกที่แบ่งขั้ว’ ซึ่งการจัดงานสัมมนาที่ได้มีการเชิญนักวิชาการไทยจากหลากหลายสาขาและภูมิภาคมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ประเทศไทยควรมีการดำเนินนโยบายอย่างไรเพื่อสร้างความเข้มแข็งและให้ผลประโยชน์กับเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศชาติได้

‘ผศ.ดร. สุรัชนี ศรีใย’ นักวิจัยอาคันตุกะ สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค ประเทศสิงคโปร์ และเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ได้รับเชิญไปสัมมนางานดังกล่าว มีความเห็นว่า ประเทศไทยจะต้องตอบตนเองให้ได้ก่อนว่าต้องการผลประโยชน์ของชาติแบบใด นโยบายแบบใด ที่น่าจะสามารถให้ประโยชน์กับทุกคนในประเทศส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่เพียงเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น และยังเสริมว่า ประเทศไทยสามารถทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศมหาอำนาจที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นตลาดอื่นๆ ทางเศรษฐกิจได้ เช่น อาเซียนและประเทศในกลุ่ม EU เป็นต้น 

“คิดว่าไทยต้องเริ่มจากการ Identify ความต้องการของตนเองก่อนว่าผลประโยชน์ของชาติไทยมันคืออะไร ซึ่งอันนี้ขีดเส้นใต้เยอะมากว่าหมายถึง ‘ผลประโยชน์ของคนไทย’ ส่วนใหญ่นะคะว่า การที่ประเทศจะบริหารความสัมพันธ์ระหว่างไทยเองกับประเทศที่เป็นมหาอำนาจนี้น่ะค่ะ มันจะส่งผลประโยชน์ต่อคนไทยยังไง เมื่อไปจากจุดนั้นแล้ว เราก็จะสามารถนึกได้นอกกรอบว่า เราจะสามารถบริหารความสัมพันธ์เหล่านี้ยังไงได้บ้างนะคะ นี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่เราจะต้องเริ่มก่อน หลังจากนั้นเราก็จะสามารถที่จะเลือกได้ว่า เราจะไปสู่ผลประโยชน์เหล่านั้นเนี่ย โดยการที่จะทำงานร่วมกับมหาอำนาจไหน? หรือเราไม่จำเป็นต้องทำงานร่วมกับมหาอำนาจอย่างเดียวค่ะ เราสามารถที่จะนึกถึงตัวละครอื่นๆ อย่างเช่น ทำงานผ่านกรอบอาเซียน ทำงานร่วมกับ EU ก็ได้ หรือแม้กระทั่งกับประเทศอื่นๆ ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นตลาดอื่นๆ ที่ไทยจะสามารถ Explore ได้ค่ะ” 

อย่างไรก็ตาม ศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ยุคแห่งสงครามเย็น แต่เป็นยุคสงครามร้อนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลก พร้อมกันนั้น ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบมากมายต่อการขับเคี่ยวกันทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจ ดังนั้นงานสัมมนาครั้งนี้จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างจุดยืนที่เป็นประโยชน์ท่ามกลางความร้อนระอุของโลกยุคนี้

'ดุลยภาค' ชี้ โลกกำลังเข้าสู่การแบ่งขั้วมหาอำนาจที่ชัดเจน ย้ำ!! ประเทศไทยควรวางตัวเป็นกลางอย่างสร้างสรรค์

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าว TNN ได้มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ ‘ปลดล็อกกับดัก: การปรับจุดยืนไทย ในโลกที่แบ่งขั้ว’ ซึ่งการจัดงานสัมมนาที่ได้มีการเชิญนักวิชาการไทยจากหลากหลายสาขาและภูมิภาคมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ประเทศไทยควรมีการดำเนินนโยบายอย่างไรเพื่อสร้างความเข้มแข็งและให้ผลประโยชน์กับเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศชาติได้

‘รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช’ จาก สถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ได้เข้าร่วมสัมมนาดังกล่าว ได้มีความคิดเห็นว่า ประเทศไทยเหมาะที่จะดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยการเป็นกลางอย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์มากกว่า และเน้นยึดหลักความถูกต้องและกฎกติการะหว่างประเทศเป็นตัวนำ พร้อมกับเลือกดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นการถาวร อย่างเช่น ประเทศไทยโยกเข้าหาสหรัฐอเมริกาในเรื่องการทหาร และ โยกเข้าหาจีนในเรื่องของการค้าและเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องปิดกั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป รวมไปถึงขณะเดียวกันก็ให้ประเทศไทยหันมาเสริมสร้างแกนนอก ซึ่งหมายถึง การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจนอกประเทศไทยด้วย

“ผมคิดว่าเราน่าจะดำเนินนโยบายเป็นกลางแบบยืดหยุ่น นั่นก็คือ เราไม่ประกาศว่าเราฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เนื่องจากยังไม่ได้มีแรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์อย่างรุนแรงที่ถึงขนาดประเทศไทยต้องเลือกข้างนะครับ เพราะฉะนั้นเราน่าจะยึดประเด็น ยึดความถูกต้อง ยึดกฎกติกา บรรทัดฐานระหว่างประเทศเป็นตัวนำ มหาอำนาจชาติใดทำเหมาะไม่เหมา จะต้องมีการประณามหรือยังไง แล้วก็ปฏิบัติไปตามความเหมาะสมบนหลักการแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกันในบางครั้ง ในบางประเด็น เราอาจจะต้องโยกเข้าหาสหรัฐฯ หรือจีนบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะฝักใฝ่ประเทศเหล่านั้นเป็นการถาวร ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการซ้อมรบ พันธมิตรทางทหาร พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ กำลังทหารของสหรัฐอเมริกายังมีความสำคัญอยู่ เพราะฉะนั้น ไทยก็น่าจะเอนเข้าหาสหรัฐฯ หรือว่าระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ เครื่องบินรบต่าง ๆ เราก็ต้องเน้นสหรัฐอเมริกา แล้วก็จีนก็เข้ามาตาม จีนอยากจะถ่วงดุลกับสหรัฐฯ ก็เข้ามาบริหารความสัมพันธ์ดู แต่ในมิติของการค้าชายแดน ในมิติของการลงทุน การท่องเที่ยวต่างๆ เนี่ย อิทธิพลจีนน่าจะมีอยู่สูงกว่าอย่างชัดเจน เราก็ต้องโยกเข้าหาจีนไปโดยปริยาย แต่เราก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะปิดโอกาสนี้สำหรับสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ความเป็นกลางแบบยืดหยุ่น แบบสร้างสรรค์น่าจะเหมาะสมกับไทยนะครับ”

“แล้วอีกเรื่องหนึ่งก็คิดว่า ประเทศไทยน่าจะเสริมสร้างแกนนอก เสริมสร้างแกนนอกก็คือ ให้เราไปมองดูพื้นที่นอกประเทศไทยว่า ส่วนไหนจะเป็นอิทธิพล เขตไหนเป็นอิทธิพลของเรา เหนือ, ใต้, ออก, ตก อย่างนี้ เช่น พื้นที่รัฐฉานของพม่า พื้นที่บรรจบทางทะเลระหว่าง ไทย, พม่า, อินเดีย, อินโดนีเซีย อะไรอย่างนี้เป็นต้น เป็นพื้นที่ที่เราจะต้องทำ Power Projection นะครับ ทำการสำแดงอำนาจ หรือเพิ่มปฏิบัติการทางเศรษฐกิจหรือมิติต่าง ๆ ให้มากขึ้น” 

อย่างไรก็ตาม ศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ยุคแห่งสงครามเย็น แต่เป็นยุคสงครามร้อนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลก พร้อมกันนั้น ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบมากมายต่อการขับเคี่ยวกันทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจ ดังนั้นงานสัมมนาครั้งนี้จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างจุดยืนที่เป็นประโยชน์ท่ามกลางความร้อนระอุของโลกยุคนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top