Thursday, 24 April 2025
ธุรกิจกัญชา

‘วรวุฒิ’ โชว์กึ๋นกูรูการตลาด เผยโอกาสของคนตัวเล็กกับธุรกิจ ‘กัญชา’ มีมูลค่ามหาศาล หากจัดการอย่างถูกต้อง เสนอตั้งสถาบันวิจัยพัฒนาอาหารเปิดทางนักวิจัยคิดค้นแปรรูปจดลิขสิทธิ์ ให้นักธุรกิจมาช็อปไปใช้รัฐได้ค่าไลเซนซ์ 

8 พ.ค. 2565 – นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้าและประธานทีมเศรษฐกิจ ในฐานะอดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวบรรยาย ในงาน “มหกรรมกัญชาทางการแพทย์สุขภาพที่ 6 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จ.จันทบุรี ถึงแนวทางการทำตลาดกัญชาเพื่อคนตัวเล็ก ว่า กัญชาถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่มากต่อประเทศไทย โดยจะเห็นได้จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กัญชามาแรงมาก บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากออกข่าวว่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาหุ้นขึ้นทุกตัว ซึ่งเป็นสัญญาณชัดเจนว่าตลาดคาดหวังกับธุรกิจกัญชามาก สำหรับประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องการผลิตอาหารและยาสมุนไพร เนื่องจากมีวัตถุดิบ ทรัพยากรมากมายทั้งผลไม้ พืชผัก อาหารการกินบ้านเราไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่เกษตรกรซึ่งมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรประเทศกลับยังยากจน รายได้ภาคการเกษตรเพียง 8% ทั้งที่ควรจะเป็น 35% ตามจำนวนเกษตรกรของประเทศ

อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวด้วยว่า การสร้างเศรษฐกิจให้กับ กัญชา-กัญชง หากได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง จะทำรายได้อย่างมหาศาล สิ่งที่จะต้องทำคือ ปรับจูนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เหมาะสมและเอื้อต่อการทำธุรกิจ ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน ตั้งแต่ระดับต้นน้ำคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์และการเพาะปลูก ระดับกลางน้ำ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ในเรื่องการสกัดและการแปรรูปเพิ่มมูลค่า และระดับปลายน้ำคือ กระทรวงพานิชย์ ในการจัดจำหน่าย หาตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยทั้งสายน้ำ ต้องพึ่งพาข้อมูลและการวิจัยทางการตลาดอย่างเข้มข้น

“แต่ในทางการตลาด ผมมองว่า ต้องเอาปลายน้ำขึ้นมาก่อน คือเอาลูกค้าเป็นหลักว่าเป็นใคร ปริมาณความต้องการมีจำนวนเท่าไร ทั้งในและต่างประเทศ จากนั้นจึงกลับไปที่ต้นน้ำ เพื่อวางแผนการเพาะปลูก ให้สอดคล้องกับความต้องการ และถึงจะไปที่กลางน้ำคือกระทรวงอุตสาหกรรม วางแผนการแปรรูปผลผลิต ปัจจุบันการทำงานระหว่างกระทรวงยังเป็นปัญหา ด้วยระบบโครงสร้างการบริหารงานที่ไม่เอื้อ ดังนั้น ผมขอเสนอตั้งสถาบันวิจัยอาหารและยา เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถค้นค้นแปรรูปอะไรดีๆ แล้วจดลิขสิทธิ์ ผู้ผลิตรายไหนเอาผลงานไปใช้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นต่อจำนวนการผลิต นักวิจัยก็จะรวย ไม่ใช่วิจัยเสร็จแล้วขึ้นหิ้ง ไม่มีใครเอาไปต่อยอด นายทุนไม่สนใจ แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้ใครก็ได้มาใช้งานวิจัยที่รัฐรวบรวมไว้ รัฐก็จะสามารถเก็บภาษีและไลเซนซ์ได้มหาศาล เรื่องแบบนี้รัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิด และเข้าใจระบบกลไกธุรกิจหรือบิสิเนสโมเดลใหม่ ไม่ใช่เป็นระบบราชการแบบเก่าที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา นอกจากนี้ ประเทศไทยยังควรมีนิคมอุตสาหกรรมกัญชง กัญชา ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เหมือนที่หลายประเทศเขาทำกัน เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน” นายวรวุฒิ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top