'รัสเซีย' ลั่น!! 'รัสเซีย-ยูเครน' ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม เท่ากับศาลอาญาโลกไม่มีสิทธิสั่ง 'มองโกเลีย' รวบ 'ปูติน' ระหว่างการเยือน
(2 ก.ย. 67) นาย ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของวังเครมลิน กล่าวกับกลุ่มผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า มอสโกไม่กังวลเกี่ยวกับหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศที่ให้จับกุมนาย วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย พร้อมเน้นว่าทุกประเด็นปัญหาในความเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเยือนของปูตินจะได้รับการจัดการแยกกันเป็นการล่วงหน้า
จากการกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีรัสเซียได้ทำการบังคับเนรเทศประชาชนอย่างผิดกฎหมายและบังคับขนย้ายประชากร (เด็ก) จากพื้นที่ยึดครองในยูเครน ไปยังสหพันธรัฐรัสเซีย
นาย ฟาดิ เอล-อับดัลเลาะห์ โฆษกของศาลอาญาระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีในวันศุกร์ที่ผ่านมาเช่นกันว่า ทุกรัฐที่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม "มีพันธสัญญาที่ต้องให้ความร่วมมือ สอดคล้องกับบทบัญญัติภาค 9 ของธรรมนูญกรุงโรม" ทั้งนี้ ธรรมนูญกรุงโรม เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จัดตั้งศาลแห่งนี้ขึ้นมา และทางมองโกเลียได้ให้สัตยาบันรับรองในปี 2002
"ในกรณีที่ไม่ให้ความร่วมมือ บรรดาผู้พิพากษาของศาลอาญาระหว่างประเทศ อาจดำเนินการตรวจสอบผลกระทบในเรื่องดังกล่าว และแจ้งต่อสมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรมในเรื่องนี้ จากนั้นทางสมัชชาฯ จะเป็นคนตัดสินใจใช้มาตรการใดๆ ที่พวกเขาเล็งเห็นว่ามีความเหมาะสม" เอล-อับดัลเลาะห์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญกรุงโรมได้ให้ข้อยกเว้น ครั้งที่การจับกุมใดๆ นั้นเป็นการละเมิดพันธสัญญาในสนธิสัญญาหนึ่งที่ทำไว้กับประเทศอื่น หรือละเมิดเอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูตของบุคคลหรือสินทรัพย์ของประเทศที่ 3
อ้างอิงจากรัฐบาลในกรุงเคียฟ ทางยูเครนได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการ เรียกร้องให้ มองโกเลียทำการจับกุมนายวลาดิมีร์ ปูติน เช่นกัน ทว่าต่อมา ทางโฆษกของวังเครมลินยังคงปฏิเสธคำกล่าวอ้างในการจับกุมดังกล่าวว่าเป็นเรื่องไร้สาระ โดยเน้นว่าการอพยพพลเรือนออกจากพื้นที่สู้รบไม่ใช่อาชญากรรม ยิ่งไปกว่านั้นทั้งรัสเซียและยูเครน ก็ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม นั่้นหมายความว่าศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีขอบเขตอำนาจในเรื่องนี้
