Tuesday, 22 April 2025
ท่าเรือแหลมฉบัง

ครม.เคาะร่างสัญญาร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. รับทราบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือเอฟ ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นชอบแล้ว ตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินของรัฐเป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่อัตรา 100 บาทต่อทีอียู (ตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) โดยมีระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี

สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี เป็นเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวที่ผ่านการประเมิน หากดำเนินการคัดเลือกใหม่อาจส่งผลให้การเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือเอฟ ล่าช้าประมาณ 2 ปี และก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น การที่ปริมาณตู้สินค้าจะเกินขีดความสามารถในการรองรับในปี 68 

นับหนึ่งลงทุนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 หลังช้ามานาน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้เป็นประธาน ในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ระหว่าง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับดีที่สุด เป็นไปตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน และมติ ครม. ได้อนุมัติไว้

สำหรับ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง รองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยก่อสร้างท่าเทียบเรือ สำหรับรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งระหว่างประเทศ ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ โครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอ รองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ

ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างท่าเรือ F1 แล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ส่วนท่าเทียบเรือ F2 จะแล้วเสร็จปี 2572 และเมื่อโครงการในระยะที่ 3 แล้วเสร็จจะสามารถรองรับความจุตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้/ปี เป็น 18 ล้านตู้/ปี หรือเพิ่มตู้สินค้าไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตู้/ปี รับการขยายตัวของปริมาณเรือขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น เชื่อมต่อการพัฒนาสู่ท่าเรือบก เป็นศูนย์กลางการค้าบริการขนส่ง ยกระดับไทยเป็นประตูการค้าเชื่อมภูมิภาคเอเชียไปสู่ระดับโลกโดยผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับจากโครงการเป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขนาด 20 ฟุต) มีระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี 

‘นิคมอุตสาหกรรม TFD’ ประกาศความมั่นคงด้านน้ำ นิคมแรกในพื้นที่ EEC!!

วันที่ 23 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ผู้พัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม TFD ได้จัด “พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ EEC โครงการนิคมอุตสาหกรรม TFD โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ขึ้น ณ โรงแรม JC Kevin Sathorn Bangkok Hotel โดยพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ครั้งนี้ ได้ลงนามร่วมกับ บริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM) โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการที่ให้บริษัท IWRM เข้าไปร่วมดูแลบริหารจัดการน้ำในนิคมอุตสาหกรรม และดำเนินการวางท่อส่งน้ำจากอ่างกักเก็บน้ำธรรมชาติของบริษัทฯ ความจุรวมกว่า 30 ล้านลบ.ม. เข้าสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม TFD เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป

โดยพิธีลงนามในครั้งนี้ ประกอบด้วยตัวแทนนิคมอุตสาหกรรม TFD โดยมี คุณอภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) / คุณกฤตวัฒน์ เตชะอุบล กรรมการบริหาร และคุณอนุกูล อุบลนุช กรรมการผู้จัดการ ลงนามร่วมกับ นายธนวัฒน์ สันตินรนนท์ กรรมการบริหาร บริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM) และยังได้รับเกียรติจาก ดร. คณิศ แสงสุพรรณ  เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC พร้อมด้วย นาย ธาดา สุนทรพันธุ์ รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ลงนามเป็นสักขีพยานอีกด้วย

​“พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ EEC โครงการนิคมอุตสาหกรรม TFD โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ในครั้งนี้ เป็นที่สนใจแก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศอย่างมาก เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรม TFD เป็นนิคม Smart Industry บนทำเลทอง เนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เมืองอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ SmartCity จังหวัดฉะเชิงเทรา และเป็นประตูสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือEEC ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิเพียง 30 กิโลเมตร ใกล้ทั้งท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง ปัจจุบันจัดสรรพื้นที่ไปแล้วกว่า 800 ไร่โดยแบ่งเป็นเขต General Zone และเขต FreeZone พร้อมรองรับนักลงทุน ที่จะเข้ามาลงทุนใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC

 

ลูกทัวร์กว่า 600 ชีวิต โดนลอยแพ แถมเสียเงินเป็นแสน หลังเรือสำราญอ้าง บริษัททัวร์ไม่ได้ส่งรายชื่อมาให้

เมื่อไม่นานมานี้ ทางเพจเฟซบุ๊ก ‘โหนกระแส’ ได้ออกมาเผยแพร่เรื่องราวของลูกทัวร์ 500-600 ชีวิตที่โดนลอยแพ หลังจ่ายเงินเป็นแสน แต่ทางเรืออ้างว่าไม่มีการส่งรายชื่อมา จนทำให้เกิดเหตุชุลมุนที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี หลังบริษัทเรือสำราญแห่งหนึ่ง ลอยแพผู้โดยสารจำนวน 500-600 คน โดยอ้างว่าบริษัททวร์ไม่ได้ส่งรายชื่อมาให้

ผู้เสียหายรายหนึ่งได้ให้ข้อมูลกับทีมเพจโหนกระแสว่า ทำไมลูกค้าทัวร์ที่ซื้อโปรฯ ลดราคา หรือโปรฯ 1 แถม 1 ถึงมีรายชื่อขึ้นเรือได้ แต่อีกหลายคนที่ซื้อหลักแสน ซื้อทั้งครอบครัว ไม่ได้ขึ้นเรือ

นอกจากนี้ ยังมีครอบครัวพ่อ แม่ ลูก ที่มีรายชื่อพ่อและลูกให้ขึ้นเรือ แต่กลับไม่มีชื่อของแม่ รวมถึงศิลปินนักร้องที่ต้องทำการแสดงบนเรือ ก็ไม่มีรายชื่อด้วยเช่นกัน จึงสงสัยในการจัดการว่าเป็นอย่างไร ผิดพลาดที่อะไรกันแน่ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว แต่จำนวนผู้เสียหายไม่มากเท่าครั้งนี้

ขณะนี้มีผู้เสียหายบางส่วนที่ดำเนินการเข้าแจ้งความแล้ว มูลค่าความเสียหายน่าจะมากพอสมควร

ตู้คอนเทนเนอร์ ‘ท่าเรือแหลมฉบัง’ เกิดเหตุเพลิงไหม้ ‘สารเคมีระเบิด’ คาด!! พิษสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้วัตถุภายในตู้เกิดปฏิกิริยาขึ้น

(29 ส.ค.66) พ.ต.อ.ปพรพัชร์ ใบยา ผกก.สภ.แหลมฉบัง รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ถังบรรจุสินค้าอันตราย ประเภท UN.2014 class 5.1 ซึ่งมีกลิ่นฉุนรุนแรง และมีฤทธิ์กัดกร่อน ภายในลานพักตู้คอนเทนเนอร์ JWD เขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จึงรุดไปตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลนคร

ที่เกิดเหตุเป็นลานพักตู้คอนเทนเนอร์ ประเภทสินค้าอันตราย พบตู้คอนเทนเนอร์ ตู้สินค้าอันตรายหมายเลข TLLU2697694 Class 5.2 UN 3106 สารเคมีเป็น Orgaic peroxide type d, solid (สารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์) จำนวน 378 กล่องได้เกิดปฏิกิริยา ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ พบกลุ่มควันดำขาว รวมถึงเปลวเพลิงลอยพุ่งขึ้นท้องฟ้าเป็นจำนวนมาก

จากการตรวจสอบพบมีผู้ได้รับผลกระทบของบริษัท mc logistics จำนวน 154 คน ลานจอดรถ โตโยต้า 23 คน และนำส่งคนงาน 7 ราย โรงพยาบาลวิภาราม หลังมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก แสบตา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังฉีดน้ำเพื่อสกัดเพลิง โดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนรถดับเพลิงเข้าพื้นที่

จากการสอบถามผู้เห็นเหตุการณ์ กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุได้พบเห็นควันดำขาวลอยพุ่งออกมาจากลานพักตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว หลังจากนั้นไม่นานเริ่มมีเพลิงลุกไหม้ลอยตามมาติด ๆ ก่อนที่จะมีระเบิดดังขึ้น หลังจากนั้นก็พบว่าคนงานในพื้นที่ และใกล้เคียงต่างพากันวิ่งหนีกันออกมา นอกจากนี้ ยังส่งกลิ่นเหม็นฉุนไปทั่วบริเวณอีกด้วย

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่และทางบริษัทได้กั้นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ โดยขณะนี้พบว่าเพลิงได้สงบลงแล้ว แต่ยังมีไอระเหยอยู่ ทั้งนี้ ทราบว่าสาเหตุอาจเกิดจากอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้วัตถุภายในตู้เกิดปฏิกิริยาขึ้น ซึ่งหลังเหตุการณ์สงบเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเข้าตรวจสอบพื้นที่อย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อสรุปสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

'บอร์ด กทท.' จี้งานก่อสร้างและพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 พร้อมเร่งปรับยุทธศาสตร์และ Master ของการท่าเรือ/ท่าเรือแหลมฉบังใหม่ ให้เป็นไปตามเป้าสอดรับนโยบายของรัฐบาล มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) โดยเร็ว

นายชยธรรม์ พรหมศร ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้นำคณะกรรมการและที่ปรึกษาบอร์ด พร้อมด้วยนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการและผู้บริหาร กทท. ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และลงพื้นที่ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรับทราบปัญหาและติดตามความคืบหน้า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 งานก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการถมทะเล เพื่อเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงาน ให้ โครงการสามารถแล้วเสร็จตรงเวลา เป็นไปตามกรอบระยะเวลาของสัญญาที่ได้ทำไว้ พร้อมทั้งได้เดินทางไปตรวจการดำเนินงาน รับทราบปัญหาเพื่อแก้ไขให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการให้บริการขนส่งตู้สินค้าเชื่อมต่อทางเรือเข้ากับทางรถไฟของ Single Rail Transfer Operator : SRTO ซึ่งหากการดำเนินการมีประสิทธิภาพ ในการให้บริการจะช่วยให้การขนส่งสินค้าผ่านช่องทางนี้มากขึ้น เป็นการลด ปริมาณการขนส่งทางถนนลง ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการ บรรลุวัตถุประสงค์ในการ ลดต้นทุนการขนส่ง logistics ในระบบการขนส่งสินค้าของประเทศโดยรวม ด้วยการบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพ การขนส่งทางน้ำกับทางรางที่มีต้นทุนถูกกว่า ให้ไร้รอยต่อแบบ Seamless Multimodal Transport ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเร็ว

นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้เข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของ บริษัท ฮัทชิสัน เทอร์มินัล จำกัด ณ ท่าเทียบเรือชุด D รวมถึงรับทราบการนำระบบรถบรรทุกไร้คนขับ autonomous truck ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้ในการปฏิบัติการ เพื่อยกระดับศักยภาพความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย Green Transport ตลอดถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การอำนวยความสะดวก ให้แก่ผู้รับบริการของท่าเรือดังกล่าวในปัจจุบันและมีแผนที่จะขยายการให้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับการลงพื้นที่ติดตาม งานก่อสร้างในส่วนของงานถมทะเล ในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 ผู้แทน กลุ่มผู้รับเหมางาน ในกลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC ได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงาน ที่ปัจจุบันได้มีการเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยได้เพิ่มแรงงาน เครื่องจักร และเรือขุด Grab Dredger เข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานทำให้ ปัจจุบัน มีขีดความ สามารถในการขุดดินได้วันละ 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดว่าจะสามารถส่งมอบงานก่อสร้างถมทะเลที่แล้วเสร็จในพื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่ กทท. ได้ทันภายในเดือน กรกฎาคมนี้

นายชยธรรม์ฯ กล่าวว่า  แม้ว่าตัวแทนผู้รับเหมาจะรายงานว่า ได้ดำเนินการเร่งรัดงานขุดและถมทะเลด้วยการเพิ่ม เครื่องจักรและแรงงานแล้ว แต่จาก รายงานของผู้ควบคุมงานพบว่า ปัจจุบันผลงานก่อสร้างของผู้รับจ้างในแต่ละสัปดาห์ ยังมีความล่าช้าจากแผนฯ อยู่ จึงได้กำชับให้ผู้บริหาร กทท. ใส่ใจติดตามคุณภาพการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุในสัญญาจ้าง ควบคู่ไปกับการเร่งรัดแก้ปัญหาในรายละเอียดกับกลุ่มผู้รับเหมากิจการร่วมค้าฯ เพื่อให้งานแล้วเสร็จเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งเป้าหมายสำคัญต่อไปคือ งานก่อสร้างถมทะเลต้องแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบพื้นที่ F และพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 ทั้งหมดให้กทท. ได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่ระบุในสัญญา เพื่อให้ กทท.สามารถส่งมอบพื้นที่ถมทะเลที่แล้วเสร็จดังกล่าว ให้กับผู้รับสัมปทานได้ตามสัญญาสัมปทานที่ กทท. ได้เซ็นไว้กับผู้รับสัมปทาน เพื่อทำการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้ แล้วเสร็จตามแผนฯ ต่อไป

นอกจากนี้ นายชยธรรม์ ยังได้กล่าวว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งหลากหลายรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำ ที่มีความสำคัญและถือเป็น gateway ในการขนส่ง นำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ เป็นส่วนช่วยสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นรากฐานในการสร้างให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการขนส่ง Logistics Hub ของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล อีกด้วย

“ที่สำคัญในการลงพื้นที่และประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ครั้งนี้ได้พบว่า แผนยุทธศาสตร์แผนแม่บทการพัฒนาและแผนปฏิบัติการของการท่าเรือฯ รวมถึงแผนแม่บทการพัฒนาของท่าเรือแหลมฉบัง จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย โดยกำหนดโจทก์ให้กับผู้บริหารการท่าเรือฯ ไปเร่งรัดดำเนินการร่วมกับพันธมิตรท่าเรือชั้นนำ ในต่างประเทศของ กทท. เพื่อให้สามารถกำหนดเป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการที่ทันสมัย สอดรับกับเป้าหมาย นโยบาย และยุทธศาสตร์ของรัฐบาล นำเสนอบอร์ดคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นชอบนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) ได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นายชยธรรม์ กล่าว

'รัดเกล้า' เผย!! 'นายกฯ-สุริยะ' มั่นใจความคืบหน้าท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3  ทุกแผนงานเสร็จทันกำหนด มิ.ย.69 พร้อมรับนักลงทุน-ลดต้นทุนขนส่งไทย

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะร่วมลงพื้นที่ และมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้แทนกิจการการค้าร่วม CNNC ร่วมให้การต้อนรับ

นางรัดเกล้า เปิดเผยอีกว่า การมาติดตามโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นการติดตามความคืบหน้าของนายกฯ หลังจากการตรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้เดินทางมาตรวจ พบว่ามีความล่าช้า แต่ภายใต้การนำของนายสุริยะ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้เหลือร้อยละ 4 และจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในสิ้นปีหน้า ทำให้การก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้คือเดือนมิถุนายน 2569 ซึ่งทางทีมงานมีความกระตือรือร้น และตนเองให้กำลังใจ ทุกคน พูดคุยปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และทราบว่าการนำหินเข้ามามีปัญหา ซึ่งนายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว โดยเชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินการต่อไปได้เพราะทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา

ด้านผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนงานที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล มีกิจการร่วมค้า CNNC เป็นผู้รับจ้าง มูลค่างานรวม 21,320 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยงานถมทะเลทั้งหมดประมาณ 2,846 ไร่ หรือ 4.5 ล้านตารางเมตร งานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งจอดเรือให้มีระดับความลึก 18.5 เมตร และงานเขื่อนกันคลื่น ทั้งนี้  เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมามีความคืบหน้าเพียง 13.26%  ซึ่งหลังจากที่นายกฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามและได้มีข้อสั่งการให้ กทท. เร่งรัดการก่อสร้างให้ทันตามแผน  ทาง กทท. ได้กวดขัน ติดตามการบริหารสัญญาและควบคุมการทำงานของผู้รับจ้างตามข้อสั่งการ สามารถเร่งรัดได้เนื้องานเพิ่มขึ้นกว่า 17%

ผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลอีกด้วยว่า ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ดำเนินงานได้ 31.12% จากแผนปฏิบัติงาน 35.11% แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะดำเนินงานอย่างเต็มที่ แต่ยังคงล่าช้ากว่าแผน 3.99% ซึ่งผู้ควบคุมงานได้จัดทำแผนเร่งรัดการปฏิบัติงาน โดยเพิ่มเครื่องจักรทางบก ทางน้ำ และแรงงานให้สัมพันธ์กัน เพื่อให้สามารถขุดลอก ได้มากกว่า 2,000,000 ลบ.ม. ต่อเดือน ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ได้กำกับดูแลและควบคุมเร่งรัดการทำงานให้ผู้รับจ้างมีผลงานโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 3% ต่อเดือน

ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวเพิ่มเติมว่าจากปัจจุบันผลงานก่อสร้างของผู้รับจ้างยังมีความล่าช้ากว่าแผนฯ   แต่ก็มีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมั่นใจว่าการก่อสร้างงานทางทะเลจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายในมิถุนายน 2569 รวมถึงจะไม่กระทบกับสัญญาของบริษัทเอกชนคู่สัญญาบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ที่ กทท. จะต้องมีการส่งมอบเฉพาะพื้นที่งานถมทะเลท่าเทียบเรือ F1 ปัจจุบันมีความคืบหน้าการถมไปกว่า 97% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกรกฎาคม 2567 นี้ หลังจากนั้นจะมีเวลาอีกประมาณ 1 ปีเศษ ที่จะต้องการตรวจสอบการปรับปรุงคุณภาพพื้นที่ เพื่อเตรียมส่งมอบให้กับบริษัท จีพีซี ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2568 

ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวต่อไปว่า งานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จเมื่อเร็วๆ นี้โดยบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ที่วงเงิน 7,298 ล้านบาท ซึ่งเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางประมาณ 160 ล้านบาท กทท. สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในต้นกรกฎาคม 2567 สำหรับงานส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ มูลค่า 799 ล้านบาท และส่วนที่ 4 งานจัดหาประกอบและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบประกอบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสำหรับบริหารท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2,257 ล้านบาท ทั้งสองส่วนอยู่ระหว่างการสรรหาผู้รับจ้างจัดทำเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567 นี้ 

“โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรองรับปริมาณตู้สินค้าที่จะเพิ่มขึ้น  หากโครงการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการจะสามารถรองรับปริมาณการขนส่งตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 7 ล้านทีอียูต่อปี ประกอบด้วยท่าเรือ F1 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเรือ F2 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปีท่าเรือ E จำนวน 3 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับขีดความสามารถเดิมของท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และ 2 ที่ 11 ล้านทีอียูต่อปี  จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี  ในส่วนนี้จะทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟและท่าเรือชายฝั่ง รวมถึงการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางกับท่าเรือบกให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพและรองรับการขยายตัวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศอย่างมหาศาล จะช่วยสนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค อีกทั้งช่วยสนับสนุนการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์มุ่งให้ไทย เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป” นางรัดเกล้า ย้ำ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top