Tuesday, 22 April 2025
ท่าขี้เหล็ก

ท่าขี้เหล็กหันพึ่งไฟฟ้า สปป.ลาว เผยเตรียมต่อสายไฟไว้แล้ว

(5 ก.พ.68) เพจ Tachileik News Agency สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่า  หลังจากรัฐบาลไทยประกาศเตรียมตัดไฟที่ส่งไปยังเมืองท่าขี้เหล็กและเมียวดี ทางแผนกพลังงานไฟฟ้าของเมืองท่าขี้เหล็กได้เตรียมแผนสำรอง โดยจะใช้ไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ทดแทนในพื้นที่ดังกล่าว

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับระบบไฟฟ้าของเมืองท่าขี้เหล็กระบุว่า ทางคณะกรรมการได้วางแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินล่วงหน้าแล้ว โดยได้ดำเนินการสร้างสายส่งไฟฟ้าใหม่เพื่อให้สามารถรับไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้ทันทีหากไฟฟ้าจากไทยถูกตัดขาด

รัฐบาลไทยตัดสินใจระงับการจ่ายไฟฟ้าไปยังฝั่งเมียนมา รวมถึงเมืองท่าขี้เหล็กและเมียวดี โดยให้เหตุผลว่ามาตรการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการดำเนินการปราบปรามการฟอกเงินของกลุ่มอาชญากรรมชาวจีนในพื้นที่ชายแดน การตัดไฟดังกล่าวมีผลตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2025

นอกจากนี้ ทางการไทยยังมีคำสั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตและการขนส่งเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ชายแดนเมียนมาด้วย ซึ่งเป็นมาตรการที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ผลจากการตัดไฟฟ้าของไทยส่งผลกระทบโดยตรงต่อเมืองท่าขี้เหล็ก เมืองต่าแล และเมืองขอบเขต ซึ่งเดิมพึ่งพาไฟฟ้าจากไทย แม้ว่าเมืองท่าขี้เหล็กจะสามารถใช้ไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้ แต่ปัญหาการขนส่งเชื้อเพลิงที่ถูกระงับอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนในระยะยาว

ในขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ประกอบการในพื้นที่จะสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร แต่คาดว่าการพึ่งพาพลังงานจาก สปป.ลาว จะเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

แก้ปัญหาคอลเซนเตอร์ไม่ตรงจุด เผย 2 วิธีปราบจากปากนายทหารประสบการณ์สูง

(5 ก.พ.68) ข่าวช่วงนี้คงไม่มีข่าวไหนดังเท่าข่าวตัดไฟเมืองสแกมเมอร์อีกแล้ว  แถมคนเชียร์ก็เชียร์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูด้วย เอาว่าวันนี้เอย่าจะมาเล่าให้ทุกคนได้ทราบกันดีกว่าว่าตัดไฟใครลำบาก และทางแก้ปัญหาที่แท้จริงที่เคยมีนายทหารแก่ๆท่านหนึ่งบอกเอย่าไว้ถึงวิธีจัดการเมืองสแกมเมอร์คือยังไง

ก่อนอื่นทุกคนต้องควรรู้ก่อนว่าเมียนมาซื้อไฟจากไทยใช้โดยส่วนใหญ่ผู้ใช้ไฟคือชาวบ้านตามชายแดนฝั่งเมียนมา  ดังนั้นหากตัดไฟกลุ่มที่ลำบากก่อนเลยคือชาวบ้านตามริมชายแดน  ส่วนคาสิโนนั้นมีบางส่วนดึงไฟที่มาจากไทยมาใช้แต่ฝั่งนั้นทุกคาสิโนมีเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่หลายเครื่องใช้ปั่นไฟในกรณีที่ไฟดับ  ดังนั้นต่อให้ไทยตัดไฟไปเมืองเขาก็ปั่นไฟใช้กันเองอยู่ดี

ประการต่อมาคือต้องเข้าใจว่าการที่เป็นศูนย์สแกมเมอร์ได้  เขาไม่ได้ใช้ไฟแค่ 220 โวลต์เหมือนบ้านเรือนประชาชนนะ  เพราะไหนจะต้องมีไฟเลี้ยงระบบ ตลอด เอาเป็นว่าหากใครเคยขุดบิทคอยน์จะเข้าใจเลย  ว่าใช้ไฟจำนวนมหาศาล  ดังนั้นกลุ่มสแกมเมอร์พวกนี้เลือกจะลักไฟจากไทยโดยการต่อสายไฟตรงข้ามประเทศไปยังฝั่งเมียนมาตามที่เอย่าเคยบอกไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้

สุดท้ายรู้หรือไม่ว่าตอนนี้ในเมืองสแกมเมอร์เหล่านี้กำลังสร้างโรงไฟฟ้าเองโดยมี โรงไฟฟ้าผลิตจากแก๊ส 2 โรง โรงไฟฟ้าผลิตจากน้ำมัน 1 โรงและโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 1 โรง ไม่นับฟาร์มโซลาร์เซลล์​ที่ขึ้นเป็นดอกเห็ดในฝั่งเมียนมาหากโรงไฟฟ้าเหล่านี้สำเร็จ  เมืองสแกมเมอร์เหล่านี้ก็ไม่ต้องพึ่งพาไฟจากไทยอีกต่อไป  ดังนั้นถามว่าการตัดไฟยังใช่วิธีแก้ไขไหม..?

นายทหารแก่ท่านหนึ่งที่เอย่ารู้จักเคยเล่าให้เอย่าฟังว่าวิธีปราบกลุ่มสแกมเมอร์ให้ได้ผลชะงักมี 2 วิธีวิธีแรก  คือโมเดลแบบเมืองเล้าก์ก่าย ซึ่งสิ่งที่เอย่าจะเล่าของปฎิบัติการ 1027 นี้ อาจจะต่างไปจากสื่อื่นสักเล็กน้อยตรงที่ ตามที่ข้อมูลที่ท่านลุงทหารเล่ามานั้นปฎิบัติการ 1027 เป็นปฏิบัติการที่ใช้กองกำลังชนกลุ่มน้อย 3 กลุ่มภายใต้การสนับสนุนจากจีนและทางกองทัพเมียนมาก็ไฟเขียวให้เพราะไม่สามารถส่งกองทัพตนเองขึ้นไปจัดการได้ท  ดังนั้นสงครามที่เกิดขึ้นในเล้าก์ก่ายแท้จริงคือสงครามของกลุ่ม BGF ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มจีนเทากับกองกำลัง 3 พี่น้องที่ได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธและเงินทุนจากจีนนั่นเอง คุณลุงกล่าวต่อว่า  ฝั่งไทยน่าจะไม่รับวิธีนี้เพราะใช้เงินทุนมหาศาล

วิธีที่ 2 คือการทำเป็นวาระระหว่างประเทศแล้วให้ไทยประสานกับรัฐบาลเมียนมาในการเข้าไปจัดการกับต้นเหตุของปัญหา

การแก้ปัญหาโดยการตัดไฟ หรือจับเสบียงที่จะขนของไปขายให้กลุ่มจีนเทารวมถึงจัดการกับข้าราชการท้องถิ่นที่รับส่วยคนกลุ่มนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุตราบใดที่ไม่ถล่มรังก็ไม่มีวันยุติปัญหาได้และการแก้ปัญหาแบบปลายเหตุนั้นนอกจากจะกระทบคนเมียนมาทีาเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วยังกระทบต่อการค้าชายแดนด้วย นั่นยิ่งทำให้กลุ่มไทยเทาฉวยโอกาสนี้ในการกอบโกยผลประโยชน์ตรงนี่ต่อไปอีก

อีกประเด็นที่น่าคิดคือการตัดไฟจะทำให้ประชาชนและได้รับผลกระทบเนื่องจากปริมาณไฟสำรองของชาติมีมากขึ้นกว่าช่วงที่ขายให้กับพม่า จึงจำเป็นให้ต้องมาคิดค่าไฟส่วนนี้ที่ไม่สามารถขายได้กับคนไทยโดยการขึ้นค่าเอฟพีหรือค่าส่วนต่างต่างๆสรุปแล้วการตัดไฟช่วยใครกันแน่ทำร้ายใครกันแน่

เมียนมาลุยสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 11 แห่ง อัดกำลังผลิตทะลุ 1,026 เมกะวัตต์

(5 ก.พ.68) สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่าปัจจุบันเมียนมามีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาทั้งหมด 11 โครงการ ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 1,026 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลเมียนมากำลังเร่งรัดโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นการผลิตไฟฟ้าอันจะตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

คณะกรรมาธิการพัฒนาไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมาระบุว่า 4 โครงการอยู่ในเนปิดอว์ 3 โครงการอยู่ในภูมิภาคมัณฑะเลย์ 1 โครงการอยู่ในภูมิภาคพะโค และ 1 โครงการอยู่ในรัฐฉาน คิดเป็นกำลังการผลิต 530 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าไฮบริด (เครื่องยนต์ก๊าซและพลังงานแสงอาทิตย์) ในภูมิภาคมัณฑะเลย์และภูมิภาคมาเกว มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 496 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ตั้งเป้าหมายให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและพลังงาน เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตประจำวันและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากการลงทุนของท้องถิ่นและต่างประเทศ

รายงานเสริมว่าเมียนมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 28 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 27 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,371 เมกะวัตต์

สื่อนอกเผยไทยตัดไฟเมียนมา ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ธุรกิจจีนเทายังลอยตัว

(5 ก.พ.68) สื่อต่างประเทศรายงานว่า ไทยได้ดำเนินการตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และเชื้อเพลิงในพื้นที่ชายแดน 5 จุดของเมียนมา เพื่อกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นปัญหาด้านความมั่นคง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับไม่สะท้อนถึงกลุ่มธุรกิจจีนเทา

รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า ไทยได้หยุดการส่งไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชายแดนของเมียนมาใน 5 จุด ได้แก่ เมืองพญาตองซู รัฐมอญ เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน และเมืองเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง โดยการตัดไฟฟ้านี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่กำลังเติบโตขึ้น

รอยเตอร์ยังกล่าวถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การดำเนินการนี้มีจุดประสงค์ที่จะหยุดการสนับสนุนแก๊งมิจฉาชีพ และขณะนี้ไม่มีใครสามารถกล่าวหาว่าไทยมีส่วนสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม สื่อของเมียนมาได้เผยแพร่ข้อมูลว่า เมียนมามีการพึ่งพาไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากประเทศอื่น ซึ่งอาจมีการกล่าวถึงไทยอย่างไม่เป็นทางการ

หลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของไทยเริ่มตัดการจ่ายไฟฟ้าไปยัง 5 จุดที่กล่าวถึง ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการขาดไฟฟ้าในช่วงเช้าของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยชาวบ้านในเมืองพญาตองซูกล่าวว่ากับรอยเตอร์ว่า ธุรกิจของชาวจีนยังสามารถดำเนินการได้จากเครื่องปั่นไฟ ขณะที่ธุรกิจท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างหนัก

“ในช่วงสองวันที่ผ่านมา เราเห็นเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่มาถึงเมือง และตอนนี้เครื่องปั่นไฟเหล่านั้นกำลังทำงาน ธุรกิจของพวกเขา รวมถึงฐานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงดำเนินการได้ แต่ธุรกิจของชาวบ้านท้องถิ่นต้องหยุดลง” ชาวบ้านในเมืองพญาตองซูรายหนึ่งกล่าว

ลาวลดจ่ายไฟให้ท่าขี้เหล็กเหลือ 13 เมกะวัตต์ สกัดแก๊งคอลเซนเตอร์ข้ามชาติ

เมื่อวันที่ (7 ก.พ.68) รัฐบาลลาวประกาศมาตรการจำกัดการจ่ายไฟฟ้าไปยังเมืองท่าขี้เหล็กในรัฐฉาน ทางตะวันออกของเมียนมา พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นในการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามชาติ

โพไซ สายะสอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ลาว กล่าวระหว่างการหารือกับฟางหง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศลาวว่า ลาวได้ดำเนินมาตรการจำกัดการจ่ายไฟฟ้าไปยังเมืองท่าขี้เหล็ก และยืนยันว่าจะไม่ยินยอมให้มีการใช้ไฟฟ้าของลาวเพื่อกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าในการก่ออาชญากรรม เช่น การฉ้อโกง

โพไซกล่าวเพิ่มเติมว่า ลาวจะทำงานร่วมกับประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในประเด็นนี้ และจะดำเนินการเพิ่มเติมหากจำเป็น พร้อมเน้นย้ำว่าการต่อสู้กับการทุจริตทางไซเบอร์ข้ามชาติเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาค

ฟางหงได้กล่าวเสริมว่า จีนจะเสริมสร้างการบังคับใช้กฎหมายและความร่วมมือด้านความมั่นคงกับลาวและประเทศอื่น ๆ โดยใช้มาตรการที่เด็ดขาดและมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมกันปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ รัฐบาลไทยได้ตัดการจ่ายไฟฟ้าไปยัง 5 พื้นที่ในเมียนมา รวมถึง เมียวดีและท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการปราบปรามกลุ่มอาชญากรรมที่มีการซ่องสุมในพื้นที่ดังกล่าว โดยหลังจากที่ไทยตัดไฟฟ้า เมืองท่าขี้เหล็กได้ประกาศว่าจะนำเข้าไฟฟ้าจากลาวมาแทน

ในขณะเดียวกัน สำนักข่าว Tachileik News Agency ของเมียนมา รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ที่เมืองท่าขี้เหล็ก หลังจากไทยตัดการจ่ายไฟฟ้าไปยังเมียนมา ระบุว่า ลาวได้ลดการจ่ายไฟฟ้าให้เหลือ 13 เมกะวัตต์ ส่งผลให้เมืองท่าขี้เหล็กต้องจัดลำดับความสำคัญในการจ่ายไฟฟ้าใหม่

ก่อนหน้านี้ เมืองท่าขี้เหล็กเคยตกลงซื้อไฟฟ้าจากลาวจำนวน 30 เมกะวัตต์ แต่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ทางฝั่งลาวได้แจ้งว่าจะลดปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายให้เหลือ 13 เมกะวัตต์ โดยไม่ได้ระบุเหตุผลที่ชัดเจน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top