Thursday, 8 May 2025
ที่อยู่อาศัย

‘พปชร.’ ชู ‘บ้านประชารัฐ 360 องศา’ แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ยัน ทำได้จริง ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต ปชช.

(9 มี.ค. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีการจัดงานเสวนา ‘พลังกรุงเทพฯ พลังกทม.’ เพื่อหารือและรับฟังข้อเสนอ จากการลงพื้นที่ของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เพื่อขยายผลนำไปสู่การผลักดันนโยบาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน หัวข้อ ‘นำไปสู่สิ่งที่พบเห็น เมื่อลงพื้นที่’ โดยสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับปัจจัย 4 ที่เป็นพื้นฐานของคน กทม. โดยเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน โดยมีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ทำหน้าที่ประธาน การเสวนา และบรรดาว่าที่ผู้สมัครส.ส.กทม. เข้าร่วม อาทิ  น.ส.ชญาภา ปรีภาพากย์, นายภูวกร ปรางภรพิทักษ์, นายระพีพัฒน์ สุมธโชติเมธา, นายตรีสิทธิ์ ศิริวรรณ, ตัวแทนชุมชน, เครือข่ายประชาชน, นักวิชาการ เข้าร่วมในการเสวนา

จากนั้น นางนฤมล แถลงหลังเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นฯ ว่า พรรคจะมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในลักษณะนี้ ทุกวันพฤหัสบดี เพื่อรับฟังความเห็นจากว่าที่ผู้สมัคร ส่วนการหารือถึงหัวข้อ ‘บ้านประชารัฐ 360 องศา’ เพราะบ้านเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่จะสร้างความมั่นคงให้ชาว กทม.ที่ยังมีปัญหาในเรื่องที่อยู่อาศัย สอดรับกับนโยบาย ‘มีเรา มีที่ทำกิน มีที่ดินไม่มีจน’ และจะมีเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชน ทั้งการศึกษา สุขภาพ เราเข้าใจปัญหาในแต่ละพื้นที่แต่ละเขต เข้าถึงข้อมูลที่เราศึกษามาแล้ว และทำได้จริง เราให้ความสำคัญในแง่การเงิน และกฎหมาย ที่ศึกษามาพร้อมแล้ว และเป็นความเห็นที่ทั้ง 33 เขต เห็นว่าควรทำในเรื่อง บ้านประชารัฐ 360 องศา

นางนฤมล กล่าวว่า เราอยากจะทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยจะมีโมเดลบ้านประชารัฐ ที่เราจะทำเพิ่มเติมต่อยอดออกมา และพอโมเดลออกมาเราจะเชิญไปชม เราทำแบบเข้าใจ เข้าถึงและทำได้จริง ซึ่งไม่ได้เป็นไปได้ทางการเงินและทางกฎหมายเท่านั้น แต่ผู้สมัครและผู้บริหารมาด้วยหัวใจจริง ๆ ให้เกิดจริง ๆ ทำอย่างไรให้คนกรุงมีบ้าน มีหลักค้ำประกันในชีวิต สำหรับครอบครัว และทำให้สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ใน กทม.ดีขึ้น ตอนนี้เราเริ่มจากบ้าน เวทีครั้งต่อไปในวันที่ 16 มี.ค.นี้ จะเป็นเรื่องสังคมตามสโลแกน ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ซึ่งมีคำถามกลับมาเยอะเรื่องความขัดแย้งว่าจะก้าวข้ามเรื่องไหนบ้าง โดยจะเป็นเวทีที่ผู้สมัคร ส.ส.และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำให้ประเทศไทย และกทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งหลายด้านมาตกผลึกกันว่า จะนำพา กทม.และประเทศไทยไปข้างหน้าได้อย่างไร ยืนยันว่า ผู้สมัคร ส.ส.ของเราไม่ได้มีแค่สวยหล่อ แต่ศักยภาพเต็มเปี่ยม

‘SCB EIC’ เผย!! ‘คนไทย’ รายได้ไม่ถึง 50,000 ยังไม่กล้าซื้อบ้านตอนนี้ เหตุปัญหาหนี้ครัวเรือน-ภาระค่าใช้จ่ายสูง อาจคิดอีกที 5 ปีข้างหน้า

(10 ก.ค.67) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคด้านที่อยู่อาศัย (SCB EIC Real estate survey 2024) ผ่านช่องทาง ออนไลน์ Survey monkey ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 11 มีนาคม 2024 มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 2,185 คนพบว่า...

ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาระค่าใช้จ่ายที่ยังทรงตัวในระดับสูง กดดันต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน ทำให้ความต้องการซื้อในช่วงไม่เกิน 2 ปีข้างหน้ามีสัดส่วนลดลงจากการสำรวจปีก่อนหน้า และความต้องการซื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่คาดหวังว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ และกำลังซื้อจะฟื้นตัวมากขึ้น รวมถึงมีความพร้อมทางกาีเงินมากกว่าในปัจจุบัน 

นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย หรืออาจมีแผนหลังจาก 5 ปีข้างหน้า

ขณะที่กำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-บนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้มากขึ้นจะช่วยประคองตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2024 และในระยะ 2 ปีข้างหน้าได้บางส่วน โดยเฉพาะในตลาดที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Real demand ที่ต้องการซื้อเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และหลังแรก ตามลำดับ ส่วนความต้องการซื้อเพื่อการลงทุนยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ใกล้เคียงกับการสำรวจในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการไม่มีแผนซื้อที่อยู่อาศัยในช่วง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากตนเองหรือคนในครอบครัว เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว และรายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายไม่เอื้ออำนวย ตามลำดับ โดยกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง มองว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ได้ จึงเลือกที่จะปรับตัว และอยู่อาศัยกับครอบครัวแทน

ส่วนกลุ่มที่รายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายไม่เอื้ออำนวยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า สถานการณ์ด้านรายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายจะคลี่คลายมากขึ้น จนสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้หลังจาก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนั้น ปัจจัยด้านความคุ้มค่าของราคา / ราคาที่เข้าถึงได้ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด และปัจจัยด้านทำเลสำคัญมากขึ้นและยังสำคัญกว่าปัจจัยด้านความเพียงพอของพื้นที่ใช้สอย ซึ่งกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง และต้องการรักษาสมดุลกับความพอเพียงของพื้นที่ใช้สอยควบคู่ไปด้วย

ด้านตลาดที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน / เก็งกำไร / ปล่อยเช่า ยังฟื้นตัวได้ไม่มากจากแรงกดดันด้านกำลังซื้อ และมาตรการ LTV ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนคอนโดในทำเลกรุงเทพฯ ซึ่งยังคงมีความต้องการจากผู้เช่า กลุ่มที่ต้องการอยู่ใกล้ที่ทำงาน สถานศึกษาของตนเอง และสถานศึกษาของบุตรหลาน และกลุ่มที่งบประมาณไม่พอสำหรับการซื้อเป็นหลัก

ขณะที่มาตรการภาครัฐยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย โดยมาตรการด้านดอกเบี้ยจะกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจากกลุ่มที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยได้มากที่สุด สำหรับมาตรการอื่น ๆ รองลงมา เช่น การลดหย่อนภาษี รวมถึงการผ่อนคลาย LTV ที่จะช่วยให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 กู้ได้ 100%

ดังนั้น SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการยังเผชิญความท้าทายในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย จากปัจจัยเศรษฐกิจที่ยังคงกดดันการฟื้นตัวของกำลังซื้อ ต้นทุนการพัฒนาโครงการที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป 

สำหรับแนวทางการปรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการคือ  พัฒนาโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงต้นทุนราคาที่ดิน หลีกเลี่ยงทำเลที่มีการแข่งขันรุนแรง หรือมีหน่วยเหลือขายสะสมสูง รวมถึงการกระจาย Portfolio ให้มีตัวเลือกที่อยู่อาศัยในหลากหลายระดับราคายังคงมีความจำเป็น เน้นการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสร้างความแตกต่าง สามารถตอบโจทย์ความต้องการ 

นอกจากนั้นควรขยายตลาดผู้ซื้อชาวต่างชาติ ซึ่งกลุ่มผู้ซื้อที่มีสัดส่วนมากที่สุดคาดว่า ยังคงเป็นชาวจีน ขณะที่กำลังซื้อจากรัสเซีย รวมถึงเอเชีย เช่น เมียนมา ไต้หวัน ก็ยังมีศักยภาพ และบริหารจัดการต้นทุนการพัฒนาโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาอัตรากำไร ควบคู่กับการรักษามาตรฐานที่อยู่อาศัย และการให้บริการหลังการขาย เพื่อสร้างความพึงพอใจของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย

นอกจากนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG เนื่องจากผู้ซื้อในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG มากขึ้น โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยควรหันมาให้ความสำคัญ และดำเนินงานภายใต้กรอบ ESG อย่างครอบคลุม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top