'กรมที่ดิน' ทยอยเพิกถอนโฉนด 'อัลไพน์' เผยหากครบ 120 วัน จะโอนกลับไปเป็น ‘ที่ธรณีสงฆ์’
‘เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ปทุมธานี’ ทยอยเพิกถอนโฉนด ‘อัลไพน์’ พร้อมประทับตราห้าม ‘จำหน่ายจ่ายโอน’ เผยหากครบ 120 วัน จะโอนเป็น ที่ธรณีสงฆ์ ขณะที่ ‘เจ้าของที่ดิน’ ทยอยฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ เพิกถอนคำสั่ง
จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2568 นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ได้ลงนามคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร (ที่ดินอัลไพน์) และส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการ นั้น
ล่าสุดนายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าในการเพิกถอนโฉนดที่ดินอัลไพน์ ว่า ได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี กรมที่ดิน ได้ดำเนินการทยอยขีดหลังโฉนดที่ถูกเพิกถอนแล้ว และประทับตราห้ามจำหน่ายจ่ายโอน แต่ยังไม่ครบทุกแปลง ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการดังกล่าวครบ 120 วัน แล้ว จึงจะดำเนินการโอนเป็นที่ธรณีสงฆ์
“เมื่อถึงขั้นตอนนั้น ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดจะต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด ระบุด้วยว่า หลังจากที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดได้เริ่มเขียนหลังโฉนดว่า ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินแล้ว ทราบว่าเจ้าของที่ดินบางรายได้ทยอยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งฯดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กรมที่ดินได้จัดทำเอกสารสรุปขั้นตอนการดำเนินการ ในกรณีที่รองปลัดกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ) และให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล และกรณีการดำเนินการหลังมีการเพิกถอนรายการจดทะเบียน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 ดังนี้
กรณีการดำเนินการของกรมที่ดิน เมื่อรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เพิกถอนคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ)
เมื่อรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ โดยให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล กรมที่ดินจะแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ พร้อมทั้งสิทธิการฟ้องคดีให้กับกลุ่มเจ้าของที่ดิน ได้แก่ 1.กลุ่มเจ้าของที่ดินซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ 16 ราย 20 แปลง เนื้อที่ 13-0-14.2 ไร่ และผู้รับโอนต่อมา และ 2.กลุ่มผู้อุทธรณ์เดิม 294 ราย 624 แปลง เนื้อที่ 911-2-60.8 ไร่ และผู้รับโอนต่อมา
จากนั้นสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี จะแจ้งให้บุคคลดังกล่าว ให้ส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อหมายเหตุการณ์เพิกถอน ซึ่งในกรณีที่ไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินนั้น จะมีการออกใบแทน (มาตรา 61 วรรคหก แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน) โดยประกาศภายใน 30 วัน ตามข้อ 17 (6) กฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537)
กรณีการดำเนินการภายหลังเพิกถอนรายการจดทะเบียน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544
เมื่อคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กลับเป็นทรัพย์มรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทางผู้จัดการมรดกต้องโอนมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อมฯ ให้วัดธรรมิการามวรวิหาร
จากนั้นวัดธรรมิการามวรวิหาร จะยื่นขออนุญาตได้มา ซึ่งที่ดินตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 95/2546 ลงวันที่ 20 มี.ค.2546) มีคำสั่งอนุญาตให้วัดฯได้มาซึ่งที่ดิน โดยวัดฯจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดิน โดยการจดทะเบียนโอนมรดก ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้น จะไม่ตกเป็นของวัดฯ
ทั้งนี้ ในการดำเนินการกับที่ดิน ซึ่งวัดฯเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ฯนั้น จะมี 3 แนวทาง คือ 1.วัดให้เจ้าของที่ดิน คนปัจจุบันเช่า ซึ่งกรณีระยะเวลาการเช่าเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี ต้องได้รับ ความเห็นชอบจากกรมการศาสนา (ปัจจุบันสำนักงานพระพุทธศาสนา) ตามข้อ 4 (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (พ.ศ.2505) 2.วัดฯขอออก หนังสือรับรอง ทรัพย์อิงสิทธิ ไม่เกิน 30 ปี (มาตรา 4 พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.2562)
และ 3.วัดโอนที่ดิน โดยตราเป็น พ.ร.บ. (มาตรา 34 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505) ซึ่งเป็นไปตามความเห็น ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่ 1 เม.ย.2545 โดยให้เฉพาะบุคคลซึ่งได้สิทธิในที่ดินมาโดยสุจริต
ขณะที่การดำเนินการกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งไม่ตกเป็นของวัด นั้น มี 2 แนวทาง คือ 1.วัดฯต้องชดใช้ราคา ให้กับเจ้าของปัจจุบัน และ 2.เจ้าของขอรื้อถอนออกไป โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ
