Thursday, 8 May 2025
ทีมเศรษฐกิจก้าวไกล

‘ก้าวไกล’ เปิดตัว 7 ขุนพลทีมเศรษฐกิจ เลือก ‘ไหม ศิริกัญญา’ นั่งหัวหน้าทีม

(21 มี.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวจาก พรรคก้าวไกล ว่าในวันที่ 22 มีนาคม พรรคก้าวไกลจะเปิดตัวทีมเศรษฐกิจของพรรค จำนวน 7 คน ประกอบด้วย ส.ส. นักวิชาการ ข้าราชการ และนักธุรกิจ มีตั้งแต่คนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง จนถึงรุ่นใหญ่ ซึ่งจะเสนอนโยบายทั้งด้านชนบทและเมือง โดยใช้ประสบการณ์ทั้งจากด้านดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมไฮเทค

สำหรับรายชื่อทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล มีดังนี้

นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร หรือ ต้น ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ที่ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) มหาวิทยาลัยด้านนโยบายสาธารณะ แห่งกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทำงานวิจัยเรื่องเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย และกับดักรายได้ปานกลาง เป็นผู้เขียนหนังสือ ‘เศรษฐกิจสามสี : เศรษฐกิจแห่งอนาคต’ โดยจะมาผลักดันเรื่องซัพพลายเชนอุตสาหกรรมไฮเทคโลก

นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล หรือ ดร.ชาย ปัจจุบันเป็นกรรมการบริษัทเอกชนสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์ไทย Moshi Moshi เป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ โดยจะเสนอแนวทาง 5 ต. มีนโยบายอย่างหวยใบเสร็จ และเพิ่มแต้มต่อ เพื่อพัฒนา SME ไทยให้เติบโต

นายวรภพ วิริยะโรจน์ หรือ เติ้ล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในแกนนำพรรคด้านเศรษฐกิจ โดยจะเสนอนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ที่มีจุดเด่นต่างจากพรรคอื่น ด้วยแนวทางลดค่าใช้จ่ายให้กับคนธรรมดาและภาคธุรกิจ ผ่านการปรับนโยบายพลังงานของไทยอย่างเป็นระบบ

นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันเป็น 1 ใน 100 รายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้ง 2566 ปัจจุบันนายอภิสิทธิ์เป็นประธานคณะกรรมการสำนักการตลาด กทม. เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย เคยเป็นอดีต ผอ.ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร หรือ ดร.โจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการเงิน และนักยุทธศาสตร์ด้านข้อมูล อดีตรอง ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร มีส่วนผลักดันโครงการพัฒนาเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) สำหรับชำระเงินระหว่างประเทศ โดยจะมาผลักดันนโยบายแปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์

นายเดชรัต สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ของพรรคก้าวไกล อดีตอาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ คนผลักดันด้านนโยบายต่าง ๆ ของพรรคก้าวไกล จะนำเสนอนโยบายปลดล็อกชีวิตเกษตรกรไทย และหยุดแช่แข็งชนบทไทย

ทีมเศรษฐกิจก้าวไกล กร้าว!! ขอมุ่งโตอย่างเป็นธรรม ปัก 3 เป้า ‘ชีวิตมั่นคง-แข่งขันเป็นธรรม-ลุยโกลบอล'

‘ก้าวไกล’ เปิดตัวทีมเศรษฐกิจ ประกาศ 7 วาระสู่อนาคต ปักธงสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม ตั้ง 3 เป้าหมาย รากฐานชีวิตคนไทยมั่นคง - กติกาแข่งขันเป็นธรรม - พาธุรกิจไทยบุกตลาดโลก

(22 มี.ค.66) พรรคก้าวไกลเปิดตัวแกนนำหลักทีมเศรษฐกิจ 7 คน ซึ่งมีส่วนผสมที่หลากหลายอย่างลงตัว ทั้งในแง่อาชีพ มีทั้ง ส.ส. นักวิชาการ ข้าราชการ นักธุรกิจ ในแง่ช่วงวัย มีทั้งคนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง รุ่นเก๋า และในแง่มิตินโยบายเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจภาคเมือง เศรษฐกิจภาคชนบท เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมไฮเทค

โดยทั้ง 7 คน ประกอบด้วย (1) วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร (2) สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล (3) วรภพ วิริยะโรจน์ (4) อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล (5) ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร (6) เดชรัต สุขกำเนิด และ (7) ศิริกัญญา ตันสกุล

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล คือการเติบโตอย่างเป็นธรรม (Inclusive Growth) ด้วยการทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ขณะเดียวกันดอกผลของการพัฒนาต้องถูกกระจายอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ มีเป้าหมาย 3 เรื่อง คือ การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง (Firm Ground) การสร้างกลไกภาครัฐและกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Game) และ การทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตพุ่งทะยานรองรับความท้าทายใหม่ๆ ของโลก (Fast Forward Growth)

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยด้านนโยบายสาธารณะ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น ประกาศวาระ ‘เปลี่ยน Made in Thailand เป็น Made with Thailand’ โดยกล่าวว่า นโยบาย Made in Thailand ถูกใช้มาตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คือการชวนคนเข้ามาลงทุน ลดแลกแจกแถม มีมาตรการภาษีสร้างแรงจูงใจ ทำให้จีดีพีประเทศโตขึ้น แต่คนไทยได้ส่วนแบ่งดอกผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และนโยบายนี้ไม่เหมาะกับอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ที่ห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ไม่ได้ยึดติดกับดินแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น การผลิตสมาร์ทโฟน ซึ่งประเทศไทยตกขบวนไปแล้ว มีการออกแบบในสหรัฐอเมริกา ใช้ชิปจากไต้หวัน ตัวเก็บประจุ (Capacitor) จากญี่ปุ่น จอภาพจากเกาหลีใต้ ประกอบในจีนและอินเดีย ใช้สิทธิบัตรจากสวีเดน ดังนั้น ประเทศไทยต้องไม่ยึดติดกับคำว่า ‘In’ หรือการลงทุนในดินแดน แต่ต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ คนไทย การผลิตแบบไทย สิทธิบัตรไทย เข้าไปเชื่อมโยงเป็นส่วนผสมหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก เปลี่ยนจาก Made in Thailand เป็น ‘Made with Thailand’

“พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมและภาคการผลิต ให้เป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ เราต้องคิดใหม่ เปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนยุทธศาสตร์ รวมถึงเปลี่ยนผู้ทำนโยบายเท่านั้น ถึงจะเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยได้” วีรยุทธกล่าว

สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล อดีตผู้พิพากษาศาลสมทบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อดีตกรรมการบริษัทเอกชนสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์ไทย Moshi Moshi ประกาศวาระ ‘เปิดโอกาส เปิดตลาด SME’ โดยกล่าวว่า ปัจจุบันไทยมี SME 3 ล้านราย จ้างงานถึง 1 ใน 3 ของประเทศ แต่ที่ผ่านมา SME อ่อนแอลงเรื่อยๆ พรรคก้าวไกลเสนอนโยบาย 5ต ทำให้ SME กลับมาเข้มแข็งเป็นพลังของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย (1) ‘เติมทุน’ คือทุนตั้งตัว 100,000 บาท และทุนสร้างตัว 1,000,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น โดยภายใน 4 ปีภายใต้รัฐบาลก้าวไกล ตั้งเป้าจะสร้างผู้ประกอบการ SME ที่เข้มแข็งกว่า 1 ล้านราย (2) ‘เติมตลาด’ เพื่อให้ SME เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น (3) ‘ตั้งสภา’ SME ให้สามารถรวมกลุ่มกันได้ มีปากเสียงทัดเทียมกับทุนใหญ่ รวมถึงกำหนดนิยาม SME ให้เข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาบริษัทขนาดใหญ่แตกบริษัทขนาดย่อยมาแข่งขัน (4) ‘ตัดรายจ่าย’ โดยปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลในระบบก้าวหน้า ให้ SME เสียภาษีอัตราต่ำลง และเมื่อรัฐบาลก้าวไกลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำเร็จ SME สามารถนำค่าจ้างลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี และ (5) ‘แต้มต่อ’ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทขนาดใหญ่ที่สนับสนุน SME สร้างระบบบริษัทใหญ่ช่วยบริษัทเล็ก เติบโตไปด้วยกัน รวมถึงนโยบายหวยใบเสร็จ อุดหนุนสินค้าจากร้านรายย่อย ลุ้นได้เงินล้านทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

วรภพ วิริยะโรจน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประกาศวาระ ‘ทลายทุนผูกขาดเพื่อลดค่าครองชีพ’ โดยกล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ SMEs จำเป็นค้องทลายทุนผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสุราที่มีมูลค่า 500,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งพรรคก้าวไกลจะแก้กฎหมายให้ประชาชนมีสิทธิ์เติบโตไปแข่งขันกับเจ้าสัวได้ การผูกขาดพลังงานหรือค่าไฟฟ้า ซึ่งพรรคก้าวไกลจะเสนอให้ยุติการผูกขาดสายส่ง เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า, ปลดล็อกหลังคา เปิดให้บ้านเรือนใช้ ระบบ Net Metering ได้ ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคา กลางวันไม่ได้ใช้ไฟฟ้าก็ขายคืนเข้าระบบ และจัดสรรก๊าซธรรมชาติของอ่าวไทยใหม่ให้คนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่กลุ่มทุนเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลจะยกเครื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ เปลี่ยนที่มาและเพิ่มอำนาจในการยุติการควบรวม และสั่งให้มีการแยกกิจการที่ผูกขาดได้เหมือนกับประเทศที่ทลายทุนผูกขาดได้สำเร็จ

อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประกาศวาระ ‘UNLOCK เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท มีคนทำงานในอุตสาหกรรมราว 900,000 คน พรรคก้าวไกลพร้อมพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้เทียบเท่านานาอารยประเทศ โดยจะเข้าไปแก้ปัญหาที่ฝังรากลึกทั้งหมด 4 อย่าง ประกอบด้วย (1) เติมงบประมาณ โดยต้องมีทิศทางการใช้จ่ายที่ชัดเจนไปในทางเดียวกัน ผ่านการเติมเงินกองทุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคนตัวเล็กในการแสดงความสามารถ และกองทุนนี้ต้องทำหน้าที่เหมือนกองทุนตั้งตัวของ SME (2) สร้างสวัสดิการให้แก่คนทำงานสร้างสรรค์ ซึ่งมีทั้งคนเบื้องหน้าและเบื้องหลังหลายส่วน เช่น คนยกของ คนจัดไฟ ทุกคนต้องมีสวัสดิการรองรับ ให้มีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดี รองรับความไม่แน่นอน (3) เพิ่มทักษะความรู้และคุณภาพแก่คนในอุตสาหกรรม รวมถึงเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในจังหวัดต่างๆ โดยนำพื้นที่ราชพัสดุหรือพื้นที่ทหารมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และ (4) ให้เสรีภาพแก่คนทำงาน ทบทวนแก้ไขกฎหมายที่กดทับวิธีคิดสร้างสรรค์ เช่น กฎหมายเซ็นเซอร์

'ก้าวไกล' แซะ!! 'Made in Thailand' ยุคป๋าเปรม ไม่เหมาะกับธรรมชาติอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

(23 มี.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล - Move Forward Party ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'หมดยุค Made in Thailand ถึงเวลา Made with Thailand' ว่า...

นโยบาย Made in Thailand ถูกใช้มาตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คือการชวนคนเข้ามาลงทุน ลดแลกแจกแถม มีมาตรการภาษีสร้างแรงจูงใจ ทำให้จีดีพีประเทศโตขึ้น แต่คนไทยได้ส่วนแบ่งดอกผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และนโยบายนี้ไม่เหมาะกับธรรมชาติอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ที่ห่วงโซ่การผลิตไม่ได้ยึดติดกับดินแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น การผลิตสมาร์ทโฟน ซึ่งประเทศไทยตกขบวนไปแล้ว มีการออกแบบในสหรัฐอเมริกา ใช้ชิปจากไต้หวัน ตัวเก็บประจุจากญี่ปุ่น จอภาพจากเกาหลีใต้ ประกอบในจีนและอินเดีย ใช้สิทธิบัตรจากสวีเดน ดังนั้น ประเทศไทยต้องไม่ยึดติดกับคำว่า ‘In’ หรือการลงทุนในดินแดน แต่ต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ คนไทย การผลิตแบบไทย สิทธิบัตรไทย เข้าไปเชื่อมโยงเป็นส่วนผสมหนึ่งของซัพพลายเชนโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top