Tuesday, 22 April 2025
ทีดีอาร์ไอ

'นายกฯ' ถก!! 'ปธ.ทีดีอาร์ไอ' หารือนโยบาย ยัน!! รับฟังทุกข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์

(24 พ.ย. 66) ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำคณะผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือประเด็นนโยบายด้านการวิจัย โดยมี นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในการหารือ

ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ทำงานอย่างหนัก เดินสายไปทั่วโลกทำให้ประเทศไทยกลับสู่เวทีโลก ในฐานะที่ทีดีอาร์ไอทำการวิจัยเชิงนโยบาย โดยในบางเรื่องมีองค์ความรู้และข้อแนะนำที่อาจจะเป็นประโยชน์กับทางรัฐบาล จึงขอนำเสนอ 4 เรื่องต่อรัฐบาล ได้แก่ 

1.การปฏิรูปกฎระเบียบภาครัฐ 
2.การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 
3.ประเทศไทยควรจะเข้าเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD 
4.ยุโรปจะเก็บภาษีคาร์บอนนำเข้าจากสินค้าของประเทศต่าง ๆ

ซึ่งกลไกทางกฎหมายของประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ดังนั้นจะต้องเตรียมการ ทั้งนี้ หากรัฐบาลเห็นว่ามีเรื่องใดที่เป็นประโยชน์ ทีดีอาร์ไอมีความยินดีที่จะทำงานศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังข้อเสนอด้านการวิจัยจากประธานทีดีอาร์ไอ โดยได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ชัดเจน เข้าใจดีว่าบางเรื่องทีดีอาร์ไอก็เห็นด้วย บางเรื่องก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล โดยในการดำเนินการใด ๆ ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้งเป็นสำคัญ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีรับฟังข้อเสนอแนะทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ เพราะถือว่าเป็นการติเพื่อก่อ ซึ่งขอขอบคุณสำหรับข้อเสนอด้านการวิจัยจากทีดีอาร์ไอในวันนี้ โดยจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรายละเอียดไปพิจารณา เพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่อไป 

ถอดบทเรียนสิงคโปร์ซื้อ 'สัมปทานรถไฟฟ้า' คืน หวัง!! แก้ปัญหาเอกชน โกยแต่กำไร

(22 ก.ย. 67) สิงคโปร์เป็นหนึ่งประเทศที่มีขนส่งสาธารณะดีอันดับต้นๆ ของโลก โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ (CNA) รายงานว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคุณภาพขนส่งสาธารณะดีอันดับที่ 3 ของโลกเป็นรองเพียงฮ่องกงและเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามการจัดอันดับของ Mobility Index Ranking 2023 ของบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่าง Oliver Wyman Forum

อย่างไรก็ตาม ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า หากย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงแรกๆ ที่สิงคโปร์เริ่มพัฒนาระบบรถไฟฟ้าใต้ดินก็เผชิญปัญหาเรื่อง ’สัญญาสัมปทาน' คล้ายประเทศไทย

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า ปัญหาสำคัญปัจจุบันของระบบรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดินของประเทศไทยปัจจุบันคือ ผู้ใช้บริการไม่สามารถเดินเชื่อมต่อกันในแต่ละสถานีได้โดยไม่ต้องออกจากประตูและใช้บัตรใบเดียว

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ หากผู้ใช้งานคนหนึ่งต้องการเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อไปต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน หากเป็นประเทศที่ระบบขนส่งสาธารณะออกแบบมาอย่างดี ผู้ใช้งานจะสามารถใช้บัตรใบเดียวในการเดินทางเปลี่ยนจากบีทีเอสไปเป็นเอ็มอาร์ทีได้โดยไม่ต้องเดินออกจากประตู

แต่สำหรับประเทศไทยในหลายสถานีผู้ใช้บริการยังต้องออกจากสถานีบีทีเอสเพื่อไปซื้อตั๋วเอ็มอาร์ทีใหม่ซึ่งสร้างความไม่สะดวกสบายและทำลายต้นทุนด้านเวลาของผู้ใช้บริการอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น ดร.สุเมธ จึงมองว่า หนึ่งปัญหาสำคัญคือ ปัจจุบันรถไฟฟ้าแต่ละสายไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ภายใต้ระบบเดียว คือ ภาครัฐไทยไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานแบบเอกชนร่วมทุน (PPP) ตั้งแต่ต้นว่ารถไฟฟ้าแต่ละสายต้องเชื่อมต่อกัน

ปัจจุบันภาครัฐไทยให้สัมปทานเอกชนเพื่อเดินรถไฟฟ้าไปแล้ว 6 ฉบับภายในระยะเวลา 20 ปี ทว่าไม่มีฉบับใดเลยที่ระบุเรื่องการเชื่อมต่อเอาไว้

ทั้งนี้ ครั้งหนึ่งสิงคโปร์เคยเผชิญปัญหาเรื่องสัญญาสัมปทานคล้ายไทย โดยประมาณปี 1990 รัฐบาลสิงคโปร์นำโดยหน่วยงาน Land Transport Authority (LTA) ใช้โมเดล PPP เหมือนประเทศไทยเพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายแรก ตอนนั้นรัฐบาลให้สัญญา PPP ไป 2-3 ฉบับ โดยโครงสร้างสัญญาคล้ายกันคือ เมื่อรัฐก่อสร้างเสร็จก็ให้เอกชนมาซื้อขบวนรถแล้วก็เก็บค่าโดยสารโดยมีสัญญา 30 ปี

จากนั้นเอกชนดำเนินกิจการไปประมาณ 10 กว่าปี ถึงประมาณปี 2000 ต้นๆ ตอนนั้นรัฐบาลออกแบบระบบหลังบ้านและออกแบบสัญญาค่าโดยสารได้ค่อนข้างดี คือรัฐอุดหนุนเยอะเพื่อให้ค่าโดยสารต่ำ

แต่ปัญหาที่เกิดเป็นเรื่องทางเทคนิคที่น่าสนใจคือเมื่อเป็นสัญญาในเชิงกำหนดค่าโดยสาร กำหนดข้อบังคับและวิธีการดำเนินงานอย่างรอบคอบ แต่เมื่อรถไฟฟ้าวิ่งไปสักพักเอกชนก็เริ่มทำกำไรได้ ด้วยการออกแบบในตอนนั้น มีความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนรถไฟฟ้า แต่นั่นก็หมายความว่าเอกชนต้องลงทุนเพิ่มซึ่งเอกชนไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่ายังอัดผู้โดยสารเข้าไปได้ สุดท้ายจึงเกิดปัญหาแออัด

ประกอบกับตอนนั้นรัฐบาลสิงคโปร์เขาพยายามโปรโมตการใช้ขนส่งมวลชนมากอยู่แล้ว แทบไม่ให้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลดังนั้นประชาชนก็อัดกันเข้าไปใช้รถไฟฟ้า

ตอนนั้นไม่ว่ายังไงเอกชนก็ไม่ยอมเพิ่มขบวนรถ เมื่อภาครัฐไปเปิดสัญญาสัมปทานดูก็เห็นว่ารัฐบาลล็อกทุกอย่างไว้อย่างรอบคอบยกเว้นเรื่องการเพิ่มขบวนรถเพราะยังไม่ถึงเกณฑ์ให้เพิ่ม

สุดท้าย ดร.สุเมธ เล่าว่า รัฐบาลมองว่าเหตุการณ์นี้ทำให้คุณภาพการให้บริการต่ำลงแล้วรัฐทนไม่ไหว เคสนี้รัฐบาลเลยซื้อคืนสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้ามาทั้งหมด แล้วปรับโมเดลใหม่เพื่อเพิ่มขบวนรถเข้าไป และจากเดิมที่เป็นสัญญาสัมปทาน 30 ปีแล้วเอกชนลงทุนรถไฟฟ้า หลังจากเหตุการณ์นี้รัฐซื้อรถไฟให้แล้วตัดสัญญาในการจ้างเอกชนมาดูแลเหลือแค่ 15 ปี

หมายเหตุ: สิงคโปร์เผชิญเหตุการณ์ปัญหาเรื่องสัญญาสัมปทานคล้ายกับประเทศไทยแต่หน่วยงาน Land Transport Authority หรือ LTA มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการเรื่องขนส่งสาธารณะในประเทศทั้งหมด ในขณะที่ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรุงเทพมหานครและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top