Tuesday, 22 April 2025
ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

'อาจารย์อุ๋ย' ชี้!! แจกเงินหมื่น เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ห่วง!! รัฐไร้แผนระยะยาว โดยเฉพาะการแก้หนี้ครัวเรือนไทย

(28 ก.ย.67) จากกรณีที่รัฐบาลได้ดำเนินการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทให้ประชาชนแล้วกว่า 3 ล้านคน นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรือ 'อาจารย์อุ๋ย' นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นว่า

เงินหนึ่งหมื่นบาทนั้น เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในยุคปัจจุบัน รวมกับภาระหนี้ครัวเรือนที่ประชาชนต้องแบกรับอยู่ขณะนี้ ผมคาดว่าใช้เวลาประมาณสองอาทิตย์ เงินที่ได้รับมาก็คงหมดลง เงินหนึ่งหมื่นบาทก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ที่ไม่นานก็จะละลายหายไป ซึ่งผมก็ยังไม่เห็นว่า รัฐบาลจะมีแผนระยะยาวอย่างไร เมื่อถึงเวลานั้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยในเชิงโครงสร้าง ซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศที่ถดถอย สังคมผู้สูงอายุ และที่สำคัญคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะในระดับกลางและระดับล่าง ซึ่งทำให้อัตราการจับจ่ายใช้สอยหดตัวลงในระดับรุนแรง โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2566 ครัวเรือนทั่วประเทศ มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้นครัวเรือนละ 197,255 บาท และในสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 91.4% ต่อ GDP และที่น่าห่วงคือ คือ 2 ใน 3 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนไทยเป็น ‘สินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้’ กล่าวคือ เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 39% และบัตรเครดิต 29% ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการอุปโภค ใช้แล้วหมดไป ไม่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มหรือมีชีวิตดีขึ้นในอนาคต

ปัญหาในขณะนี้คล้ายกับปี 40 ตรงที่ว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับการขาดสภาพคล่อง ขาดเงินทุนหมุนเวียน เพียงแต่คราวนี้ไม่ได้เกิดกับบริษัทการเงิน แต่เกิดกับพี่น้องประชาชนในระดับกลางถึงระดับรากหญ้า แม้เม็ดเงินอาจจะไม่มากเท่าปี 40 แต่กระจายตัวเป็นวงกว้างและลึกกว่า จนส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจระดับบน ดังนั้นหนทางแก้ปัญหาประการหนึ่งคือ ต้องเปิดทางให้ลูกหนี้ในระดับบุคคลธรรมดาที่มีหนี้ไม่มาก (เช่น ไม่เกิน 1 ล้านบาท) ยื่นคำขอฟื้นฟู เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยใช้หลักการเดียวกับการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นิติบุคคลและ SME 

ซึ่งหลักการสำคัญของการฟื้นฟูกิจการหรือฟื้นฟูหนี้ครัวเรือนสำหรับบุคคลธรรมดาก็คือ การกำหนด ‘สภาวะพักชำระหนี้’ (automatic stay) ให้อำนาจลูกหนี้จัดการสินทรัพย์ตัวเองต่อไปได้ จัดทำแผนฟื้นฟูหนี้สินเพื่อยื่นต่อเจ้าหนี้ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าวันไหนจะถูกเจ้าหนี้รายไหนมาฟ้องร้องหรือบังคับคดี ซึ่งปัจจุบันลูกหนี้ประเภทบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ SME ยังไม่มีสิทธิดังกล่าว ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะต้องมีการตั้งองค์กรเชิงสถาบันขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนสำหรับหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะ

และเมื่อลูกหนี้สู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สินแล้ว ก็จะมีเวลาหายใจ ลืมตาอ้าปาก มีกำลังใจทำงาน เพราะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ที่ต้องก่อหนี้ใหม่เพื่อใช้หนี้เก่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และสุดท้ายแล้วกำลังซื้อในระดับกลางและล่างก็จะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน 

ผมจึงขอฝากท่านนายกแพทองธารให้เร่งผลักดันมาตรการนี้โดยเร็วครับ ด้วยความปรารถนาดี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top