Wednesday, 26 June 2024
ตั๋วเครื่องบิน

‘นักข่าวอาวุโส’ โวย!! ราคาจริงตั๋วเครื่องบินวันนี้ ‘สุดแพง’ วอน!! รัฐอย่าชี้ราคาผิดเพี้ยน โปรดเอาความจริงมาพูดกัน

(8 เม.ย. 66) นายเฉลียว คงตุก นักข่าวอาวุโส ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

นายกฯ สั่งแก้ไขด่วน ‘ตั๋วเครื่องบินแพง’ หลังผู้โดยสารร้องเรียนเข้ามาเพียบ กระทบ ปชช. - การท่องเที่ยวในประเทศ จี้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น

นายอธิรัช รัตนเศรษฐ์ รมช.คมนาคม รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า อัตราค่าโดยสาร (ต่อเที่ยว) ในเส้นทางบินกรุงเทพฯ-ภูเก็ต เป็นเส้นทางที่ได้รับการร้องเรียนว่าค่าโดยสารราคาแพงมากที่สุด พบว่าอัตราค่าโดยสารเฉลี่ย ซึ่งต่ำกว่าราคา 2,500 บาท คิดเป็น 82.5% ของตั๋วโดยสารทั้งหมด ในขณะที่ราคาสูงกว่า 2,500 บาท คิดเป็น 17.5% โดยราคาบัตรโดยสาร จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเทศกาล

‘สาวพลัสไซส์’ ซื้อตั๋วเครื่องบิน 2 ที่ เจอแม่ลูกอ่อนขอนั่ง แต่ไม่ยกให้ กลับโดนด่าไม่มีน้ำใจ ด้านชาวเน็ตเสียงแตก ความจริงใครกันแน่ที่ใจร้าย?!

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 67 เรียกว่ากลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตต่างถกเถียงกัน เมื่อล่าสุดวันที่ 23 มกราคม 2567 เว็บไซต์นิวยอร์กโพสต์ ได้เผยเรื่องของ ‘แจลินน์ ชานีย์’ อินฟลูเอนเซอร์วัย 34 ปี จากเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ที่ออกมาแชร์ประสบการณ์การนั่งเครื่องบินเมื่อไม่นานมานี้ โดยเธอได้จองตั๋วเที่ยวบินในประเทศจำนวน 2 ที่นั่ง สำหรับตนเอง เนื่องจากเธอเป็นสาวพลัสไซส์ หากจองที่นั่งเดียวจะลำบากทั้งตัวเธอเองและผู้โดยสารรอบข้าง เธอจึงจัดการปัญหาด้วยการจองที่นั่งเพิ่ม เพื่อให้ทุกคนได้สบายใจมากขึ้น

โดยที่ผ่านมาการเดินทางของชานีย์ก็ราบรื่นไม่เคยมีปัญหา จนกระทั่งครั้งล่าสุดนี้ มีผู้โดยสารหญิงรายหนึ่งซึ่งมาพร้อมลูกชายวัย 1 ขวบครึ่ง มาบอกให้ชานีย์นั่งเพียงเบาะเดียว เพื่อให้ลูกชายของเธอได้นั่งอีกเบาะหนึ่ง ซึ่งชานีย์ได้ย้ำว่า “เธอบอกให้ฉันทำ ไม่ได้ขอร้อง ฉันจึงบอกเธอว่าไม่ เพราะฉันจ่ายค่าที่นั่งนี้เพื่อที่จะได้พื้นที่เพิ่ม”

ซึ่งหลังจากที่คุณแม่รายนี้โดนปฏิเสธ ก็ไม่พอใจโวยวายเป็นเรื่องใหญ่ จนแอร์โฮสเตสคนหนึ่งเข้ามา แต่แอร์โฮสเตสรายนี้ก็ดูเหมือนว่าจะเข้าข้างผู้โดยสารที่เป็นแม่ ขอให้ชานีย์พยายามนั่งเบียดนิดหน่อย เพื่อที่เด็กจะได้นั่งได้ด้วย แต่ชานีย์ก็ยังยืนยันว่าไม่ เพราะเธอต้องการจะใช้สิทธิ์ในที่นั่งที่เธอจ่ายเงินเอง

อย่างไรก็ตาม ทางแอร์โฮสเตสจึงขอให้ทางผู้โดยสารที่เป็นแม่ อุ้มลูกน้อยนั่งตักของเธอต่อไป ซึ่งผู้เป็นแม่จึงต้องจำใจทำเช่นนั้น แต่ตลอดเที่ยวบิน ชานีย์จะถูกมองค้อนและบ่นว่าด้วยคำพูดไม่ดีสารพัด อีกทั้งเด็กคนดังกล่าวก็ไม่อยู่นิ่งด้วย ทำให้เธอรู้สึกแย่มาก จึงตั้งคำถามทางโซเชียลว่า “ฉันผิดเหรอ? ถ้าคุณอ้วนมากจนต้องทำสิ่งนี้ แสดงว่าคุณเห็นแก่ตัวอย่างนั้นเหรอ?”

หลังจากเรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งกล่าวตำหนิพฤติกรรมของแม่เด็ก รวมไปถึงพนักงานบนเครื่องบิน อาทิ

- “คุณจ่ายเงินซื้อที่นั่งพิเศษ คุณก็มีสิทธิ์โดยชอบ ส่วนแม่ของเด็กไม่วางแผนล่วงหน้าเอง ซื้อเพียงที่นั่งเดียว แล้วอาศัยผลประโยชน์ของเด็กไปรุกรานสิทธิ์ของคนอื่น เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็ยังไปต่อว่าคนอื่น แบบนี้ใครใจร้ายกว่ากัน ส่วนพนักงานบนเครื่องบินก็ดูเหมือนว่าจะมีปัญหา ทำไมถึงบอกให้ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วมา 2 ที่ ไปนั่งเบียดตัวเองในที่เดียว”

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจสาวพลัสไซซ์ เข้าไปแสดงความเห็นตำหนิชานีย์ด้วยเช่นกัน เช่น

- “ถ้าคุณอ้วนมากจนต้องนั่งหลายที่นั่งบนเครื่อง ก็เรียกว่าเห็นแก่ตัวเกินไป”
- “เด็กจะใช้พื้นที่สักเท่าไรกัน จริงอยู่ที่แม่ควรซื้อที่นั่งให้ลูก แต่คุณจะไม่จำเป็นต้องใจแคบขนาดนั้น เห็นแก่ตัวมากเกินไปจนทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สบายใจ”
- “สายการบินขายตั๋วเกินจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินอยู่ตลอด คุณเอาอะไรมาตัดสินว่า 2 ที่นั่งนั้นเป็นของคุณคนเดียว” เป็นต้น

‘สรรเพชญ’ ห่วง!! ‘ค่าตั๋วเครื่องบิน’ ในประเทศพุ่ง จี้!! ภาครัฐเร่งแก้ปัญหา-ควบคุมราคาที่สูงเกินจริง

(16 ก.พ.67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ได้ออกมาแสดงความเห็นจี้ถามภาครัฐ ในการทำหน้าที่ควบคุม ‘ราคาตั๋วเครื่องบิน’ ซึ่งในปัจจุบันมีการปล่อยให้ราคาพุ่งสูงขึ้นมาก จนกลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะใน Social Media ว่า “...ตนรู้สึกเป็นห่วงประชาชน ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางในช่วงนี้ ที่ต้องเจอกับปัญหาราคาตั๋วแพงเกินความเป็นจริง จนหลายคนได้ล้มเลิกการเดินทางสัญจรออกไป ทั้งการเดินทางกลับบ้าน การท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ ฯลฯ พร้อมติงภาครัฐ ที่ปล่อยให้ราคาตั๋วเครื่องบินแพงเกินความเป็นจริง จนอาจทำลายระบบเศรษฐกิจที่ต้องการกระตุ้น และกระจายรายได้ 

“...ผมรู้สึกเป็นห่วงประชาชน ที่จำเป็นต้องเดินทางโดยเครื่องบินในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเพื่อกลับไปเยี่ยมเยือนบ้าน เพื่อท่องเที่ยว หรือติดต่อธุรกิจก็ตาม เพราะขณะนี้ต้องเจอกับราคาตั๋วเครื่องบินภายในประเทศที่แพงขึ้น โดยไม่มีกลไกควบคุมราคาค่าตั๋วเครื่องบิน ที่แพงเกินความเป็นจริง จนกลายเป็นการทำลายโอกาสของพ่อแม่พี่น้อง และทำลายรายได้ที่จะเกิดขึ้นตามมา จนผมเริ่มไม่แน่ใจว่าแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ ยังเป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้หรือไม่ หรือกระตุ้นเพียงคนรวย ตามที่เป็นข่าว ท่านลองคิดดูแล้วกัน หากจะบินจากกรุงเทพฯ ไปภูเก็ต ท่านต้องเสียค่าตั๋วเกือบ 15,000 บาท ต่อให้ท่านเป็นคนรวย ท่านอาจจะคิดไม่ตกแน่นอนว่าจะเดินทางดีหรือไม่? หากไม่สำคัญจริง ๆ อาจจะเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน แล้วหากประชาชนมีธุระสำคัญต้องเดินทางโดยปัจจุบันทันด่วนล่ะ ? วันนี้เราต้องยอมรับนะครับ ค่าตั๋วสายการบินราคาประหยัด หรือสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost) ภายในประเทศหากสูงกว่า 5,000 บาท ก็ถือว่าแพงมากแล้ว แต่ตอนนี้ราคาค่าตั๋วภายในประเทศทะลุไปหลักหมื่น ความรู้สึกมันไม่ใช่ มันฝืนความรู้สึกไปมาก เอาเปรียบประชาชนผู้โดยสารมากเกินไป ทั้งด้านคุณภาพและการบริการต่าง ๆ ก็สวนทางกัน ภาครัฐจำเป็นต้องควบคุมราคาตั๋วเครื่องบินไม่ให้สูงเหมือนในขณะนี้ และในขณะเดียวกันเมื่อผู้โดยสารต้องจ่ายราคาค่าตั๋วเครื่องบินที่สูงขึ้นแล้ว ก็หวังว่าสายการบินจะช่วยปรับปรุงการบริการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นด้วย” 

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกว่า “ในช่วงเทศกาลเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะถือเป็นการทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางสัญจร และการท่องเที่ยวภายในประเทศ นโยบายของรัฐบาลเองต้องการกระจายรายได้ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลไกการควบคุมราคาตั๋วเครื่องบินภายในประเทศกลับสวนทาง จากข่าวสารที่มีการพูดถึงในสังคมออนไลน์ขณะนี้ ผมจึงอยากเรียกร้องให้ กระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรลงมาติดตามและแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะมันคือโอกาสต่าง ๆ ของเรา ของพี่น้องประชาชน” 

ในตอนท้าย นายสรรเพชญ ยังตั้งข้อสังเกตถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับผิดชอบการกำกับดูแลราคาค่าตั๋วเครื่องบิน ให้ออกมาชี้แจงความกระจ่างให้สังคมได้รับรู้ถึงแนวทางการกำหนดราคาตั๋วว่า “เท่าที่ทราบ หน่วยงานหลักที่กำกับราคาตั๋วเครื่องบิน คือ คณะกรรมการการบินพลเรือน โดยยึดตามประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งในเส้นทางบินภายในประเทศ พ.ศ. 2561 ที่มีการกำหนดราคาเพดานขั้นสูงเอาไว้ ผมจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาทำความเข้าใจถึงแนวทางการปรับลดราคา การกำหนดราคาตั๋วเครื่องบิน ต่อสาธารณชนเป็นระยะ ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป เพราะหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเกรงว่า หากไม่มีการควบคุมค่าตั๋วเครื่องบิน มันจะแพงขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนอย่างมาก และอาจส่งผลให้ประชาชนเดินทางน้อยลงในอนาคตได้” นายสรรเพชญ กล่าวทิ้งท้าย

'สุริยะ' สั่งเพิ่มเที่ยวบินช่วงสงกรานต์ แก้ปัญหาตั๋วเครื่องบินแพงช่วงเทศกาล พร้อมถก 6 สายการบินในประเทศ ร่วมอัดโปรฯ ตั๋วราคาพิเศษ

'คมนาคม' เปิดมาตรการระยะสั้น แก้ปัญหาตั๋วเครื่องบินแพง สั่งเพิ่มเที่ยวบินช่วงสงกรานต์ 2567 รวม 38 เที่ยวบิน มีที่นั่งเพิ่ม 13,000 ที่นั่ง ด้าน '6 สายการบินในประเทศ' เตรียมอัดโปรฯ ตั๋วราคาพิเศษ ครอบคลุมเส้นทางทุกภูมิภาค สนองความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร เน้นย้ำ 'สะดวก - รวดเร็ว - ปลอดภัย - ราคาสมเหตุสมผล'

(29 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ได้สั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หน่วยงานบริหารและกำกับดูแลสนามบิน สายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคการขนส่งทางอากาศและการท่องเที่ยวไปพิจารณาร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาค่าโดยสารทางอากาศที่มีราคาสูงและแผนรองรับการท่องเที่ยวช่วงเทศกาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ประชุมนัดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.พ.67 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อวาน (28 ก.พ.67) ทาง กพท. ได้ประชุมร่วมกับ 6 สายการบินที่ให้บริการในเส้นทางการบินภายในประเทศอีกครั้ง ได้แก่ สายการบินไทย, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์, สายการบินนกแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท เพื่อสรุปมาตรการลดผลกระทบจากราคาค่าโดยสารที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงแผนการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้เพียงพอต่อความต้องการช่วงเทศกาล โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่จะถึงนี้

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้ ได้มีการตรวจสอบความพร้อมและความสามารถในการทำการบินจริงของแต่ละสายการบิน พร้อมทั้งมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในช่วงเทศกาลให้มากที่สุด ซึ่งในเบื้องต้นจะเป็นการเพิ่มเที่ยวบินเข้าสู่ระบบทั้งก่อนและหลังเวลาปฏิบัติการบินปกติในสนามบินที่มีความต้องการเดินทางสูง สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้มีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 รวมระยะเวลา 6 วัน หรือระหว่างวันที่ 12 - 17 เมษายน 2567

สำหรับมาตรการระยะสั้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 มีแผนเพิ่มเที่ยวบินพิเศษจำนวน 38 เที่ยวบิน ในช่วงระหว่างวันที่ 11 - 12 เมษายน 2567 และวันที่ 15 - 16 เมษายน 2567 ในเส้นทางครอบคลุมทุกภูมิภาค เช่น เชียงใหม่, ภูเก็ต, กระบี่, อุดรธานี, ขอนแก่น และอุบลราชธานี เป็นต้น ซึ่งจากการเพิ่มเที่ยวบินดังกล่าว จะทำให้มีตั๋วโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้นประมาณ 13,000 ที่นั่ง 

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการเพิ่มเที่ยวบินในรอบเช้าและรอบค่ำนอกช่วงเวลาเที่ยวบินที่มีอยู่ตามปกติ สายการบินจึงเตรียมจัดทำโปรโมชั่นราคาพิเศษ เพื่อให้มีราคาที่ถูกลง และให้สอดคล้องกับความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร 

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากมาตรการดังกล่าว ได้มอบหมายให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เตรียมความพร้อมในการขยายเวลาดำเนินการตามที่สายการบินกำหนด โดยจะวางแผนการดำเนินการภายในหน่วยงาน เพื่อจัดทำแผนบุคลากรรองรับการให้บริการผู้โดยสารในห้วงเวลาดังกล่าว และกำหนดแนวทางการสนับสนุนการดำเนินการระหว่างกัน ทั้งนี้ จะเร่งเตรียมความพร้อม เพื่อให้ทันต่อการเดินทางของผู้โดยสาร และเพิ่มความคล่องตัวของระบบการขนส่งทางอากาศให้เกิดความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นด้วย

กระทรวงคมนาคมและทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ มีความห่วงใยต่อประชาชนทุกภาคส่วน พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทาง มีราคาสมเหตุสมผล มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยและรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสวัสดิภาพ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top