Tuesday, 22 April 2025
ตลาดแรงงาน

รองปลัดแรงงาน เปิดการประชุม การจ้างงานเยาวชนในประเทศไทย แนวโน้มตลาดแรงงานผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด – 19 นโยบายแรงงาน และการสนับสนุนเยาวชนเพื่อการฟื้นฟูที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางในประเทศไทย

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 เวลา 09.30 น. นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุม “การจ้างงานเยาวชนในประเทศไทย (Youth employment in Thailand)” แนวโน้มตลาดแรงงานผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด – 19 นโยบายแรงงาน และการสนับสนุนเยาวชนเพื่อการฟื้นฟูที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางในประเทศไทย ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า เรื่อง NEETs (นีท) เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งจำนวนเยาวชนอายุ 15 ถึง 24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในการจ้างงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น ผลกระทบจากวิกฤตโควิด – 19 ทำให้เศรษฐกิจและตลาดแรงงานในประเทศไทยต้องหยุดชะงัก เยาวชนต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว

โดยการส่งเสริมการจ้างงานแก่เยาวชน เพื่อลดปัญหาการว่างงาน รวมถึงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างที่ทุกท่านทราบดีว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” การเตรียมเยาวชนหญิงและชายให้มีทักษะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน และอยู่ในการจ้างงานที่มีประสิทธิผลและเป็นงานที่มีคุณค่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม ซึ่งการมีทักษะงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงระบบแนะแนวด้านอาชีพในสถานศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นเหตุให้เยาวชนต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่าง ๆ เมื่อออกจากโรงเรียนและเข้าสู่การหางานทำ เยาวชนจึงประสบปัญหาในการเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนสู่การทำงานและการเปลี่ยนย้ายงาน ด้วยเหตุนี้ จึงมีเยาวชนหญิงและชายจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม

ชวนคิด!! 'ผู้ปกครอง-นักศึกษา' ศึกษาตลาดงานยุคใหม่ 'สายอาชีพ' ไม่เป็นรองใคร หลัง 'ลุงตู่' ปูทาง EEC ไว้ระยะยาว

(30 ส.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Sappaisansook Yodmongkhol' โดยนายยอดมงคล ทรัพย์ไพศาลสุข ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสายวิชาชีพที่ควรเรียนและไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป ว่า...

จากมาตรการไทยแลนด์ 4.0 ในรัฐบาลลุงตู่ ทำให้ในส่วนภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถเป็นอย่างมาก รัฐบาลที่ผ่านมา แม้แต่ลุงตู่เองก็พยายามสนับสนุนให้เยาวชนหันมาเรียนทางด้านสายอาชีพมากขึ้น ซึ่งพยายามสนับสนุนผลักดันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว หลายคนก็ยังดูถูกดูแคลนวิสัยทัศน์ สุดท้ายจบมาตกงาน เพราะไม่เชื่อที่ลุงแนะนำ 

คนไทยยังติดยึดกับค่านิยมเดิม ๆ ที่ชอบเรียนสายสามัญมากกว่า เพื่อไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในปัจจุบันมีหลายสาขาอาชีพที่มีบุคลากรล้นเกิน จึงเกิดปัญหาเรื่องของการว่างงาน โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ ดังนั้นผู้ปกครองกับเยาวชนควรต้องวางแผนการศึกษาต่อให้ดี มองไปให้ถึงการประกอบอาชีพในอนาคต ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลือกเรียนในสาขาอาชีพที่ขาดแคลนบุคลากร จบการศึกษามาแล้ว ก็จะหางานทำได้ง่าย ๆ สบาย ๆ

งานด้านสายอาชีพในปัจจุบัน ไม่สามารถดูถูกดูแคลนได้เลย บางครั้งสามารถทำงานหาเงินได้มากกว่าสายสามัญที่จบมาเสียอีก ผู้ปกครองควรมองสายอาชีพเป็นทางเลือกของบุตรหลานท่านบ้าง โดยดูตามความชอบ ศักยภาพ อาชีพที่จะทำเมื่อจบการศึกษามาแล้ว ความพร้อมของท่านและบุตรหลานไปพิจารณาประกอบด้วยครับ

‘สภาอุตฯ’ เปิด 10 อาชีพตลาดแรงงานต้องการสูงในอนาคต ‘ผู้เชี่ยวชาญ AI - เทคโนโลยีการเงิน - วิเคราะห์ข้อมูล’ เนื้อหอม

(27 ก.ย. 66) รายงานข่าวจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แจ้งว่า World Economic Forum เปิดเผยข้อมูล 10 อาชีพด้านเทคโนโลยี ที่จะตอบรับกับความต้องการของตลาดในอนาคตไปจนถึงปี 2570 โดยหลังจากนี้จะเร่งประสานสมาชิก ส.อ.ท ตลอดจนหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาข้อมูล ตลอดจนวางแผน รองรับการความต้องการแรงงานที่จะเกิดขึ้น

โดย 10 อาชีพที่มาแรง ประกอบด้วย

1.ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning
2.ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sustainability
3.ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอัจฉริยะ
4.นักวิเคราะห์ความปลอดภัยข้อมูล
5.วิศวกรเทคโนโลยีทางการเงิน
6.นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
7.วิศวกรหุ่นยนต์
8.ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data
9.ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลการเกษตร
10.ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล จากการที่เทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติ จะถูกนำเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ยังพบว่า มีอาชีพ 5 อันดับแรก ที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีแนวโน้มการเติบโตมากที่สุด ได้แก่

1.ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning
2.ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sustainability
3.ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอัจฉริยะ
4.นักวิเคราะห์ความปลอดภัยข้อมูล
5.วิศวกรเทคโนโลยีทางการเงิน

'เพจดัง' เผย!! สถาบันการศึกษาไทย พาเหรดออกงานในย่างกุ้ง สะท้อนหนุ่มสาวเมียนมา เตรียมลุยตลาดแรงงานระดับสูงในไทย

(27 มี.ค.67) จากเพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า..

ความต้องการเรียนในสถาบันการศึกษาไทยในระดับที่มหาลัยไทยต้องไปออกงานแบบนี้ แสดงให้เห็นถึงความต้องการเตรียมตัวเข้าตลาดแรงงานไทยในหมู่คนหนุ่มสาวเมียนมาในระดับสูงสุด

อันนี้น่าสนใจมาก

อย่างที่พูดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเด็กไทยไม่ขยัน ไม่ยกระดับตัวเองให้เข้ากับความต้องการของนายจ้าง 

ต่อไปนายจ้างไทยและนายจ้างบริษัทข้ามชาติที่มีกิจการทั่วภูมิภาคอาเซียน จะมีตัวเลือกเป็นเด็กเวียดนาม เด็กจีน เด็กเมียนมา ชั้นหัวกะทิที่เก่ง ฉลาด สื่อสารได้หลายภาษารวมทั้งภาษาไทย และพร้อมจะกลายเป็นคนไทยเมื่อเวลาผ่านไป

ประเทศไทยจะไม่ขาดคนมีฝีมือ แต่คนเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่เด็กไทยปัจจุบัน

บัณฑิตจีน สิ้นหวัง เกษียณกลับบ้านเกิด ด้วยความท้อแท้ เหตุ!! อุตสาหกรรมทรุดตัว บริษัทเลิกจ้าง แรงงานล้นตลาด

(14 ต.ค. 67) หากคิดว่าหางานใน ‘ไทย’ ยากแล้ว ใน ‘จีน’ กลับยิ่งหางานยากกว่ามาก แม้มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่หนุ่มสาวจบใหม่ในจีนตอนนี้กลับหางานลำบากยิ่งนัก โดยอัตราว่างงานของหนุ่มสาวจีนในเดือนสิงหาคม “ทำสถิติใหม่” ที่ 18.8% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบบันทึกสถิติใหม่ในเดือนธันวาคม โดยเพิ่มขึ้นจาก 17.1% ในเดือนกรกฎาคม

มีเรื่องราวของสาวจีนที่จบการศึกษามาไม่นาน เธอชื่อ สวี่อวี่ (Xu Yu) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในฮ่องกง และใช้เวลาหางานเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว

แม้เธอจะมีผลการเรียนดีเยี่ยมและประสบการณ์ฝึกงานถึงสามครั้ง สวี่อวี่ก็ยังคงต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อแข่งขันในตลาดงานที่ดุเดือด เธอลงทุนเงินกว่า 20,000 หยวน หรือราว 90,000 บาทเพื่อเข้าฝึกอบรมเทคนิคการสัมภาษณ์ แต่กลับต้องเผชิญกับความผิดหวังเมื่อได้รับจดหมายปฏิเสธจากบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น Tencent Holdings และ JD.com

ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อ ถังฮุ่ย (Tang Hui) เธอได้รับข้อเสนองานด้านบัญชีจากผู้ผลิตรถพลังงานใหม่ชั้นนำก่อนจบการศึกษา แต่ต่อมาบริษัทได้ยกเลิกข้อเสนอทั้งหมดให้กับผู้จบใหม่ ถังฮุ่ยได้รับเงินชดเชยเป็นค่าแรงหนึ่งเดือน แต่หลังจากนั้น แม้ว่าเธอจะสมัครงานไปกว่า 50 บริษัทแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ได้รับข้อเสนอใด ๆ กลับมา เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของบัณฑิตใหม่จีนหลังจบการศึกษา

ในปีนี้ เหล่าบัณฑิตจีนที่จบออกมามีจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 11.8 ล้านคน และกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่อ่อนแอที่สุดที่จีนเคยเผชิญมาหลายปี จากการที่บรรดาบริษัทด้านอินเทอร์เน็ต การศึกษา และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกระดูกสันหลังของจีน ตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลง 

ยกตัวอย่าง ‘เหล่าบริษัทเทคโนโลยี’ อย่าง  Alibaba, Tencent และ Baidu ก่อนหน้านี้เคยขยายการจ้างงาน แต่ปัจจุบันตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลง โดย Alibaba ตัดพนักงานลงมากกว่า 13%

ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ ‘ธุรกิจกวดวิชา’ ที่เคยเป็นดาวรุ่ง ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร รัฐบาลออกระเบียบลดภาระการบ้านและการติวหลังเลิกเรียน อีกทั้ง ‘ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์’ ที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีจีนก็ยังคงซบเซา จนทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้ได้หายไปในปีนี้

ส่วนอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น พลังงานทดแทนและเซมิคอนดักเตอร์ ยังไม่สามารถทดแทนด้านการจ้างงานได้ เพราะการสรรหาบุคลากรเหล่านี้ ‘ต้องการความสามารถเฉพาะทาง’ ซึ่งมักมีวุฒิขั้นสูง เช่น BYD ผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า ในปีนี้ได้ลดการรับสมัครนักศึกษาลงมากกว่าครึ่งจาก 30,000 คนในปี 2023

หลายคนอาจมีค่านิยมว่า จบจากมหาวิทยาลัยดังมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ปัจจุบันนี้อาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้นอีกต่อไป หลายบริษัทต้องการคนมีประสบการณ์และเคยผ่านงานด้านนั้นมากกว่า  

จากที่เคยเป็นเพียงส่วนเสริม ‘ประสบการณ์การฝึกงานที่ผ่านมา’ ได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดโอกาสในการทำงาน หลิว จื่อเฉา (Liu Zichao) บัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงน้อยกว่า ได้แสดงให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ เมื่อเขาคว้าตำแหน่งงานเทคโนโลยีมาครองได้สำเร็จหลังจากฝึกงานที่ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok 

เรื่องราวของเขาสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่การฝึกงานเฉพาะทาง กำลังกลายเป็นตัวชี้วัดความสามารถที่สำคัญยิ่งกว่าวุฒิการศึกษา

นอกจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนอันซบเซาแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือ บัณฑิตจบใหม่หลายคนกำลังเผชิญปัญหาการหางานที่ไม่ตรงกับความสามารถของตนเอง โดยมีคุณสมบัติเกินกว่างานระดับล่าง แต่ขาดประสบการณ์สำหรับงานระดับสูง

ยิ่งไปกว่านั้น ความคาดหวังด้านอาชีพที่สูงขึ้นของบัณฑิตในปัจจุบัน กำลังทำให้ความไม่ลงรอยกันในตลาดแรงงานของจีนเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลหลายคนรายงานว่า ความทะเยอทะยานที่เกิดจากโซเชียลมีเดียสำหรับงานเทคโนโลยีที่มีรายได้สูงได้นำไปสู่การเรียกร้องเงินเดือนที่สูงเกินจริง ทำให้บัณฑิตจำนวนมากไม่พอใจกับตำแหน่งงานที่มีอยู่

จาง (Zhang) ผู้จัดการทรัพยากรบุคคลกล่าวว่า บัณฑิตที่สอบข้าราชการไม่ผ่านมักเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยไม่พร้อม และเรียกร้องเงินเดือนสูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมมาก

ในทำนองเดียวกัน หยาง เจียน (Yang Jian) ซึ่งทำงานด้านการสรรหาบุคลากรสำหรับบริษัทอัตโนมัติขนาดเล็กกล่าวว่า ความคาดหวังที่ไม่สมจริงของบัณฑิตจบใหม่ และความลังเลในการยอมรับงานที่มีรายได้ต่ำกว่า ทำให้บริษัทของเธอหยุดรับสมัครบัณฑิตใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมามองดูมุมมองของเหล่าบัณฑิต ผู้หางานรุ่นใหม่รู้สึกไร้อำนาจในตลาดแรงงาน สวัสดิการพื้นฐานเช่น วันทำงานแปดชั่วโมงและประกันสังคมที่ได้รับกลับถูกมองว่าเป็นสิ่งหรูหรา โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีนพบว่า พนักงานรุ่นใหม่ทำงานหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นการทำงานเฉลี่ย 251.9 ชั่วโมงต่อเดือน และมีความคุ้มครองด้านประกันสังคมที่ต่ำจากนายจ้าง

ด้วยภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ และรู้สึกสิ้นหวังในตลาดแรงงาน ชาวจีนรุ่นใหม่จึงถอยกลับไปยังชนบท โดยหลังจากประกาศว่าตนถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือว่างงาน ชาวจีนเจน Z และ Y ก็บันทึกชีวิตประจำวันแบบ ‘เกษียณอายุ’ ในชนบทของตนบนโซเชียลมีเดีย  

เมื่อปีที่แล้ว ผู้เกษียณอายุที่ประกาศตนเองวัย 22 ปี ซึ่งใช้ชื่อแฝงว่า เหวินจือ ต้าต้า (Wenzi Dada) ได้ตั้งถิ่นฐานในกระท่อมไม้ไผ่ริมหน้าผาในมณฑลกุ้ยโจวของจีน เหวินจือ ซึ่งเคยทำงานในหลากหลายสาขา เช่น ซ่อมรถยนต์ ก่อสร้าง และการผลิต บอกกับสื่อท้องถิ่นว่าเขารู้สึกเหนื่อยกับการต้องจัดการกับเครื่องจักรทุกวัน จึงลาออกเพื่อกลับบ้านเกิด

นอกจากนี้ บัณฑิตบางคนหันไปทำงานอิสระ เช่น เป็นคนขับส่งของหรือพี่เลี้ยงเด็ก ในขณะที่อีกหลายคนก็เลื่อนการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

‘JobThai’ เผยนายจ้าง 82% ยินดีรับคนจบไม่ตรงสาย พร้อมเปิด 5 ทักษะที่บริษัทต้องการจากคนวัยทำงาน

(5 พ.ย. 67) นายจ้าง 82% ยินดีรับวัยทำงานที่ไม่จบมาตรงสายงานเข้าทำงาน เพียงแต่ต้องอัปสกิลหรือเพิ่มทักษะในด้านที่เกี่ยวข้องกับงานก็เพียงพอแล้ว

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ หัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ JobThai.com  ได้บรรยายในงาน Work Life Fest 2024 ระบุว่า สายงานบางอย่างอาจถูกทดแทนด้วย AI แต่ขณะเดียวกันก็จะเกิดงานใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย
วัยทำงานต้องเอาตัวรอดในตลาดงานโลกอนาคต ด้วยการอัปสกิลให้ตนเอง โดยทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานแห่งอนาคต ได้แก่ Technical Skills ทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง, Human Skills ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฯลฯ ส่วน Soft Skill หรือทักษะด้านอารมณ์ วัยทำงานควรมี Soft Skill แบบไหนบ้างจึงจะเป็นที่ต้องการขององค์กร ผลสำรวจพบว่า มี 5 ทักษะทางด้านอารมณ์ (ทักษะด้านลักษณะอุปนิสัยและความสามารถเชิงสมรรถนะ ที่จะช่วยให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี) เพื่อดึงดูดให้นายจ้างอยากจ้างงานมากขึ้น ประกอบด้วย

1. ทักษะด้านการสื่อสาร Communication : องค์กรต่างๆ ต้องการพนักงานที่สื่อสารรู้เรื่อง ทักษะพื้นฐานฟังพูดอ่านเขียนไม่พอ แต่ต้องต้องสามารถวิเคราะห์และสรุปข้อมูลออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วสื่อสารให้ทาร์เก็ตกรุ๊ปเข้าใจได้

2. ทักษะความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบ : เวลาทำงานพนักงานจะต้องรู้หน้าที่ของตน สามารถรู้ได้ว่าในแต่ละวันมี Task อะไรที่จะต้องทำให้สำเร็จ และจะต้องทำได้อย่างดีมีประสิทธิภาพด้วย งานต้องละเอียดรอบคอบ มีความรับผิดชอบ หากระบุว่าจะส่งงานเมื่อไหร่ก็ต้องทำให้ได้ตามกำหนดเวลานั้น

3. ทักษะการดูแลลูกค้า Customer experience : องค์กรอยากได้พนักงานที่ “อ่านใจลูกค้าให้ออก” เวลาพูดคุยสื่อสารกับลูกค้า ต้องรู้ว่าขณะนั้นลูกค้าใช้โทนเสียงแบบนี้แปลว่าต้องการความช่วยเหลือ หรือกำลังเดือดร้อนแล้วต้องการให้เราช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่าง เมื่อรับทราบแล้วเราต้องแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าทันที หากเราไม่ใส่ใจ แก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ เขาก็จะไม่ใช้บริการเราอีก แต่ถ้าเราแก้ไขให้ได้ สร้างความประทับใจ ลูกค้าก็จะภักดีต่อแบรนด์ไปอีกนานเท่านาน

4. ทักษะด้านการบริหารคุณภาพ : พนักงานต้องสามารถทำงานที่มีคุณภาพ และตรวจสอบได้ ต้องมีทักษะในการสำรวจตรวจสอบงานของตนเองว่า วิธีการทำงานของเราทำอย่างไรให้มันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือสามารถพัฒนางานให้ดีกว่านี้ได้อย่างไรบ้าง ต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนางานของตนเ

5. ทักษะการฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว Resilience : การทำงานทุกอย่างย่อมเกิดปัญหาขึ้นมาได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเกิดปัญหาแล้ว วัยทำงานตั้งสติได้อย่างรวดเร็วหรือไม่? ทักษะที่สำคัญอีกอย่างที่พนักงานควรมีคือ Resilience หรือการมีสติ พลิกฟื้นจากวิกฤติกลับมาได้ และแก้ไขปัญหาให้ผ่านไปได้ด้วยดี 

นอกจากนี้ วัยทำงานหลายคนโดยเฉพาะเด็กจบใหม่ (First Jobber) อาจกังวลว่านายจ้างหรือองค์กรต่างๆ มักต้องการทักษะใหม่ๆ หลายอย่างมากซึ่งอาจจะพัฒนาตนเองได้ไม่พอ หรือไม่ทันกับความต้องการนั้น แล้วยิ่งหากเรียนจบมาในสาขาที่ไม่เป็นที่ต้องการขององค์กรส่วนใหญ่ จะต้องทำอย่างไร

เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เพราะผลสำรวจเผยว่า นายจ้างมากถึง 82% ยินดีรับวัยทำงานที่ไม่จบมาตรงสายกับตำแหน่งงานนั้น เพียงแต่ต้องมีการอัปสกิลหรือเพิ่มทักษะในด้านที่เกี่ยวข้องกับงานก็เพียงพอแล้ว ยกตัวอย่างเช่น บริษัท JobThai ก็รับพนักงานที่จบวิศวกรรมโยธา ให้เข้ามาทำงานในตำแหน่ง วิศวกรคอมพิวเตอร์ ได้ 

เนื่องจากเขามีการไปอบรมทักษะเพิ่มเติม และเขาก็มีความสามารถทำงานในตำแหน่งนั้นได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียนจบสาขาใดมา หากมีทักษะที่ใกล้เคียงกับงานนั้น หรือมีการไปอบรมเพิ่มสกิลให้ตรงกับงานนั้น ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะตกงาน มีโอกาสได้งานทำแน่นอน

อย่างไรก็ตาม โลกการทำงานยุคนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว ตลาดงานต้องการแรงงานที่มีทักษะหลากหลายด้าน ยิ่งวัยทำงานมีทักษะหลากหลายองค์กรก็จะยิ่งต้องการตัวมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา และปรับตัวให้เท่าทันกับโลกการทำงาน เพื่อที่จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว และประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top