Saturday, 29 June 2024
ตร.

ตร. เตือน จำนำรถติดไฟแนนซ์ ผิดกฎหมาย! ส่วนคนรับจำนำ หรือซื้อรถหลุดจำนำ เสี่ยงผิด “รับของโจร”

วันนี้ ( 1 กุมภาพันธ์ 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ โดยปัจจุบันได้มีพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภาระหนี้สิน เนื่องมีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือต้องรีบหาเงินมาชำระให้กับเจ้าหนี้ ได้นำรถยนต์ที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระกับสถาบันทางการเงิน หรือที่เรียกว่า “รถติดไฟแนนซ์” ไปจำนำไว้กับผู้ที่ประกาศรับจำนำรถ ทั้งที่ยังมีภาระหนี้สินกับไฟแนนซ์อยู่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนว่า รถที่ติดไฟแนนซ์หรืออยู่ระหว่างผ่อนชำระกับสถาบันทางการเงิน ผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือเจ้าของรถตัวจริงของรถคันดังกล่าว คือสถาบันทางการเงิน ส่วนผู้เช่าซื้อเป็นเพียงผู้ครอบครองเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์

ดังนั้น การที่ผู้เช่าซื้อนำรถติดไฟแนนซ์ไปจำนำ แล้วผู้เช่าซื้อไม่ผ่อนชำระหรือไม่นำเงินมาปิดยอดไฟแนนซ์ที่เหลืออยู่ จะเข้าข่ายเป็นการ “ครอบครอบทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต” ซึ่งเป็นความผิดฐาน “ยักยอก” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนผู้รับจำนำหรือผู้รับซื้อรถคันดังกล่าว หากรู้หรือควรจะรู้ได้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถติดไฟแนนซ์ การรับจำนำหรือรับซื้อรถคันดังกล่าวไว้ อาจเข้าข่ายเป็นการ “ซื้อ หรือรับจำนำ ซึ่งทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดฐานยักยอก” ซึ่งเป็นความผิดฐาน “รับของโจร” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการสังเกตว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด ให้ตรวจสอบจาก “ใบคู่มือจดทะเบียน” ซึ่งจะระบุ รายละเอียดทะเบียนรถ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ และผู้ครอบครองรถ ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่าชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ เป็นชื่อของสถาบันทางการเงิน ให้ระมัดระวังในการรับจำนำ หรือรับซื้อรถคันดังกล่าว เพราะอาจตกเป็นผู้กระทำความผิดฐาน “รับของโจร” ได้

ตร. “ไม่ยืนยัน” แค่คุย 2 นาที เงินหายจากบัญชี ชี้ยังไม่พบผู้เสียหาย หากมีให้รีบแจ้งความ พร้อมนำโทรศัพท์มาด้วย

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อ กรณี อดีต “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ออกมาเผยแพร่กับสื่อมวลชน ว่ากลุ่มมิจฉาชีพมีเทคโนโลยีใหม่ในการดูดเงินจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย เพียงการหลอกล่อให้ผู้เสียหายคุยโทรศัพท์ด้วย 2 นาทีขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้เสียหายกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันใด ๆ นั้น

จากการตรวจสอบข้อมูลการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ของ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ยังไม่พบว่ามีแจ้งความร้องทุกข์ในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด โดยกรณีของการถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารที่พบนั้น มีสาเหตุมาจากการถูกหลอกให้ส่งข้อมูลบัญชีผู้ใช้ รหัสผ่าน และ OTP หรือถูกหลอกให้กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล หรือแอปดูดเงิน เพื่อควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อแล้วถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารผ่านแอปธนาคารในโทรศัพท์จนเงินหมดบัญชี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเรียนมายังพี่น้องประชาชน ว่าอย่าตื่นตระหนกและวิตกกังวลกับกรณีดังกล่าว เพราะจากการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังไม่พบข้อมูลว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพที่มีเทคโนโลยีในลักษณะดังกล่าว ประกอบกับยังไม่มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ กรณีถูกดูดเงินจากบัญชีธนาคาร จากการคุยโทรศัพท์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกิน 2 นาที ตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจาก การคุยโทรศัพท์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกิน 2 นาที โดยไม่ได้มีการกดลิงก์กรอกข้อมูลส่วนบุคคลหรือรหัสผ่าน และไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล แล้วถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร ให้รีบมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเร็ว พร้อมกับนำโทรศัพท์มือถือเครื่องที่ท่านใช้งานมาด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจพิสูจน์ว่าคนร้ายใช้เทคโนโลยีใดในการก่อเหตุ เพื่อหาแนวทางการป้องกันต่อไป

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ตร. เตือน ระวัง 5 บัญชีโซเชียลอันตราย แนะ ไม่รับแอด ไม่คุยแชต ไม่โอนเงิน

วันนี้ (15มีนาคม 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพยังคงมีการพัฒนารูปแบบในการหลอกลวงพี่น้องประชาชนอยู่เสมอ มีการนำหลักจิตวิทยามาปรับใช้ใช้ในการหลอกล่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพมักสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงเหยื่อ เช่น สร้างบัญชีปลอมเป็นบุคคลมีชื่อเสียง สร้างบัญชีปลอมเป็นหน่วยงานของรัฐ สร้างบัญชีที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง(บัญชีอวตาร) หรืออ้างว่าตนเองมีฐานะร่ำรวย เป็นต้น

โดยรูปแบบของบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่ต้องระวัง เพราะอาจเป็นมิจฉาชีพมี 5 รูปแบบดังต่อไปนี้

1. “หนุ่มหล่อสาวสวย” แอดท่านเป็นเพื่อน โดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพื่อพยายามสานสัมพันธ์ในเชิงชู้สาว ซึ่งจะนำไปสู่การหลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือหลอกให้ส่งภาพลามก

2. “อวดร่ำอวดรวย” โดยมักจะมีการโพสต์ในทำนองว่าได้เงินจากการลงทุน หรือทำธุรกิจบางอย่าง ซึ่งได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งจะนำไปสู่การหลอกลวงชวนลงทุน หรือ Hybrid Scam

3. “ต่างชาติวัยเกษียณ” ส่งข้อความมาหาหรือแอดท่านเป็นเพื่อน เพื่อสานสัมพันธ์เชิงชู้สาว จากนั้นอ้างว่าจะย้ายมาอยู่ประเทศไทย และจะส่งทรัพย์สินมาให้ แต่ติดอยู่ที่ศุลกากร หลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพ

4. “หน่วยงานรัฐ(ปลอม)รับช่วยเหลือ” ลงโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ อ้างหน่วยงานของรัฐเปิดบริการรับแจ้งความ หรือให้ความช่วยเหลือในการติดตามทรัพย์สินจากคนร้าย จากนั้นจะหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงิน โดยอ้างว่าเป็นขั้นตอนในการติดตามเงินคืน หรือค่าใช้จ่ายในการติดตามคดี

5. “แอคหลุม แอคปลอม” แชร์แต่ข่าว ร้านอร่อย ที่เที่ยวสวย แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร แอดท่านมาเป็นเพื่อน ต้องระวัง เพราะอาจเป็นมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสเข้ามาส่องบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของท่าน หรือเอาภาพของท่านไปใช้ในการสร้างบัญชีปลอมของมิจฉาชีพ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอแนะนำให้พี่น้องประชาชน “ไม่รับแอด ไม่คุยแชต ไม่โอนเงิน” บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่มีลักษณะดังกล่าว เพื่อลดโอกาสที่ท่านจะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่สร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ขึ้นมาเพื่อหลอกลวงพี่น้องประชาชน

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top