Tuesday, 6 May 2025
ดนตรีไทย

'ครูเอ้-อัษฎาวุธ' แจ้ง!! เตรียมจัดงานใหญ่ ฉลอง 144 ปี หลวงประดิษฐไพเราะ เผย!! ดีใจ 'เยาวชนไทย-หลากวัย' หันมาสนใจเรียนดนตรีไทยเพิ่มขึ้น

THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ 'อาจารย์อัษฎาวุธ สาคริก' หรือ 'อาจารย์เอ้' เลขาธิการ มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ถึงความเป็นมาของมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) อันเป็นมูลนิธิเกี่ยวกับดนตรีไทยมูลนิธิแรกของประเทศไทย ที่มีวัตถุประสงค์หลาย ๆ ด้าน เช่น การอนุรักษ์สืบสาน, การพัฒนาและสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนสังคมดนตรีไทยในระดับต่าง ๆ รวมถึงรวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจาย มาสื่อสารให้คนในยุคปัจจุบันได้รับรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของดนตรีไทย

ช่วงหนึ่งของรายการ อ.เอ้ เล่าให้ฟังว่า โจทย์ที่สำคัญในวันนี้ คือ จะทำอย่างไรให้ดนตรีไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนได้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันทางมูลนิธิฯ ได้มีการจัดทำโครงการเพื่อนดนตรี ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงดนตรี และงานวิชาการกับกลุ่มคนใหม่ ๆ รวมถึงการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ดนตรีไทย ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการจัดแสดงสิ่งของเท่านั้น แต่ต้องการนำเสนอองค์ความรู้ง่าย ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

"ในปี พ.ศ. 2568 จะเป็นวาระครบรอบ 144 ปี ของหลวงประดิษฐไพเราะ ทางมูลนิธิฯ จึงเตรียมที่จะจัดกิจกรรมพิเศษมากมาย เพื่อร่วมรำลึกถึงท่าน เช่น การจัดทำละครโทรทัศน์, ละครเวที, การเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์, การจัดเทศกาลดนตรีไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนงาน ฝากติดตามกันในปีหน้า"

เมื่อถามถึงความสนใจดนตรีไทยของเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน? อ.เอ้ เผยว่า "มีความสนใจในดนตรีไทยมากขึ้น มีทักษะมากขึ้น และมีความกล้าในการนำเสนอมากขึ้น แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ การถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับดนตรีไทยไปสู่เด็กและเยาวชนอย่างลึกซึ้งเท่านั้นเอง"

เมื่อพูดถึงการเรียนดนตรีไทย ที่มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ อ.เอ้ เผยว่า ปัจจุบันมีการเปิดสอนทุกชนิดของเครื่องดนตรีไทย โดยสอนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ 

"การสอนของเรามีลักษณะเป็นชมรม เป็นครอบครัวใกล้ชิดกัน เหมือนพี่สอนน้องกันมากกว่า ซึ่งถ้าผู้สนใจไม่มีพื้นฐานดนตรีไทยก็สามารถเรียนได้ โดยปัจจุบันมีเยาวชนจนถึงผู้สูงวัยให้ความสนใจมาเรียนดนตรีไทยกันจำนวนมาก"

ในช่วงท้ายอาจารย์เอ้ ฝากข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับดนตรีไว้ด้วยว่า "การฟังดนตรี เราฟังผ่านทางหู และรับรู้ด้วยหัวใจ ศิลปะบางอย่างไม่ต้องเข้าใจลึกซึ้ง ขอแค่รู้สึกได้ รับรู้ได้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราก็พอ"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top