Sunday, 19 May 2024
ดนตรีในสวน

ตรวจสอบได้!! เปิดงบดนตรีในสวนยุค 'ชัชชาติ' 52 ครั้ง เกือบ 9 ล้าน จ้าง 'อินฟลูฯ-ซื้อสื่อ' 8 หมื่น

เผยงบจัดงานดนตรีในสวน กทม.ยุคชัชชาติ 52 ครั้ง 8.9 ล้าน จ้างวงดนตรี 4 วง 1 แสน แสงสีเสียง 4 หมื่น เช่าเครื่องปั่นไฟ 2 เครื่อง 3 หมื่น ซื้อสื่อออนไลน์-จ้างอินฟลูเอนเซอร์ 4 ครั้ง 8 หมื่น จ้างผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน 4.5 หมื่น พบโยงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

(7 ม.ค.66) จากกรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมซึ่งได้หยุดเดินเรือไปก่อนหน้านี้ ในการแถลงข่าวที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ที่ผ่านมามีผู้โดยสารน้อยมาก แต่ค่าจ้างเดินเรือยังมีอยู่ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2.4 ล้านบาทต่อเดือน มีผู้ใช้บริการเพียง14,000 คนต่อเดือน ค่าบริการต่อคนค่อนข้างสูงมาก ประมาณ 171 บาทต่อคน จะมีการพิจารณาว่าจะทำต่อไหม ถ้าทำต่อจะคุ้มค่าไหม หรือเอาเงินที่จ่ายไปทำอย่างอื่นที่คุ้มค่ากว่านี้ อาจเป็นรูปแบบใหม่ที่กระตุ้นให้คนใช้บริการมากขึ้น เช่น Shuttle Bus หรือทำเรื่องท่องเที่ยว

เรื่องดังกล่าวเรียกเสียงวิจารณ์จากโลกโซเชียลฯ เหราะเห็นว่าการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมของอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนก่อนทำไว้ดีอยู่แล้วกลับยกเลิก ขณะเดียวกัน ยังหยิบยกกรณีที่กรุงเทพมหานครเพิ่มงบโครงการสัมมนาพาคนไปเที่ยวในหลายสำนักงานเขต มีถึง 72 โครงการ ใน 26 เขต รวมวงเงินสูงกว่า 111 ล้านบาท ที่มีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อนหน้านี้ ภายหลังนายชัชชาติอ้างว่าทำต่อ แต่ต้องประเมินสถานการณ์ เพราะค่าใช้จ่ายต่อหัวแพงมาก จึงต้องประเมินทางเลือกอื่นที่ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง

ล่าสุดเฟซบุ๊กเพจ ‘ซึ่งต้องพิสูจน์’ โพสต์ข้อความระบุว่า "เปิดเอกสาร งบจัดงานดนตรีในสวน กทม.ยุคชัชชาติ 52 ครั้ง8.9 ล้าน เป็นค่าออกแแบบ จัดทำเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ทางสังคมออนไลน์ เช่น ทีวีออนไลน์ หนังสือพิมพ์ออนไลน์เว็บ อินฟลูเอนเซอร์ ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง 8 หมื่นบาท นอกจากนี้ ยังมีค่าตอบแทนวงดนตรี 100,000 จำนวน 52 ครั้ง5.2 ล้าน ค่าตอบแทนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวน 3 ท่าน ท่านละ 15,000 บาท 3 ท่าน 45,000 บาท ค่าอุปกรณ์ จัดการแสดงไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง 40,000 บาท จำนวน 52 ครั้ง 2 ล้าน" พร้อมแนบ http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER9/DRAWER020/GENERAL/DATA0004/00004427.PDF

เมื่อผู้สื่อข่าวพิจารณาเอกสาร พบว่า ระบุชื่อโครงการ ‘ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนกรุงเทพมหานคร’ หน่วยงานที่รับผิดชอบ กองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ปีงบประมาณ 2566 โดยพบว่าค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมาจัดกิจกรรมดนตรีในสวนกรุงเทพมหานคร จำนวนเงิน 8,965,000 บาท จำนวน 52 ครั้ง ประกอบด้วย

1. ค่าออกแบบ จัดทำ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ กิจกรรมสู่กลุ่มเป้าหมายทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ทีวีออนไลน์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เว็บไซต์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น ที่ได้รับความนิยม หรือมีผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 500,000 คนจำนวนไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง (20,000 บาท x 4 ครั้ง) รวม 80,000 บาท

2. ค่าตอบแทนวงดนตรี เช่น วงสตริงคอมโบ้ วงแจ๊ซ วงบราสควินเต็ท วงเครื่องสาย วงออร์เคสตรา วงซิมโฟนิกแบนด์วงวนด์อองซอมเบิล วงสตริงอองซอมเบิล หรือวงดนตรีที่เหมาะสม จำนวนไม่น้อยกว่า 4 วงต่อครั้ง จำนวน 52 ครั้ง(100,000 บาท x 52 ครั้ง) รวม 5,200,000 บาท

3. ค่าตอบแทนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน (15,000 บาท x 3 ท่าน) รวม 45,000 บาท

4. ค่าจัดหาระบบแสงพร้อมอุปกรณ์ไฟแอลอีดี ไฟซูเปอร์สแกน ไฟส่องสว่าง โครงสร้างสำหรับติดตั้งไฟ สายเมนไฟเครื่องควบคุมและเครื่องสำรองไฟฉุกเฉินให้เพียงพอกับการใช้งานในสถานที่แสดงและบรรยากาศโดยรอบ จำนวน52 ครั้ง โดยจะต้องติดตั้งและทดสอบให้เสร็จก่อนการจัดแสดงไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง (40,000 บาท x 52 ครั้ง) รวม2,080,000 บาท

5. ค่าจัดหาเครื่องปั่นไฟ ขนาด 100 เควีเอ จำนวนไม่น้อยกว่า 2 เครื่อง พร้อมน้ำมันให้เพียงพอสำหรับการจัดการแสดง และการซ้อมก่อนการแสดง จำนวน 52 ครั้ง (30,000 บาท x 52 ครั้ง) รวม 1,560,000 บาท

สำหรับหลักการและเหตุผล ระบุว่า นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) 9 มิติ ที่ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน มุ่งเน้นให้คนกรุงเทพฯ มีชีวิตที่มีความปลอดภัย เป็นสุข สุขภาพกายใจดี ได้แก่ ปลอดภัยดี เดินทางดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี โครงสร้างดี บริหารจัดการดี เรียนดี และเศรษฐกิจดี และโดยเฉพาะด้านสร้างสรรค์ดี มีนโยบายในการเปิดพื้นที่ในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร สร้างความสุขให้กับประชาชนได้รับความสุนทรีย์จากการชมการแสดงดนตรี

กองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว พิจารณาเห็นว่าการนำกิจกรรมดนตรีในสวนมาเป็นสื่อสร้างความสุขในวันหยุดของคนเมือง พร้อมเปิดให้ชมฟรี ร่วมสร้างบรรยากาศและเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวซึ่งกิจกรรมดนตรีในสวนเป็นหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อด้านสร้างสรรค์ดี คือ กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง เป็นส่วนหนึ่งของการบริการสังคมของกรุงเทพมหานคร ที่ประชาชนจะได้เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายในสวนอันร่มรื่น ได้ชมดนตรีในบรรยากาศที่อบอุ่นในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยไม่ต้องเดินทางไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัดปลูกฝังให้เด็กมีจิตใจร่าเริงและชื่นชอบในดนตรี เป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น

ความงัวไม่ทันหาย ดันเอาควายเข้ามาแทรก กทม. เปิดพื้นที่ 12 สวนฯ เล่นดนตรีไม่ต้องขออนุญาต

"ความงัวไม่ทันหาย ดันเอาควายเข้ามาแทรก"

ผมมิได้อยาก 'บิด' สุภาษิตโบราณแต่อย่างใด แค่ใจมันรู้สึกอยากบอกออกมาอย่างนั้นดัง ๆ เมื่อเห็นข่าวผู้บริหารกรุงเทพมหานคร 'ปลดล็อก 12 สวน ให้ใช้เสียง - เล่นดนตรีได้ ไม่ต้องขออนุญาต'

ต่อเรื่องนี้ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาชี้แจงต่อสื่อว่า "...ทาง กทม. ได้ผลักดันนโยบายหลายข้อ เพื่อสร้างเสียงดนตรีให้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมเมือง ซึ่งเทศกาลดนตรีในสวน เป็น 1 ในนโยบาย 214 ข้อด้านสร้างสรรค์ดี คือ กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรี และศิลปะการแสดง จึงดำเนินการจัดกิจกรรมในสวนสาธารณะทั้ง 12 สวน ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ทั่วกรุงเทพฯ ตลอดปี 2566"

ฟังเหมือนว่ากำลังใช้งาน เอนเตอร์เทน นำทิศทางเมือง

"...โดยตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม เป็นต้นไป กทม. ได้ปลดล็อกสวนสาธารณะ 12 สวน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้าไปเล่นดนตรีได้โดยไม่ต้องขออนุญาต โดยมีเงื่อนไข คือ การเล่นดนตรีนั้นจะต้องไม่มีการหารายได้หรือผลประโยชน์แอบแฝง ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง หากเป็นการเล่นดนตรีที่ใช้เสียงดังเกิน 85 เดซิเบล จะต้องเล่นดนตรีในพื้นที่ที่สวนสาธารณะจัดเตรียมไว้ ซึ่งถ้ามีผลตอบรับดีทาง กทม. จะแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้ทุกสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร ใช้งานได้" รองผู้ว่าฯ สำทับ

เอาล่ะ ใครมีกีต้าร์ มีบองโก้เชิญ ลำโพงบลูทูธก็น่าจะมาครานี้

ถามว่าอะไรคือหลักการ 'เปิดพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนสามารถเข้าไปเล่นดนตรีได้โดยไม่ต้องขออนุญาต!' ประชาชนส่วนที่ไม่ต้องการเสียงดนตรีล่ะ ต้องขออนุญาตไหม?

ผมว่าพวกท่านกำลังเบี่ยงประเด็นเก่าเรื่องที่ชาวบ้านด่ากันระงมทั้งเมือง? เรื่องบรรดาแผงลอยเข้าจับจองพื้นที่ค้าขายเต็มฟุตบาทสาธารณะ เรื่องนโยบายขนส่งมวลชนปลอดมลพิษที่ (พวกท่าน) ขอทบทวนโดยอ้างว่าขาดทุน ทั้งที่มีคนรอใช้เรือนหมื่น หรือเรื่องดูแลรักษาสภาพพฤกษ์พรรณไม้ของสวนสาธารณะที่ดูเหมือนจะฝากไว้กับเทวดามากกว่าเจ้าหน้าที่ กทม.

เชื่อเหลือเกินว่าประชาชนเกิน 10 ล้านชีวิต ทั้งในสำมะโนฯ จริง และประชากรแฝง (แรงงาน) ของเมืองหลวง มิได้หลงใหลคลั่งไคล้เสียงดนตรีเสียทั้งหมด มีหลายคนอยากใช้ชีวิตบนสวนสาธารณะอันเงียบสงบยามวันหยุดสุดสัปดาห์ เพียงเพื่อพักผ่อนสมองที่อ่อนล้ากับเสียงต่าง ๆ ในเมืองมาตลอดอาทิตย์

แต่แล้วจู่ ๆ ผู้ว่ากรุงเทพมหานครและคณะ ก็เอานโยบายดนตรีฟรีสไตล์มายัดหูความฝันมหาชนจนบรรลัย ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จำเพาะเจาะจงตรงวันหยุดสุดสัปดาห์แห่งฝันนั้นพอดี

สุนทรียรมย์ มิได้ถูกผูกติดกับเสียงดนตรีเสมอไป - เรื่องนี้คนบ้าพลังคงฟังไม่เข้าใจ!

ชายชราหน้าตาดีผู้รักการออกกำลังใต้สายลม แสงแดด และเสียงนกร้อง เคยปรารภชื่นชมชีวิตกลางสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ ว่าช่างรื่นร่มรมเยศราวสรวงสวรรค์แห่งพันธุพฤกษ์ มีเ_ี้ย มีนกหนู มีงู มีกระรอก แถมยังได้ยินราวเสียงกระซิบของเหล่าสรรพสัตว์ใหญ่น้อยนั่นยามจ้องตา - จนกระทั่งทุกสิ่งพินาศลงเมื่อวิ่งผ่านลานเต้นแอโรบิก!

คอเพลงห้ามพลาด! 28 เม.ย. นี้ พวงเพ็ชร ชวนชม “ดนตรีในสวน เฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10” ที่สวนรถไฟ

ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกวันที่ 28 เมษายน ของทุกเดือน ตลอดปี พ.ศ.2567 คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยความร่วมมือของกรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร รวมถึงเหล่าศิลปิน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมรับฟังบทเพลงอันไพเราะและทรงคุณค่า เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และบทเพลงทั่วไป ในบรรยากาศสวนสวยใจกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดปีมหามงคล และเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ

โดยในวันที่ 28 เมษายน 2567 กิจกรรมดนตรีในสวน มีกำหนดจัดขึ้น ณ สวนวชิรเบญจทัศ หรือ สวนรถไฟ ประชาชนสามารถร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป นอกจากบทเพลงจากวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์แล้ว ยังมีกลุ่มศิลปินนำโดย คุณโฉมฉาย อรุณฉาน และศิลปินรุ่นใหม่ จากการประกวดในรายการเพลงเอกร่วมขับร้องบทเพลงอันไพเราะ เช่น ธัช กิตติธัช แชมป์รายการเพลงเอกซีซัน 1 แบ๊งค์ เฉลิมรัฐ จุลโลบล แชมป์รายการเพลงเอกซีซัน 2 เซม ภานุรุจ พงพิทักษ์กุล แชมป์รายการเพลงเอกซีซัน 3 และ โอ๋ ชุติมา แก้วเนียม ผู้ร่วมประกวดรายการเพลงเอกซีซัน 2 

“ในปีมหามงคลนี้ ขอเชิญชวนประชาชนคนไทย ร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยเข้าร่วมกิจกรรมที่รัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศ พร้อมใจจัดขึ้นตลอดทั้งปี สำหรับการจัดกิจกรรมดนตรี นับเป็น Soft Power สาขาหนึ่ง จาก 11 สาขา ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และเป็นสื่อกลางที่สร้างความสามัคคีกลมเกลียวของคนในชาติ ช่วยส่งเสริมความรัก ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้ประเทศไทยเกิดความสงบสุขภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์“ ดร.พวงเพ็ชร กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top