Tuesday, 2 July 2024
ซิมการ์ด

กสทช.ออกมาตรการกำจัดซิมการ์ด ที่อยู่ในความครอบครองของมิจฉาชีพ

วันที่ 12 ม.ค. 67 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.ท.ดร.ธัชชัย ปีตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลงานด้านอาชญากรรมเทคโนโลยี ได้เรียกประชุมอนุกรรมการบูรณาการฯ แถลงถึง มาตรการของ กสทช. กำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากๆ ตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไปมายืนยันตัวตน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ม.ค.67 นี้เป็นต้นไป หากผู้ถือครองซิมการ์ดรายใดไม่มายืนยันตัวตนในกำหนด หมายเลขอาจถูกระงับการใช้งาน และถูกเพิกถอนไปในที่สุด เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์
พล.ต.อ.ณัฐธรฯ ได้กล่าวว่า ซิมการ์ดโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่กลุ่มมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องมี

และใช้ในการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการโทรหาเหยื่อ, การส่งข้อความ หรือ sms แนบลิงค์, โอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง ร่วมกับสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต  กสทช. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว มุ่งเน้นจัดระเบียบซิมการ์ด โดยเฉพาะหมายเลขในระบบเติมเงิน ที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งานจริง หรือลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน จึงได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีสาระที่สำคัญ ดังนี้

1.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน
2.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลข ขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน
หากไม่มายืนยันตนในกำหนด จะถูกพักใช้ ระงับการโทรออกและการใช้อินเทอร์เน็ต ยกเว้นโทรเบอร์ฉุกเฉิน และมีเวลาอีก 30 วัน หากยังไม่มีการยืนยันตน จะถูกเพิกถอนการใช้เบอร์ของซิมการ์ดที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมด
โดยในระยะแรกจะเร่งรัดให้ผู้ถือครองซิมการ์ด จำนวน 101 เลขหมายขึ้นไปเข้ามายืนยันตัวตนก่อน เนื่องจากมีกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่า คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้ใช้บริการที่อยู่ในข่ายต้องยืนยันตัวตน มีประมาณ 3 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดในทุกเครือข่าย มาตรการดังกล่าว กสทช. ออกมาเพิ่มเติมเพื่อสกัดการทำงานของกลุ่มมิจฉาชีพ จากที่มีอยู่เดิม 7 มาตราการ อาทิเช่น การระงับการโทรเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบที่คนร้ายใช้อยู่เป็นประจำหรือไม่ทราบแหล่งที่มา, เพิ่ม Prefix +697 และ +698 หน้าเลขหมายการโทรเข้าจากต่างประเทศผ่าน VOIP และ Roaming ตามลำดับ, การจัดทำบริการ *138 ปฏิเสธการรับสายต่างประเทศ, จัดระบบลงทะเบียนสำหรับผู้ส่งข้อความไปยังผู้รับจำนวนมากๆ (Sender name), จำกัดจำนวนการลงทะเบียนซิมการ์ด

และยกเลิกการส่ง SMS แนบลิ้งค์ บางประเภท เป็นต้น การออกมาตรการดังกล่าว ดำเนินการควบคู่ไปกับการออกกวาดล้างจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมเถื่อน และแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์วิทยุคมนาคมผิดกฏหมาย รวมทั้งจัดระเบียบเสาสัญญาณตามแนวชายแดนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต
พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ภายหลังจากที่มาตรการดังกล่าวของ กสทช. มีผลบังคับใช้ จะทำให้กระบวนการสืบสวนขยายผลถึงตัวผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อมีการกำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากมายืนยันตัวตน จะทราบตัวผู้ใช้งานที่แท้จริง หากไม่มายืนยันตนในกำหนด ซิมการ์ดนั้นจะถูกระงับการใช้งานและถูกเพิกถอนจากระบบไปในที่สุด เพราะซิมการ์ดเหล่านั้นอาจตกอยู่ในความครอบครองของพวกมิจฉาชีพแล้ว

ทำให้จำนวนซิมผีในตลาดมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้งเมื่อมีคดีเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่สามารถขยายผลจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ลงทะเบียน รวมไปถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีม้า ไปถึงตัวการใหญ่ได้ต่อไป
พล.ต.อ.ณัฐธรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละค่าย จะเป็นผู้พัฒนารูปแบบและวิธีการลงทะเบียนยืนยันตัวตน เพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้าของตน และมีหน้าที่ต้องแจ้งเตือนให้ผู้ถือครองซิมการ์ด ที่เข้าข่ายให้มาดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้กระทบต่อผู้ใช้บริการที่สุจริตน้อยที่สุด

‘กสทช.’ แจง!! 27 พ.ค.นี้ ยังใช้ ‘Mobile Banking’ ได้ตามปกติ แม้ชื่อไม่ตรงกับซิมการ์ด พร้อมจ่อนัดถกผู้ให้บริการโทรศัพท์เร็วๆ นี้

เมื่อวานนี้ (26 พ.ค.67) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ชี้แจงกรณีข่าวการตรวจสอบคัดกรองเบอร์โมบายแบงก์กิ้ง(ซิมการ์ด) ที่ผูกกับบัญชีธนาคารต้องตรงกันนั้น ขณะนี้เป็นขั้นตอนอยู่ในระหว่างดำเนินการ โดยในวันที่ 27 พ.ค.2567 โมบายแบงก์กิ้งยังใช้งานได้ตามปกติ

นโยบายดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคาร ให้สำนักงาน กสทช.เป็นตัวกลางในการประสานงานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหามิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการทำธุรกรรมออนไลน์

ตามขั้นตอนธนาคารจะเป็นผู้รวบรวมบัญชี พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้งแล้วส่งให้ ปปง. จากนั้น ปปง.จะรับข้อมูลส่งต่อให้กับสำนักงาน กสทช. เพื่อให้สำนักงาน กสทช.แยกเครือข่ายก่อนประสานไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ยืนยันอีกครั้งแล้วส่งกลับ

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าว สำนักงาน กสทช.ได้รับการยืนยันจาก ปปง.ว่า หากมีเหตุผลเพียงพอ สามารถอธิบายความจำเป็นในการใช้งานได้ จะเป็นดุลพินิจของธนาคารให้การพิจารณายกเว้น เช่น การเปิดโมบายแบงก์กิ้งให้กับบุตรหลานที่เป็นเด็ก หรือเยาวชน หรือบิดามารดาผู้สูงวัย เบอร์องค์กรที่แสดงตัวตนได้ชัดเจน เป็นต้น

และในเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน กสทช.จะประชุมหารือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการที่ต้องเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองให้ตรงกับโมบายแบงก์กิ้งไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนเกินจำเป็น โดยให้มีรายการส่งเสริมการขายที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์มากที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top